(ที่มา หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับประจำวันที่ 8 มกราคม 2553)
สื่อกัมพูชาคาดแจ้งข้อหา"จารกรรม" "วีระ-นฤมล" หลังเจอเทปบันทึกเสียง
ความคืบหน้าการติดตามการไต่สวนของศาลชั้นต้นแห่งกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา ในคดีนายพนิช วิกิตเศรษฐ์ ส.ส.กรุงเทพมหานคร พรรคประชาธิปัตย์ พร้อมพวก 7 คน รุกล้ำเข้าไปในดินแดนกัมพูชา จนถูกทางการกัมพูชาจับกุมดำเนินคดีในข้อหาลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายและบุกรุกเข้าไปในพื้นที่หวงห้ามทางทหาร
ผู้สื่อข่าว "มติชน" รายงานจากกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา เมื่อวันที่ 7 มกราคม ว่าการไต่สวนคดีนายพนิชและพวกเมื่อวันที่ 6 มกราคม ยังไม่ได้ข้อสรุป ศาลชั้นต้นมีแนวโน้มจะเปิดไต่สวนเพิ่มเติมจากพยานบุคคลและพยานหลักฐานอื่นๆ ในวันเปิดทำการวันที่ 10 มกราคม อีกครั้ง เนื่องจากในวันที่ 7มกราคม เป็นวันหยุดราชการของกัมพูชา เนื่องในวาระครบ 32 ปีของการต่อสู้กับเขมรแดงจนได้รับชัยชนะ และวันที่ 8-9 มกราคม เป็นหยุดประจำสัปดาห์
แหล่งข่าวเปิดเผยว่า พยานบุคคลที่จะเรียกตัวให้ปากคำกับนางจัน สีนาด อัยการไต่สวน เป็นเจ้าหน้าที่ประจำชายแดนและชาวกัมพูชาที่เห็นเหตุการณ์ระหว่างนายพนิชกับพวกเดินทางเข้าไปในพื้นที่ที่กัมพูชาครอบครอง
ทางด้านหนังสือพิมพ์รัศมีกัมพูเจีย ฉบับวันที่ 7 มกราคม รายงานว่า วันเกิดเหตุจับกุมนายพนิชและพวก เจ้าหน้าที่กัมพูชายึดกล้องบันทึกภาพวิดีโอ 4 เครื่อง เป็นเครื่องขนาดใหญ่ 2 เครื่อง และเครื่องขนาดเล็ก 2 เครื่อง โทรศัพท์มือถืออีก 5 เครื่อง
หนังสือพิมพ์รัศมีกัมพูเจียระบุว่า ระหว่างเจ้าหน้าที่กัมพูชาค้นตัวผู้ต้องหาอีกครั้งอย่างละเอียด ก็พบเครื่องบันทึกเสียงขนาดเล็กในตัวนางนฤมล จิตวรารัตน์ เลขานุการส่วนตัวของนายวีระ สมความคิด
"เจ้าหน้าที่ตั้งข้อสงสัยว่าเครื่องบันทึกเสียงอาจเป็นอุปกรณ์สำหรับใช้ในงานจารกรรมเพราะเป็นเครื่องบันทึกเสียงที่ประสิทธิภาพในการบันทึกเสียงในระยะไกลและอาจส่งข้อมูลการบันทึกเสียงไปยังต่างประเทศได้อีกด้วย" หนังสือพิมพ์รัศมีกัมพูเจียระบุ
รัศมีกัมพูเจียนำกรณีของนางนฤมลไปสอบถามผู้เชื่ยวชาญด้านกฎหมาย ให้ความเห็นว่า ถ้าหากพบเครื่องบันทึกเสียงขนาดเล็กในตัวนางนฤมลดังที่มีกระแสข่าวจริงและเจ้าหน้าที่กัมพูชาเกิดข้อสงสัยอาจเป็นไปได้ว่าจะตั้งข้อหากล่าวหานางนฤมลและนายวีระเพิ่มอีก 1 ข้อหา คือการจารกรรมข้อมูลทางราชการ เข้าข่ายมาตรา 446 ตามประมวลกฎหมายอาญาของกัมพูชา ระบุว่า การกระทำที่มีเจตนารวบรวมข้อมูลข่าวสารอาจเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของประเทศ หรือเป็นการกระทำรวบรวมข้อมูลข่าวสารที่ส่อให้เห็นว่าผู้กระทำมีเจตนานำข้อมูลข่าวสารส่งให้กับอีกประเทศหนึ่ง หรือให้พนักงานต่างประเทศ
ทั้งนี้ ผู้ใดกระทำการรวบรวมข้อมูลข่าวสารและวัสดุเทคโนโลยีสารสนเทศที่อาจก่อให้เป็นอันตรายต่อการป้องกันประเทศหรืออธิปไตยของกัมพูชา บุคคลผู้นั้นจะต้องได้รับโทษจำคุกเป็นระยะเวลา 5-10 ปี
ด้านนายรอส อน (Ros 0un) หนึ่งใน 2 ทนายความชาวกัมพูชาที่ทำคดีให้กับนายพนิชและพวก ให้สัมภาษณ์ "มติชน" ว่ายังไม่ทราบทางศาลชั้นต้นจะตั้งข้อหาเพิ่มเติมกับลูกความ แต่ในวันไต่สวนที่ผ่านมานั้นน่าจะได้ข้อสรุปชัดเจนแล้ว และสัปดาห์หน้าจะใช้สิทธิยื่นประกันตัวผู้ต้องหาทั้งหมด
"ลูกความของผมไม่ได้ละเมิดกฎหมายกัมพูชาในข้อหาร้ายแรงแต่อย่างใด" นายรอส อน กล่าวกับมติชนทางโทรศัพท์