มาอ่านต่อครับ.ศาลรัฐธรรมนูญกับมาตรฐานมโนธรรม(2)
|
 |
นำมาฝากครับ
โดย วีรพัฒน์ ปริยวงศ์
หมายเหตุมติชนออนไลน์: วีรพัฒน์ ปริยวงศ์ จบการศึกษานิติศาสตร์มหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยฮาวาร์ด (รางวัลทุนฟุลไบรท์และวิทยานิพนธ์เกียรตินิยม) และนิติศาสตร์บัณฑิต เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หมายเหตุจากผู้เขียน: ความเห็นฉบับนี้เขียนขึ้นช่วงข้ามคืน ยังพร่องในความสมบูรณ์และหวังจะได้ปรับปรุงต่อไปในอนาคต หากผู้อ่านมีข้อคิดเห็น คำแนะนำ หรือข้อติติง ขอน้อมรับฟังที่ verapat@post.harvard.edu. ประเด็นวิชาการบางส่วนของความเห็นในฉบับนี้ ได้เคยนำเสนอไว้แล้วในวิทยานิพนธ์ สืบค้นได้ที่ Google: "Verapat Harvard Paper" อนึ่ง "มาตรา" และ "กฎหมาย" ที่กล่าวถึงในความเห็นนี้ หมายถึง พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2550 (สำเนาดูได้ที่ http://www.parliament.go.th/mp2550/asset/law_party.pdf) เว้นแต่บริบทจะแสดงเป็นอื่น บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2553 ณ http://sites.google.com/site/verapat/ (ดูฉบับเต็มและภาคผนวกในเว็บไซต์นี้) ---------- 2. เหตุผลทางกฎหมายไม่เป็นที่กระจ่างชัด ไม่ว่าวิธีการลงมติเสียงข้างมากที่ปรากฏจะชอบธรรมหรือไม่ เหตุผลของตุลาการเสียงข้างมากทั้งสองกลุ่ม ก็ยังไม่เป็นที่กระจ่างชัดอีกทั้งขัดแย้งกันโดยสิ้นเชิง โดยผู้ทำความเห็นจะแสดงข้อคิดเห็นต่อเหตุผลของตุลาการ 1 เสียงที่เห็นว่า ระยะเวลายื่นคำร้องต่อศาลต้องนับจากวันที่ 17 ธันวาคม 2552 ก่อน จาก นั้นจึงจะแสดงข้อคิดเห็นต่อเหตุผลของตุลาการเสียงข้างมากอีก 3 เสียง ที่เห็นว่าในวันที่ 12 เมษายน 2553 นายทะเบียนพรรคการเมืองยังไม่มีความเห็นให้ยุบพรรคประชาธิปัตย์ 2.1 เหตุผลเรื่องระยะเวลายื่นคำร้อง ประเด็นหนึ่งที่ศาลใช้วินิจฉัยการยกคำร้องในคดีนี้คือ เหตุความผิดที่จะนำไปสู่การยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา 93 วรรคสองนั้น ได้ปรากฏต่อนายอภิชาต สุขัคคานนท์ ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมืองเมื่อใด มาตรา 93 วรรคสองบัญญัติว่า "เมื่อปรากฏต่อนายทะเบียนว่าพรรคการเมืองใดมีเหตุตามวรรคหนึ่ง" (เหตุในคดีนี้คือมาตรา 82 กรณีการได้รับเงินและจัดทำรายงานการใช้จ่ายเงินสนับสนุนของพรรคการเมืองอย่างไม่ถูกต้อง) "ให้นายทะเบียนโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการการเลือกตั้งยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ความปรากฏต่อนายทะเบียน" ศาล วินิจฉัยว่า เหตุความผิดได้ปรากฏต่อนายอภิชาต ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมืองเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2552 ดังนั้นเมื่อนายทะเบียนพรรคการเมืองได้ยื่นคำร้องคดีนี้ต่อศาลเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2553 จึงเป็นการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเกินระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด คำถามคือ ศาลนำหลักหรืออะไรมาสรุปว่าระยะเวลาที่ต้องยื่นคำร้องต้องเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 17 ธันวาคม 2552 หากพิจารณาคำวินิจฉัย หน้า 12-13 ศาล อธิบายว่า เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2552 ในการประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้งครั้งที่ 144/ 2552 ในส่วนกรณีข้อกล่าวหาเกี่ยวกับคดีนี้ (กรณีเงิน 29 ล้านบาท) คณะกรรมการการเลือกตั้งมีมติเสียงข้างมากสั่งตามรวมกันไปกับอีกข้อหา (กรณีเงิน 258 ล้านบาท) ว่า ให้นายทะเบียนพรรคการเมืองมีความเห็นก่อน แล้วจึงเสนอคณะกรรมการการเลือกตั้งนั้น เป็นความไม่ชัดเจนในการปรับบทบังคับใช้กฎหมายในองค์กรขณะนั้นเท่านั้น ศาล อธิบายต่อว่า ในการประชุมครั้งที่ 41/2553 วันที่ 12 เมษายน 2553 คณะกรรมการการเลือกตั้งเสียงข้างมากให้เหตุผลว่า ข้อเท็จจริงทั้งสองข้อกล่าวหาเกี่ยวพันกัน จึงยังคงมีมติให้แจ้งนายทะเบียนพรรคการเมืองดำเนินการตามมาตรา 95 (กรณีเงิน 258 ล้านบาท) เช่นเดิม โดยนายทะเบียนพรรคการเมืองและนายวิสุทธิ์ โพธิแท่น กรรมการการเลือกตั้ง มีความเห็นให้นายทะเบียนพรรคการเมืองยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา 93 วรรคสอง (กรณีเงิน 29 ล้านบาท) และต่อมาในการ ประชุมครั้งที่ 43/ 2553 วันที่ 21 เมษายน 2553 คณะกรรมการการเลือกตั้งมีมติเอกฉันท์ (นายอภิชาต มิได้เข้าประชุม) ยืนยันเห็นชอบให้นายทะเบียนพรรคการเมืองยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 93 วรรคสอง ศาลอธิบายต่อว่า เหตุการณ์เหล่านี้ แสดงให้เห็นว่า มติเสียงข้างมากของคณะกรรมการการเลือกตั้งนั้น เห็นชอบให้นายทะเบียนพรรคการเมืองยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 93 วรรคสอง ตั้งแต่วันที่ 17 ธันวาคม 2552 แล้ว โดยนายทะเบียนพรรคการเมืองไม่จำต้องเสนอความเห็นก่อนอย่างใด กรณีถือได้ว่าคดีนี้ ความได้ปรากฏต่อนายทะเบียนพรรคการเมืองว่า พรรคประชาธิปัตย์มีกรณีตามมาตรา 93 วรรคแรกแล้ว และคณะกรรมการการเลือกตั้งเห็นชอบให้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้แล้ว และระยะเวลาที่ต้องยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญภายในสิบห้าวัน จึงต้องเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 17 ธันวาคม 2552 อันเป็นวันที่คณะกรรมการการเลือกตั้งมีมติดังกล่าว
นอกจากนี้ ในคำวินิจฉัยหน้า 14 ศาลกล่าวต่อว่า วันที่ 17 ธันวาคม 2552 เป็นวันที่คณะกรรมการการเลือกตั้งมีมติเสียงข้างมากในการพิจารณารายงานของ คณะกรรมการสืบสวนสอบสวนชุดที่นายอิสระ ลิ้มศิริวงศ์ เป็นประธาน ในครั้งแรก และถือเป็นวันที่ความปรากฏต่อนายทะเบียนพรรคการเมือง
จากการให้เหตุผลของศาล ผู้ทำความเห็นตั้งข้อสังเกตดังนี้
2.1.1 ผู้ทำความเห็นเข้าใจว่า ระยะเวลาสิบห้าวันจะเริ่มนับได้ต่อเมื่อนายทะเบียนพรรคการเมืองได้เห็นว่า เหตุความผิดปรากฏต่อตัวนายทะเบียน แล้วจึงอาศัยความเห็นชอบของคณะกรรมการการเลือกตั้งยื่นคำร้องต่อศาลรัฐ ธรรมนูญ ในฐานะประชาชนที่ไม่อาจเข้าถึงเอกสารแห่งคดีได้ทั้งหมด ผู้ทำความเห็นย่อมต้องอาศัยข้อเท็จจริงที่ศาลอธิบายในคำวินิจฉัย แต่หากอ่านจากคำวินิจฉัยแล้ว ไม่มีส่วนใดเลยที่ศาลยกพยานหลักฐานมาแสดงอย่างชัดเจนว่า ณ วันที่ 17 ธันวาคม 2552 นายอภิชาต ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง ได้ให้การรับว่าตนได้เห็นเหตุความผิดปรากฏขึ้นต่อตนแล้วหรือยัง 2.1.2 ในทางตรงกันข้าม ข้อเท็จจริงที่ศาลรับฟังในคำวินิจฉัย หน้า 6 ระบุว่า เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2552 นายอภิชาตในฐานะประธาน กรรมการการเลือกตั้ง มีความเห็นว่า จากการตรวจสอบรายงานเอกสารการใช้จ่ายเงินของพรรคประชาธิปัตย์ ไม่พบความผิดปกติในระบบเอกสารแต่อย่างใด และในวันเดียวกันนั้นเอง ย่อมหมายความว่า นายอภิชาตในฐานะประธานกรรมการการเลือกตั้งมิได้เห็นเหตุความผิดปรากฏขึ้นต่อ ตน (ในฐานะประธาน กรรมการการเลือกตั้ง) แต่อย่างใด
จริงอยู่ ศาลควรพิจารณาข้อกฎหมายที่กำหนดให้นายอภิชาต ประธานกรรมการการเลือกตั้งเป็นนายทะเบียนพรรคการเมืองในเวลาเดียวกัน ดังนั้นแม้เป็นคนเดียวกันแต่มีบทบาทหน้าที่ต่างกัน ซึ่งศาลก็ได้อธิบายไว้ในคำวินิจฉัยอย่างดี เช่น ในหน้า 10-11 ว่า การลงมติในที่ประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้งซึ่งนายอภิชาตเข้าร่วมด้วยในฐานะ ประธานกรรมการการเลือกตั้ง นายทะเบียนพรรคการเมืองไม่มีอำนาจที่จะร่วมลงมติในการประชุมของคณะกรรมการ การเลือกตั้งได้ การลงมติดังกล่าวจึงแตกต่างจากการ สั่งที่ให้นำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการการเลือกตั้งในฐานะของนาย ทะเบียนพรรคการเมือง หรือที่ว่า การที่กฎหมายให้นายทะเบียนพรรคการเมืองเป็นผู้ยื่นคำร้องในคดีนี้ต่อศาลย่อม หมายความว่า ประธานกรรมการการเลือกตั้งไม่มีอำนาจยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเป็นคดีนี้ ฉันใด การทำความเห็นส่วนตนของนายอภิชาตในการประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้ง ในฐานะประธานกรรมการการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 12 เมษายน 2553 จึงมิใช่การทำความเห็นของนายทะเบียนพรรคการเมืองฉันนั้น แต่คำอธิบายอันฟังสละสลวยดังกล่าวก็เพียงแต่คำอธิบายในเรื่องบทบาทหน้าที่ โดยศาลพยายามจะอธิบายว่าวันที่ 12 เมษายน 2553 นายอภิชาตในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมืองมิได้ให้ความเห็น (และไม่สามารถให้ความเห็น) ในที่ประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้งเท่านั้น ซึ่งเป็นคนละประเด็นกับเรื่องว่าเหตุความผิดปรากฏต่อนายทะเบียนในวันที่ 17 ธันวาคม 2552 แล้วหรือไม่แต่อย่างใด ทั้งนี้เพราะมาตรา 93 วรรคสอง เองก็ได้บัญญัติให้นายทะเบียนพรรคการเมืองต้องได้รับความเห็นชอบด้วยกันใน เรื่องเดียวกันจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง แม้บทบาทหน้าที่จะต่างกัน แต่ กฎหมายก็ให้ตัวนายทะเบียน และประธานกรรมการการเลือกตั้งผู้เป็นส่วนหนึ่งของคณะกรรมการการเลือกตั้ง มีบทบาทในการพิจารณาประเด็นในเรื่องเดียวกัน กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือต้องอาศัยมโนสำนึกในทางกฎหมายของนักนิติศาสตร์คนหนึ่ง ที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน ท้ายที่สุด ศาลก็สรุปว่าเหตุความผิดปรากฏต่อนายทะเบียนในวันที่ 17 ธันวาคม 2552 แล้ว การวินิจฉัยของศาลลักษณะนี้ ทำให้เกิดความแปลกประหลาด กล่าวคือ นายอภิชาต ผู้เคยเป็นถึงประธานแผนกคดีในศาลฎีกา ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา ซึ่งเป็นนักนิติศาสตร์ที่กฎหมายให้ความไว้วางใจสวมหมวกสำคัญสองใบในเวลา เดียวกันเพื่อสามารถดำเนินภารกิจขององค์กรให้มีประสิทธิภาพไปพร้อมกัน สามารถมีมโนสำนึกในทางกฎหมายแยกเป็นสองมาตรฐาน มาใช้วินิจฉัยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายกรณีเดียวกัน ให้ปรากฏผลต่างกันในเวลาเดียวกันได้ กล่าวคือ ในวันที่ 17 ธันวาคม 2552 ศาลรับฟังว่า นายอภิชาตในฐานะประธานกรรมการการเลือกตั้ง มีความเห็นว่า จากการตรวจสอบรายงานเอกสารการใช้จ่ายเงินของพรรคประชาธิปัตย์ ไม่พบความผิดปกติในระบบเอกสารแต่อย่างใด และในวันเดียวกันนั้นเอง ศาลกำลังบอกว่า นายอภิชาต ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง ได้มีมโนสำนึกแยกเป็นอีกหนึ่งมาตรฐาน โดยเห็นว่า เหตุความผิดกรณีพรรคประชาธิปัตย์ ได้รับเงินและจัดทำรายงานการใช้จ่ายเงินสนับสนุนของพรรคการเมืองไม่ถูกต้อง ตามกฎหมาย ได้ปรากฏขึ้นให้ตนเห็นแล้ว กระนั้นหรือ? 2.1.3 ที่น่าอัศจรรย์ใจยิ่งกว่านั้น คือตุลาการเสียงข้างมากผู้ทำคำวินิจฉัยเอง ก็ดูเหมือนจะมีมโนสำนึกในทางกฎหมายที่แยกเป็นสองมาตรฐานในวันเดียวกันที่ เขียนคำวินิจฉัยเดียวกัน แม้จะร่วมกันเป็นเสียงข้างมากศาลจะสวมหมวกแต่เพียงใบเดียวในฐานะศาลรัฐ ธรรมนูญก็ตาม ดังนี้ ในช่วงแรกของคำวินิจฉัย ในส่วนที่เกี่ยวกับตุลาการเสียงข้างมาก 3 เสียง ที่เห็นว่า นายทะเบียนพรรคการเมืองยังไม่มีความเห็นให้ยุบพรรคประชาธิปัตย์ (หน้า 8-10) ศาลได้อธิบายว่า กฎหมายบัญญัติให้ประธานกรรมการการเลือกตั้งเป็นนายทะเบียนพรรคการเมือง แต่ในส่วนมาตรา 93 วรรคสอง ที่เป็นประเด็นในคดีนี้ กฎหมายได้บัญญัติให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (ซึ่งรวมถึงประธานกรรมการการเลือกตั้ง) และนายทะเบียนพรรคการเมือง ใช้อำนาจหน้าที่ในลักษณะร่วมมือ หรือถ่วงดุลกัน กฎหมาย บัญญัติให้นายทะเบียนพรรคการเมืองเป็นผู้วินิจฉัยว่า มีการกระทำความผิดตามมาตรา 82 แห่งพระราชบัญญติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2550 หรือไม่ เนื่องมาจากนายทะเบียนพรรคการเมืองมีหน้าที่ดูแลการปฏิบัติพรรคการเมืองให้ เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดและเป็นผู้ที่ทราบรายละเอียดการปฏิบัติของพรรคการ เมืองเป็นอย่างดี กล่าวคือ ศาลได้อธิบายหลักว่าแม้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (ซึ่งรวมถึงนายอภิชาตในฐานะประธานด้วย) ไม่สามารถบังคับให้นายอภิชาตในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมืองให้ยื่นคำร้องต่อ ศาลรัฐธรรมนูญได้ ตราบใดที่นายอภิชาตในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมืองไม่พบเหตุการกระทำความผิด (เช่น ตามมาตรา 82) คณะกรรมการการเลือกตั้งย่อมไม่สามารถมีมติให้ยื่นคำร้องตามมาตรา 93 วรรคสองได้ ผู้ทำความเห็นก็เห็นพ้องด้วยกับหลักที่ศาลได้อธิบายไว้ในส่วนนี้ อีกทั้งหากพิจารณามาตรา 82 ประกอบกับ มาตรา 42 วรรคสอง ซึ่งเป็นขั้นตอนสำคัญก่อนจะไปสู่การยื่นเรื่องในมาตรา 93 วรรคสองแล้ว จะเห็นว่ากฎหมาย บัญญัติให้พรรคการเมืองไม่ได้รายงานการใช้จ่ายเงินสนับสนุนให้ถูกต้องตาม ความเป็นจริงภายในเดือนมีนาคมของปีถัดไปแล้ว ก็ให้นายทะเบียนพรรคการเมือง มีอำนาจสั่งให้หัวหน้าพรรคการเมืองรายงานภายในระยะเวลาที่กำหนด ถ้าพ้นกำหนดระยะเวลาแล้วยังมิได้รายงาน โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร ให้นายทะเบียนพรรคการเมืองโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการการเลือกตั้งดำเนิน การเพื่อให้มีการยุบพรรคการเมืองนั้น จึงเห็นได้ว่ากฎหมายได้ให้ความสำคัญกับนายทะเบียนพรรคการเมือง เป็นผู้มีดุลยพินิจพิจารณาระยะเวลากับเหตุผลอันสมควร ซึ่งอาจเป็นเพราะนายทะเบียนต้องอาศัยการพินิจพิเคราะห์ ตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติม ก่อนจะวินิจฉัยว่ามีเหตุปรากฏอย่างแท้จริงอันนำไปสู่ขั้นตอนการยื่นคำร้อง ตามมาตรา 93 วรรคสองได้ มิเช่นนั้นแล้ว ก็อาจมี ผู้อ้างได้โดยง่ายว่า ตนได้ส่งข้อมูลแสดงเหตุความผิดให้นายทะเบียนพรรคการเมืองได้รับทราบไปเมื่อ สิบห้าวันก่อน และถือว่าเหตุได้ปรากฏต่อนายทะเบียนแล้ว อย่างไรก็ดี ในช่วงหลังของคำวินิจฉัยในส่วนที่เกี่ยวกับเหตุผลของตุลาการ 1 เสียง (หน้า 11) ศาลกลับอธิบายทำนองเป็นเหตุผลทางเลือกว่า คณะกรรมการการเลือกตั้งมีอำนาจที่จะควบคุมและกำกับการดูแลการปฏิบัติหน้าที่ ของนายทะเบียนพรรคการเมืองได้ นายทะเบียนพรรคการเมืองจะต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามมติของคณะกรรมการการเลือกตั้งและนายทะเบียนพรรคการเมืองต้องยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบ พรรคการเมืองตามขั้นตอนและระยะเวลาที่กำหนด และต่อมา (หน้า 13) ว่ามติเสียงข้างมากของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ในวันที่ 17 ธันวาคม 2552 (โดยมีนายอภิชาตในฐานะประธานกรรมการการเลือกตั้ง เป็นเสียงข้างน้อยที่ไม่เห็นด้วย) ที่ เห็นชอบให้อภิชาตในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมืองยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง เป็นกรณีที่ถือได้ว่า เหตุได้ปรากฏต่อนายทะเบียนพรรคการเมืองว่าตาม มาตรา 93 แล้ว และต่อมา (หน้า 14) ว่าวันที่ 17 ธันวาคม 2552 เป็นวันที่คณะกรรมการการเลือกตั้งมีมติเสียงข้างมากในการพิจารณารายงานของ คณะกรรมการสืบสวนสอบสวนชุดที่นายอิสระ ลิ้มศิริวงศ์ เป็นประธาน ในครั้งแรกและถือเป็นวันที่ความปรากฏต่อนายทะเบียนพรรคการเมืองแล้ว
การให้เหตุผลเช่นนี้ ฟังประหนึ่งว่า นายอภิชาตในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมืองจะเห็นเหตุตามมาตรา 93 วรรคสองปรากฏต่อตนเมื่อใด ย่อมต้องพิจารณาตามเวลาที่มีมติเสียงข้างมากของคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือตามวันที่ได้มีการพิจารณารายงานของคณะกรรมการสืบสวนสอบสวน ถึงแม้ในเวลานั้น มโนสำนึกในทางกฎหมายของนายอภิชาตในฐานะนักนิติศาสตร์คนหนึ่งขณะนั้น เองจะไม่เห็นเหตุปรากฏต่อตนก็ตาม หากเป็นเช่นนี้แล้ว การใช้อำนาจหน้าที่ในลักษณะร่วมมือหรือถ่วงดุลกันระหว่างคณะกรรมการการเลือกตั้งและนายทะเบียนพรรคการเมือง ดังที่ศาลเองได้อธิบายไว้ ในช่วงแรกของคำวินิจฉัย (หน้า 8-10) ก็จะไม่เกิดขึ้น ส่งผลที่แปลกประหลาดคือนายทะเบียนพรรคการเมืองต้องยอม ตามมติหรือความเห็นของผู้อื่น ทั้งที่กฎหมายจะบัญญัติบทบาท หน้าที่ อำนาจและดุลยพินิจหลายประการให้แก่นายทะเบียนพรรคการเมืองก็ตาม อีกทั้งหากกลับไปพิจารณาตรรกะของวิธิในการลงมติแล้ว โดยพิจารณาสาระของเหตุผลของตุลาการเสียงข้างมากมีความเห็นเป็นสองกลุ่ม ที่หักล้างกันเองเสียแล้ว แม้จะอ้างว่าเป็นเหตุผลในการวินิจฉัยอีกทางหนึ่งก็ตาม ก็ยังขัดแย้งและหักล้างกันเองโดยสิ้นเชิง 2.1.4 หากเราเห็นด้วยว่าการยื่นคำร้องในคดีนี้พ้นระยะเวลาตามที่กฎหมายกำหนดจริง มโนสำนึกในทางกฎหมายย่อมนำพาให้พิเคราะห์ว่า ระยะเวลาสิบห้าวันดังกล่าว มีเจตนารมณ์และความมุ่งหมายเพื่อการใด หากลองเปรียบเทียบข้อกฎหมายเกี่ยวกับระยะเวลาที่พอคุ้นเคย เช่นอายุความการฟ้องคดีแพ่ง หากผู้เสียหายไม่ฟ้องในระยะเวลาที่กำหนด เช่นภาย 1 ปีก็ดี หรือใน 10 ปีก็ดี แล้วแต่กรณี และคู่ความอีกฝ่ายยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ ผู้ฟ้องคดีย่อมเสียสิทธิ ทั้งนี้เพราะเจตนารมณ์ของกฎหมายแพ่งส่วนหนึ่งก็เพื่อสนับสนุนให้ผู้เสียหาย ระมัดระวังและไม่เพิกเฉยดูดายต่อความเสียหายต่อสิทธิของตน รีบหาทางป้องกัน เยียวยาแก้ปัญหา ไม่ใช่สะสมความเสียหายไว้มาตั้งเป็นคดีหากได้เปรียบภายหลัง อีกทั้งเมื่อเวลาผ่านไปนาน พยานหลักฐานอาจสูญหายยากต่อการพิสูจน์ หาก พิจารณาในบริบทคดีปกครองทั่วไป กฎหมายปกครองกำหนดระยะเวลาฟ้องคดีที่กระชับพอเหมาะ เช่น ต้องยื่นฟ้องภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี เพราะการเพิกถอนการกระทำทางปกครองที่ดำเนินการไปนานและมีผลเป็นการทั่วไป แล้วอาจเกิดความวุ่นวายได้ กระนั้นก็ดี ในบางกรณีที่ยื่นฟ้องเมื่อพ้นกำหนดเวลาการฟ้องคดีแล้ว ถ้าศาลปกครองเห็นว่าคดีที่ยื่นฟ้องนั้นจะเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมหรือมีเหตุจำเป็นอื่น ศาลปกครองจะรับไว้พิจารณาก็ได้ ทั้งนี้เพราะเจตนารมณ์และความมุ่งหมายสำคัญของกฎหมายปกครองก็คือการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ หากพิจารณาในบริบทวิธีบัญญัติทั่วไป ข้อกฎหมายที่บังคับให้คู่ความในคดีต้องยื่นเอกสารให้ศาลและคู่ความอีกฝ่าย ภายในเวลาที่กำหนด ก็เพื่อให้ศาลและคู่ความอีกฝ่ายสามารถมีเวลาตรวจสอบเอกสารและเตรียมตัวได้ทันการ มิใช่นำหลักฐานหรือข้อหาใหม่มากล่าวหาโดยอีกฝ่ายมิได้ตั้งตัว เป็นต้น หรือหากจะพิจารณาในบริบทของหลักความชอบแห่งกระบวนการทางกฎหมาย (due process of law) ซึ่ง เป็นองค์ประกอบหนึ่งของหลักนิติธรรมที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแล้ว กฎหมายย่อมป้องกันมิให้ผู้ใช้อำนาจสามารถใช้อำนาจละเมิดกระบวนการที่ไม่ชอบ ด้วยกฎหมายเพื่อได้มาซึ้งเป้าหมายที่อาจจะชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ก็ตาม เช่น การลักลอบนำหลักฐานการกระทำผิดที่ตำรวจได้มาโดยการใช้อำนาจตรวจค้นที่ผิดกฎหมาย เพื่อมาดำเนินคดีกับผู้ต้องหาแม้ผู้ต้องหาจะกระทำผิดจริงก็ตาม เพราะหากปล่อยให้วิธีการที่ผิดนำไปสู่ผลที่อาจจะถูกแล้ว ก็จะเปิดช่องให้มีการใช้อำนาจริดรอนสิทธิเสรีภาพได้ไม่จำกัด เพียงแค่อ้างในเป้าหมายเป็นสำคัญ จากตัวอย่างเหล่านี้ หากหันมาพิจารณาเจตนารมณ์และความมุ่งหมายของระยะเวลาสิบห้าวันในบริบทกฎหมาย ว่าด้วยพรรคการเมืองที่ศาลวินิจฉัยในคดีนี้แล้ว พิเคราะห์ได้ว่า การสอดส่องติดตามกิจกรรมและการเงินของพรรคการเมืองเป็นเรื่องสำคัญของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย กฎหมายจึงกำหนดระยะเวลาให้นายทะเบียนพรรคการเมืองและคณะกรรมการการเลือกตั้ง ต้องเร่งรัดดำเนินการตรวจสอบ หากพบว่ามีเหตุความผิดปรากฏต่อนายทะเบียน นายทะเบียนย่อมต้องหารือกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง พิจารณายื่นคำร้องต่อศาลโดยไม่ชักช้า เช่น จะอ้างว่ากรรมการการเลือกตั้งติดธุระไม่ได้ ดั้งนั้นระยะเวลาสิบห้าวันซึ่งสั้นมากจึงมุ่งบังคับให้กระบวนการตรวจสอบอันสำคัญต่อกระบวนการประชาธิปไตยและประโยชน์ส่วนรวมเกิดขึ้น ซึ่งต่างจากลักษณะของอายุความที่มีระยะเวลาเป็นปีในคดีแพ่ง หรือระยะเวลาในบริบทกฎหมายอื่น และที่สำคัญย่อมไม่ใช่กรณีที่ความชอบแห่งกระบวนการทางกฎหมายจะเสียไป เพราะแม้ นายทะเบียนพรรคการเมืองจะยื่นคำร้องเกินไปอีกเดือน หรือ อีกปี ก็มิได้เป็นกรณีที่ นายทะเบียนและคณะกรรมการการเลือกตั้ง ใช้อำนาจโดยมิชอบต่อพรรคประชาธิปัตย์เพื่อได้มาซึ่งการเอาผิด แต่เป็นการทำผิดพลาดภายในองค์กรเสียเอง เว้นเสียแต่จะมีข้อเสียเปรียบที่ปรากฏ เช่น ยื่นคำร้องเกินไปสิบปีจนพรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้เก็บหลักฐานไว้สู้คดีแล้ว จริงอยู่ว่าผลของการยื่นคำร้องเกินกำหนดสิบห้าวันอาจนำไปสู่การต้องรับผิด ของผู้มีหน้าที่ยื่นคำร้องตามกฎหมาย แต่ก็จากข้อเท็จจริงที่ปรากฏว่าพรรคประชาธิปัตย์ก็ได้สู้คดีโดยสง่างามอย่างเต็มที่ ก็ไม่สมควรเป็นเหตุให้ศาลต้องล้มเลิกกระบวนการเพื่อวินิจฉัยข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญของระบอบประชาธิปไตย ซึ่งเป็นเป้าหมายที่ระยะเวลาสิบห้าพยายามทำให้เกิดเสียแต่แรก ในทางกลับกัน หากเรายึดระยะเวลาสิบห้าวันดังที่ปรากฏในคำวินิจฉัยแล้ว อาจเกิดข้อโต้เถียงในอนาคตว่า แท้จริงแล้ว เหตุตามมาตรา 93 วรรคแรก ได้ปรากฏต่อนายทะเบียนพรรคการเมืองเมื่อใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคดีที่มีปริมาณพยานหลักฐานมาก ซ้ำร้ายยังจะเป็นการกดดันให้นายทะเบียนและ คณะกรรมการการเลือกตั้ง ลังเลที่จะใช้เวลาเพื่อพิจารณาเหตุความผิดโดยละเอียดในที่สุด
จากคุณ |
:
โลกนิติฉบับไทย
|
เขียนเมื่อ |
:
4 ธ.ค. 53 10:13:06
A:124.121.215.185 X:
|
|
|
|