Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
ทักษิณกับกระบวนการยุติธรรม - ใ บ ต อ ง แ ห้ ง ติดต่อทีมงาน

ใครแพ้ใครชนะในการเลือกตั้งครั้งนี้ แทบจะเป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายมองข้ามช็อตกันไปแล้ว เหลือเพียงพรรคเพื่อไทยจะได้ ส.ส.ใกล้เคียง 250 ที่นั่งหรือเปล่า เพราะนั่นเป็นหลักประกันว่า “พลังที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้”จะไม่มีช่องทางบีบบังคับพรรคอื่นไปร่วมรัฐบาลกับพรรคประชาธิปัตย์


 
ดูอาการดิ้นพล่านของ ปชป.และผู้สนับสนุนทั้งทางตรงทางแอบ ก็เห็นได้ชัด อภิสิทธิ์ยืนกระต่ายขาเดียว พรรคไหนรวมเสียงข้างมากได้ก่อนมีสิทธิจัดตั้งรัฐบาล กลืน “สปิริต”สมัยชวน หลีกภัย ที่ให้โอกาสพรรคอันดับหนึ่งก่อน จนบรรหารและพล.อ.ชวลิต ได้เป็นนายกฯ
 

ที่จริงมาร์คน่าจะประกาศเสียให้ชัดว่า ถ้าประชาธิปัตย์บวกภูมิใจไทยได้ ส.ส.มากกว่าเพื่อไทย ต้องถือว่าแนวร่วมมาร์คปากห้อยได้ที่หนึ่ง เพราะสองพรรคนี้ผูกชะตากรรมไว้ด้วยกัน ไม่มีวันสังฆกรรมกับเพื่อไทย จนน่าจะชูสโลแกนโค้งสุดท้ายว่า "เลือกมาร์คได้ห้อย เลือกห้อยได้มาร์ค" แพคคู่ ซื้อหนึ่งแถมหนึ่ง

 

อาการพล่านของ ปชป.ยังเห็นได้จากการฟาดงวงฟาดงาใส่พวก Vote No คู่แข่งแย่งคะแนนโดยตรง คอยจับตาโค้งสุดท้ายที่เหลือไม่ถึง 3 สัปดาห์ ปชป.ต้องพยายาม “ปลุกผีทักษิณ”ดึง “พลังเงียบ”ที่เบื่อหน่ายสิ้นศรัทธาการบริหารงานในช่วง 2 ปีกว่า ให้กลับมาเลือกตัวเองอีกครั้ง ด้วยความกลัวทักษิณและพรรคเพื่อไทย “ไม่เลือกเราเขามาแน่” ซึ่งจะทำสำเร็จหรือเปล่าไม่ทราบ เพราะเสียงที่เคยเลือก ปชป.แตกไปทั้ง Vote No ชูวิทย์ ปุระชัย และนอนอยู่บ้าน ไม่เลือกใครซักคน
 

พวกเสื้อแดงตอนนี้ต้องถือว่าพวกเสื้อเหลือเป็นแนวร่วมเฉพาะกาลนะครับ เพราะ Vote No แย่งคะแนน ปชป.ไม่ได้แย่งคะแนนเพื่อไทย ผมยังเห็นใจเลย ที่โดน กกต.วินิจฉัยให้ถอนป้ายเพื่อคุ้มครองสัตว์ป่า อันที่จริงถ้าไม่อ้างเป็นป้ายหาเสียงของพรรคเพื่อฟ้าดิน พันธมิตรน่าจะมีสิทธิติดป้ายรณรงค์ทั่วประเทศ เพราะถือเป็นเสรีภาพ ประชาชนมีสิทธิรวมกลุ่มกันรณรงค์เรื่องใดเรื่องหนึ่งในการเลือกตั้ง เหมือนอย่างที่ครูเกณฑ์เด็กนักเรียนถือป้ายรณรงค์ให้คนออกมาใช้สิทธิ, รณรงค์ไม่ให้ซื้อสิทธิขายเสียง (ตามสูตร), รณรงค์ให้เลือกคนดี (ตามสูตรอีกแหละ) พันธมิตรก็สามารถรณรงค์ว่า ถ้าคุณเบื่อนักการเมือง จงอย่านอนหลับทับสิทธิ ให้ออกไปกาช่องไม่ประสงค์จะลงคะแนน กกต.จะมาห้ามได้ไง
 

เพียงแต่ถ้าทำอย่างนั้นพันธมิตรอาจต้องไปขออนุญาต อปท.ทั่วประเทศ จึงอ้างเป็นพรรคเพื่อฟ้าดินสะดวกกว่า ติดป้ายได้เลยไม่ต้องขอ แต่พออ้างเป็นพรรคการเมือง ก็มีคำถามว่าไหงรณรงค์ให้คนไม่ลงคะแนน และเมื่อเป็นป้ายของพรรคการเมืองก็อยู่ใต้อำนาจวินิจฉัยของ กกต.
 

 

นวัตกรรมนำเข้าคุก
 
ภายใต้ความกลัวว่าพรรคเพื่อไทยจะชนะ ได้จัดตั้งรัฐบาล จึงมีการเตะตัดขา วางตะปู เรือใบ ล่วงหน้า หลากหลายวิธีการ กระทั่งพยายามดิสเครดิตการเลือกตั้ง ว่าจะมีซื้อเสียงมโหฬาร 3 หมื่นล้าน เพื่อถอนทุน 2 แสนล้าน (ขณะที่ อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ ท่านบอกว่านี่คือการเลือกตั้งที่มีการเมืองเชิงอุดมการณ์สูงที่สุดเป็นครั้งแรกของประเทศไทย)
 

ชัดเจนที่สุดคือการออกมาเคลื่อนไหวกล่าวโทษยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ฐานเบิกความเท็จ ของเครือข่ายพลเมืองคัดค้านนิรโทษกรรมคอรัปชั่นทักษิณ (คนท.) นำโดย อ.แก้วสรรและหมอตุลย์ (คนที่ผมรักนับถือทั้งคู่ แม้จะมีความเห็นต่าง)
 

ในรายการวิทยุของวีระ ธีรภัทร์ มีคนถามว่า ทำไมหมอตุลย์กับ อ.แก้วสรรออกมาเคลื่อนไหวตอนนี้ วีระตอบว่า ไม่ต้องกังขา แหงอยู่แล้วว่าไม่มีเจตนาดี แต่ยิ่งลักษณ์จะผิดจริงหรือไม่ เป็นอีกเรื่อง
 

ผมเขียนบทสัพยอก “สัมภาษณ์แก้วสัน” ลงเว็บประชาไท ด้วยความรีบ ดันตกประเด็นสำคัญไปประเด็นหนึ่ง คือควรถามว่า ทำไม คมช.ถึงนิรโทษกรรมตัวเองได้ แต่ยิ่งลักษณ์นิรโทษกรรมให้พี่ชายไม่ได้
 

ตอบ “ก็คณะรัฐประหารเป็นรัฏฐาธิปัตย์ ทหารเขาใช้ปืนใช้รถถังยึดอำนาจแล้วนิรโทษให้ตัวเองมาทุกยุคทุกสมัย จนถือเป็นประเพณีทางกฎหมาย แต่มันไม่เคยมีมาก่อน ที่นักการเมืองจากการเลือกตั้ง ได้อำนาจมาจากคะแนนเสียงประชาชน แล้วจะมานิรโทษให้ตัวเอง เสียขนบประเพณีหมด”
 

ชัดเจนครับ ได้อำนาจจากการเลือกตั้ง นิรโทษให้ตัวเองไม่ได้ แต่ได้อำนาจจากกระบอกปืน นิรโทษให้ตัวเองได้ นี่คือ ประเพณีทางกฎหมายของประเทศไทย
 

แต่พูดอย่างนี้ไม่ใช่ว่าผมสนับสนุนการนิรโทษกรรม ตรงข้าม ผมไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมเพราะมันเหมือนลูบหน้าปะจมูก ไม่ธำรงรักษาไว้ซึ่งหลักนิติรัฐ การนิรโทษกรรมควรกระทำเฉพาะการเคลื่อนไหวทางการเมืองของมวลชน อย่างเช่น นิรโทษให้ทั้งเสื้อแดงเสื้อเหลือง เพื่อความปรองดองของคนในชาติ และเข้าใจถึงความจำเป็นที่จะต้องกระทำผิดกฎหมายบางอย่างระหว่างเคลื่อนไหวทางการเมือง
 

อย่าแปลกใจที่ผมอ้างหลักนิติรัฐ เหมือน อ.แก้วสรรอ้างว่าต้องไม่ให้กฎหมู่อยู่เหนือกฎหมาย เพราะผมต้องย้อนถาม “แก้วสัน” ว่า แล้วรัฐประหารเป็นกฎหมู่หรือกฎหมายละครับ
 

เราเคารพกฎหมาย ถ้ากฎหมายนั้นมีที่มาอย่างชอบธรรม ใช้และตีความตามหลักนิติรัฐนิติธรรม ไม่ใช่กฎหมายที่ใช้แล้วทำให้เกิดข้อกังขา ซึ่งเกิดขึ้นตลอด 5 ปีที่ผ่านมา ในคดีความของทักษิณและพรรคไทยรักไทย
 

ในบทสัมภาษณ์ “แก้วสัน” มีคำตอบตอนหนึ่งว่า “ผมเคยให้สัมภาษณ์คุณแล้วว่า เดิมทีกฎหมายไทยมีแค่มาตรา 157 กับร่ำรวยผิดปกติ แต่รัฐธรรมนูญ 2540 เอาเรื่องคอรัปชั่นยกระดับมาเป็นกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ และมีนวัตกรรมใหม่ เห็นว่านักการเมืองต้องเชื่อถือได้เหมือนพระ ต้องไหว้ได้ 157 เป็นแค่ศีล ต้องกำกับความประพฤติปฏิบัติที่จะนำไปสู่ความเสื่อมเสียด้วย เปรียบเหมือนวินัยพระ รัฐธรรมนูญ 40 จึงห้ามถือหุ้นสัมปทาน ห้ามโน่นห้ามนี่ ตำแหน่งนายกฯ ถ้าไปทำสัญญาด้วยตัวเองหรือภรรยา หนึ่งต้องถอดถอนจากตำแหน่ง สองติดคุก 2 ปี แล้วกฎหมาย ปปช.ยังขยายความคำว่าร่ำรวยผิดปกติขึ้นมาอีก นอกจากทรัพย์สินเพิ่มขึ้นโดยอธิบายไม่ได้ การได้ทรัพย์สินโดยไม่สมควรสืบเนื่องจากหน้าที่ ก็ต้องยึด คืออธิบายได้ก็จริง แต่มันไม่สมควร ก็ต้องยึด”
 

นี่ผมตัดตอนมาจากคำให้สัมภาษณ์ อ.แก้วสรรเมื่อเดือนตุลาคม 2552 เป็นของจริงนะครับ น่าสังเกตว่าให้สัมภาษณ์ไว้ก่อนที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำวินิจฉัยให้ยึดทรัพย์ทักษิณ ในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2553 ด้วยซ้ำ
 

“ไม่สมควร ก็ต้องยึด” คำพิพากษาออกมาตามนั้นเป๊ะ ได้ทรัพย์สินมาโดยไม่สมควร สืบเนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจหน้าที่
 

ถ้าเราย้อนกลับไปดูคำพิพากษาคดีที่ดินรัชดาก็เช่นกัน จะพบว่าในคำพิพากษาเต็มไปด้วยคำว่า “ไม่เหมาะสม” “ไม่สมควร” “เชื่อได้ว่า”
 

คำกล่าวของ อ.แก้วสรรอธิบายทั้งสองคดีได้ชัดแจ๋ว (แต่ตอนที่ฟังเมื่อปี 52 ผมยังโง่อยู่ ไม่เฉลียวใจ) ในคดีที่ดินรัชดา เนื้อแห่งคดีจริงๆ อธิบายได้ว่า มาตรา 100 กฎหมาย ปปช.ห้ามเจ้าหน้าที่เป็นคู่สัญญาหรือมีส่วนได้เสียกับหน่วยงานของรัฐที่ตนเองมีอำนาจหน้าที่กำกับดูแลตรวจสอบ หากทำความผิดจะต้องถูกลงโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปีหรือปรับไม่เกิน 60,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
 

ประเด็นสำคัญที่ศาลตีความแย้งกันมีอยู่ 2 ประเด็นคือ หนึ่ง การกระทำผิดต้องมีองค์ประกอบทุจริตหรือไม่ ต้องพิสูจน์ว่าทุจริตหรือไม่ ซึ่งคดีนี้ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่า ทักษิณและพจมานทุจริต(แหงน่อ เพราะถ้าทุจริต หม่อมอุ๋ย พ่อคุณปลื้ม และผู้บริหารกองทุนฟื้นฟูฯ ก็ต้องเข้าปิ้งระนาว ฐานช่วยเหลือให้พจมานชนะประมูล)


แต่เสียงข้างมาก 5-4 ตีความว่าไม่ต้องทุจริตก็ติดทุกได้ ขอแค่สัญญาก็คุกแล้ว
 

ประเด็นที่สอง เสียงข้างน้อยแย้งว่า การทำสัญญาครั้งนี้เป็นการประมูลขายทอดตลาด ใครเสนอราคาสูงก็ได้ทรัพย์สินไป ไม่ใช่การจัดซื้อจัดจ้างซึ่งเจ้าหน้าที่อาจมีส่วนกำหนดเงื่อนไขให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบ จึงไม่ควรเข้าข่ายความผิด มาตรา 100 แต่เสียงข้างมากก็ยังยืนยันว่าผิด


ในคำพิพากษายังพยายามตอกย้ำว่า เป็นการกระทำที่ไม่สมควร นายกรัฐมนตรีเป็นผู้มีฐานะมั่งคั่ง มีอำนาจบารมีสูง ในแง่ธรรมาภิบาลไม่สมควรทำเช่นนี้ หรือ “น่าเชื่อว่า” เมื่อภริยานายกรัฐมนตรีเข้าแข่งขัน ก็ทำให้ผู้เข้าแข่งขันรายอื่นเกรงใจไม่กล้าเสนอราคา ข้าราชการก็มักจำยอมต่อผู้มีอำนาจบารมี ฯลฯ
 

ถามว่าคำกล่าวเหล่านี้ ผ่านการพิสูจน์อะไรหรือไม่ในทางกฎหมาย ไม่มี และการประมูลก็ได้ราคาสูงกว่าราคาประเมินของกรมที่ดินและราคากลางที่ตั้งไว้ แต่คำกล่าวเหล่านี้มีผลต่อคนฟัง โดยเฉพาะคนกรุงคนชั้นกลางทั้งหลาย ที่คล้อยตามไปว่าเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสม ไม่สมควรจริงๆ


 
ซึ่งผมก็ไม่ปฏิเสธนะครับ เป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสม ไม่สมควร ในแง่ธรรมาภิบาล คุณเป็นเมียนายกฯ คุณไปประมูลทรัพย์สินราชการแข่งกับชาวบ้านเขาได้ไง (ในแง่หนึ่ง ทักษิณก็สมควรรับกรรมเพราะความย่ามใจในอำนาจ)
(แล้วแบบนี้ถ้าไม่ของกองทุนประมูลได้หรือไม่หรือว่าเป็นเมียนายกห้ามประมูลอะไรเลย - จขกท) 

เพียงแต่คนทั่วไปลืมคิดไปว่า ไอ้การกระทำที่ไม่สมควรนี้ มันควรจะมีความผิดถึงขั้นคิดคุกหรือไม่


 
เราต้องเข้าใจตรงกันก่อนว่า การกระทำความผิดของนักการเมืองมีหลายระดับ ระดับแรกคือความผิดทางจริยธรรม การทำตัวไม่เหมาะสม ซึ่งย่อมทำให้ถูกตำหนิติเตียน โลกะวัชชะ ทำให้เสื่อมความนิยม ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ ซึ่งบางกรณีถ้าเป็นนักการเมืองต่างประเทศ เขาต้องรับผิดชอบด้วยการลาออก
 

ระดับที่สองคือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ กระทำผิดข้อห้าม ขาดคุณสมบัติ ซึ่งต้องถูกถอดถอน
 

ระดับที่สามคือความผิดอาญา ซึ่งมีโทษถึงจำคุก
 

ถ้าเรายึดหลักนิติรัฐนิติธรรมอย่างเคร่งครัด การจะเอาคนเข้าคุก (หรือริบทรัพย์สิน) ต้องพิสูจน์ให้ชัดเจนว่ามีเจตนาทุจริต แต่ถ้าโวยวายกันว่ามัวแต่รอใบเสร็จก็ปราบทุจริตคอรัปชั่นไม่ได้ ในกรณีที่มีเงื่อนงำ ต้องสงสัย แต่พิสูจน์ไม่ได้แน่ชัด ก็ต้องใช้ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ ถอดถอนจากตำแหน่งและห้ามกลับมาอีก (ถ้าเป็นข้าราชการก็คือโทษทางวินัย)
 

ในกรณีของมาตรา 100 จึงเป็นปัญหาทั้งตัวบทกฎหมายและการตีความที่ขยายไปจนกระทั่งแค่ทำสัญญาก็ติดคุก ในแง่หนึ่ง พวกเกลียดคอรัปชั่นอาจบอกว่าสะใจ ที่ใช้ยาแรง แต่คุณคำนึงถึงหลักความยุติธรรมหรือไม่ คุณจะเอาคนเข้าคุกโดยพิสูจน์ไม่ได้ว่าเขาทุจริต อย่างนั้นหรือ
 

มาตรา 100 ที่ควรจะเป็นคือ ควรกำหนดเป็นข้อห้ามของผู้ดำรงตำแหน่ง ถ้าคุณทำสัญญากับหน่วยงานที่ตนเองมีอำนาจหน้าที่กำกับดูแล ถือเป็นความผิดที่ต้องถูกถอดถอน (หรือปลดออก ให้ออก) เว้นเสียแต่พิสูจน์ได้ว่ามีเจตนาทุจริต ใช้อำนาจหน้าที่ให้ได้มาซึ่งสัญญา อย่างนั้นต้องติดคุก
 

แต่ในอีกด้านหนึ่งถ้าการทำสัญญานั้นเป็นการประมูลโดยเปิดเผย ไม่สามารถกำหนดเงื่อนไขได้เปรียบเสียเปรียบ เช่น การประมูลขายที่ดินของกรมบังคับคดี ใครก็แข่งขันได้ ก็ต้องไม่ถือว่าเป็นความผิดทั้งอาญาและต่อตำแหน่งหน้าที่
 

โอเค ถ้าเมียอธิบดีไปชูป้ายประมูลแข่งกับชาวบ้านด้วย เราอาจจะบอกว่าน่าเกลียด น่าเชื่อว่าทำให้ข้าราชการเกรงใจ ผู้ประมูลรายอื่นเกรงใจ แต่ถามว่าถ้าเมียผบ.ทบ.หรือเมีย ผบ.ตร.ไปประมูลมั่ง จะทำให้คนเกรงใจไหม มันจึงไม่ใช่ความเกี่ยวข้องโดยตรงกับตำแหน่งหน้าที่ ยังไม่ใช่ความผิดถึงขั้นไล่ออก ปลดออก ทางแก้ก็คือ เอามาแฉต่อสาธารณะ ตรวจสอบโดยสังคม สื่อเอาไปตีข่าวครึกโครม อธิบดีก็อยู่ไม่ได้ เพราะโลกะวัชชะ ไม่ลาออกก็ต้องขอย้ายตัวเอง
 

ไม่ใช่นิรโทษ
 

ถ้าย้อนกลับไปดูที่ อ.แก้วสรรพูด เราจะเห็นว่า “นวัตกรรม” ที่ อ.แก้วสรรอ้าง ขัดต่อหลักนิติธรรมโดยสิ้นเชิง เพราะเอาความผิดทางจริยธรรม ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ ความผิดทางอาญมา มาปนกันหมด
 

การยึดทรัพย์จากเดิมที่ยึดจากความผิดฐานทุจริตตามมาตรา 157 ต่อมาได้ขยายเป็นร่ำรวยผิดปกติ โดยไม่สามารถอธิบายได้ ก็ต้องถูกยึดทรัพย์
 

แต่นั่นยังพอทำเนา ถ้าเทียบกับล่าสุดที่ อ.แก้วสรรบอกว่า ต่อให้อธิบายได้ แต่ถ้าได้มาโดย “ไม่สมควร” ก็ต้องถูกยึดทรัพย์เช่นกัน
 

นี่เป็นไปตามมาตรา 4 กฎหมาย ปปช. คำว่า “ร่ำรวยผิดปกติ” หมายความว่า “การมีทรัพย์สินมากผิดปกติหรือการมีหนี้สินลดลงมากผิดปกติ หรือได้ทรัพย์สินมาโดยไม่สมควร สืบเนื่องมาจากการปฏิบัติตามหน้าที่หรือใช้อำนาจหน้าที่”
 

ประเด็นอยู่ที่การตีความมาตรนี้ จะตีความคำว่า "ไม่สมควร" อย่างไร และควรจะต้องพิสูจน์ว่ามีการทุจริต หรือประพฤติมิชอบต่อตำแหน่งหน้าที่หรือไม่ เพียงไร

 

คำพิพากษาของศาล แยกเป็นส่วนๆ ได้ 3 ส่วนคือ หนึ่ง หุ้นเป็นของทักษิณ การซื้อขายให้ลูกและน้องสาวไม่ได้เกิดขึ้นจริง สอง การแก้ไขสัญญาหรือแก้ไขกฎหมายต่างๆ 5 ประเด็นตามที่ คตส.ร้อง ทำให้ชินคอร์ปได้ประโยชน์โดยไม่สมควร สาม ขณะนั้นทักษิณเป็นนายกฯ มีอำนาจบังคับบัญชาทุกหน่วยงาน จึงถือว่าได้ประโยชน์โดยไม่สมควรจากการปฏิบัติหน้าที่ จบ จากนั้นก็ยึดทรัพย์ด้วยทฤษฎีวัวครึ่งตัว คือยึดส่วนที่เพิ่มตั้งแต่วันที่ดำรงตำแหน่ง ซึ่งก็หาคำอธิบายไม่ได้เช่นกันว่าทำไมจึงยึดแค่นั้น เพราะถ้าทักษิณไม่เล่นการเมือง มูลค่าหุ้นชินคอร์ปก็ต้องเพิ่มอยู่ดีตามภาวะเศรษฐกิจ


 
อะไรคือส่วนที่ขาดหายไป ส่วนสำคัญคือการพิสูจน์ว่าทักษิณใช้อำนาจหน้าที่ทำให้ชินคอร์ปได้ประโยชน์หรือไม่  ศาลข้ามการวินิจฉัยตรงนี้ไป ให้คนฟังสรุปเอาเองว่าเมื่อคุณเป็นนายกฯ ก็น่าเชื่อว่าต้องใช้อำนาจหน้าที่สั่งการอยู่แล้ว


แต่สิ่งที่เป็นปัญหาคือ ภายหลังคำพิพากษา มันก่อให้เกิดความยุ่งเหยิงคลุมเครือว่า สัญญาต่างๆ ที่ชินคอร์ปทำกับรัฐ เป็นโมฆะหรือไม่ เพราะศาลไม่ได้ชี้ว่ามีการทุจริตประพฤติมิชอบ ถ้าศาลชี้ว่าทักษิณสั่งการให้แก้ไขสัญญา มันไม่ใช่แค่ยึดทรัพย์ แต่ทักษิณต้องติดคุกตามมาตรา 157 และสัญญาเหล่านั้นต้องเป็นโมฆะ
 

นี่คือสิ่งที่ขาดหายไปในองค์ประกอบทางกฎหมาย ของคำพิพากษายึดทรัพย์ ซึ่งตีความกฎหมายเพียง “ไม่สมควร” ขณะเป็นนายกฯ ก็ยึดได้แล้ว โดยไม่เชื่อมโยงองค์ประกอบเรื่องการใช้อำนาจหน้าที่ให้ชัดเจนว่าใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบหรือไม่
 

ในส่วนของ 5 ประเด็นที่ศาลเห็นว่า “ไม่สมควร” ก็ยังมีข้อโต้แย้งและความเห็นต่างอยู่เยอะ ไม่ใช่ทุกคนเห็นด้วยว่าสมควร บางคนไม่เห็นด้วยหมด แต่บางคนก็อาจไม่เห็นด้วยบางประเด็น ถามว่าถ้าเราเห็นด้วยแค่ 1 หรือ 2 ใน 5 ประเด็นล่ะ ควรจะยึดทรัพย์อย่างไร จะยึดแบบนี้ไหม


 
เช่น การแก้ไขสัญญาลดค่าสัมปทานระหว่าง ทศท.กับชินคอร์ป ก็มีคนแย้งว่า ไม่ใช่ชินคอร์ปได้ประโยชน์ฝ่ายเดียว เพราะทำให้ค่าโทรศัพท์ถูกลง คนใช้บริการมากขึ้นหลายเท่า ประชาชนได้ประโยชน์ ทศท.ก็ได้ประโยชน์
 

การออก พรก.แปรค่าสัมปทานเป็นภาษีสรรพสามิต ทำให้ทั้ง AIS, ทรู, ดีแทค ส่งเงินเข้าคลังโดยตรง รัฐได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยโดยไม่ต้องผ่านคุณพ่อรัฐวิสาหกิจ ถามว่าใครได้ประโยชน์ แต่พวกเกลียดทักษิณกลับเอาไปพูดกันว่าทำให้รัฐเสียประโยชน์ พูดอีกก็ถูกอีก คือรัฐฝ่าย ทศท.กสท.ที่เสียโอกาสเอารายได้มาคิดคำนวณเงินเดือนโบนัส แต่รัฐโดยส่วนรวมคือกรมสรรพสามิต กระทรวงการคลัง รับทรัพย์ไปเต็มๆ
 

โทษที ผมก็พวกไม่ชอบทักษิณนะครับ ผมไม่ได้แย้งว่าทักษิณถูกทุกเรื่อง ทักษิณมีผลประโยชน์ทับซ้อน และชอบทำอะไรไต่เส้น จึงโดนเล่นเข้าบ้าง แล้วไอ้ความที่มีพฤติกรรม “ไม่สมควร” นี่แหละ เวลาคนทั่วไปฟังคำพิพากษา หรือคำกล่าวหาของ คตส.โดยเฉพาะคนกรุงคนชั้นกลาง จึงมักจะคล้อยตาม
 

เถียงยากเสียด้วย คนที่เชื่อ ทำไมถึงเถียงยาก ก็เพราะทักษิณไม่ได้บริสุทธิ์ผุดผ่อง ทักษิณซิกแซ็ก ทักษิณไม่โปร่งใส เพียงแต่ถ้าเรายึดมั่นในหลักนิตรัฐนิติธรรม มันยังไม่ใช่ความผิดถึงขั้นติดคุกหรือยึดทรัพย์ มันแค่ความผิดทางจริยธรรม ที่ไม่สามารถพิสูจน์ว่าเป็นความผิดทางอาญา

 


ผมจึงเปรียบเปรยว่าคำพิพากษาทั้งสองคดี ไม่ต่างจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจ เพราะพยายามชี้ให้เห็นว่านี่เป็นความผิดทางจริยธรรม แต่ไม่สามารถพิสูจน์ไปถึงการทุจริต หรือใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ กระนั้นศาลก็ตีความมาตรา 100 กับมาตรา 4 ว่าเพียงการกระทำที่ขัดต่อข้อห้าม หรือการกระทำที่ไม่สมควร ก็มีโทษถึงจำคุกและยึดทรัพย์


 
ผมเคารพความเห็นของตุลาการ ท่านมีอำนาจจะเห็นเช่นนั้นได้ แต่ผมก็มีสิทธิโต้แย้งว่า การตีความกฎหมายให้กว้างเช่นนี้มีปัญหา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมันเป็น “นวัตกรรม” ที่เพิ่งใช้กับทักษิณเป็นรายแรก และคงจะใช้กับคนอื่นไม่ได้อีก เพราะนักการเมืองรู้แกว หลีกเลี่ยงกันหมดแล้ว เอ้า ยกตัวอย่าง “ปู่จิ้น” บริษัทชิโนไทยของปู่จิ้นรับงานสร้างรถไฟฟ้าของกระทรวงคมนาคม ผิดไหม ไม่ผิด เพราะปู่จิ้นไม่ได้เป็นนายกฯ หุ้นก็โอนให้ลูกหมดแล้ว ทุกคนก็โอนหุ้นทั้งนั้นแหละ อยู่ที่จะไปสืบสาวว่าในความเป็นจริงเป็นอย่างไร ยังมีอำนาจสั่งการหรือไม่ ซึ่งคดีทักษิณก็ดูเหมือนจะเป็นคดีแรกอีกเช่นกัน ที่ศาลยกหลักฐานแวดล้อมมาหักล้างพยานเอกสาร สรุปว่าความเป็นจริงทักษิณยังถือหุ้นอยู่ การโอนหุ้นที่มีใบหุ้นกันเห็นๆ ไม่ได้เกิดขึ้นจริง
 

ซึ่งตรงนี้มันก็เป็นเรื่องยุ่งอีรุงตุงนังอีก ถ้าเอามาขยายผลว่ายิ่งลักษณ์เบิกความเท็จหรือไม่ เพราะเธอเบิกความไปตามเอกสารใบหุ้นที่ถือครองอยู่ แต่ศาลมีความเห็นไปอีกอย่าง ผิดด้วยหรือ
 

ในความเห็นผม คำพิพากษาทั้งสองคดี จึงไม่ควรแก้ไขด้วยการนิรโทษกรรม แต่ทำอย่างไรที่จะให้คำพิพากษามีผลเป็นศูนย์ แล้วกลับไปเริ่มต้นใหม่ สอบสวนใหม่ พิจารณาใหม่ (ซึ่งการนิรโทษกรรมจะทำให้ไม่สามารถพิจารณาคดีใหม่) เพื่อให้ทุกฝ่ายหายกังขา มีการทบทวนถกเถียงเรื่องการตีความกันอย่างกว้างขวาง รวมทั้งอาจต้องแก้ไขมาตรา 4 และมาตรา 100 กฎหมาย ปปช.เพื่อให้เกิดความชัดเจน เที่ยงตรงตามหลักนิติรัฐ นิติธรรม ไม่ใช่คำนึงถึงแต่ “นวัตกรรม” จนเอาคนเข้าคุกโดยไม่ต้องพิสูจน์ทุจริต
 

จะทำอย่างไรหวังว่านักกฎหมายและตุลาการที่อยากเห็น “กฎหมาย” อยู่เหนือ “กฎหมู่” จะช่วยกันขบคิดหาทางออก
 

เพราะนี่คือสิ่งที่ผมอยากเห็นอย่างที่สุด ผมไม่ได้อยากเห็นทักษิณพ้นผิด แต่ผมอยากเห็นการสถาปนาหลักนิติรัฐอย่างแท้จริง


 
ใบตองแห้ง

แก้ไขเมื่อ 17 มิ.ย. 54 01:25:45

แก้ไขเมื่อ 17 มิ.ย. 54 00:41:50

จากคุณ : LazBue
เขียนเมื่อ : 17 มิ.ย. 54 00:40:07 A:183.89.220.105 X:



ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com