อ. คณิน บุญสุวรรณ >> อย่าใช้อำนาจแบบ “มั่วๆ”
อังคาร ที่ 24 เดือน พฤษภาคม พ.ศ.2554
อย่าใช้อำนาจแบบ “มั่วๆ”
คณิน บุญสุวรรณ
ผมสงสัยมาตลอดว่า การที่ศาลไม่ยอมอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว นายจตุพร พรหมพันธุ์ ไปสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ ๑๘ พฤษภาคม และการที่กรมสอบสวนคดีพิเศษออกหมายเรียกแกนนำ นปช. จำนวน ๑๙ คน ไปรับทราบข้อกล่าวหาคดีเกี่ยวกับสถาบัน ในวันที่ ๒ มิถุนายน รวมทั้ง นายนิสิต สินธุไพร ด้วย นั้น ถือเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ หรือไม่ เพราะเหตุการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้น อยู่ในระหว่างที่พระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎรมีผลใช้บังคับ ซึ่งมีผลสองประการ คือ ประการแรก บรรดาแกนนำ นปช. เหล่านั้น ไม่เว้นแม้แต่ผู้ที่ถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาล หลายคนมีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ด้วย และประการที่สอง คนเหล่านั้น มีสิทธิไปรณรงค์หาเสียง และดำเนินกิจกรรมทางการเมือง ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ รวมทั้งประกาศและระเบียบของ กกต. ทุกประการ
ดังนั้น การไม่ยอมให้ปล่อยตัวชั่วคราว และการออกหมายเรียกเพื่อจับกุมขุมขังแกนนำ นปช. ทั้งหมด ดังกล่าว จึงน่าจะเข้าข่ายเป็นองค์กรของรัฐใช้อำนาจโดยไม่คำนึงถึงสิทธิเสรีภาพของ บุคคลที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๖ ว่า “การใช้อำนาจโดยองค์กรของรัฐทุกองค์กร ต้องคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ และเสรีภาพ ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้”
เพราะการที่ศาลไม่ยอมให้ปล่อยตัวชั่วคราว เพื่อไปสมัครรับเลือกตั้งและรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง รวมทั้งทำกิจกรรมทางการเมืองอื่นๆ อันเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญของบุคคล ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากที่พระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎรมีผลใช้บังคับ รวมทั้งการที่กรมสอบสวนพิเศษคดีพิเศษออกหมายเรียก ๑๙ แกนนำ นปช. โดยมีเป้าหมายเพื่อจับกุมคุมขังคนเหล่านั้น เท่ากับว่า ทั้งศาลและกรมสอบสวนคดีพิเศษ ซึ่งเป็นองค์กรของรัฐได้ใช้อำนาจโดยไม่คำนึงถึงสิทธิของบุคคลในการสมัครรับ เลือกตั้งและในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งและดำเนินกิจกรรมทางการเมือง อันเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ
และที่สงสัยมากยิ่งขึ้นไปอีก คือ สงสัยว่าการที่กรมสอบสวนคดีพิเศษซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ ออกหมายเรียก ๑๙ แกนนำ นปช. ไปรับทราบข้อกล่าวหาโดยมีเป้าหมายชัดเจน เพื่อที่จะจับกุมคุมขัง ๑๙ แกนนำ นปช. ให้สิ้นอิสรภาพ โดยไม่สามารถไปรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งและช่วยพรรคการเมืองที่ตนสังกัด รวมทั้งดำเนินกิจกรรมทางการเมืองใดๆ นั้น จะเป็นการกระทำที่ขัดต่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาด้วย หรือไม่
ทั้งนี้ เพราะมาตรา ๕๗ วรรคแรก ของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าว บัญญัติว่า “ห้ามมิให้เจ้าหน้าที่ของรัฐใช้ตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมาย กระทำการใดๆ เพื่อเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่ผู้สมัครหรือพรรคการเมือง”
ซึ่งหมายความว่า การใช้ตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมาย กระทำการใดๆ อันเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่ผู้สมัครหรือพรรคการเมือง จะกระทำมิได้
และถึงแม้จะมีบทบัญญัติในวรรคสองของมาตราเดียวกัน บัญญัติว่า “การใช้ตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมายตามวรรคหนึ่ง มิให้หมายความ รวมถึงการปฏิบัติหน้าที่ตามปกติที่พึงปฏิบัติในตำแหน่งของเจ้าหน้าที่ของรัฐ นั้น” ก็ตาม แต่ก็มิได้หมายความว่า การปฏิบัติหน้าที่ตามปกติ จนเป็นคุณเป็นโทษแก่ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองจะได้รับการยกเว้นเพราะถ้าเป็น การใช้ตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมาย และเป็นคุณเป็นโทษแก่ผู้สมัครหรือพรรคการเมือง แล้ว ย่อมทำไม่ได้เช่นกัน
อย่างไรก็ดี เป็นอำนาจของ กกต. ที่จะทำการสืบสวนสอบสวนและรวบรวมหลักฐาน ว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ใดได้มีการกระทำอันเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติตามวรรคหนึ่ง และ กกต. ก็มีอำนาจที่จะสั่งให้เจ้าหน้าที่ของรัฐยุติหรือระงับการกระทำดังกล่าวได้
ซึ่งสอดคล้องกับบทบัญญัติมาตรา ๑๘๑ (๔) ของรัฐธรรมนูญ ที่บัญญัติว่า “ภายหลังที่มีพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร แล้ว นายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีรักษาการ จะใช้ทรัพยากรของรัฐหรือบุคลากรของรัฐเพื่อกระทำการใด ซึ่งจะมีผลต่อการเลือกตั้ง มิได้”
หมายความว่า ถ้ากรมสอบสวนคดีพิเศษดำเนินการออกหมายเรียก แกนนำ นปช. ๑๙ คน ซึ่งส่วนหนึ่ง เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งในนามพรรคเพื่อไทย และอีกส่วนหนึ่งถึงแม้จะไม่ได้สมัครแต่ก็เป็นผู้นำมวลชนจำนวนหลายล้านคนทั่ว ประเทศ ซึ่งมีผลต่อคะแนนเสียงของผู้สมัครหรือพรรคการเมืองเป็นอย่างมาก เท่ากับเป็นการตัดกำลังหรือเป็นโทษต่อผู้สมัครและพรรคการเมืองคู่แข่งของ รัฐบาลรักษาการ ดังนั้น ถ้าการดำเนินการของกรมสอบสวนคดีพิเศษเป็นไปโดยคำสั่งของรัฐบาลรักษาการ รัฐบาลรักษาการก็มีความผิดฐาน “ใช้ทรัพยากรของรัฐหรือบุคลากรของรัฐเพื่อกระทำการใดๆ ซึ่งจะมีผลต่อการเลือกตั้ง อันเป็นการกระทำที่ต้องห้ามมาตรา ๑๘๑ (๔) ซึ่งอาจจะอยู่ในข่ายโดนใบแดงจาก กกต. ได้
ในทางกลับกัน ถ้าหากรัฐบาลรักษาการปฏิเสธว่าไม่รู้เรื่อง และไม่ได้สั่งให้กรมสอบสวนคดีพิเศษทำเช่นนั้น ก็เท่ากับว่า กรมสอบสวนคดีพิเศษได้กระทำการไปโดยพลการ ซึ่งหมายความว่า ไม่ใช่ “การปฏิบัติหน้าที่ตามปกติที่พึ่งต้องปฏิบัติ” และเมื่อไม่ใช่การปฏิบัติหน้าที่ตามปกติ ก็ย่อมถือว่าเป็นการกระทำที่มิชอบด้วยกฎหมาย เมื่อเป็นการกระทำที่มิชอบด้วยกฎหมาย แล้วเกิดเป็นคุณเป็นโทษแก่ผู้สมัครหรือพรรคการเมือง ก็ย่อมมีความผิดตามมาตรา ๕๗ วรรคแรก ที่กล่าวข้างต้น
เมื่อมีการฝ่าฝืนบทบัญญัติตามวรรคหนึ่ง โดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ ดังกล่าวแล้ว ในทางหนึ่งก็อาจถูก กกต. สั่งยุติหรือระงับการกระทำที่เห็นว่าเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่ผู้สมัครหรือพรรค การเมือง ตามมาตรา ๕๗ วรรคสาม
หรือในอีกทางหนึ่ง ก็อาจถูกแจ้งความดำเนินคดีในฐานะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ “ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด” อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๕๗ ได้เช่นกัน
นิทานเรื่องนี้ สอนให้รู้ว่า อย่าใช้อำนาจแบบ “มั่วๆ” เพราะโตๆ กันแล้ว เดี๋ยวจะตกที่นั่งลำบากเสียเปล่าๆ คำพระท่านว่า “ทุกขโต ทุกขฐานัง” แปลว่า ให้ทุกข์แก่ท่าน ทุกข์นั้นถึงตัว
.......................................................................................................................
ก็คงต้องขอบคุณ อ.คณิน บุญสุวรรณ ไว้ ณ ที่นี้......ที่กล้าแสดงความคิดเห็นหลายบทความที่ ขัดใจต่ออำนาจนอกระบบ
ในยุคมืดนี้รู้สึกว่า นักวิชาการและข้าราชการระดับสูงดี ๆ จะถนอมตัว สงบปากสงบคำกันไปหมด
ไม่ทราบว่าพวกท่าน ยังมีความสุขดีอยู่หรือ ที่เห็นบ้านเมืองเป็นอย่างนี้.....พวกท่านจะปล่อยให้นักวิชาการเพียงไม่กี่คนพร้อมกับประชาชน.....สู้แบบตามมีตามเกิดหรือ