Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
ความเห็นเพิ่มเติมต่อกรณีนายอัมสเตอร์ดัมฟ้องศาลอาชญากรระหว่างประเทศ คดีเหตุการณ์ พค.2553 ติดต่อทีมงาน

สืบเนื่องจากกระทู้เมื่อวานที่ได้นำรายละเอียดข้อกฎหมายว่าด้วยสัญชาติของอังกฤษทั้งฉบับปัจจุบันคือ National Act 1981 และฉบับที่ใช้ตอนมาร์คเกิด National Act 1948 มาให้พิจารณาแล้วนั้น เรื่องนี้สุดท้ายมาร์คจะมีสัญชาติอังกฤษติดตัวอยู่หรือไม่ คงขึ้นกับข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายของอังกฤษที่บังคับใช้ในเวลานั้นๆ สำหรับผู้ที่สนใจก็คงต้องคอยตามข่าวต่อไป

แต่วันนี้จะขอใช้สิทธิอภิปรายเพิ่มเติมต่อ เรื่องที่อัมสเตอร์ดัมหาช่องทางฟ้องมาร์คโดยอาศัยข้อสันนิษฐานที่ว่าสัญชาติอังกฤษนั้นติดตัวมาร์คมาแต่กำเนิดตาม National Act 1948  หากสมมุติว่ามาร์คมีสัญชาติอังกฤษติดตัวอยู่จริง จะมีผลทำให้ศาลอาชญากรระหว่างประเทศ ( International Criminal Court ) รับเรื่องไว้พิจารณาจริงหรือไม่ และคดีจะมีการดำเนินต่อไปในรูปแบบใด ซึ่งในเรื่องนี้หากท่านใดไม่สนใจก็ขอความกรุณาข้ามไปกระทู้อื่นได้เลยครับ เพราะในกระทู้นี้ผมจะพยายามอภิปรายลงลึกในรายละเอียด แต่หากท่านใดมีข้อมูลหรือตีความข้อกฎหมายแตกต่างไปได้ดีกว่า ผมยินดีรับฟังเสมอ

เพราะที่นี้คือที่ที่เรามาแลกเปลี่ยนความรู้ ความคิด และทรรศนะ เพื่อการมองโลก ที่กว้างขวางขึ้น ตามเจตนรมย์ของบอร์ดพันทิพ


สัญชาติอังกฤษของมาร์ค

ตามความเห็นของผมนั้น สัญชาติอังกฤษของมาร์ค จะมีติดตัวอยู่ตามกฎหมายอังกฤษหรือไม่นั้น ทางมาร์คเองควรจะทำให้กระจ่าง น่าจะทำโดยการทำหนังสือส่วนตัวอย่างเป็นทางการไปสอบถาม ซึ่งสามารถทำได้โดยผ่านสถานทูตอังกฤษ หากในที่สุดแล้ว ทางอังกฤษแจ้งกลับมาว่า มีสัญชาติอังกฤษติดตัวอยู่จริงตามกฎหมายอังกฤษ มาร์คก็ควรทำการแจ้งยกเลิกสัญชาติเสีย ตามกฎหมายฉบับปัจจุบันซึ่งระบุว่าให้ทำได้โดยทำเป็นหนังสือลายลักษณ์อักษรต่อทางประเทศอังกฤษ (คลิกอ่าน National Act 1981 มาตรา 12 การสละสัญชาติ) เมื่อทางรัฐมนตรีที่รับผิดชอบรับทราบแล้วก็จะประกาศการยกเลิกต่อไป

แต่การยกเลิกนี้คงไม่ใช่ทำให้การฟ้องร้องของอัมเสตอร์ดัม ต่อศาลอาชญากรระหว่างประเทศยกเลิกไปหรือไม่เป็นผล เพียงแต่ควรทำเพื่อให้เกิดความกระจ่างชัดต่อสาธารณชนและต่อข้อกฎหมายที่จะเกี่ยวข้องต่อไป



การรับพิจารณาคดีของศาลอาชญากรระหว่างประเทศ

หากใครได้อ่านดูกฎบัตรของศาลอาชญากรระหว่างประเทศ ที่บัญญัติไว้ใน Rome Statue นั้นมีระบุใน Article 12 และ 13  การรับเรื่องเข้าไว้พิจารณานั้น มีข้อกำหนดอยู่หลายประการ โดยเบื้องต้นนั้นจะมีกำหนดว่า (1.)ศาลนี้จะรับพิจารณาคดีที่เกิดในรัฐที่เป็นภาคี ซึ่งประเทศไทยไม่ได้เป็นรัฐภาคี โดยคำว่าในรัฐนี้รวมหมายถึงบนเรือและอากาศยานของชาตินั้นด้วย แต่ทั้งสหรัฐ ไทย และอีกหลายประเทศไม่ได้เป็นประเทศในภาคี (2.) ศาลนี้จะรับพิจารณาคดีคนถือสัญชาติของรัฐภาคี ซึ่งเป็นข้อที่อัมเสเตอดัมอ้าง (3.) ศาลนี้จะรับพิจารณาคดีที่คณะมนตรีความมั่นคงส่งมาให้ และ (4.) ศาลนี้จะรับพิจารณาคดีในประเทศที่ไม่ได้เป็นภาคี แต่ประเทศนั้นได้แสดงเจตจำนงยอมรับอำนาจศาลนี้อย่างเป็นทางการต่อนายทะเบียนของศาล เช่นประเทศไอวอรี่โคสต์ หรือ ปาเลสไตน์

โดยการยื่นฟ้องต่อศาลอาชญากรนี้ จะผ่านมาได้ 3 ทางตามArticle 13 (ก) คือประเทศในภาคีเป็นผู้ฟ้องเสียเอง หรือ (ข) คณะมนตรีความมั่นคงของสหประชาชาติซึ่งปฏิบัติตาม Chapter VII ของกฏบัตรสหประชาชาติ ส่งเรื่องให้อัยการศาลนี้  หรือ  (ค) อัยการศาลรับเรื่องจากองค์กรหรือบุคคลทั่วไปมาพิจารณา ซึ่งตามที่สำนักงานอัยการของศาลนี้แจ้งไว้นั้น จนถึงกันยายนปีที่แล้ว ได้รับเรื่องที่สื่อสารส่งเข้ามาเพื่อแจ้งเบาะแส  ฟ้องร้อง 8,874 เรื่อง ในจำนวนนี้ 4,002 เรื่องชัดเจนว่าอยู่นอกเขตอำนาจศาล ได้ทำการไต่สวนเบื้องต้นต่อสาธารณไปแล้วเพียง 13 เรื่อง ซึ่งในจำนวนนี้มีจำนวน 4 รายที่ได้ทำการไต่สวนเปิดเผยต่อ และมี 2 รายที่ยกเรื่อง และที่เหลือยังอยู่ในระหว่างการไต่สวนเบื้องต้น ( คลิกอ่านรายละเอียด )


นอกเหนือไปจากหลักทั้ง 4 และวิธีการรับฟ้องทั้ง 3 ที่กล่าวแล้ว ศาลนี้ยังจะมีข้อกำหนดเบื้องต้นตาม Article 17 เรื่อง Issues of admissibility ไว้ด้วยว่า จะไม่รับพิจารณาคดีหากประเทศนั้นกำลังดำเนินการไต่สวนอยู่ หรือกำลังพิจารณาคดีอยู่  ยกเว้นเสียแต่จะพิสูจน์ได้ว่า การไต่สวนนั้นทำไปแบบไม่จริงจัง ไม่เต็มใจ ซึ่งประเด็นนี้ เท่าที่ทราบก็เป็นประเด็นที่อัมเสตอร์ดัมพยายามโจมตีและนำมาอ้างต่อศาลอาชญากรระหว่างประเทศเช่นกัน

ดังนั้น ขั้นตอนแรกคือเรื่องต้องเข้ากฏเกณท์ ไม่มีการไต่สวยสอบสวนในประเทศนั้นอยู่ หรือมีแต่ชัดเจนว่าเป็นไปไม่โปร่งใส และต้องมีสาระมีน้ำหนักหรือมีหลักฐานพอที่จะสำนักงานอัยการศาลอาชญากรระหว่างประเทศจึงจะทำการไต่สวนเบื้องต้นก่อน และหากคิดว่ามีมูลพอเพียงเท่านั้น จึงจะเสนอเรื่องไต่สวนต่อหน้า Pre-Trial chamber [ ตาม Article 39, 2(b) (iii) ] ซึ่งจะประกอบด้วยผู้พิพากษา 1- 3 คน เพื่อพิจารณามูลทั้งหมดอีกครั้ง หากการไต่สวนต่อหน้า Pre-Trial chamberมีมูลพอ นั้นแหละ จึงจะได้มีการพิจารณาคดีในชั้นศาลจริงต่อไปได้


สมมุติว่าอัยการศาลเรียกไต่สวน จะเรียกตัวอภิสิทธิ์ไปให้การได้อย่างไร
ปกติการพิจารณาคดีอาญาจะมีหลักเสมอว่าต้องพิจารณาต่อหน้าผู้ถูกกล่าวหาไม่ว่าจะในชั้นของสำนักงานอัยการศาล หรือ Pre-Trial chamber หรือในชั้นศาลจริง   ดังนั้น หากสำนักงานอัยการศาลของอาชญากรระหว่างประเทศ เชื่อว่ามาร์คมีสัญชาติอังกฤษ และเชื่อว่ากระบวนการยุติธรรมในไทยดำเนินไปไม่ปกติ และมีข้อสรุปให้ดำเนินคดีจริง ในชั้นการไต่สวนเบื้องต้น หรือในชั้นการไต่สวนของ Pre-Trial chamber ก็จะต้องมีการเรียกตัวมาร์คในฐานะผู้ถูกกล่าวหา มาให้การ

ปัญหาคือมาร์คสมควรไปหรือไม่ หากถามผม ผมขอตอบว่าการไปนั้นดูเหมือนจะมีข้อดีอยู่ที่ว่าได้เป็นการพิสูจน์ให้กระจ่างไปว่าตนเองนั้นบริสุทธิ์จริง และผมก็เชื่อโดยส่วนตัวว่ามาร์คไม่น่าจะต้องกลัวการจะต้องไปให้การต่อศาลอาชญากรระหว่างประเทศนี้ แต่ข้อเสียที่ฉกรรจ์หากรับว่าจะไปให้การในการไต่สวนนี้ก็คือ จะกลายเป็นการไปยอมรับว่ากระบวนการยุติธรรมในประเทศไทย มีความไม่ปกติ ถึงกับต้องไปยอมรับการไต่สวนจากศาลนอกประเทศ ซึ่งประเด็นนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อนและสำคัญยิ่ง ซึ่งไม่เหมาะที่จะทำเช่นนี้เป็นแน่

ประเด็นเรื่องการเรียกตัวไปให้การไม่ว่าจะในชั้นไต่สวนหรือชั้นศาลนี้ก็มีปัญหาในการดำเนินการในทางปฏิบัติ เพราะจะเรียกตัวกันผ่านมายังประเทศไทยไม่ได้ เพราะประเทศไทยยังไม่ได้ให้สัตยาบรรณ และไม่ได้ยอมรับอำนาจศาลอาชญากรระหว่างประเทศนี้ ดังนั้น คงจะมีการพยายามเรียกตัวผ่านไปยังประเทศอังกฤษ โดยอ้างถึงสัญชาติอังกฤษที่อ้างกันว่าติดตัวมาร์ค    


มาร์คไม่ไปจะได้หรือไม่

หากมาร์คสละสัญชาติอังกฤษไปเสียแล้ว ตามที่อภิปรายไว้ข้างต้น ก็คงจะยากที่ทางอังกฤษหรืออัยการศาล จะเรียกตัวมาร์คได้ แต่สมมุติไปว่ามาร์คยังไม่ยอมยกเลิกสัญชาติอังกฤษที่ติดตัวตนมา หรือ แม้มาร์คจะสละสัญชาติอังกฤษไปแล้ว แต่ทางอังกฤษรับอาสาจะเรียกตัวมาร์คให้โดยอาศัยเหตุที่ว่า มาร์คเคยมีสัญชาติอังกฤษ โดยข้อกล่าวหาที่อัยการศาลอ้างมานั้น เกิดในระหว่างที่มาร์คมีสัญชาติอังกฤษติดตัวอยู่ สมมุติไปว่าเป็นเช่นนั้น

ทางเดียวที่อังกฤษอาจจะใช้คือพยายามติดต่อขอตัวผ่านทางสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนที่มีต่อกันอยู่ ซึ่งตรงนี้จะมีปัญหาอีกเพราะสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนที่ทำต่อกันนั้น เป็นการสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดน เพราะไปกระทำผิดในประเทศคู่สัญญาซึ่งในกรณีข้อกล่าวหามาร์คนั้นไม่ได้มีการกระทำความผิดในประเทศอังกฤษ และตามสนธิสัญญาจะส่งตัวกันเพื่อให้มีการดำเนินคดีในประเทศคู่สัญญาเท่านั้น ไม่ใช่ขอส่งตัวไปเพื่อส่งตัวต่อไปให้อีกประเทศหนึ่งหรืออีกองค์กรระหว่างประเทศหนึ่งอีกทอดหนึ่ง เพื่อดำเนินคดี  


หลัก “ไม่ยอมส่งคนสัญชาติตนข้ามแดนให้ประเทศอื่น”

อีกประการที่สำคัญคือ สนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนนั้นจะมีหลักสำคัญอยู่ว่า “ไม่ยอมส่งคนสัญชาติตนข้ามแดนให้ประเทศอื่น” ดังนั้น ไม่ว่ามาร์คสละสัญชาติอังกฤษแล้วหรือไม่ก็ตาม มาร์คก็ยังคงมีสัญชาติไทย ซึ่งกฎหมายไทยไม่สามารถบังคับส่งตัวคนที่ถือสัญชาติไทยได้หากคนผู้นั้นไม่ยินยอม  เพราะตามสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนนั้น มีหลักว่า “ไม่ยอมส่งคนสัญชาติตนข้ามแดนให้ประเทศอื่น” ซึ่งมีในกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนหลายประเทศ และในกฏหมายผู้ร้ายข้ามแดนของไทยก็มีบัญญัติไว้เช่นนั้นคือ

มาตรา ๑๒  การดำเนินการตามคำร้องขอให้ส่งบุคคลสัญชาติไทยเป็นผู้ร้ายข้ามแดนอาจกระทำได้ในเฉพาะในกรณีดังต่อไปนี้คือ (๑) เมื่อมีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างประเทศไทยกับประเทศผู้ร้องขอกำหนดไว้ และ  (๒) บุคคลนั้นยินยอมให้ส่งข้ามแดน


หลัก “ไม่ยอมส่งคนสัญชาติตนข้ามแดนให้ประเทศอื่น” สามารถหาอ่านเพิ่มเติมได้ในที่ต่างๆ อาทิเช่น จากบทความต่อไปนี้ ซึ่งมีการอ้างอิงกันมาก คือ

“...ผู้กระทำผิดเป็นบุคคลในสัญชาติของประเทศผู้รับคำขอ เป็นกรณีที่บุคคลในสัญชาติของประเทศหนึ่งกระทำความผิดแล้วหลบหนีกลับไปยังประเทศของตน ตามหลักทั่วไปประเทศเจ้าของสัญชาติผู้กระทำความผิดจะไม่ยอมส่งตัวผู้กระทำความผิดนั้นกลับไปให้ประเทศอื่นพิจารณาพิพากษาคดี โดยยึดถือหลักที่ว่า “ไม่ยอมส่งคนสัญชาติตนข้ามแดนให้ประเทศอื่น”  ก็สามารถกระทำได้ เช่น คนไทยไปกระทำความผิดทางอาญา ณ ประเทศฟิลิปปินส์แล้วหลบหนีกลับมายังประเทศไทย ประเทศไทยจะไม่ส่งคนไทยผู้นี้ข้ามแดนเพื่อไปให้ศาลฟิลิปปินส์พิจารณาพิพากษาคดีก็กระทำได้ …”

จากบทความ “การส่งผู้ร้ายข้ามแดน” โดย คมกริช ดุลยพิทักษ์ อัยการประจำกรม
สถาบันกฎหมายอาญา สำนักงานอัยการสูงสุด (คลิกอ่านรายละเอียด)


และความในทำนองเดียวกันนี้ ก็ปรากฏในบทความเรื่อง หลักกฎหมายและแนวปฎิบัติการส่งผู้ร้ายข้ามแดน โดย สราวุธ เบญจกุล รองเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม และโฆษกสำนักงานศาลยุติธรรม (คลิกอ่านรายละเอียด)

เอาเถอะ สมมุติว่ามาร์คตัดสินใจไปให้การ และสมมุติไปเลยว่าเรื่องขึ้นไปถึงศาลจริงๆ แล้วพยานบุคคลที่สำคัญของฝ่ายไทยทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นคุณสุเทพ  พล.อนุพงษ์ หรือ พล.อ.ประยุทธ หรือเจ้าหน้าที่ระดับสูงในศอฉที่เกียวข้อง. เขาจะยอมไปให้การหรือ ? ไม่ว่าจะโดยเดินทางไปเองหรือโดยการส่งเอกสาร หากไม่ไปให้การแล้วการไต่สวนหรือการตัดสินของศาลจะทำไปได้อย่างไร หากมีการตัดสินจริงๆ ศาลก็คงต้องตัดสินว่ามาร์คไม่มีความผิด เพราะศาลนี้ยึดหลัก Presumption of innocence ตาม Article 66 หากหลักฐานไม่ชัดเจน ก็จะตัดสินว่าผู้ถูกกล่าวหามีความผิดไม่ได้


สรุป

ดังนั้น โดยสรุปเรื่องนี้แม้ทางอัมเสตอร์ดัมจะพยายามหาช่องทางฟ้องมาร์ค ซึ่งในเวลานี้อาศัยช่องที่ว่ามีสัญชาติอังกฤษติดตัวมาร์คอยู่ตามกฎหมายอังกฤษนั้น แม้หากอัยการศาลนี้จะรับเรื่องไว้ไต่สวนเบื้องต้น แต่หากมาร์คเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมของไทย และยืนหยัดที่จะไม่ไปใ้ห้การต่อการไต่สวนของอัยการ โดยยึดมั่นต่อกระบวนการยุติธรรมภายในประเทศให้เป็นผู้ตัดสินชี้ขาดในเรื่องนี้แล้ว โอกาสที่อัมเสตอร์ดัมจะใช้ศาลอาชญาการระหว่างประเทศมาเพื่อเล่นงานมาร์คดูจะห่างไกลและหริหรี่ แต่แน่นอนครับ ใครได้อะไรบ้างจากการเดินเรื่องนี้ทุกคนย่อมทราบดี และไม่ใช่ประเด็นของกระทู้นี้

ขอจบอภิปรายไว้แค่นี้








.แก้คำผิดบางคำ

แก้ไขเมื่อ 02 ก.พ. 54 14:01:38

จากคุณ : thyrocyte
เขียนเมื่อ : 2 ก.พ. 54 12:11:36 A:58.137.0.146 X:



ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com