Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
ศาลไม่สามารถวินิจฉัยระยะเวลาในการฟ้องได้เองจริงหรือ และข้อคิดเห็นบางประการต่อกระทู้คุณเติ้ง1234 ติดต่อทีมงาน

ในเวลานี้มีการถกกันมากพอสมควร โดยกล่าวว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่ควรยกการพ้นระยะเวลาการฟ้องหากคู่กรณีไม่ยกขึ้นมาก่อนเองกันพอสมควรโดยมีการให้ความเห็นกันว่า "ขณะที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอยุบพรรคผู้ถูกร้อง นั้น    พรรคผู้ถูกร้องไม่ได้ยกอายุความขึ้นต่อสู้  ศาลจึงไม่มีอำนาจยกเรื่องอายุความมาเป็นเหตุยกคำร้องได้" ทั้งนี้ได้มีการหยิบยกประมวลกฏฏฆมายแพ่งมาอ้าง ในมาตรา 193/29


แม้กระทั่งในรายการเรื่องเด่นเย็นนี้โดยสรยุทธิก็ได้ถามอจ.ปริญญา แต่อาจารย์ได้ตอบแย้งไว้แล้วว่า ในศาลพิจารณาคดีกฎหมายมหาชนนั้นศาลสามารถหยิบยกเรื่องเกี่ยวกับอายุความขึ้นเองได้ นั้นคือหมายถึงศาลรัฐธรรมนูญสามารถหยิบยกเรื่องอายุความขึ้นมาเองได้ ซึ่งเรื่องอาจสร้างความสงสัยสำหรับบางท่าน ในกระทู้นี้จะพยายามอภิปรายในเรื่องนี้เท่าที่พอจะทำได้ดังนี้

เรื่องการที่ศาลสามารถจะหยิบยกข้อกฎหมายเกี่ยวกับการฟ้องคดีชึ้นมาเองได้หรือไม่นั้น มาจากการที่ศาลรธน.ได้อ้างข้อกำหนดในมาตรา ๙๓ ของพรบ.พรรคการเมือง 2550 ที่ว่า “เมื่อปรากฏต่อนายทะเบียนว่าพรรคการเมืองใดมีเหตุตามวรรคหนึ่ง ให้นายทะเบียนโดยความ เห็นชอบของคณะกรรมการการเลือกตั้งยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 15 วันนับแต่วันที่ความปรากฏต่อนายทะเบียน” ในเวลานี้ ความตอนนี้ถูกเรียกกันโดยคนทั่วไปว่า “อายุความ” ซึ่งเป็นคำที่สื่อเพื่อให้เกิดการเข้าใจง่ายๆแก่ประชาชนทั่วไป

แต่อย่างไรก็ดี คำว่า”อายุความ” ที่ประชาชนหรือสื่อมวลชนพูดถึงนี้ จะไปตรงกับอายุความในคดีอาญา หรือตรงกับอายุความในคดีแพ่ง หรือเป็นเพียง “กำหนดเวลาในการฟ้องคดีตามบัญญัติของกฏหมาย” ที่เจ้าหน้าที่ของรัฐต้องปฏิบัติเพื่อให้เป็นไปตามกฎหมาย นั้นเป็นเรื่องที่ขออภิปรายในกระทู้นี้ ดังนี้

1.อายุความในคดีอาญานั้นหมายถึงระยะเวลาที่ผู้กระทำความผิดได้กระทำความผิดนัยไปจนถึงเวลาที่ผู้กระทำผิดมาปรากฏตัวต่อศาล หากเลยระยะเวลานี้แล้วก็จะไม่สามารถฟ้องผู้ถูกกล่าวหาได้ อายุความในคดีอาญาจึงไม่น่าจะใช่อายุความที่ประชาชนทั่วไปเข้าใจกันในเวลานี้ ในกรณีมาตรา 93 นี้

2.อายุความในคดีแพ่งนั้นบัญญัติไว้ในลักษณะ 6 เรื่องอายุความ หมวดที่ 1 บททั่วไป ในมาตราแรกของหมวดคือ มาตรา 193/9 บัญญัติว่า “สิทธิเรียกร้องใดๆ ถ้ามิได้ใช้บังคับภายในระยะเวลาที่กฏหมายกำหนด เป็นอันขาดอายุความ” โดยสิทธิเรียกร้องในที่นี้หมายถึงสิทธิเรียกร้องระหว่างบุคคลต่อบุคคล ไม่ใช่บุคคลต่อศาล ดังจะมีฏีกาที่อธิบายเรื่องนี้ต่อไป และในประมวลกฏหมายแพ่งยังมีบัญญัติในมาตรา193/29 ว่า “เมื่อไม่ได้ยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้ศาลจะอ้างเอาอายุความมาเป็นเหตุยกฟ้องไม่ได้” และตรงนี้เองที่มีผู้พยายามนำมาอ้างว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่สามารถหยิบยกมาตรา 93 ในพรบ.พรรคการเมืองที่กำหนดเกี่ยวกับเงื่อนเวลาไว้ได้เพราะขัดต่อกฏหมายแพ่งมาตรานี้

3.ส่วน“กำหนดเวลาในการฟ้องคดี” ที่มีกำหนดในกฎมายต่างๆที่เป็นกฎหมายมหาชนนั้นเหมือนดังทีมีกำหนดเป็นเงื่อนเวลาในมาตรา 93 ของพรบ.พรรคการเมือง2550 นั้น ศาลฏีกาได้มีแนวคำวินิจฉัยไว้ว่า ไม่ใช่ “อายุความการเรียกร้องสิทธิ” นั้นคือหมายถึงได้ว่าไม่ใช่อายุความตามกฎหมายแพ่งซึงเป็นกฏฆมายเอกชน (กฎหมายมหาชนหมายถึงกฎหมายที่มีข้อกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับบุคคล เช่น พรบ.พรรคการเมือง พรบ.แรงงาน กฏหมายการปกครองต่าง ส่วนกฎหมายเอกชนที่ศาลแพ่งศาลอาญาพิจารณานั้น หมายถึงกฏหมายที่ว่าด้วยเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล เช่นกฎหมายแพ่ง กฎหมายอาญา)


4.ตามแนวทางการวินิจฉัยฏีกาที่ 5033/2549 พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541(เป็นกฎหมายมหาชน) มาตรา 125  วรรคหนึ่ง  บัญญัติไว้ว่า  “เมื่อพนักงานตรวจแรงงานได้มีคำสั่งตามมาตรา 124 และ ถ้านายจ้าง ลูกจ้างหรือทายาทโดยธรรมของลูกจ้างซึ่งถึงแก่ความตายไม่พอใจคำสั่งนั้นให้นำคดีไปสู่ศาลได้ภายใน 30 วัน  นับแต่วันทราบคำสั่ง  ซึ่งกำหนดเวลาให้นำคดีขึ้นสู่ศาลตามบทบัญญัติดังกล่าวนี้เป็นกำหนดเวลาให้ฟ้องคดี  มิใช่เป็นอายุความในการเรียกร้องสิทธิใด ๆ”
http://www.decha.com/main/showTopic.php?id=5855

(ความในฏีกานี้วินิจฉัยว่า หากลูกจ้าง หรือทายาทโดยธรรมของลูกจ้างซึ่งถึงแก่ความตาย ไม่พอใจในคำสั่งนั้น ให้นำคดีขึ้นสู่ศาลได้ภายใน 30 วันนับแต่วันดำรับคำสั่ง หากพ้นจากนั้นไป ก็ไม่อาจนำคดีขึ้นสู่ศาลได้ แต่ก็ไม่เสียสิทธิเรียกร้องตามกฎหมายอื่น  นั้นคือหากมีกฎหมายอื่นบัญญัติสิทธิเรียกร้องอื่นๆไว้ ก็ยังสามารถฟ้องร้องได้)

ดังนั้น"กำหนดเวลาในการฟ้องคดี"จึงไม่ใช่อายุความและไม่เข้าบังคับกฏหมายแพ่งมาตรา 193/29 ทีมีการอ้างกัน

5. ประมวลกฏหมายแพ่งและพาณิชย์ ลักษณะ 6 เรื่องอายุความ หมวดที่ 1 บททั่วไป ในมาตราแรกของหมวดคือ มาตรา 193/9 บัญญัติว่า สิทธิเรียกร้องใดๆ ถ้ามิได้ใช้บังคับภายในระยะเวลาที่กฏหมายกำหนด เป็นอันขาดอายุความ

ดังนั้นอายุความในกฏหมายแพ่งนั้นหมายถึงสิทธิเรียกร้องเอาเรื่องกันระหว่างบุคคล หรือบุคคลกับนิติบุคคล ว่าล่วงเวลาไปนานเท่าไรแล้ว จึงเอาเรื่องระหว่างกันไม่ได้ อันเป็นลักษณะของกฏมายเอกชน ไม่ได้บัญญัติถึงสิทธิเรียกร้องในทางศาล ดังคำวินิจฉัยกับฏีกาที่ 5033/2549 ข้างบน

6.ดังนั้น จึงไม่สามารถอ้างกฎหมายแพ่งตามมาตรา 193/29 ที่บัญญัติว่า “เมื่อไม่ได้ยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้ศาลจะอ้างเอาอายุความมาเป็นเหตุยกฟ้องไม่ได้” มาใช้กับศาลรัฐธรรมนูณได้ เพราะมาตรา 93 ของพรบ.พรรคการเมือง นั้นเป็นกฎหมายมหาชน บัญญัติเรื่อง“กำหนดเวลาในการฟ้องคดี” ไว้ 15 วัน กำหนดเวลาการฟ้องคดี มิใช่เป็นอายุความในการเรียกร้องสิทธิใดๆตามกฏหมายแพ่ง จึงนำกฏหมายแพ่งมาใช้ตรงนี้ไม่ได้  ไม่เข้าบังคับของ กฎหมายแพ่งตามาตรา 193/29 (ตามนัยยะนิยาม 193/9 ของประมวลกฎหมายแพ่ง และฏีกา 5033/2549ของศาลแรงงาน)


อนึ่ง มีความแตกต่างที่สำคัญมากอีกประการระหว่างศาลแพ่ง กับศาลรัฐธรรมนูญก็คือ ศาลแพ่งนั้นเป็นศาลตามกฏหมายเอกชน และใช้การพิจารณาคดีโดยใช้ระบบกล่าวหา ซึ่งในระบบนี้ศาลจะวางตัวอยู่กลางอย่างเคร่งครัด ในระบบกล่าวหานั้น ศาลจะให้คู่ความต่อสู้คดีกัน และเป็นคนนำเสนอสิ่งต่างๆ ในระบบนี้ หากสิ่งใดที่คู่คดีไม่ยกมาต่อสู้ แม้จะเป็นข้อความจริงที่มีอยู่จริงก็ตาม และแม้ศาลได้รู้ได้เห็นแล้วก็ตาม  หากคู่ความไม่ยกขึ้นมาศาลแพ่งก็จะไม่ยกขึ้นมา เช่นกรณีมาตรา 193/29 ที่บัญญัติว่า “เมื่อไม่ได้ยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้ศาลจะอ้างเอาอายุความมาเป็นเหตุยกฟ้องไม่ได้” เพราะถือว่าคู่คดีฝ่ายที่อาจได้ประโยชน์จากการยกข้อความนั้นไม่ใช้สิทธิเอง ซึ่งเป็นหลักปฏิบัติในระบบกล่าวหาซึ่งศาลจะวางตัวอยู่ตรงกลางอย่างเคร่งครัด และถือว่าคู่กรณีอีกฝ่ายสละสิทธิในส่วนที่ตนพึ่งไปด้วยตนเอง

ส่วนศาลรัฐธรรมนูญนั้นเป็นศาลกฏหมายมหาชนและใช้ระบบไต่สวน ตามระบบไต่สวน ศาลจะทำหน้าที่ค้นหาความจริงด้วยตนเอง ศาลจะมีบทบาทในการดำเนินคดีอย่างสูง ผิดกับในระบบกล่าวที่ศาลมีบทบาทน้อยมากเพราะจะให้คู่ความเป็นคนนำเสนอสิ่งต่างๆ แต่ระบบไต่สวนเน้นในเรื่องการค้นหาความจริงเป็นหลัก ดังนั้น กฎเกณฑ์ในการดำเนินคดี เช่น การสืบพยาน การดำเนินการต่างๆ ตลอดจนถึงการวินิจฉัยสรุปประเด็นในศาลจึงยืดหยุ่นกว่าระบบกล่าวหา ที่จะพึงพาแต่การนำเสนอของคู่คดี และเนื่องจากในระบบไต่สวนนั้น เน้นในเรื่องการค้นหาความจริงเป็นหลัก ดังนั้นข้อความจริงใดข้อกฎหมายใด ที่มีอยู่จริง แม้หากคู่กรณีจะไม่ยกขึ้นมา แต่ศาลเห็นว่าเป็นข้อเท็จจริงข้อความจริงของคดี ศาลในระบบไต่สวนก็สามารถยกข้อความนั้นขึ้นมาวินิจฉัยได้

อนึ่ง ในการพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญนั้น ศาลจะใช้ข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาและการทำคำวินิจฉัย ซึ่งในข้อกำหนดนั้นบัญญัติไว้ในข้อ ๖ ว่า “วิธีพิจารณาตามที่กำหนดในข้อกำหนดนี้ให้ใช้ระบบไต่สวน”    และมีบัญญัติเพิ่มเติมไว้ว่า...บทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมาย วิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับเท่าที่พอจะใช้บังคับได้และไม่ขัดต่อข้อกำหนดนี้” นั้นคือศาลจะใช้การพิจารณาคดีแบบไต่สวน และประมวลกฏหมายแพ่งสามารถนำมาใช้ได้เท่าที่จะไม่ขัดต่อหลักกฏหมายนี้

ประเทศไทยเรานั้นได้มีการใช้ระบบกล่าวหาสำหรับคดีแพ่งและคดีอาญา  และใช้ระบบไต่สวนในคดีที่ใช้อำนาจตามกฎหมายมหาชน เช่น ศาลรัฐธรรมนูญ , ศาลปกครอง , ศาลคุ้มครองแรงงาน และศาลฎีกาแผนกคดีอาญาสำหรับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
http://www.pub-law.net/publaw/view.aspx?ID=891
http://www.maephrik.com/nitiram/taisuan.doc


ดังนั้นโดยสรุป กรณีคดีพิจารณาขอยุบพรรคประชาธิปัตย์ ในทางคดีศาลวินิจฉัยว่า การยื่นฟ้องคดีของนายทะเบียนพรรคการเมืองนั้น ล่วงเลยกำหนดเวลาที่กฎหมายกำหนดในมาตรา 93 ของพรบ.พรรคการเมือง 2550  ทำให้การยื่นฟ้องดังกล่าวไม่ถูกต่อกฎหมาย เสมือนดังพ้นอายุความไปนั้น ศาลใช้อำนาจตามข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาและการทำคำวินิจฉัย พ.ศ. ๒๕๕๐ ข้อ ๖ ที่ว่าวิธีพิจารณาตามที่กำหนดในข้อกำหนดนี้ให้ใช้ระบบไต่สวน และศาลจึงมีอำนาจที่จะชี้ข้อกฏหมายและข้อเท็จจริงที่มีอยู่จริงนี้ได้ แม้คู่กรณีจะไม่ยกขึ้นมาต่อสู้ก็ตาม เพราะตามระบบไต่สวน ศาลสามารถจะทำหน้าที่ค้นหาความจริงด้วยตนเองได้ และที่สำคัญสิ่งที่ศาลวินิจฉัยในเรื่องระยะเวลาที่ล่วงเลยไปเกิน 15 วันนั้น ไม่ใช่อายุความตามกฎหมายแพ่ง แต่เป็น“กำหนดเวลาในการฟ้องคดี”

 


ขออนุญาตให้ความเห็นต่อคุณเติ้ง1234 ด้วยความเคารพ ตามสิทธิดังนี้


1 .1 กำหนดเวลา 15 วัน ตามมาตรานี้ เป็นอายุความหรือไม่ หรือเป็นเพียงกำหนดกรอบเวลาการทำงานขององค์กร 


ความเห็น - ควรเรียกว่า“กำหนดเวลาในการฟ้องคดี” แต่จะเรียกว่าอายุความ หรือ กำหนดกรอบเวลาการทำงานขององค์กร เพื่อความเข้าใจสำหรับคนทั่วไปก็ตามแต่ “แต่ไม่ใช่อายุความตามประมวลกฎหมายแพ่ง” กำหนดเวลา 15 วัน ตามมาตรานี้ หากไม่สามารถดำเนินการได้ตามที่กฏหมายกำหนดเช่นนั้นได้ ก็จะผิดไปจากที่กฎหมายบัญญัติ ก็ย่อมถือว่าดำเนินการไม่ชอบด้วยบัญญัติของกฎหมาย


1.2 กรณีการกำหนดกรอบเวลาการทำงานขององค์กร  มีปรากฏในกฎหมายหลายฉบับ รวมทั้งรัฐธรรมนูญ ยกตัวอย่างเช่น  การตั้งคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม ที่เกินระยะเวลาที่กำหนด ฯลฯ  หากถือว่า ระยะเวลาดังกล่าวเป็นอายุความ  คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม ที่ตั้งเมื่อเกินระยะเวลาที่กำหนด มิต้องกลายเป็นโมฆะหรือ?


ความเห็น-เรื่องนี้ก็ต้องว่ากันต่อไปครับ จะรีบร้อนเอามาปะปนไปทำไม หากมันไม่ถูกก็ไม่ถูก ในความเห็นผมนะ มันไม่ถูกอยู่แล้วที่ตั้งกันเกินกำหนดที่กฎหมายบัญญัติ และหากเรื่องนี้มีการ้องต่อศาล ก็อาจจะโมฆะไปได้ แต่ทางแก้มีอยู่เช่นแก้กฎหมายให้รองรับเรื่องพวกนี้เสียใหม่


2. ถ้ากำหนดเวลา 15 วัน ตามมาตรานี้ ถือว่าเป็นอายุความ  แต่การที่ศาลรับคดีไว้พิจารณา  แสดงว่าศาลได้นำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 193/29 ที่บัญญัติว่า  "เมื่อไม่ได้ยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้ ศาลจะอ้างเอาอายุความมาเป็นเหตุยกฟ้องไม่ได้"


ความเห็น-ดังที่ได้อภิปรายไว้ข้างบนแล้ว “กำหนดเวลาในการฟ้องคดี”ในกฏหมายมหาชนนั้น ไม่ใช่อายุความตามกฏหมายแพ่ง อีกทั้งกรณีที่คุณยกมานั้นเป็นกรณีของศาลแพ่งที่พิจารณาด้วยระบบกล่าวหา โดยที่หากคู่ความไม่ยกอายุความาต่อสู้ ก็เท่ากับสละสิทธิที่ตนพึ่งมี แต่กรณีศาลรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นศาลระบบไต่สวน ศาลจะทำหน้าที่ค้นหาความจริงด้วยตนเอง ข้อกฏหมายและข้อเท็จจริงที่มีอยู่แม้คู่กรณีจะไม่ยกขึ้นมาต่อสู้ก็ตาม ศาลก็มีอำนาจที่จะชี้ข้อกฏหมายและข้อเท็จจริงที่มีอยู่จริงนี้ได้  ดังในกรณีนี้ การไม่ปฏิบัติให้ถูกต้องตามมาตรา 93 ก็จะมีผลให้เกิดการ “ขาดอายุความ” และในขณะเดียวกันก็คือ “เจ้าหน้าที่ของรัฐไม่ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมาย” และมีผลให้กฎหมายในข้อนั้นไม่สมบูรณ์ 

3. คณะกรรมการการเลือกตั้ง เป็นองค์กรอิสระเช่นเดียวกับศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อไม่มีข้อขัดแย้งกับองค์กรอื่น  หรือมีการยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย  ศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่มีสิทธิก้าวล่วงไปพิจารณาในเรื่องขั้นตอนการทำงานภายในของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ดังนั้นระยะเวลา 15 วัน จึงต้องนับจากวันที่กกต.มีมติให้ยื่นคำร้องต่อศาลในครั้งหลัง คือ วันที่ 12 เมษายน 2553


ความเห็น-ศาลแจ้งอยู่แล้วว่า การที่กกต.มีการประชุมกันหลายครั้งนั้นเป็นเรื่องภายในของกกต. แต่ในข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย การประชุมกกต.เมื่อ 17 ธค.นั้น ได้มีมติให้นายทะเบียน ดำเนินคดีและยื่นเรื่องต่อศาลแล้ว ตามพฤติการณ์ต้องถือว่าวันนั้นเป็นวันที่นายทะเบียนได้รับทราบเรื่องและได้รับความเห็นชอบจากกกต.และจะต้องยื่นเรื่องต่อศาลใน 15 วันนับจากวันนี้


4 ตามมาตรา93 วรรค2 ตอนท้าย ระบุว่า “เมื่อศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วเห็นว่ามีเหตุดังกล่าวเกิดขึ้นกับพรรคการเมืองตามคำร้องของนายทะเบียน ให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้ยุบพรรคการเมืองนั้น”+


ความเห็น-
1. ในคดีนี้ คำร้องของนายทะเบียนไม่ถูกกฎหมายแต่แรกศาลไม่ยกคดีเสีย คดีจึงถูกยกไป
2. หากคำร้องของนายทะเบียนถูกต้องก็ตาม ความที่ว่า “เมื่อศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วเห็นว่ามีเหตุดังกล่าวเกิดขึ้นกับพรรคการเมืองตามคำร้องของนายทะเบียน ให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้ยุบพรรคการเมืองนั้น” หมายถึง ศาลรัฐธรรมนูญต้องพิจารณาคดี แล้วเห็นว่ามีเหตุดังกล่าวเกิดขึ้นกับพรรคการเมืองจริง ตามคำร้องของนายทะเบียน ศาลรัฐธรรมนูญจึงสั่งให้ยุบพรรคการเมืองนั้น

 หากศาลพิจารณาแล้วไม่เห็นว่ามีเหตุดังกล่าวเกิดขึ้นกับพรรคการเมืองตามคำร้องของนายทะเบียน ก็จะไม่สั่งยุบพรรคการเมือง ความข้อนี้เป็นความจริง เพราะหากกฎหมายมีเจตนาอย่างที่คุณเติ้ง123 ว่าจริง ก็ไม่ต้องมีการไต่สวนคดี ลำพังนายทะเบียนยื่นเรื่องให้ศาล ศาลก็จะสามารถสั่งยุบได้เลย แต่กรณีไม่เป็นอย่างที่คุณเติ้ง123 สรุปแบบนั้น เพราะที่ผ่านมา ศาลล้วนแต่เปิดศาลดำเนินการไต่สวน ไม่ใช่รับความจากนายทะเบียนมาแล้วไปสั่งยุบพรรคอย่างที่คุณเติ้ง123 ว่าเลย


ดังนั้น ด้วยเหตุที่กล่าวมาทั้งหมดจึงขอสรุปว่า ศาลรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นศาลพิจารณาคดีกฏหมายมหาชน และใช้ระบบไต่สวนในการพิจารณาคดี สามารถวินิจฉัยระยะเวลาการยื่นฟ้งอของนายทะเบียนพรรคการเมืองว่า เป็นไปตามกฏหมายหรือไม่ ที่มีการอ้างกันว่า "ขณะที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอยุบพรรคผู้ถูกร้อง นั้น    พรรคผู้ถูกร้องไม่ได้ยกอายุความขึ้นต่อสู้  ศาลจึงไม่มีอำนาจยกเรื่องอายุความมาเป็นเหตุยกคำร้องได้" นั้นไม่สามารถนำมาใช้ได้ เพราะศาลวินิจฉัยเรื่อง“กำหนดเวลาในการฟ้องคดี”ซึ่งไม่ใช่อายุความตามกฏหมายแพ่ง จึงนำกฏหมายแพ่งมาใช้ตรงนี้ไม่ได้

จึงขอจบกระทู้ไว้ในเวลานี้เพียงแค่นี้ก่อนนะครับ

-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

ผมได้กระทู้ที่พาดพิงมาของคุณ POE และของคุณเติ้ง1234 แล้ว และขอใช้กระทู้นี้ในการตอบเลยเพราะพรุ่งนี้อาจจะต้องติดภารกิจอื่น หรืออาจะต้องถกเรื่องกันต่อไป

ขอตอบความเห็นต่อกระทู้คุณเติ้ง1234 ที่ P9978241 ก่อนนะครับดังนี้....

คุณเติ้ง1234ครับ ผมก็คาดหมายอยู่แล้วเช่นกันว่าเมื่อผมได้ให้ความเห็นปิดช่องทางกฏหมายไว้หมดโดยละเอียดแล้ว ก็อาจจะทำให้สมาชิกที่ไม่เห็นด้วยบางท่าน หมดทางที่จะแก้ไปทางอื่นได้สมาชิกจำต้องยอมรับความจริงว่า


1. ในเรื่องกำหนดเวลา 15 วัน ในที่สุดคุณเติ้งก็ยอมรับว่าเป็น เพียงกำหนดกรอบเวลาการทำงานขององค์กร ดังนั้น คุณเติ้งหรือเพื่อนสมาชิก ก็จะไม่สามารถเอาปพพ.193/29 มาแย้งศาลได้อีกต่อไปแล้วใช่ไหมครับ ดังนั้นคุณเติ้งยอมรับแล้วใช่ไหมครับว่าศาลรัฐธรรมนูญสามารถหยิบยกเรื่องกำหนดเวลาพิจารณาคดีหรืออายุความหรือกรอบเวลาการทำงานขององค์กรมาพิจารณาได้เอง โดยไม่ขัดต่อกฎหมายใดๆอีกแล้วนะครับ ซึ่งเป็นที่น่ายินดีมากที่คุณเติ้งสามารถยอมรับตรงนี้ได้โดยไม่โต้แย้งอีกต่อไป


2 คุณเติ้งโพสต์ว่า “การที่ผมลำดับขั้นตอนการทำงานตามมาตรา93  ทั้ง 3 ขั้น  ก็เพื่อให้เห็นว่าทั้ง 3 ขั้นนั้นเป็นการดำเนินการภายในขององค์กรอิสระ คือ กกต.  ซึ่งคุณก็ยอมรับและศาลเองก็ยอมรับว่า “การที่กกต.มีการประชุมกันหลายครั้งนั้นเป็นเรื่องภายในของกกต.”  ..” ข้อ 2 ในกระทู้เดิมนั้นที่จริงแล้วคุณเติ้งโพสต์ไว้เกี่ยวกับเรื่อง “2.ถ้ากำหนดเวลา 15 วัน ตามมาตรานี้ ถือว่าเป็นอายุความ  แต่การที่ศาลรับคดีไว้พิจารณา  แสดงว่าศาลได้นำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 193/29 ที่บัญญัติ..” แต่ข้อ 2 ในกระทู้ใหม่นี้คุณเติ้งเอาไปปนกับข้อ 3 เรื่องมาตรา 93 ผมจึงให้ความเห็นที่ข้อ 3 รวบยอดไปคราวเดียวเลย


3 คุณเติ้งแยกให้เห็นรายละเอียดไว้ ผมขอตอบแยกเป็นรายข้อดังนี้


3.1 คุณเติ้งว่า...“การประชุมกกต.เมื่อ 17 ธค.นั้น ได้มีมติให้นายทะเบียน ดำเนินคดีและยื่นเรื่องต่อศาล”  ในวันนั้นนายอภิชาต ทำหน้าที่ประธานการประชุมกกต.  ที่ประชุมมีมติให้นายทะเบียน ดำเนินคดีและยื่นเรื่องต่อศาล  นายอภิชาตในฐานะกรรมการคนหนี่งและในฐานะประธานกกต. ไม่เห็นด้วย  ตรงนี้เป็นเรื่องภายในองค์กรของกกต. นะครับ


ตอบ-นี้แหละครับ การที่กกต. ประชุมกกต.เมื่อ 17 ธค.นั้น ได้มีมติให้นายทะเบียน ดำเนินคดีและยื่นเรื่องต่อศาลเท่ากับว่าเรื่องได้ปรากฏต่อนายทะเบียนว่าพรรคปชป.นั้นได้มีเหตุตามมาตรา 93 วรรคหนึ่งแล้ว และตามกฎหมาย นายทะเบียนโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการการเลือกตั้ง จะต้องทำการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญภายในสิบห้าวันนับแต่วันนี้ครับ เพราะวันนี้เป็นวันที่นายทะเบียนได้รับทราบมติของกกต.


3.2 คุณเติ้งว่า...“ต่อมานายทะเบียน ซึ่งก็คือ นายอภิชาต  เห็นว่า  หลักฐานไม่เพียงพอ  ดังนั้นจึงเท่ากับว่ายังไม่ปรากฏต่อ นายทะเบียนว่า  มีพรรคการเมืองทำการเข้าตามมาตรา 93 วรรคแรก  อันนี้ตามกฎหมายให้เป็นดุลยพินิจของนายทะเบียนนะครับ  และเป็นลำดับการทำง่านขั้นที่1 ที่ได้กล่าวแล้ว”


ตอบ- ตรงนี้เห็นได้ชัดว่าเป็นความโลเลของนายทะเบียน เพราะกกต.มีมติไว้อย่างหนึ่งคือให้ดำเนินการต่อคดีทั้งสอง โดยมีมติรวมไปว่าให้ดำเนินการตามาตรา 95 ของพรบ.พรรคการเมือง ซึ่งมาตรา 95 นั้นบัญญัติว่า “เมื่อปรากฏต่อนายทะเบียน หรือเมื่อนายทะเบียนได้รับแจ้งจากคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองและได้ตรวจสอบแล้วเห็นว่าพรรคการเมืองใดกระทำการตามมาตรา ๙๔ ให้นายทะเบียนโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการการเลือกตั้งแจ้งต่ออัยการสูงสุด พร้อมด้วย หลักฐาน” การที่กกต.มีมติให้นายทะเบียนดำเนินการตามาตรา 95 ย่อมเท่ากับว่ามีเรื่องปรากฏต่อนายทะเบียนจริงแล้วนั้นเอง แต่นายทะเบียน กลับไม่ทำตามขั้นตอนที่ถูกต้อง กลับไปตั้งคณะกรรมการขึ้นมาใหม่ อันเป็นความผิดพลาดของนายทะเบียนเอง จะเอามาเป็นข้อแก้ตัวไม่ได้


3.3 แม้ว่า การประชุมกกต.เมื่อ 17 ธค.นั้น ได้มีมติให้นายทะเบียน ดำเนินคดีและยื่นเรื่องต่อศาล ซึ่งเป็นลำดับการทำง่านขั้นที่2 ที่ได้กล่าวแล้ว ก็ตาม


ตอบ- ครับ การประชุมกกต.เมื่อ 17 ธค.นั้น ได้มีมติให้นายทะเบียน ดำเนินคดีและยื่นเรื่องต่อศาล นั้นเท่ากับว่ามีเหตุตามวรรคหนึ่งตามบัญญัติมาตรา 93 วรรคสอง ปรากฏต่อนายทะเบียนว่าพรรคปชป.กระทำความผิด เป็นการประจักษ์ในเหตุตามที่มาตรา 93 วรรคสองบัญญัติไว้ครับ ต่อไปนายทะเบียนจะต้องขอความเห็นชอบของคณะกรรมการการเลือกตั้งยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญภายในสิบห้าวันนี้ ซึ่งเป็นวันที่ความปรากฏต่อนายทะเบียนแล้ว และกกต.มีมติให้นายทะเบียน ดำเนินคดีและยื่นเรื่องต่อศาล

3.4 แต่นายทะเบียน ซึ่งก็คือ นายอภิชาต  เห็นว่า  แม้จะมีการดำเนินการตามมาตรา 93 ในขั้นที่2 แล้ว  แต่ในขั้นที่1 ตามดุลยพินิจของเขา  เห็นว่าหลักฐานไม่เพียงพอ  จึงต้องการให้มีการตรวจสอบเพิ่มเติม  ซึ่งเป็นสิทธิที่นายทะเบียนสามารถทำได้ตามกฎหมาย


ตอบ-การปฏิบัติงานของนายทะเบียนตรงนี้ ถือว่าทำไปเองตามอำเภอใจ ไม่มีกฎหมายรองรับขั้นตอนตรงนี้ เพราะกกต.เองเมื่อ 17 ธค.นั้น ได้มีมติให้นายทะเบียน ดำเนินคดีและยื่นเรื่องต่อศาล ตามคุณเติ้งได้ระบุไว้เองใน 3.3 ขั้นตอนที่นายทะเบียนจะต้องทำคือ ยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญครับ ไม่ใช่ย้อนกลับไปตั้งอนุกรรมการอะไรวุ่นวายไปหมด

3.5  เมื่อยังไม่ครบองค์ประกอบคือ มีการดำเนินการตามมาตรา 93 ในขั้นที่1 และ 2 นายทะเบียนจึงยังไม่ต้องยื่นเรื่องต่อศาล  และ การนับเวลาตามมาตรา93 ก็ยังไม่เกิดขึ้น  ขอให้สังเกตว่า  ตอนนี้ก็ยังเป็นเรื่องภายในองค์กรของกกต. นะครับ  เนื่องจาก การที่จะตัดสินว่า เป็นเรื่องที่ “ปรากฏต่อ นายทะเบียนว่า  มีพรรคการเมืองทำการเข้าตามมาตรา 93 วรรคแรก” หรือไม่นั้น  เป็นดุลยพินิจของนายทะเบียน


ตอบ – ตามตัวบททกฏหมายมาตรา 93 ไม่มีบัญญัติให้นายทะเบียนกระทำการอื่นใดอีก ไม่ว่าจะขั้น 1 หรือ 2หรืออะไรอย่างที่คุณเติ้งอาจจะเข้าใจคิดเอาไปเองแบบนี้ มาตรา 93 ระบุไว้ชัดเจนว่า เมื่อนายทะเบียนพบมีเหตุตามวรรคหนึ่ง ปรากฏขึ้น ซึ่งในกรณีนี้คือการประชุมกกต.พิจารณาเรื่องปปช. แล้วลงมติให้นายทะเบียนดำเนินการต่อด้วยมาตรา 95 ต่อไปนายทะเบียนจะต้องขอความเห็นชอบของคณะกรรมการการเลือกตั้งยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญภายในสิบห้าวัน

ข้อ3.1 ถึง3.5 ที่กล่าวมา  จะเห็นได้ว่าเป็นเรื่องภายในองค์กรของกกต.ทั้งสิ้น


ตอบ-ใช่แล้วครับ เป็นเรื่องความผิดพลาดภายในขององค์กรกกต. ซึ่งความผิดพลาดภายในที่เกิดขึ้นนี้ไม่สามารถจะนำมากล่าวอ้างเพื่อประโยชน์ใดๆได้ครับ ไม่สามารถนำมายกเพื่อต่อสู้คดีกับบุคคลภายนอกได้

คุณเติ้งว่า “เนื่องจาก คณะกรรมการการเลือกตั้ง เป็นองค์กรอิสระเช่นเดียวกับศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อไม่มีข้อขัดแย้งกับองค์กรอื่น  หรือมีการยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย  ศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่มีสิทธิก้าวล่วงไปพิจารณาในเรื่องขั้นตอนการทำงานภายในของคณะกรรมการการเลือกตั้งครับ”


ตอบ-ศาลไม่ได้ก้าวล่วงนิครับ กกต.จะทำอะไรอย่างไรก็ทำกันไป ศาลรธน.ไม่ก้าวล่วงไปสั่งการอะไร กกต.หรอกครับ แต่ศาลทั้งหลายไม่ใช่เฉพาะแต่ศาลรธน.นะครับ ศาลอื่นๆสามารถจะวินิจฉัยการทำงานภายในของกกต.หรือองค์กรใดๆก็ตาม ในส่วนที่เกี่ยวกับคดีที่ตนมีอำนาจพิจารณาครับ เพื่อประโยชน์ในการดำเนินคดีครับ กรุณาเข้าใจให้ถูกต้องครับ

คุณเติ้งว่า-เมื่อนายอภิชาตในฐานะนายทะเบียน ได้ตรวจสอบ จนเห็นว่ามีหลักฐานเพียงพอที่จะเชื่อได้ว่า  มีพรรคการเมืองทำการเข้าตามมาตรา 93 วรรคแรก จึงได้ใช้ฐานะประธานกกต. เรียกประชุมเมื่อวันที่ 12 เมษายน 2553 จนมีมติตามรายงานการประชุมกกต.ครั้งที่ 41/2553 ให้นายทะเบียนพรรคการเมืองยื่นคำร้องยุบพรรค ปชป.ต่อศาลรธน.  แม้แต่ตอนนี้ก็ยังเป็นเรื่องภายในองค์กรของกกต. นะครับ  เพียงแต่ครบองค์ประกอบ คือ มีการดำเนินการตามมาตรา 93 ในขั้นที่1 และ 2 ครบ  จึงต้องเริ่มนับระยะเวลาตามมาตรา 93 จากวันที่มีมติในการประชุมครั้งนี้ครับ 


ตอบ- ผิดครับ ขั้นตอนที่นายอภิชาตในฐานะนายทะเบียนทำไปหลังการประชุมกกต.เมื่อ 17 ธค.นั้น ซึ่งได้มีมติให้นายทะเบียน ดำเนินคดีและยื่นเรื่องต่อศาลนั้น ขั้นตอนที่ถูกต้องตามบัญญัติมาตรา 93 คือต้องนำเรื่องยื่นต่อศาลรธน. ไม่ใช่มาทำอะไรวุ่นวายเพิ่มเติม อีกทั้งไม่มีกฏมายใดมารองรับความถูกต้องตรงนี้เลย

4. ส่วนเรื่อง “คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม” ที่คุณว่า “เรื่องนี้ก็ต้องว่ากันต่อไปครับ จะรีบร้อนเอามาปะปนไปทำไม หากมันไม่ถูกก็ไม่ถูก ในความเห็นผมนะ มันไม่ถูกอยู่แล้วที่ตั้งกันเกินกำหนดที่กฎหมายบัญญัติ และหากเรื่องนี้มีการร้องต่อศาล ก็อาจจะโมฆะไปได้ แต่ทางแก้มีอยู่เช่นแก้กฎหมายให้รองรับเรื่องพวกนี้เสียใหม่” ........ก็ทางแก้อย่างที่คุณเสนอมานี่แหละครับที่ผมกลัว  รู้ว่าผิด จะต้องไม่ทำครับ  ไม่ใช่ว่า  ถ้าคนอื่นทำผิด  ก็โจมตี  ครั้นพอตนทำผิด  ก็ดันทุรัง  สุดท้ายก็แก้กฎหมายมารองรับ  เรื่อง“คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม” เป็นตัวอย่างที่ผมยกมาเทียบเคียงว่าเป็นกรอบเวลาการทำงานเหมือนมาตรา93 ครับ  ถ้ายึดเรื่องเวลาตามมาตรา93 แบบนี้  คดีอื่นๆที่ผ่านมาละครับจะทำอย่างไร?  ถ้ายังเป็นข้อกังขาเช่นนี้  ความน่าเชื่อถือของระบบจะยังเหลืออยู่หรือ?


ตอบ-เอาตามคุณว่าเถอะครับ ประเด็นนี้ผมไม่มีความเห็นเพิ่มเติม


คุณเติ้งว่า "อ้อ  ผมไม่เคยพูดว่า รับความจากนายทะเบียนมาแล้วไปสั่งยุบพรรคเลย  โดยไม่ต้องพิจารณาหลักฐาน ครับ  กรุณากลับไปอ่านข้อเขียนของผมให้ละเอียดช้าๆนะครับ  ผมว่าคุณ thyrocyteคงสับสน ตัวอย่างที่ผมยกมามากกว่า  ด้วยความเคารพครับ"


ตอบ – ผมไม่ได้สับสนหรอกครับ แต่ผมต้องการจี้ให้คุณเติ้งแสดงออกมาให้ชัดๆว่าคิดอย่างไรกันแน่ถึงไปโพสต์ว่า “4 ตามมาตรา93 วรรค2 ตอนท้าย ระบุว่า “เมื่อศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วเห็นว่ามีเหตุดังกล่าวเกิดขึ้นกับพรรคการเมืองตามคำร้องของนายทะเบียน ให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้ยุบพรรคการเมืองนั้น”  หากตีความอย่างเคร่งครัด  จะเห็นว่า ตามพรบ.ระบุให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาว่า  มีเหตุดังกล่าวเกิดขึ้นกับพรรคการเมืองตามคำร้องของนายทะเบียน หรือไม่  เท่านั้น  ซึ่งแสดงว่ากฎหมายไม่อนุญาตให้ตีความเรื่องอื่น  โดยเฉพาะเรื่องขั้นตอนการทำงานภายในขององค์กรอิสระอื่น  ที่ไม่มีผู้ร้อง  เพราะถ้าเจตนารมณ์กฎหมายต้องการให้พิจารณาเรื่องอื่นได้  มาตรา93 วรรค2 ต้องเขียนว่า "เมื่อปรากฏต่อนายทะเบียนว่าพรรคการเมืองใดมีเหตุตามวรรคหนึ่ง ให้นายทะเบียนโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการการเลือกตั้งยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ความปรากฏต่อนายทะเบียน เมื่อศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้ว ให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้ยุบพรรคการเมืองนั้น".........

^

ที่คุณเติ้งโพสต์มาตั้งยาวข้างบนนี้นั้น  หากคุณเติ้งกล้าสรุปความคิดตนเองออกมา ก็จะเป็นพระคุณยิ่งครับว่าตกลงเห็นว่าอย่างไรกัน

และขอย้ำอีกทีครับ อำนาจของศาลนะ สามารถใช้ตีความ ไต่สวน เรียกดูพยาน ฯลฯ ในขั้นตอนการทำงานต่างๆภายในขององค์กรอิสระอื่นได้ทั้งสิ้นว่าถูกต้องตามกฏหมายหรือขั้นตอนกฏหมายหรือไม่ การพิจารณาคดีนะไม่เป็นการก้าวก่ายครับ หากศาลไม่สามารถวินิจฉัยการทำงานที่ได้ทำไปแล้วขององค์การต่างๆว่าถูกต้องหรือไม่ องค์กรนั้นก็อยู่เหนือกฏหมายสิครับ

ด้วยความเคารพเช่นกันครับ

 

-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

ขอกลับมาตอบกระทู้คุณ POE จากกระทู้ P9977648 ครับ

ขอบคุณคุณ POE ที่ให้ความสนใจถามผมในกระทู้ ผมอ่านดูแล้วจับใจความได้คำถามว่า  "...ความจริงที่ว่า “มีเหตุตามวรรคหนึ่ง” ที่ปรากฏต่อนายทะเบียนเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2552 อยู่ตรงไหน? ในเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2552 ไม่อะไรที่ชี้ชัดได้ว่า นายทะเบียนพรรคจะเห็นเหตุตามวรรคหนึ่ง เพราะมติกกต.นี้ก็ไม่วินิจฉัยชี้ขาดว่าให้ยุบพรรคหรือยกคำร้อง และประธานกกต.ซึ่งเป็นคนๆ เดียวกันกับนายทะเบียนพรรค “ชี้ขาด” ให้ยกคำร้อง และมติในวันนั้นก็ให้ นายทะเบียนพรรคการเมือง เป็นผู้ตรวจสอบ..."

กระทู้ที่สอบถามของคุณ POE ที่จริงผมเห็นมาสักพักแล้วครับ แต่ติดงานส่วนตัว และติดตอบกระทู้คุณเติ้ง1234ที่ผมอาจไปพาดพิงก่อนเลยต้องขอตอบคุณเติ้ง1234 ก่อน อีกอย่างผมต้องการตรวจเช็คให้แน่ชัดว่า สรุปแล้วในการประชุมครั้งที่ 144/2552 ในวันที่ 17 ธค 2552 นั้นประชุมสรุปมีรายละเอียดอย่างไรกันแน่ เพราะหลังการวินิจฉัยกกต.ก็ออกมาให้ข้อมูลแตกต่างกันอีกแบบไป และตอนนี้เวบบอร์ดก็อ้างเหตุในวันที่ 17 ธค.กันไปแตกต่างกันไปในรายละเอียดที่สำคัญ  ผมเองพยายามตรวจค้นเท่าที่พอจะทำได้สักพักใหญ่ๆก็ยังไม่ได้คำตอบที่น่าพอใจ

ในความเห็นของผมตอนนี้มี 4 แหล่งใหญ่ที่จะอ้างอิงเรื่องในวันที่ 17 ธค ได้คือ
1. จากคำวินิจฉัยของศาลรธน.เอง ซึ่งรายละเอียดตรงนี้คงได้ทราบกันแล้ว
2. จากคำแก้ของกกต.ที่มีภายหลังการวินิจฉัย ซึ่งตรนี้ผมให้ความสำคัญไม่มาก เพราะเป็นการพูดอ้างเอาลอยๆ และอาจเป็นการแก้ตัว
3. จากหนังสือพิมพ์ในอดีตที่พูดถึงข่าวนี้
4. จากเอกสารของปชป.เองทิพิมพ์ขึ้นมาเรื่อง”ความจริงสู้อธรรม” ที่จัดทำขึ้นก่อนการวินิจฉัยของศาล และสามารถดาวน์โหลดได้จากเวบ แต่ความที่จะอ้างถึงนั้น ปชป.เองไม่ได้นำมาอ้างเพื่อประโยชน์แก่พรรคหรือแก่ตนเอง
เพื่อเข้าถึงความจริงของวันที่ 17 ค.ให้ได้มากที่สุด ผมจึงตัดสินใจใช้ข้อมูลจาก 3 และ 4 ดังนี้

จากหนังสือพิมพ์ในอดีตที่พูดถึงข่าวนี้
ผมค้นเจอน้อยมากและเป็นการอ้างไว้ในเวบบอร์ดอีกที ไม่สามารถหาลิงค์ต้นตอเจอ ทำให้ความน่าเชื่อถือลดลง แต่ก็คิดว่าน่าจะมีเค้าความจริงของเหตุการณ์ในวันที่ 17 ธค อยู่บ้าง ที่ค้นเจอมาจาก


http   forum.uamulet.com/view_topic.aspx?bid=179&qid=971
17 ธันวาคม52- วันนี้ ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง กรรมการการเลือกตั้งประชุม  5 คน แต่ 4 คนซึ่งเป็นเสียงข้างมาก ได้แก่ นางสดศรี สัตยธรรม, นายวิสุทธิ์ โพธิแท่น, นายสมชัย จึงประเสริฐ และนายประพันธ์ นัยโกวิท  ซึ่งกรรมการแต่ละคนได้ทำสำนวนส่วนตัว วินิจฉัยสรุปว่า พรรคประชาธิปัตย์ ทำผิดกฎหมายพรรคการเมือง และเสนอให้ยุบพรรคประชาธิปัตย์ จากสำนวนที่พรรคประชาธิปัตย์ รับเงินบริจาคจากบริษัททีพีไอ โพลีน ของนายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ ให้พรรคประชาธิปัตย์ จำนวน 258 ล้านบาท โดยไม่แจ้งให้กรรมการการเลือกตั้งรับทราบ


ส่วนกรรมการการเลือกตั้งอีกหนึ่งคน คือนายอภิชาต สุขขัคคานนท์ ในฐานะประธานกกต. และที่สำคัญเป็นนายทะเบียบพรรคการเมือง (ที่มีอำนาจวินิจฉัยว่าจะส่งเรื่องยุบปชป.หรือไม่) ลงความเห็นว่า "ให้ยุติการสอบสวนสำนวนนี้" โดยไม่ได้ลงความเห็นว่าประชาธิปัตย์ ผิดหรือไม่ผิด ส่วนนายอภิชาต ในฐานะประธานกกต. และนายทะเบียนพรรคการเมือง วันนี้ไม่ได้ทำสำนวนมาให้ที่ประชุม จึงไม่สามารถลงมติได้ว่าจะจัดการเรื่องนี้ต่อไปอย่างไร  แต่กกต. 4 คนที่เอ่ยไปแล้ว ได้ลงมติมาเรียบร้อยแล้ว  แต่ปัญหาคือ แม้ว่าจะลงมติให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญ ยุบพรรคประชาธิปัตย์ แต่ก็ไม่สามารถทำได้ เพราะตามขั้นตอนการไต่สวนของกกต. จะส่งเรื่องให้ศาลฯ ได้ก็ต่อเมื่อได้รับความเห็นชอบจาก"นายทะเบียนพรรคการเมือง" หรือก็หมายถึงนายอภิชาต นั่นเอง


ซึ่งกกต. 4 คนที่ลงมติให้ส่ง ก็ได้หารือกับ และได้ผลสรุป 3 ใน 4 คนว่า ให้เป็นอำนาจประธานกกต. ก็คือนายทะเบียนพรรคการเมือง เป็นผู้วินิจฉัยว่าจะส่งหรือไม่  และ 1 ใน 3 ที่เสนอให้ประธานกกต. ก็เห็นว่า นายทะเบียนพรรคการเมือง ควรจะส่งให้ศาลรธน. ซึ่งจากนี้ก็ต้องดูว่า...ประธานกกต.จะเขียนสำนวนส่งฟ้องศาล หรือไม่ และอย่างอย่างไร เพราะเป็นอำนาจของนายทะเบียนพรรคการเมือง...
แต่ในเมื่อนายอภิชาตได้บอกในที่ประชุมแล้วว่า"ให้ยุติการสอบสวน" ก็น่าลุ้น...เพราะว่าสวนทางมติกกต.อีก 4 คนที่ให้ยุบ ….ส่วนอีกกระแสหนึ่ง มีรายงานข่าวแจ้งว่า มติเสียงมากคือ 3 ต่อ 2 เสียง โดยนายสมชัย จึงประเสริฐ นางสดศรี สัตยธรรม และนายประพันธ์ นัยโกวิท เห็นว่าเรื่องนี้ควรเป็นอำนาจการตัดสินใจของนายทะเบียนพรรคการเมือง ส่วนเสียงข้างน้อย 2 เสียง มีความเห็นแตกเป็น 2 ทางคือนายอภิชาต สุขัคคานนท์ มีความเห็นให้ยกคำร้อง ขณะที่นายวิสุทธิ์ โพธิ์แท่น เสนอให้ยุบพรรค ปชป.

***

เมื่ออ่านแล้วผมจับใจความได้ว่าวันนั้นมีมติให้เสนอให้ยุบพรรคประชาธิปัตย์ จากสำนวนที่พรรคประชาธิปัตย์ รับเงินบริจาคจากบริษัททีพีไอ โพลีน ของนายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ ให้พรรคประชาธิปัตย์ จำนวน 258 ล้านบาท แต่ข่าวไม่พูดถึงข้อหาเงินอุดหนุนพรรคการเมืองตามาตรา 93 แต่ผมอนุมานว่า คงจะมีมติให้ยุบในวันนั้นเช่นกัน เพราะไม่เช่นนั้น ในบทความนี้น่าจะพูดถึงไปแล้ว แต่ก็เป็นแค่การอนุมาน

จากเอกสารของปชป.เองทิพิมพ์ขึ้นมาเรื่อง”ความจริงสู้อธรรม”

ที่จัดทำขึ้นก่อนการวินิจฉัยของศาล และความที่จะอ้างถึงนั้น ปชป.เองไม่ได้นำมาอ้างเพื่อประโยชน์แก่ตัวเอง มีความอยู่หลายหน้า ที่อ่านได้ชัดคือหน้า 33 กล่าวถึงการประชุมในวันนั้น 144/2552 17 ธค 2552 ว่า กกต.มีมติให้นายทะเบียนดำเนินการต่อไปตามมาตรา 95 ของพรบ.พรรคการเมือง 2552 ซึ่งความตรงนี้มีข้อสำคัญ เพราะหากกกต.มีมติเช่นที่ว่าจริง ย่อมแสดงว่า กกต.เองและนายทะเบียนที่ร่วมประชุมอยู่ด้วย มีมติโดยพฤตินัยว่า ปปช.กรทำความผิดจริง จึงได้มีมติให้นายทะเบียนดำเนินการตามาตรา 95 ต่อไป

จริงอยู่การกระทำผิดต่อเงินอุดหนุนพรรคการเมืองนั้นเป็นความผิดตามาตรา 93 ซึ่งจะต้องส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญเลย ไม่ต้องดำเนินการตามาตรา 95 ที่จะดำเนินการตามาตรา 95 นั้นเป็นความผิดเรื่องเงิน 258 ล้านซึ่งผิดตามาตรา 94 (4) และต้องไปต่อที่มาตรา 95

แต่นัยยะของการประชุมวันนั้นแสดงว่าที่ประชุมกกต.วันนั้นประจักษ์ในความผิดของปปช.ทั้ง 2 ข้อหา เพียงแต่การดำเนินการต่อไปในทำรวบเข้าไปด้วยกัน แต่ก็ไม่พ้นข้อความจริงที่ว่า เหตุความผิดนั้นได้ปรากฏให้นายทะเบียนทราบแล้วตามบัญยัติมาตรา 93 วรรค 2 แม้นายทะเบียนจะไม่เห็นด้วยกับมติก็เป็นเพียงความเห็นส่วนตน และแม้นายทะเบียนจะทำการฟั่นเฟือไป ไปตั้งอนุกรรมการมาสอบซ้ำอีกรอบ ก็ไม่สามารถนำมาใช้อ้างสู้กับมติกกต.ที่ตนเองต้องยอมรับได้

การนับวันจึงต้องเริ่มจาก 17 ธค. โดยนัยยะนี้ อันนี้เป็นความเห็นของผมนะครับ

ด้วยความเคารพ

 

 

 

 

.

แก้ไขเมื่อ 01 ธ.ค. 53 19:02:24

แก้ไขเมื่อ 01 ธ.ค. 53 16:52:22

แก้ไขเมื่อ 01 ธ.ค. 53 06:29:48

แก้ไขเมื่อ 01 ธ.ค. 53 00:23:16

แก้ไขเมื่อ 01 ธ.ค. 53 00:19:59

จากคุณ : thyrocyte
เขียนเมื่อ : 1 ธ.ค. 53 00:13:36 A:110.168.19.16 X:



ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com