Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
การกล่าวอ้างที่ประหลาดเกี่ยวกับกรณีภาษีมูลค่าเพิ่ม(VAT) กับ IMF และเรื่องเก่าอื่นๆที่ยังอาจคลาดเคลื่อน ติดต่อทีมงาน

ที่จริงเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องเก่าเรื่องเดิมแต่มีสมาชิกพาดพิงไว้ในลักษณะที่น่าจะเข้าใจผิดหรือมีความคลาดเคลื่อนในความเข้าใจในเรื่อง VAT นี้อีกจึงต้องขอพื้นที่กระทู้วันนี้ ถกในเรื่องนี้  โดยสืบเนื่องจากกระทู้เรื่อง ที่ขอถกเรื่องการกู้เงินของรัฐบาลประชาธิปัตย์ ที่ถูกลบออกไปเพราะท่อนท้ายของกระทู้ที่เป็นช่วงการตอบคำถามต่อสมาชิก 2 ท่าน ไปติดข้อความบางอย่าง และกระทู้ของสมาชิกทั้งสองท่านได้หายไปเช่นกัน  ในกระทู้เดิมนั้นเจตนาต้องการชี้ให้เห็นความจริงที่ว่า ตามหลักฐานหนังสือการขอกู้เงิน IMF นั้น เป็นรัฐบาลชวลิตที่เป็นผู้ขอกู้เงินทั้งหมดในช่วง 3 ปี เพราะมีสมาชิกท่านหนึ่งพาดพิงไว้ในอีกกระทู้ว่า รัฐบาลชวนเป็นคนกู้ จึงต้องขอแก้ความเข้าใจผิดนั้นให้ถูกต้อง

และในกระทู้เดิมได้ให้หลักฐานข้อมูลที่แสดงว่าหลังจากวิกฤติการเงินแล้ว สถานการณ์ทุนสำรองของไทยดีขึ้นเป็นลำดับอย่างไรในรัฐบาลชวน จนรัฐบาลชวนสามารถยุติการกู้เงิน IMF ได้โดยไม่ต้องกู้ให้ครบจำนวนเดิมที่รัฐบาลพล.อ.ชวลิตทำเรื่องขอไว้ และยุติการกู้ก่อน กย.2543 อีกทั้งในเดือน พย.2543 รัฐบาลชวนก็ได้ส่งเงินคืนให้IMF ไปบางส่วน เป็นการคืนเงินให้IMFครั้งแรก

แต่จากการที่มีสมาชิกเข้ามาถกด้วยในกระทู้นั้น โดยกล่าวอ้างว่า “จะไม่ให้คุณทักษิณรีบชำระหนี้กับไอเอมเอฟได้อย่างไร เพราะเขาบีบให้เราขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มเป็น 10 เปอร์เซ็นต์ ประชาชนจะเดือดร้อนทุกหย่อมหญ้า” ทั้งๆที่กระทู้เดิมไม่ได้เปิดประเด็นนี้เลย และยังมีบางคนที่มาถกกับผมให้ห้องอื่นก็โพสต์แทบจะเหมือนกันว่า “นายชวนจัดการภาระหนี้ IMF  ไปแค่ไหน ถึงปล่อยให้เจ้าหนี้  IMF มันกดดันให้ขึ้น VAT 10 %  อันนี้มันเดือดร้อนไปทุกหย่อมหญ้า” และเมื่อลองค้นดูเรื่องนี้ในเวบบอร์ด ก็มีความทำนองคล้ายๆกันนี้ปรากฏอยู่ในหมู่คนบางจำพวกราว เป็นประโยคที่คัดลอกเอาไว้ท่องจำกันให้ขึ้นใจ โดยไม่ไตร่ตรองหรือตรวจสอบกันให้ดีก่อน เหมือนกับที่ท่องว่ารัฐบาลชวนกู้เงินไอเอมเอฟนั้นแหละ ที่สุดท้ายก็กลายเป็นความเท็จ

ที่จริงเรื่องนี้หากคิดตามตรรกง่ายๆ ก็ไม่น่าจะไปโพสต์ว่า"ถึงปล่อยให้เจ้าหนี้  IMF มันกดดันให้ขึ้น VAT 10 %  อันนี้มันเดือดร้อนไปทุกหย่อมหญ้า” เพราะหากเรื่องนี้มีอยู่จริงดังที่ว่า ทำไมคุณทักษิณเมื่อเข้ามาตอนเดือนมีนาคม 2544 จึงไม่ส่งเงินคืน IMFเพื่อปลดเปลื้องภาระดังกล่าวออกจากประชาชนไทยไปเสียในบัดดล ทำไมต้องปล่อยให้คนไทยต้องทุกข์ทรมานอีกตั้ง 2 ปีกว่าคือ กรกฏาคม 2546 จึงจะยกเลิกสัญญากับIMF และทำไมมายกเลิกสัญญากับ IMF ก็เมื่อจะเหลือเวลาแค่อีกไม่ถึงปีหรืออย่างมากก็ปีกว่าๆเท่านั้น ไม่ใช่ 2 ปีอย่างที่คุณทักษิณอ้าง ดังนั้น เมื่อมีกรณีพาดพิงและมีความเข้าใจที่น่าจะคลาดเคลื่อนในเรื่องนี้จึงได้ตรวจสอบ และขอให้ความเห็นดังนี้

          

 

1. ไทยเคยมีการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มถึง 10 เปอร์เซ็นต์จริงหรือ ?

ตอบ- เคยครับ การเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม 10 เปอร์เซ็นต์นี้เกิดเมื่อประเทศของเราเริ่มจัดเก็บภาษีมูลค่านี้แหละครับ เมื่อ 22 พย.25434 โดยในเวลานั้นมีการออกพระราชบัญญัติ แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๓๐) พ.ศ. ๒๕๓๔  มีการกำหนดให้มีการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับ การขายสินค้าและบริการ และการนำเข้าในอัตราร้อยละ 10 โดยการออกพรบ.ฉบับนี้และอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม 10 เปอร์เซนต์นี้ ออกในรัฐบาลอานันท์ ปันยารชุน ซึ่งไม่ได้อยู่ภายใต้พันธะสัญญาหรือความกดดันใดๆจาก IMF เลย และออกมาก่อนวิกฤติการณ์ค่าเงินบาทปี 2540

อนึ่ง กฎหมายการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มนี้ตราเป็นพระราชบัญญัติก็จริง แต่ในกฎหมายในมาตรา 80 บัญญัติไว้ดังนี้ว่า....


มาตรา ๘๐ ให้ใช้อัตราภาษีร้อยละ ๑๐.๐ ในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการประกอบกิจการดังต่อไปนี้ ทั้งนี้ เว้นแต่กรณีที่กำหนดไว้ในมาตรา ๘๐/๒
(๑) การขายสินค้า
(๒) การให้บริการ
(๓) การนำเข้า
อัตราภาษีตามวรรคหนึ่ง ให้ลดลงได้โดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาแต่ต้องกำหนดอัตราภาษีให้เป็นอัตราภาษีเดียวกันสำหรับการขายสินค้าการให้บริการและการนำเข้าทุกกรณี

นั้นคือกฎหมายนี้กำหนดอัตราการเก็บภาษีไว้ที่ร้อยละ 10 นั้นถือเป็นอัตราสูงสุดที่กฏหมายอนุญาตให้รัฐบาลจัดเก็บได้ หากจะเก็บมากว่านี้ก็ต้องนำเรื่องเข้าสภาเพื่อออกพระราชบัญญัติมาแก้ไขกฏหมายมาตรานี้  แต่หากจะเก็บน้อยกว่าร้อยละ 10 นี้ รัฐบาลสามารถทำได้เลยโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาประกาศลดอัตราภาษี ซึ่งต่อไปจะเห็นว่ามีหลายรัฐบาลได้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา แต่ในนั้นจะมีความว่า "ให้ลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 80 แห่งประมวลรัษฎากร และคงจัดเก็บในอัตราร้อยละ.abc..” แม้ว่าอัตราที่จัดเก็บนั้นจะไปสูงกว่าอัตราเดิมที่กฤษฎีกาเดิมก่อนหน้านั้นตราไว้ ดังนั้นที่ใช้คำว่า"ให้ลด" ในกฤษฎีกาเหล่านี้คำว่า "ให้ลด" ไม่ได้หมายความว่าให้ลดลงจากอัตราในกฤษฎีกาฉบับก่อน แต่หมายถึงให้ลดลงจากอัตราร้อยละ 10 ในพระราชบัญญัติ 2534 นี้นั้นเอง

 

2.ในช่วงก่อนและหลังวิกฤติทุนสำรองและค่าเงินบาทปี 2540 นั้นมีการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มอย่างไร

ตอบ- ช่วงก่อนเกิดวิกฤติทุนสำรองและค่าเงินบาทปี 2540 รัฐบาลอานันท์ ได้ประกาศลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มลงมาเหลือร้อยละ 6.3 โดยมีพระราชกฤษฎีกาที่ 236 เมื่อ 26 ธค.2534
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2534/A/229/4.PDF

การเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 6.3 นี้ยังคงอัตรานี้เรื่อยมาจนเข้ารัฐบาลพล.อ.ชวลิต (ที่มีคุณทักษิณเป็นรองนายกฯ นั้นแหละครับ) จึงได้ปรับอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มขึ้นเป็น ร้อยละ 9.0 เมื่อ 13สค 2540  โดยที่ในเวลานั้น IMF ยังไม่ได้ตกลงสัญญาอะไรกับไทยเลย ยังอยู่ในช่วงที่ไทยยื่นหนังสือแสดงความจำนงขอเงินกู้และความช่วยเหลือจาก IMF โดยหนังสือขอความช่วยเหลือและกู้เงินIMF นั้นออกวันที่ 14 สค.2540 กว่า IMF จะตอบกลับก็ดูเหมือน 20 สค.2540 การขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มนี้จะเป็นการเอาใจ IMF ไว้ก่อนของรัฐบาลพล.อ.ชวลิต หรือไม่นี้ อยู่เหนือการคาดเดาได้ แต่การเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มของรัฐบาลพล.อ.ชวลิต เพีมจากร้อยละ 6.3 เป็นร้อยละ 9.0 นี้ ทำโดยตราพระราชกฤษฎีกา 309 ประกาศยกเลิกพระราชกฤษฎีกา 236 เดิม
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2540/A/039/13.PDF


(ความในกฤษฎีกาจะประกาศลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มจากอัตราร้อยละ 10 ที่บังคับไว้ในพระราชบัญญัติ 2534 มาเป็นร้อยละ 9 แต่ในทางปฏิบัตินั้นคือ ภาษีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น เพราะกฤษฎีกาที่มีผลก่อนหน้านั้นประกาศลดมาไว้ที่ ร้อยละ 6.3 นั้นคือเท่ากับว่ารัฐบาลชวลิต ในเดือนสค.2540 เพิ่มอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มจากร้อยละ 6.3 ในกฤษฏีกา 236 เดิมมาเป็นร้อยละ 9.0)

หลังจากไทยได้เงินกู้จาก IMF และต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขของ IMF แล้ว ไม่ปรากฏว่าได้มีการเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่มเลยยังคงที่อัตราร้อยละ 9.0 ไว้มาเรื่อยในช่วงปีแรก

จนถึงในปี 2542 ซึ่งยังอยู่ในสมัย IMF นั้นแหละครับ รัฐบาลชวนได้ลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มจากร้อยละ 9.0 มาเหลือร้อยละ 6.3 โดยออกพระราชกฤษฎีกา 353  เมื่อ1 เมย  2542  เป็นการชั่วคราวชั่วคราวตั้งแต่ 1 เมย 2542-31 มีค2544
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2542/A/022/91.PDF

และเมื่อวันที่ 3 ตค 2543 รัฐบาลชวนก็ออกพระราชกฤษฎีกาที่ 368  ให้ขยายเก็บระยะเวลาการคิดภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตรา 6.3  ไปถึง 30 กย2544
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/00019358.PDF

จากนั้นเดือนมีนาคม 2544 คุณทักษิณเข้ามาจัดตั้งรัฐบาล ก็ออกพระราชกฤษฎีกาที่ 383  เมื่อวันที่16สค 2544 ขยายเวลาการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 6.3   ไปถึง 30 กย2545
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/00017932.PDF

การขยายเวลาที่จะคงเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 6.3 นี้ยังคงมีเป็นระยะ โดยรัฐบาลคุณทักษิณออกพระราชกฤษฎีกาที่ 407  17กย 2545 ขยายเวลาถึง 30 กย 2546 และออกพระราชกฤษฎีกาที่ 416 ขยายเวลาถึง 30 กย2548
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/00102278.PDF
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/00129997.PDF

ดังนั้น โดยสรุปก่อนเกิดวิกฤติทุนสำรองและค่าเงินบาทปี 2540 ไทยจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มที่อัตราร้อยละ 6.3 และมาเพิ่มเป็นร้อยละ 9.0 เมื่อ 14 สิงหาคม 2540 ในรัฐบาลพล.อ.ชวลิต และพอเข้ารัฐบาลชวนก็ลดลงมาเหลือ ร้อยละ 6.3 เมื่อ1 เมย  2542  ทั้งๆที่อยู่ในระยะสัญญากับ IMF และจากนั้นมาก็มีการออกพระราชกฤษฎีกา เพื่อขยายเวลาการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ที่ร้อยละ 6.3 มาตลอด ไม่มีการเก็บเพิ่มในช่วงที่อยู่กับ IMF หรือหลังจากนั้น

คำกล่าวอ้างที่ว่า "มีการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 10 เพราะ IMF บีบ จนทำให้ประชาชนเดือดร้อนกันอย่างแสนสาหัส" จึงเป็นความเท็จโดยสิ้นเชิง มิหนำซ้ำ สมัยรัฐบาลชวน ยังมีการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มที่พล.อ.ชวลิต ไปเพิ่มจากร้อยละ 6.3 เป็นร้อยละ 9.0 ให้กลับลงมาที่ร้อยละ 6.3 เท่าเก่าเสียด้วยซ้ำ และเหตุการณ์นี้เกิดในสมัย IMF

ในความเป็นจริง จะมีการกดดันจาก IMF ในฉากหลังในระดับการติดต่อระหว่างรัฐมนตรีและคณะรัฐบาลไทยในเวลานั้นหรือไม่อย่างไร ผมคงตอบไม่ได้เพราะไมได้อยู่ในรัฐบาล แต่อัตราภาษีที่เก็บก็เป็นอย่างที่เห็นคือมีแต่ลดลงในสมัย IMF และหากการกดดันนั้นมีอยู่จริงทำไมจึงไม่รีบคืนเงินเขาเสียมารอจนไม่ถึงปีหรือปีกว่าๆ จึงคืน

 

3. ตกลงรัฐบาลคุณทักษิณชำระหนี้กับ IMF ก่อนกำหนดเท่าไรกันแน่


ตอบ- เรื่องนี้หากฟังความตามที่คุณทักษิณออกทีวีคืน 31 กค 2546 ที่มีคนนำไปคัดลอกและท่องจำและเอามาโพสต์กันเป็นระยะตลอดนั้นจะมีความตอนหนึ่งว่า “วิกฤตเศรษฐกิจเมื่อปี 2540 ทำให้ไทยต้องกู้ยืมเงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ(ไอเอ็มเอฟ) พร้อมกับยอมรับเงื่อนไขที่เข้มงวดซึ่งเป็นบทเรียนที่เจ็บปวดและไม่อยากกลับไปอยู่ในสภาพนั้นอีกปัจจุบันเศรษฐกิจดีขึ้นโดยลำดับเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคมรัฐบาลนี้ได้ ประกาศชำระหนี้ก้อนสุดท้ายกว่า 6 หมื่นล้านบาททำให้ไทยพ้นจากพันธกรณีกับไอเอ็มเอฟ …..วันนี้ ทำไมเรากล้าใช้หนี้ไอเอ็มเอฟก่อนครบกำหนดเวลาล่วงหน้าถึง 2 ปี...” นั้นคือคุณทักษิณบอกว่า 2 ปี ไม่ทราบจะเป็นการปัดเศษขึ้นไปแบบเกินจริงหรือไม่ อันทีจริงตรงนี้เป็นเพียงเรื่องเล็กน้อย แต่ไหนๆก็ถกเรื่องนี้กันแล้วมาดูให้เคลียร์ไปเลย จะพบว่าในเอกสารของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ที่IMF แสดงความชื่นชมยินดีต่อความสำเร็จที่ประเทศไทยสามารถชำระเงินได้ก่อนกำหนด ดังความที่ว่า

 “"Thailand's ability to repay the IMF ahead of schedule reflects a strong macroeconomic and balance of payments performance over the past few years. This success has been underpinned by a sound policy framework, for which the government and the Bank of Thailand should be congratulated."

ในเอกสารกองทุนการเงินระหว่างประเทศนี้ ตอนท้ายจะมีความสรุปยอดเงินที่ชำระและยอดเงินที่กู้ไว้ และจะมีประโยคท้ายสุดแจ้งว่าอันที่จริงแล้ว กำหนดการชำระเงินงวดสุดท้ายนั้นตามแผนกำหนดการเดิมจะมีขึ้นในปี คศ.2004 หรือพศ.2547 โดยไม่ระบุเดือน

“The repayment made by Thailand on July 31 was SDR 68.75 million (about US$96 million). Total drawings under the SDR 2.9 billion (about US$4 billion) Stand-By Arrangement amounted to SDR 2.5 billion (about US$3.5 billion). Under the original schedule, the final repayment of outstanding loans from the IMF would have taken place in 2004


http://www.imf.org/external/np/sec/pr/2003/pr03131.htm

นั้นแสดงว่า ไทยเราชำระได้ล่วงหน้าก่อนกำหนดไปราว 6 เดือน ถึง 18 เดือน ไม่ใช่ 2ปี(หรือ 24 เดือน) อย่างที่คุณทักษิณปัดเศษนะครับ

 

4. เรื่องอื่นปิดท้ายสำหรับกระทู้วันนี้
ทีจริงเห็นมีการตั้งกระทู้ถกเรื่อง IMF และมีประเด็นเรื่องกฎหมายหลายฉบับที่ใช้อ้างว่า เป็นกฏหมาย ที่ IMF บังคับให้รัฐบาลชวนทำขึ้นมาและมีผลเสียต่อประเทศชาติและสังคม พอดีผมไม่มีเวลาลงไปในรายละเอียดตรงนี้ ทราบแต่ว่ามีการออกกฎหมายสมัยชวน โดยคำแนะนำ(หรือแกมบังคับของ IMFจริง) แต่จะมีผลร้ายแรงต่อสังคมหรือประเทศไทยจริงหรือไม่ ยังไม่ทราบ เพราะไม่ได้อ่านโดยรายละเอียด แต่สิ่งหนึ่งที่ข้องใจคือ หากมีการออกกฎหมายที่ว่าจริง แล้วรัฐบาลคุณทักษิณได้แก้ไขหรือยกเลิกกฎหมายที่ว่านี้ไปบ้างหรือไม่ ในช่วง 6-7 ปีที่เข้ามาเป็นรัฐบาลและอย่างน้อยๆช่วงกลางปี 2546 เป็นต้นมาก็ไม่ได้อยู่ใต้สัญญากับ IMF แล้ว

 

ก็คงเท่านี้พอครับ สำหรับเรื่องเก่าๆ ที่จำเป็นต้องนำมาถกใหม่ เพราะสังเกตุดูยังมีคนเข้าใจคลาดเคลื่อนไป

    

 

 

 

 

ช่วงตอบคำถาม

1. กระทู้ คุณbloodmoonpt (P10080349)

ตอบ-

ก. ต้องขอให้คุณbloodmoonpt กลับไปดูต้นกระทู้ที่ผมวิเคราะห์ไว้แล้วว่า"รัฐบาลชวลิตอาจจะทำเพื่อการขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มนี้จะเป็นการเอาใจ IMF ไว้ก่อน" แสดงว่าสอดคล้องกับที่คุณให้ข้อมูลมาส่วนหนึ่ง ขอบคุณที่หาหลักฐานมายืนยัน แต่ในแง่ข้อเท็จจริงจดหมายขอความช่วยเหลืออย่างเป็นทางการต่อ IMF และตอบกลับเกิดหลังการขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มไปแล้ว

ข. การขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มขอรัฐบาลพล.อ.ชวลิตนั้น ขึ้นไปแค่ร้อยละ 9.0 ตามประกาศในกฤษฎีกา ข้อความในบทคัดย่อของกระทรวงการต่างประเทศหรือของกระทรวงการคลัง หรือที่อื่นๆที่ผมเคยอ่านผ่านเจอ มักอ้างตัวเลขที่ร้อยละ 10 แต่ในความเป็นจริง รัฐบาลชวลิตเพิ่มจาก 6.3 เป็น 9.0 เมื่อ 14 สค.2540 และไม่เคยมีช่วงใดอีกที่ไทยเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 10 นอกจากช่วง พย-ธค2534 ครับ

ตัวเลขที่แน่นอนและเชื่อถือได้ ต้องใช้ของพระราชกฤษฏีกาที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาครับ เพราะเป็นกฏหมายที่ประกาศใช้แก่ประชาชน มีอำนาจบังคับที่แท้จริง ตัวเลขที่คุณยกมานั้นเป็นตัวเลขในบทความที่น่าจะเป็นตัวเลขที่อ้างอิงไว้โดยประมาณ มิใช่ตัวเลขที่มีการใช้บังคับเก็บภาษีกับราษฏรอย่างแท้จริงได้ครับ เพราะไม่ใช่ประกาศที่อำนาจตามกฏหมาย กรุณาคลิกพระราชกฤษฎีกาที่ผมทำลิงค์มาให้นั้นอ่านดูดีกว่าครับ

ดังนั้นที่โพสต์กันไว้ว่า "มีการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 10 เพราะ IMF บีบ จนทำให้ประชาชนเดือดร้อนกันอย่างแสนสาหัส" จึงยังเป็นความเท็จโดยสิ้นเชิงครับ เพราะจะอย่างไรก็ไม่เคยมีการเก็บภาษีร้อยละ 10 อีกเลยนับแต่ปรับลดลงมาเป็นร้อยละ 6.3 เมื่อธค.2534 ครับ แต่หากคุณมีข้อมูลที่ยืนยันชัดเจนกว่านี้ ที่เป็นกฏหมายที่บังคับใช้เก็บเงินภาษีได้ร้อยละ 10 จริงๆมาให้ดู ผมยินดีรับฟัง แต่ในเวลานี้ผมยังยืนว่าเป็นความเท็จครับ

ค. ถ้าหากเหตุการณ์เป็นอย่างที่คุณว่าจริงว่า IMF บีบให้รัฐบาลพล.อ.ชวลิต เพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นร้อยละ 9.0 ก่อนเข้ารับความช่วยเหลือ IMF ก็แสดงว่า ต้องให้เครดิตรัฐบาลชวนสิครับ ที่สามารถต่อรองผ่อนปรนจนสุดท้าย รัฐบาลชวนกลับมาเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มที่ร้อยละ 6.3 ได้อีก อย่างนี้ก็ต้องถือเป็นฝีมือรัฐบาลชวนนะ

     

2. กระทู้ ข้างบนที่มีอาการไม่สบายใจเมื่อความจริงเกี่ยวกับ IMF ปรากฏออกมาเรื่อยๆในทางที่ตนไม่พึ่งประสงค์

ตอบ- เนื่องจากไม่ได้พาดพิงล็อกอินผมโดยตรง ก็ขอไม่ยกชื่อจขกท.เช่นกัน แต่ขอให้ความเห็นว่า ปกติวิสัยคนที่มีจิตใจไม่เป็นประชาธิปไตยนี้ มักจะเป็นเช่นนี้แหละครับคือ ไม่สามารถทนความเห็นที่แตกต่างไปได้ เกิดอาการเดือดร้อนไม่เป็นสุขเมื่อความจริงถูกชี้แจงออกมา ในห้องราชดำเนินนี้ไม่มีการห้ามการให้ความเห็นฉันใด สมาชิกก็ย่อมมีสิทธิจะให้ความเห็นที่แตกต่างไปได้เสมอฉันนั้น หากใครจะไปห้ามผู้อื่นไม่ให้มาเถียงตนเองแล้วโดยไปอ้างเอาว่าสำนักข่าวใหญ่เขาวิเคราะห์อย่างนั้นอย่างนี้แล้ว ก็เท่ากับว่าไปเชื่อผู้อื่นโดยไม่ไตร่ตรองไม่ได้มีความคิดเป็นของตนเองๆไม่ยอมรับฟังความคิดเห็นของสมาชิกที่เขาสามารถคิดได้แตกต่างและดีกว่าสำนักข่าว การที่มาโพสต์ห้ามไม่ให้สมาชิกผู้อื่นเถียงตนเองซึ่งมันเป็นเรื่องที่แปลกที่จะมาห้ามกันเช่นแบบนี้ เพราะที่นี้มีไว้ให้ถกเถียงแลกเปลี่ยนนะครับ หากทนเพื่อนสมาชิกที่เขาสามารถเห็นแตกต่างได้อย่างดีกว่าได้ ก็คงต้องออกไปเล่นที่อื่นกระมังครับ เพราะที่นี้เขามีไว้ให้ถกเถียงแลกเปลี่ยนความคิดเห็น

หากใครก็ตามมีจิตใจอ่อนแอ หวั่นไหว และไม่มั่นคง หรือมีวุฒิภาวะน้อย ไม่สามารถทนความเห็นที่แตกต่างไปจากที่ตนเชื่อถือได้ เที่ยวจะไปห้ามเขาไม่ให้เถียงกับตนเอง เพราะตนเองไม่สามารถจะหาเหตุผลมาหักล้างผู้อื่นได้นอกจากความเชื่อล้วนๆของตนเอง  ก็ขอแนะนำว่าอาจจะต้องพิจารณาไปเล่นที่ห้องอื่นก็อาจจะทำให้ท่านมีความสุขขึ้นกว่านี้  ถ้าอยู่ที่นี้ ใจต้องนิ่งและใจต้องกว้างมีเหตุมีผล มีวุฒิภาวะที่ดีพอสมควรครับ จะต้องสามารถทนรับความคิดเห็นที่แตกต่างได้ครับ

 

พรุ่งนี้หรือมะรืนนี้ หากยังมีเวลาพอ ไม่ติดงานปีใม่มากไป จะลองตรวจสอบดูเรื่องกฏหมาย IMF ที่มีการอ้างไว้ ว่าได้มีการดำเนินการอย่างไรหรือไม่และทำไม

อนึ่ง กระทู้ที่เกี่ยวเนื่องกันมาทั้งหมดช่วง 3-4 วันนี้ ต้องการให้เกิดข้อเท็จจริงที่ประจักษ์ว่า อะไรที่เป็นความจริง อะไรที่เป็นความเท็จในเรื่องที่เอามาโพสต์กัน กระทู้ที่ที่มีมาไม่ได้ต้องการสรุปในประเด็นเรื่องคุณทักษิณควรใช้หนี้ไอเอมเอฟก่อนกำหนดหรือไม่ เพราะเรื่องนี้ไม่ใช่ต้นเหตุแห่งการตั้งกระทู้

 ต้นเหตุแห่งการตั้งกระทู้คือสมาชิกเกิดความเข้าใจผิดเกี่ยวกับเหตุการณ์ในอดีต อาทิเช่น เรื่องที่ใครเป็นคนกู้เงินไอเอมเอฟ หรือเรื่องภาษี VAT นี้เป็นต้น จึงจำต้องแก้ไขความเข้าใจที่ผิดพลาดนี้เสีย แต่ท่านผู้ใดก็ตามหากที่มีจิตใจไม่มั่นคงพอย่อมอาจจะพาลไปคิดว่ากระทู้นี้ข้ามไปพูดเรื่องนั้นเรื่องนี้เอาเอง ต้องสงสัยว่าอาจจะมีการใช้ตรรรกของความคิดแบบไม่ปกติหรืออาจมีวุฒิภาวะหรือสติที่ไม่มั่นคง พอเขาพูดประเด็นหนึ่งกลับกลายเป็นไปเข้าใจว่าเขาพูดอีกประเด็นหนึ่งไป

กระทู้เหล่านี้ ที่มีเพื่อแก้ไขความเข้าใจที่ผิดและคลาดเคลื่อนนี้ในประเด็นดังที่กล่าวมานั้น สมาชิกที่มีการศึกษาที่สูงพอ มีสติปัญญาและวุฒิภาวะที่ดีพอย่อมรู้จักแยกแยะ และมีใจสงบมากพอที่จะไม่โวยวาย และหากไม่เห็นด้วย ย่อมโต้แย้งให้อยู่ในประเด็น ไม่ออกอาการแปลกๆดังที่เห็น  

 

3.ตอบคุณSassyKate

เจ้าของประโยคที่ผมยกมานั้นอยู่ในคห.23 ของกระทู้

http://www.pantip.com/cafe/isolate/topic/M10072516/M10072516.html

       

 

 

.

แก้ไขเมื่อ 31 ธ.ค. 53 00:53:25

แก้ไขเมื่อ 30 ธ.ค. 53 20:31:57

แก้ไขเมื่อ 30 ธ.ค. 53 17:16:57

แก้ไขเมื่อ 30 ธ.ค. 53 15:36:06

แก้ไขเมื่อ 30 ธ.ค. 53 15:31:39

จากคุณ : thyrocyte
เขียนเมื่อ : 30 ธ.ค. 53 11:48:37 A:58.136.4.213 X:



ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com