 |
เมื่อ ชนบทไทย ไม่ได้หยุดนิ่ง และ เปลี่ยนไปแล้ว
|
 |
ช่วงนี้เห็นถกเถียงกันมาก เรื่อง การเลือกตั้งที่ผ่านมา โดยมีบางส่วนพาดพิงไปถึงสังคมต่างจังหวัด เปรียบเทียบกับ เมืองหลวง ..ผมบังเอิญไปเห็นรายงานข่าว ของ นักข่าว เดอะ นิวยอร์ค ไทม์ส ซึ่งรวบรวม และวิเคราะห์จากนักวิชาการ และ ปราชญ์ชาวบ้าน เห็นว่าน่าสนใจ เลยคัดบางตอนจากมติชน ออนไลน์ ย่อมาให้อ่านกัน เพื่อให้บางคนเปิดใจให้กว้างขึ้น และยอมรับว่า สังคมชนบท หรือต่างจังหวัดมันเปลี่ยนไปแล้วครับ ณ บ้านหนองตื่น จ.มหาสารคาม
"ชาร์ลส์ คายส์" นักวิชาการชาวสหรัฐฯ ซึ่งดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์เกียรติคุณสาขามานุษยวิทยา แห่งมหาวิทยาลัยวอชิงตัน ซึ่งเริ่มเดินทางเข้ามาศึกษาวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านที่บ้านหนองตื่นเมื่อเกือบ 5 ทศวรรษก่อน ได้อธิบายกระบวนการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในชนบทไทยว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงจาก "ชาวนาไปสู่ชาวบ้านผู้รู้โลกกว้าง"
"มีความรู้สึกภายในสังคมไทยว่า ถึงเวลาแล้วที่สัญญาประชาคมแบบเดิมจะต้องถูกปรับประสานต่อรองเสียใหม่.. ความคิดเรื่องประชาธิปไตยได้ค่อยๆ ไหลซึมเข้าสู่หมู่บ้านชาวนาในชนบทอย่างช้าๆ เดิมที ชาวบ้านเหล่านี้รู้สึกว่าตนเองไม่ค่อยมีส่วนร่วมกับการเลือกตั้งในระดับชาติ และไม่ค่อยมีโอกาสปฏิสัมพันธ์กับ ส.ส. ที่พวกเขาลงคะแนนให้สักเท่าใดนัก
แต่เมื่อล่วงเข้าสู่คริสต์ทศวรรษ 1990 กระบวนการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นได้เกิดขึ้น จนนำไปสู่ระบบการบริหารจัดการท้องถิ่นผ่านองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.)
เมื่อสัญญาประชาคมแบบเก่า ซึ่งอำนาจจากกรุงเทพฯ และสถาบันทางการเมืองที่ครองอำนาจได้พึ่งพาอาศัย "ความยินยอมอันเงียบงัน" จากสังคมชนบทตลอดมา พลันแตกสลายลง
ชาวบ้านในชนบทบอกว่าพวกเขาจะไม่ยอมรับระบบการเมืองแบบ "คุณพ่อรู้ดี" จากกทม. อีกต่อไป !
ความเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงต่อชีวิตของชาวบ้านในชนบท และฉันทามติทางการเมืองในระดับชาติที่แตกหัก มิได้เกิดขึ้นในประเทศไทยเพียงเท่านั้น แต่ยังเกิดกับอีกหลายประเทศในทวีปเอเชีย ซึ่งมีอัตราการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดโดยเฉพาะประเทศจีน.. คายส์ แสดงทัศนะ
ความแตกแยกในสังคมไทยมักถูกอธิบายว่าเป็นการปะทะกันระหว่าง "ชนบท" กับ"เมือง" หรือ "คนรวย" กับ "คนจน" แต่ "วิลเลียม เคลาสเนอร์" นักวิชาการชาวอเมริกันอีกคนหนึ่ง ซึ่งศึกษาเรื่องชนบทไทยมามากกว่า 50 ปี กลับเห็นว่า นั่นเป็นคำอธิบายที่สลับซับซ้อนน้อยจนเกินไป
เพราะตามความเห็นของเขา ความเปลี่ยนแปลงสำคัญที่สุดในชีวิตของผู้คนชนบทไทย ก็คือ การที่ชาวบ้านถูก "ปลดปล่อย" หลังจาก "ความสัมพันธ์แบบมีลำดับชั้นตามจารีต" ได้ถูกรื้อถอน, การที่พวกเขาได้ขยายขอบเขตความทะเยอทะยานของตนเอง และการที่พวกเขาหาญกล้าจะพูดถึงสิ่งที่อยู่ภายในใจของตนเองออกมามากยิ่งขึ้น ดังนั้น ในช่วงเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมา ชาวบ้านจากชนบทจำนวนมากจึงเดินทางเข้ามาชุมนุมประท้วงในกรุงเทพฯ
ตามสถิติของทางการ ประชากรมากกว่า 2 ใน 3 ของประเทศไทยมีแหล่งพำนักอยู่ในชนบท อย่างไรก็ตาม การอพยพย้ายถิ่นฐานไปมาในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา ได้ส่งผลให้ความแตกต่างระหว่างเมืองกับชนบทพร่าเลือนไป
"อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์" นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ชี้ว่า นี่คือความเปลี่ยนแปลงที่ชนชั้นนำไทยยังทำความเข้าใจไม่ได้
"สถาบันทางการเมืองแบบเก่าและรัฐไทยได้แช่แข็งสังคมเกษตรกรรมชนบทเอาไว้ในภาพแบบเดิมๆ" อรรถจักร์แสดงความเห็นในรายการโทรทัศน์รายการหนึ่งเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา และว่า "พวกเขาพยายามธำรงรักษาภาพของชาวบ้านชนบทที่ประพฤติตัวดีและมีนิสัยเชื่อฟังอ่อนน้อมให้คงอยู่ ทั้งที่ในความเป็นจริง สังคมชาวนาแบบนั้นมันไม่มีอยู่แล้ว"
"ถ้าผู้นำประเทศไม่เข้าใจความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ พวกเขาก็จะไม่สามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้" อาจารย์จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระบุ
อุดม ทัพสุริย์" ชาวนาและปราชญ์ชาวบ้านแห่งบ้านหนองตื่น ให้ข้อคิดว่า รูปแบบการปกครองส่วนท้องถิ่นส่งผลให้ชาวบ้านรู้สึกว่าพวกเขาสามารถกำหนดชะตากรรมทางการเมืองของตนเองได้ "เราจึงเริ่มมีความคาดหวังเพิ่มมากขึ้น" ลุงอุดมกล่าว
ความคาดหวังเหล่านั้นได้ถูกตอบสนองบ้างบางส่วน ภายหลังการได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งปี พ.ศ.2544 ของนายกรัฐมนตรีประชานิยมอย่าง "ทักษิณ ชินวัตร" ที่มีฐานอำนาจอยู่ในสังคมชนบท โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย
เศรษฐีพันล้านอย่างทักษิณ ซึ่งดูเหมือนจะไม่ใช่ผู้ต่อสู้เพื่อชนชั้นชาวนา ได้สร้างความนิยมให้แก่ตัวเองด้วยนโยบาย 30 บาท รักษาทุกโรค และนโยบายกองทุนหมู่บ้าน ซึ่งท้องถิ่นสามารถจัดการเงินงบประมาณดังกล่าวได้ด้วยตัวเอง
"เมื่อก่อน ชนชั้นนำจะเป็นฝ่ายตัดสินใจว่าใครควรจะได้ขึ้นครองอำนาจ แต่ตอนนี้ พวกเราได้กลายมาเป็นคนตัดสินใจในเรื่องดังกล่าวแล้ว"
ชาวบ้านมีความเป็นปัจเจกมากขึ้น ไม่มีใครทำงานให้ใครแบบฟรีๆ อีกแล้ว คนรุ่นใหม่มักจะไปเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย และทุกครอบครัวก็มีภาระหนี้สินเพิ่มมากขึ้น ปราชญ์ชาวบ้านแสดงทัศนะและว่า "ผู้คนต้องการจะซื้อหาในสิ่งที่พวกเขาไม่มีกำลังมากพอจะจับจ่าย" ปัจจุบัน บ้านหนองตื่นได้ถูกเชื่อมโยงเข้ากับพื้นที่อื่นๆ ในประเทศไทย ด้วยโทรทัศน์, วิทยุ ตลอดจนอินเตอร์เน็ต ชาวบ้านในหมู่บ้านได้เดินทางไปยังจังหวัดอื่นๆ เป็นกิจวัตร และทุกครอบครัวก็มีพาหนะประจำบ้านเป็นรถมอเตอร์ไซค์ หรือ รถกระบะ ..และทุกๆ ครอบครัวในชนบท จะต้องมีสมาชิกบางคนที่เดินทางเข้ามาทำงานในกทม. หรือต่างประเทศ"
ชาวบ้านที่บ้านหนองตื่น พร่ำบ่นถึงสปีดอันเชื่องช้าของอินเตอร์เน็ตประจำหมู่บ้าน มีจำนวนไม่น้อยพูดถึงช่วงเวลาที่ตนเองเดินทางไปทำงานที่ประเทศไต้หวัน สิงคโปร์ อิสราเอล ซาอุดิอาระเบีย คนเหล่านี้มีไมล์สะสมในการเดินทางด้วยเครื่องบินไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าบรรดาผู้ที่พำนักอาศัยอยู่ในคอนโดมิเนียมสุดทันสมัย ณ กรุงเทพมหานคร..
จากที่เคยเฉื่อยชาและปล่อยชีวิตไปตามพรหมลิขิต ชาวบ้านในบ้านหนองตื่นยุคปัจจุบัน มีการศึกษาที่ดีขึ้น ออกเดินทางมากขึ้น มีความเคารพนบนอบต่อผู้มีอำนาจลดน้อยลง และแน่นอนที่สุด พวกเขามีความต้องการทางการเมืองเพิ่มสูงขึ้น
ส่วนเด็กๆ ในหมู่บ้าน ที่มักใช้เวลาว่างจากการไปโรงเรียน ในการดูทีวีหรือจับกลุ่มกันในร้านอินเตอร์เน็ต ก็ไม่ได้ขึ้นขี่หลังฟวายกันอีกแล้ว
โธมัส ฟุลเลอร์ ผู้สื่อข่าวของ "เดอะ นิวยอร์ค ไทม์ส" ได้เขียนรายงานข่าวชื่อ "Rural Thais Find an Unaccustomed Power" (เมื่อคนชนบทไทยค้นพบอำนาจที่พวกเขาไม่เคยได้รับมาก่อน) ก่อนวันที่ 3 กรกฎาคม 2554
จากคุณ |
:
แมวน้ำสีคราม
|
เขียนเมื่อ |
:
5 ก.ค. 54 21:05:55
A:180.180.91.30 X:
|
|
|
|  |