วันนี้ขออภิปรายเรื่องนี้สักนิด เพราะกำลังจะกลายเป็นประเด็นและอาจมีผลต่อประเทศไทยได้ ขออภิปรายตามความคิดเห็นส่วนตัวดังนี้
ตามที่พนิชถูกศาลกัมพูชาพิพากษาจำคุก 9 เดือน ปรับเงินล้านเรียล แต่ให้รอลงอาญาในข้อหาลอบเข้าเมืองกัมพูชาโดยผิดกฏหมายและข้อหารุกล้ำพื้นที่ทหาร และมีข่าวออกมาว่านางสดศรี สัตยธรรม กรรมการการเลือกตั้ง ด้านกิจการพรรคการเมือง กำลังพิจารณาในเรื่องสภาพสส.ของนายพนิชนั้น ขอใช้สิทธิอภิปรายว่า ในเหตุการณ์เช่นนี้ ทางกกต.ไทยเองต้องระมัดระวังให้มาก ในคดีแบบนี้ ที่คนไทยถูกทางกัมพูชาจับตัวในบริเวณที่ไม่ชัดเจนว่าเป็นของราชอาณาจักรใด ซึ่งอาจเป็นเขตไทยแท้ๆ หรือเขตพื้นที่ทับซ้อน แล้วต่อมา ทางศาลกัมพูชามีคำพิพากษาลงโทษดังกล่าวข้างตน ต่อให้พนิชเป็นสส.ของพรรคเพื่อไทยหรือพรรคการเมืองอื่นที่ไม่ใช่ประชาธิปัตย์ ก็ขอให้ความเห็นว่า ทางกกต.ไม่ควรที่จะรีบร้อนดำเนินการที่อาจจะทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับการอ้างสิทธิเขตชายแดน
เพราะหากองค์กรตามรัฐธรรมนูญของไทยให้การยอมรับคำพิพากษาของศาลกัมพูชาอย่างเป็นทางการ จะยิ่งทำให้กลายเป็นว่าทางการไทยในทุกกลไกทุกองคาพยพ ได้ยอมรับในคำพิพากษาของศาลกัมพูชาซึ่งเท่ากับยอมรับเขตแดนที่มีการอ้างอิงในคดีตามที่อัยการกัมพูชายกมานั้นไปโดยปริยาย ทำให้อนาคตกัมพูชาสามารถนำเรื่องนี้ปอ้างเพื่อความได้เปรียบได้ว่า ไทยได้ให้การยอมรับในเส้นเขตแดนตามที่อัยการฝ่ายกัมพูชาหรือประเทศกัมพูชายึดถือ ดูแล้วจะหนักไปเสียกว่ากรณีกรมพระยาดำรงฯได้เสด็จไปเยือนกึ่งเป็นทางการที่ปราสาทพระวิหาร โดยมี กองทหารฝรั่งเศสได้ตั้งกองทหารเกียรติยศรับการเสด็จอย่างเต็มที่ และยังชักธงชาติของประเทศฝรั่งเศสด้วย แต่ฝ่ายเราไม่มีการทักท้วง
หากคดีนี้เป็นคดีอาญาอื่นๆที่ชัดเจนว่าเป็นความผิดอาญาในส่วนที่ไม่เกี่ยวกับข้อพิพาทเขตชายแดน สมมุติเช่นเป็นคดีอาญาในเรื่องทะเลาะวิวาททำร้ายผู้อื่นจนบาดเจ็บสาหัส หรือลักขโมย เช่นนี้ ทางกกต.ไทยและขบวนการยุติธรรมของไทย หรือชัดเจนแน่นอนว่าพนิชเข้ามเมืองโดยผิดกฎหมายคือ ลอบเข้าไปถึงดินแดนที่แน่ชัดว่าเป็นของกัมพูชา เช่นลอบเข้าไปถึงพนมเปญโดยไม่ผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองของกัมพูชา แบบนี้ ก็ไม่ต้องลังเลที่จะดำเนินการใดๆ เพราะจะอย่างไร ผลที่เกิดขึ้นก็ไม่ได้มีผลกระทบต่อผลประโยชน์หรืออาณาเขตของประเทศเรา
เรื่องนี้จะอย่างไร กกต.คงต้องหารือขึ้นไปถึงศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้ตีความให้ชัดว่า พนิชสิ้นสภาพสส.หรือไม่ ต้องระมัดระวังในถ้อยคำเอกสารที่จะอาจจะกลับมามัดฝ่ายไทยเองได้ให้เต็มที่ หากกกต.จะขอหารือศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ควรที่จะมีถ้อยคำใดในเอกสาร ที่จะระบุว่กกต.เองไปยอมรับในคำพิพากษาของศาลกัมพูชา และน่าจะขอหารือศาลรัฐธรรมนูญในสองประเด็นพร้อมกัน จะหารือในประเด็นเดียวคือประเด็นแรกประเด็นเดียวไม่ได้ โดยสองประเด็นที่คิดว่าควรหารือนั้นคือ
1. รัฐธรรมนูญไทย พศ.2550 มาตรา 106 (11) ที่ระบุว่า ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก แม้จะมีการรอการลงโทษ เว้นแต่เป็นการรอการลงโทษในความผิดอันได้กระทำโดยประมาท ความผิดลหุโทษ หรือความผิดฐานหมิ่นประมาท นั้นหมายถึงคำพิพากษาของศาลต่างประเทศด้วยหรือไม่
2.คำพิพากษาศาลกัมพูชาในคดีนี้ชอบด้วยหลักกฏหมายระหว่างประเทศหรือไม่
ในส่วนที่ 1 นั้นค่อนข้างชัดเจนและตรงไปตรงมาว่าอยู่ในเขตอำนาจศาลรัฐธรรมนูญที่จะตีความ ในอดีตสมัยไทยใช้รัฐธรรมนญฉบับปี 2522 กระทรวงมหาดไทยก็เคยขอหารือคณะกรรมการกฤษฎีกาในประเด็นนี้มาแล้ว เพราะสมัยนั้นยังไม่มีศาลรัฐธรรมนูญ (รายละเอียดอยู่ที่หมายเหตุ ด้านล่างของกระทู้นี้) ส่วนข้อหารือที่ 2 นั้น ต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้วินิจฉัยเองว่า เป็นเรื่องที่ศาลรัฐธรรมนูญสามารถจะวินิจฉัยได้เองว่า คำพิพากษาศาลกัมพูชาในคดีนี้ชอบด้วยหลักกฏหมายระหว่างประเทศหรือไม่ หรือจะต้องส่งเรื่องให้ศาลอื่น ซึ่งไม่ว่าจะเป็นศาลใด ก็คงต้องมีการเชิญฝ่ายที่เกี่ยวข้องมาชี้แจง ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงการต่างปรเทศ แม่ทัพภาค กรมแผนที่ทหาร ฯลฯ
การดำเนินเรื่องไปเช่นนี้ น่าจะก่อผลดีต่อในแง่ที่ว่า ไทยมีโอกาสปฏิเสธแนวเขตแดนที่มีในคำพิพากษาของศาลกัมพูชา ผ่านทางกระบวนการยุติธรรมของไทย แต่ก็อาจส่งผลกระทบต่อพนิชและประเทศไทยในอีกทางหนึ่งได้ เพราะในกระบวนการที่ศาลจะไต่สวนว่า คำพิพากษาศาลกัมพูชาในคดีนี้ชอบด้วยหลักกฏหมายระหว่างประเทศหรือไม่ นั้น คงมีการเรียกตัวพนิชขึ้นไปให้การด้วย การขึ้นไปให้การต่อศาลไทยไม่ว่าจะในลักษณะใดก็ไม่ส่งผลดีต่อพนิช เพราะถ้าพนิชให้การต่อศาลไทยในทางที่เอื้อว่าคำพิพากษาของศาลกัมพูชานั้นถูกต้อง ก็เท่ากับพนิชเป็นคนขายชาติ แต่หากพนิชให้การปฏิเสธคำพิพากษาศาลกัมพูชา ศาลกัมพูชาย่อมไม่พอใจ และอาจใช้สิทธิขอเรียกตัวพนิชกลับกัมพูชาเพื่อจะมีคำสั่งให้ลงโทษได้ เพราะถือว่าปฏิบัติไม่เหมาะสมในขณะที่อยู่ในระหว่างการรอลงอาญา โดยกัมพูชาสามารถอาศัยสิทธิผ่านทางสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนที่มีต่อกันอยู่
ในเวลาที่คุณทักษิณเข้าไปในกัมพุชานั้น ไทยก็ขอให้ส่งตัวกลับไทยโดยอาศัย สนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนที่มีต่อกัน แต่กัมพูชาไม่ส่งให้โดยอ้างว่าเป็นคดีการเมือง ในกรณีของไทย หากเกิดเหตุเช่นที่ว่า ทางการไทยคงต้องอ้างไปว่าคำพิพากษาศาลกัมพูชาในคดีนี้ ไม่ชอบด้วยหลักกฏหมายระหว่างประเทศ และไม่สามารถส่งตัวพนิชกลับไปกัมพูชาได้ คงนำไปสู่การประจันหน้ากันอีกระหว่างไทยกับกัมพูชา ซึ่งผมว่าไทยต้องไม่ยอมกัมพูชาในจุดนี้ แต่คาดว่ากัมพูชาเองก็คงไม่ถึงกับจะมีปัญหามากนัก อาจมีการประท้วงทางการทูตบ้างตามธรรมเนียม แต่หากจะเล่นกันแรงที่สุดที่กัมพูชาจะทำได้ก็คือ ฟ้องศาลโลก (International Court of Justice) กล่าวหาว่าไทยผิดสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนที่มีต่อกัน เรื่องนี้ ต้องดูใจฮุนเซน แต่ใจผมคิดว่า สุเทพ เองคงคอยเชื่อมประสาน และน่าจะหาจุดลงตัวที่พอใจด้วยกันทั้งสองฝ่ายได้
โดยสรุปการดำเนินการในเรื่องทางฝ่ายไทยจะต้องระวัง แต่อาจเป็นช่องทางให้ไทยปฏิเสธแนวเขตแดนที่มีในคำพิพากษาของศาลกัมพุชาอย่างเป็นทางการได้ ส่วนพนิช จะถูกศาลกัมพูชาเรียกตัวกลับไหม ต้องรอดูกัน
หมายเหตุ
ในอดีต ในสมัยที่ไทยใช้รัฐธรรมนูญฉบับบปีพศ.2522 อยุ่นั้น ทางกระทรวงมหาดไทย เคยส่งให้สำนักงานกฤษฏีกาตีความว่า คำพิพากษาของศาล ที่บัญญัติในรัฐธรรมนูญไทย พศ.2522 นั้น หมายรวมถึงคำพิพากษาของศาล ของศาลต่างประเทศด้วยหรือไม่ ซึ่งในเวลานั้นสำนักงานคณะกรรมการฤษฏีกาได้มีความเห็นตามที่กระทรวงหมาดไทยหารือมาตาม เรื่องเสร็จที่ ๒๗๖/๒๕๒๕ ว่า
ในการรับสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ถ้าข้อเท็จจริงปรากฏว่าบุคคลใดที่เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายให้จำคุกไม่ว่าในประเทศหรือในต่างประเทศตั้งแต่สองปีขึ้นไป โดยได้พ้นโทษมายังไม่ถึงห้าปีในวันเลือกตั้ง ซึ่งมิใช่ความผิดอันได้กระทำโดยประมาทแล้ว ก็ย่อมถือได้ว่าบุคคลนั้นเป็นบุคคลที่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๙๖ (๕)[๙] ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
นั้นคือหมายรวมถึงคำพิพากษาศาลต่างประเทศ โดยมีรายละเอียดการให้ข้อสรุปนี้ไว้น่าสนใจ แต่อาจจะยาวเกินสมควรหากนำมาลงในกระทู้นี้ (ในเวลานั้น ไทยไม่มีศาลรัฐธรรมนูญ และยังไม่มีคดีความเกิดขึ้น แต่กระทรวงมหาดไทยขอหารือไว้ก่อน โดยหารือไปที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฏีกาแทน แต่เรื่องแบบนี้ หากมีกรณีฟ้องร้องในเรื่องนี้ขึ้นมา น่าจะเป็นศาลแพ่งในเวลานั้น ตลอดไปจนถึงศาลฏีกาที่จะมีอำนาจในการวินิจฉัยเรื่องนี้ เพราะในเวลาที่ไม่มีศาลรัฐธรรมนูญ)
ส่วนรายละเอียดการหารือของกระทรวงมหาดไทยและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกา นั้นค้นเจออยู่ในลิงค์ข้างล่างนี้ ใครสนใจจะอ่านคลิกได้เลยครับ
คลิกที่นี้

- แก้คำผิดและใส่ลิงค์ให้ง่ายในการคลิกอ่าน
แก้ไขเมื่อ 24 ม.ค. 54 13:51:46
แก้ไขเมื่อ 24 ม.ค. 54 13:42:48