Update : ความเห็นต่อข้อเรียกร้องของกลุ่มพันธมิตรฯ (จาตุรนต์ ฉายแสง); ชุมนุมเสื้อแดงครั้งต่อไป 13 ก.พ. ยังไม่ประกาศสถานที่; คนไทยยังไม่พร้อมกับระบอบประชาธิปไตย (สถานการณ์ปัจจุบัน)
ต้องการเปลี่ยนชื่อหัวข้อ แต่เปลี่ยนไม่ได้ ก็เลยมาเปลี่ยนข้างใน ขออภัยในความไม่สะดวก
บทความข้างล่างนี้ ได้จาก ทวิตเตอร์ โดยติดตาม @chaturon ของคุณจาตุรนต์ ฉายแสง สมาชิกบ้านเลขที่ 111 โดยคุณจาตุรนต์จะทำลิงก์ไปที่ http://chaturon.posterous.com/41019392
ถ้าต้องการติดตามทักษิณ ก็สมัครทวิตเตอร์ แล้วเลือก Follow Thaksinlive มีอีกอันคือ Thaksinbiz เป็นเรื่องเกี่ยวกับธุรกิจ แต่ระยะหลัง ไม่มีทวิตเลย
=========================================
ความเห็นต่อข้อเรียกร้องของกลุ่มพันธมิตรฯ
จาตุรนต์ ฉายแสง
ผมได้เคยให้ความเห็นไว้ว่า การเคลื่อนไหวของกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า กลุ่มคนไทยหัวใจรักชาติและกลุ่มพันธมิตรในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับกัมพูชาเป็นเรื่องที่ไม่อาจมองข้ามละเลยได้ มาถึงเวลานี้ก็ชัดเจนแล้วว่าการเคลื่อนไหวนี้กำลังกลายเป็นปัญหาใหญ่ทั้งต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและต่อสถานะและเสถียรภาพของรัฐบาลไทยเองอย่างที่หลายฝ่ายอาจคาดไม่ถึงมาก่อน
ล่าสุดกลุ่มพันธมิตร นำโดยพลตรีจำลอง ศรีเมืองได้เสนอข้อเรียกร้อง 3 ข้อให้รัฐบาลดำเนินการภายใน 2 วัน มิฉะนั้นก็จะดำเนินการขั้นต่อไป พร้อมทั้งได้ประกาศด้วยว่า ไม่ชนะไม่เลิก(อีกแล้ว) ข้อเรียกร้องทั้ง 3 ข้อดั่งที่ทราบกันทั่วไปอยู่แล้วนั้น เป็นข้อเสนอที่รัฐบาลไทย ไม่ว่าใครมาเป็นรัฐบาลก็ไม่ควรทำตาม เพราะเป็นข้อเรียกร้องที่มีแต่จะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเสียหายมากยิ่งขึ้น และอาจจะเสียหายมากถึงกับกลายเป็นการกระทบกระทั่งหรือการรบกันระหว่างทหารของทั้งสองประเทศ
ในความเห็นผม สิ่งที่จะเป็นประโยชน์ที่สุดสำหรับทั้งสองประเทศและสำหรับประเทศไทยเองด้วยก็คือ การมีสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศเพื่อนบ้านทุกประเทศรวมทั้งกัมพูชาด้วย การมีความสัมพันธ์ที่ดีควรจะเกิดจากการพยายามของทั้งสองฝ่ายที่จะร่วมมือกันในด้านต่างๆให้มากขึ้น ทั้งในด้านสังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจ การค้า การลงทุนฯลฯซึ่งทั้งสองประเทศมีศักยภาพที่ดีที่จะร่วมมือกันอยู่แล้ว รวมทั้งยังมีพื้นฐานที่ดีจากการที่ก่อนหน้านี้รัฐบาลและประชาชนของทั้งสองประเทศได้สร้างความสัมพันธ์ที่ดีไว้แล้วด้วย รัฐบาลไทยก่อนการรัฐประหารเมื่อปี 2549 เคยมีนโยบายร่วมมือและช่วยเหลือประเทศเพื่อนบ้านให้มากๆ ด้วยแนวความคิดว่ายิ่งประเทศเพื่อนบ้านดีขึ้นเท่าไร เราก็ดีขึ้นด้วยเท่านั้น
ผ่านมาเพียง 4-5 ปีเท่านั้น เรากลับกำลังมีปัญหากับกัมพูชามากขึ้นๆ และกำลังมีความพยายามที่จะผลักดันให้ทั้งสองประเทศขัดแย้งกันจนถึงขั้นรบราฆ่าฟันกันไปเสียแล้ว
ปัญหาเขตแดนระหว่างประเทศนั้นควรแก้ด้วยการเจรจาหารือกัน เหมือนอย่างที่เราทำกับประเทศรอบบ้านเราจนมีผลสำเร็จด้วยดีเสมอมาซึ่งก็รวมถึงกัมพูชาด้วย มาถึงตอนนี้วิธีแก้ปัญหาที่ถูกต้องและเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่ายรวมทั้งประเทศไทยเองก็คือการเจรจาหารือ ไม่ใช่ใช้กำลังเข้าใส่กัน การยกเลิกเอ็มโอยู ปี 2543 จึงไม่ควรทำอย่างยิ่ง เพราะจะทำให้สองประเทศถอยหลังกลับไปสู่ภาวะที่ตึงเครียดและเสี่ยงต่อการที่ปัญหาจะลุกลามบานปลายโดยไม่เป็นประโยชน์ต่อใครเลย
การถอนตัวจากการเป็นกรรมการมรดกโลกก็เป็นสิ่งที่ไทยไม่ควรทำ เพราะจะทำให้เสียโอกาสในการชี้แจงเรื่องราวต่างๆให้เป็นประโยชน์ต่อประเทศไทย และไทยก็ไม่ได้มีเรื่องปราสาทพระวิหารอยู่เพียงเรื่องเดียวที่ต้องอาศัยคณะกรรมการนี้ เรายังต้องร่วมมือกับนานาประเทศในเรื่องต่างๆอีกมาก ไทยเราจึงควรแสดงความมีวุฒิภาวะที่พร้อมจะร่วมมือแก้ปัญหาต่างๆอย่างอารยประเทศเขาทำกัน
สำหรับข้อเสนอข้อที่ 3 ที่เสนอให้ทหารไทยผลักดันประชาชนกัมพูชาให้ออกจากพื้นที่พิพาทนั้น ฟังผิวเผินก็อาจหาเหตุผลมาโต้แย้งได้ยาก เพราะหากไม่ทำก็เหมือนกับยินยอมยกดินแดนตรงนั้นให้กัมพูชาไป แต่ความจริงการจะแก้ปัญหานี้ รัฐบาลไทยควรให้หลักการตามที่กำหนดไว้ในเอ็มโอยู ปี 2543 คือต้องใช้การเจรจาหารือบนพื้นฐานของการพยายามร่วมกันแก้ปัญหาอย่างมิตรต่อมิตรด้วยกัน จะดีกว่าการเผชิญหน้ากันด้วยกองกำลังทหารซึ่งอาจจะบานปลายเสียเปล่าๆ
สรุปว่าผมไม่เห็นด้วยกับข้อเรียกร้องของกลุ่มพันธมิตรทั้ง 3 ข้อ ไม่เห็นด้วยที่รัฐบาลไทยจะทำตามข้อเรียกร้องของกลุ่มพันธมิตร และขอเสนอให้รัฐบาลพยายามแก้ปัญหาด้วยความรอบคอบ พยายามชี้แจงเหตุผลความเป็นมาให้ประชาชนเข้าใจ เคารพสิทธิของประชาชนในการชุมนุมและแสดงความคิดเห็น ไม่ใช้มาตรการหรือวิธีการใดๆที่รุนแรงเกินกว่าเหตุต่อประชาชนไม่ว่าจะเป็นฝ่ายไหนก็ตาม
ผมคิดว่าสังคมไทยควรมีการศึกษาทำความเข้าใจเรื่องเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในกรณีของไทย-กัมพูชากันอย่างจริงจัง เพื่อจะได้มีทางแก้ปัญหาอย่างเหมาะสม ไม่ไปผสมโรงกับการเคลื่อนไหวที่มีลักษณะคลั่งชาติ ช่วยกันรักษาผลประโยชน์ของประเทศและความสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศเพื่อนบ้านไว้บนหลักการที่ถูกต้อง
นอกจากนั้นยังควรช่วยกันติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด บางทีการเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตรในเรื่องนี้อาจไม่เพียงต้องการให้ไทยกับกัมพูชาขัดแย้งกันมากยิ่งขึ้นเท่านั้น แต่อาจแฝงความพยายามที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่รุนแรงด้วยวัตถุประสงค์ที่ลึกลับซับซ้อนแบบที่หาเหตุหาผลตามปรกติไม่ได้ก็ได้
==============================================
ชุมนุมเสื้อแดงครั้งต่อไป 13 ก.พ. ยังไม่ประกาศสถานที่
นสพ.ไทยรัฐ และนสพ. อื่น ๆ ไม่กล้าประกาสตัวเลขผู้เข้าร่วมชุมนุม นสพ.ไทยรัฐ ได้แต่บอกว่า หางแถวอยู่ที่ไหนบ้าง แกนนำบอกมาเป็นแสน ดู ๆ แล้วน่าจะถึง ถ้าวันครบ 1 ปี คงจะยิ่งมากกว่านี้ เปรียบเทียบกับ พธม. นับว่า ห่างชั้นกันมาก
ประเทศไทยมาถึงจุดที่แบ่งประชาชนเป็นสองฝักสองฝ่ายใหญ่ ๆ ชัดเจน คือ เสื้อแดง เพื่อไทย กับ ปชป. ส่วน พธม. กลายเป็นคนกลุ่มน้อยไปแล้ว แต่เขามีแรงดึงดูด อาจจะค่อย ๆ ใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ คราวที่แล้ว เขาเรียกหาการปฏิวัติ แต่คราวนี้ ยังไม่มีข้อนี้ ในการเรียกร้อง ต้องดูกันยาว ๆ ซึ่งเขาก็กะเล่นยาวอยู่แล้ว ข้อเรียกร้อง คงค่อย ๆ เพิ่มมากขึ้นตามจำนวนฝูงชน
มายาคติ ประชาชนยังไม่พร้อม http://www.prachatai.com/journal/2011/01/32760
เมื่อคืนวันที่ 18 มกราคมที่ผ่านมา ผมนั่งดูรายการ คม ชัด ลึก สนทนาเรื่อง เหลือง - แดงสมานฉันท์? โดยอาจารย์สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ กับคุณสุริยะใส กตะศิลา และอาจารย์อีกคนหนึ่ง (จำชื่อไม่ได้) ข้อสรุปเท่าที่จับความได้คือ เหลือง-แดงไม่จำเป็นต้องสมานฉันท์กันก็ได้ ต่างคนต่างก็ต่อสู้ด้วยแนวทางของตัวเองไป แต่อย่าใช้ความรุนแรงก็แล้วกัน
แต่สิ่งที่สะดุดความรู้สึกผมคือ อาจารย์ยิ้มบอกว่า สำหรับคนเสื้อแดงแล้วเรายืนยันประชาธิปไตยสมบูรณ์ที่มีความหมายตรงไปตรงมาง่ายๆ ว่าประชาชนมีเสรีภาพ หรือมีอำนาจปกครองตนเอง ส่วนทักษิณและพรรคเพื่อไทยเขาถูกทำรัฐประหาร เขาก็เป็นแนวร่วมของคนเสื้อแดงในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย คนเสื้อแดงคิดตรงไปตรงมาไม่ได้ซับซ้อนอะไรว่า ไม่ว่าทักษิณ เนวิน อภิสิทธิ์ หรือใครก็ตาม ถ้ามาตามกระบวนการประชาธิปไตย (ไม่มีอำนาจนอกระบบหนุนหลัง-ผู้เขียน) แล้วประชาชนส่วนใหญ่เลือกก็ต้องยอมรับ
ส่วนคุณสุริยะใสบอกว่า ถ้าพูดเรื่องสถาบันเรื่องทักษิณก็คงเถียงกันไม่จบ เสื้อเหลืองชัดเจนอยู่แล้วว่าถึงยังไงๆ ก็ไม่เอาทักษิณ แล้วก็พูดว่าระบบเลือกตั้งที่เป็นอยู่มันถึง ทางตัน เพราะสุดท้ายแล้วก็ได้แต่นักการเมืองโกง จึงยังมีคนจำนวนหนึ่งถวิลหาอำนาจอื่นมาเป็นทางออก
จะเห็นว่าความเห็นต่างดังกล่าวนี้มันชัดมาตั้งแต่ต้นแล้ว กว่า 5 ปีมานี้ ก็ยังชัดอยู่เหมือนเดิม!
คุณสุริยะใสพูดถึงการที่พันธมิตร (กลุ่มคนไทยหัวใจรักชาติ) ออกมากดดันรัฐบาลอภิสิทธิ์ตอนหนึ่งว่า วาทกรรมชาตินี่แหละยังใช้ได้เสมอ พอพูดถึงเรื่องรักชาติทีไรมันกระชากหัวใจคนไทย นี่ยิ่งเป็นการตอกย้ำชัดเจนว่า วิถีการต่อสู้ทางการเมืองของเสื้อเหลืองที่คงเส้นคงวาคือ การใช้วาทกรรม ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ เป็นอาวุธอันทรงประสิทธิภาพทางการเมือง
แน่นอนว่าการไม่เอาทักษิณของเสื้อเหลืองนั้น ย่อมมาคู่กับการปฏิเสธเสียงส่วนใหญ่ เพราะเขาเห็นว่า การเลือกตั้งที่ทำให้ได้คนอย่างทักษิณมาเป็นผู้นำประเทศเป็นการเลือกตั้งที่ถึงทางตัน และการปฏิเสธเสียงส่วนใหญ่คือการยืนยันว่า ประชาชนยังไม่พร้อม
ปัญหาคือ เวลาที่พันธมิตร หรือเสื้อเหลือง นักวิชาการ สื่อ ราษฎรอาวุโส หรือใครก็ตามยืนยันว่า ประชาชนยังไม่พร้อม พวกเขายืนยันในฐานะอะไร ยืนยันในฐานะที่พวกเขาเป็นส่วนหนึ่งใน ประชาชน ไหม? ถ้าพวกเขายืนยันในฐานะที่ตัวเองเป็นส่วนหนึ่งใน ประชาชน ก็แสดงว่าพวกเขาเองก็ยังไม่พร้อม
แต่ดูเหมือนขณะที่พวกเขายืนยันว่า ประชาชนยังไม่พร้อม พวกเขาไม่ได้นับตัวเองอยู่ใน ประชาชนที่ยังไม่พร้อม แสดงว่าเขาเป็นพวกอื่น เป็นเทวดาไหม? ก็ไม่น่าจะใช่ พวกเขาคงไม่ได้คิดว่าตัวเองเป็นเทวดาหรอก น่าจะคิดว่าตนเองเป็นประชาชนนี่แหละแต่เป็น ประชาชนสายพันธุ์ที่พร้อมแล้ว และพวกเขาก็จึงมีหน้าที่ไปติดอาวุธทางปัญญาให้แก่ประชาชน (ที่คิดต่างจากพวกเขา?) ซึ่งเป็น ประชาชนที่ยังไม่พร้อม
มายาคติ ประชาชนยังไม่พร้อม คือความอัปยศของประวัติศาสตร์การเมืองไทย มันสร้างคนมีการศึกษา ปัญญาชนนกแก้วนกขุนทองท่องบ่นตามๆ กันมา เช่นว่า ปัญหาประชาธิปไตยในบ้านเราเป็นเพราะคณะราษฎรที่เป็นพวกนักเรียนนอกไม่กี่คนใจเร็วด่วนได้ รีบปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองทั้งที่ประชาชนยังไม่พร้อม รัชกาลที่ 7 ท่านมีพระราชดำริจะพระราชทานรัฐธรรมนูญปกครองประเทศอยู่แล้ว แต่รอให้ประชาชนพร้อมก่อน พวกนักเรียนนอกมันใจร้อน
แต่บรรดานกแก้วนกขุนทองเคยเห็นหน้าตาของรัฐธรรมนูญที่ ร.7 จะพระราชทานหรือไม่ ข้อสังเกตของ วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ข้างล่างนี้อาจช่วยให้ตาสว่างขึ้น
มีการพูดกันว่าในหลวงรัชกาลที่ 7 นั้นทรงมีพระราชดำริที่จะพระราชทานรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว แต่ว่าหน้าตารัฐธรรมนูญอันนั้นเป็นอย่างไรไม่ทราบได้ แต่เท่าที่เห็น มันมีรัฐธรรมนูญฉบับหนึ่ง... คือ ร่างรัฐธรรมนูญของพระยากัลยาณไมตรี ฟรานซิส บี แซร์ นั้นมาตรา 1 บัญญัติไว้ซึ่งแปลจากตัวภาษาอังกฤษได้ว่า อำนาจสูงสุดตลอดทั่วราชอาณาจักรนั้นเป็นของพระมหากษัตริย์ มาตราอื่นๆ ที่น่าสนใจก็อย่างเช่น อำนาจสูงสุดทางนิติบัญญัติเป็นของพระมหากษัตริย์ พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีรับผิดชอบต่อพระองค์ในการบริหารราชการแผ่นดินทั้งปวง และให้นายกรัฐมนตรีอยู่ในตำแหน่งตามพระราชอัธยาศัย (เน้นโดยผู้เขียน) อาจกล่าวได้ว่านี่คือรัฐธรรมนูญในจินตนาการของชนชั้นนำไทยก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง และจินตนาการนี้ถูกทำลายลงเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 เมื่อมีการประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว 2475 ที่บัญญัติมาตรา 1 ไว้ขัดแย้งอย่างชัดเจนกับมาตรา 1 ของร่างรัฐธรรมนูญของเจ้าพระยากัลยาณไมตรี เป็นการเปลี่ยนแปลงผู้ทรงอำนาจรัฐหรือผู้ถืออำนาจรัฐว่าเป็นของราษฎรทั้งหลาย หรือสามัญชนทั้งหลาย<1>(เน้นโดยผู้เขียน)
คือที่ท่องกันเป็นนกแก้วนกขุนทองว่า ประชาชนยังไม่พร้อมๆๆๆ!!! มันไปสร้างมายาคติที่ทำให้คณะราษฎร (ซึ่งเสี่ยงตายปฏิวัติเพื่อวางรากฐานระบอบประชาธิปไตยในสังคมไทย) กลายเป็นผู้ร้าย แต่กลับไปยกย่องฝ่าย (หมายถึง ระบอบ) ที่อยู่ตรงข้ามประชาธิปไตยเป็นพระเอก
และปัจจุบันนี้มายาคติดังกล่าวก็ถูกใช้เพื่อสร้างให้ประชาชนที่ต่อสู้เพื่อปกป้องหลักการประชาธิปไตย ปกป้องสิทธิ เสรีภาพ และอำนาจปกครองตัวเองของพวกเขาที่ถูกรัฐประหารปล้นไปกลายเป็น ผู้ร้าย ในขณะที่ทำให้พวกที่ต่อสู้เพื่อปกป้องอำนาจพิเศษด้วยวิธีรัฐประหารกลายเป็น พระเอก
หมายความว่า ประชาชนที่ยังไม่พร้อมในปัจจุบันคือฝ่ายที่ยืนยันหลักการประชาธิปไตย ยืนยันสิทธิ เสรีภาพ อำนาจปกครองตนเอง แต่ประชาชนฝ่ายที่อ้างว่าตนเองพร้อมแล้วคือฝ่ายที่ยืนยันอำนาจพิเศษ ยืนยันความชอบธรรมของรัฐประหาร
ในขณะที่ถูก-ผิด (ใช้หลักการประชาธิปไตยเป็นเกณฑ์) มันเห็นกันได้ตรงไปตรงมาง่ายๆ แบบนี้ แต่ก็ปรากฏว่ามีฝ่ายเป็นกลาง ฝ่ายปฏิรูปประเทศ ฝ่ายจ้องจะติดอาวุธทางปัญญา ติดอาวุธมโนธรรมสำนึกแก่ประชาชน หรือฝ่ายอะไรก็แล้วแต่ พวกนี้ต่างมองว่า ประชาชนที่ยังไม่พร้อม ขาดปัญญา ไม่เข้าใจความซับซ้อนของปัญหา จิตสำนึกชำรุด เกลียดชังกัน แตกแยกกันอย่างไม่มีเหตุผล ฉะนั้น ทางแก้ต้องช่วยให้ ประชาชนที่ยังไม่พร้อม เกิดปัญญา (?) เข้าใจปัญหาที่ซับซ้อน เท่าทันนักการเมือง ไม่ตกเป็นเหยื่อของเกมการเมือง ต้องรักกันเพราะทุกคนคือคนไทยเหมือนกัน กระทั่งถึงต้องลดละกิเลส ลดละความโกรธ ความเกลียดชัง คืนความเป็นมนุษย์ให้แก่ตนเองและคนอื่นๆ ฯลฯ
โปรดสังเกตสถานการณ์ปัจจุบันอีกครั้งครับ!
1. ประชาชนที่ (ถูกกล่าวหาว่า) ยังไม่พร้อม กำลังต่อสู้เพื่อปกป้องสิทธิ อำนาจปกครองตนเองที่ถูกรัฐประหารปล้นไป ต่อสู้เพื่อเสรีภาพและความเท่าเทียมในความเป็นคน เพื่ออนาคตที่มีการวางระบบป้องกันไม่ให้อำนาจนอกระบบเข้ามา จัดการอำนาจ ในการปกครองประเทศ
2. ประชาชนที่ (อวดอ้างว่า) พร้อมแล้ว บอกว่าการเลือกตั้งไม่ใช่คำตอบของประชาธิปไตย การเลือกตั้งถึงทางตัน ถวิลหาอำนาจพิเศษ ต่อสู้เพื่อเพิ่มอำนาจให้สถาบันกษัตริย์ อ้างประชาธิปไตยที่สะอาดโปร่งใสแต่ไม่ไว้ใจนักการเมือง ไม่ไว้ใจประชาชน ทว่าไว้ใจอย่างสุดๆ (absolutely) ต่ออำนาจที่ตรวจสอบไม่ได้
3. ปัญญาชนฝ่าย (ที่อ้างว่า) เป็นกลาง ฝ่ายปฏิรูปประเทศ หรือบุคคลไม่ทราบฝ่าย (ดูรายการตอบโจทย์และคมชัดลึกบ่อยๆ จะเห็นปัญญาชนในข้อนี้) เสนอว่า อย่าเกลียดกันเลย เราคนไทยด้วยกัน หนึ่งเดียวคือทั้งหมด ทั้งหมดคือหนึ่งเดียว เราต้องมีจิตใหญ่ ให้อภัยซึ่งกันและกัน มารักกันเถอะ เอ่อ...รากฐานของปัญหาคือความไม่เป็นธรรม ต้องปฏิรูปโครงสร้างที่ไม่เป็นธรรม (???!!!)
แน่นอนว่าในสถานการณ์แบบนี้ ฝ่ายจัดการอำนาจ เขากลัว 1 มากที่สุด เพราะเขา รู้แจ้ง มานานแล้วว่า ประชาชนที่ยังไม่พร้อมนี่แหละคือพวกที่พร้อมจะทำให้ประเทศนี้เป็นประชาธิปไตยมากที่สุด
ส่วน 2 และ 3 เป็นพวกคุณธรรมล้ำหน้าและพวกโรแมนติกที่หลอกใช้ได้ง่ายๆ (ถ้าผลประโยชน์ลงตัวหรือกล่อมด้วยนิยายพาฝัน) เขาจึงมักใช้บริการ 2 และ 3 เสมอเมื่อถึงคราวจำเป็น
และโปรดระลึกไว้เสมอนะครับว่า 2 และ 3 คือประชาชนที่มีการศึกษาดี จบจากมหาวิทยาลัยชั้นนำ มีฐานะการงานมั่นคง หรือเป็นปัญญาชนชั้นนำของประเทศนี้ ประเทศที่มี ประชาชนที่ยังไม่พร้อม จำนวนมากออกมาเดินขบวนทวง ประชาธิปไตย นี่แหละ!
แก้ไขเมื่อ 27 ม.ค. 54 13:25:55