คุณหล่อขวัญน่าจะทราบดีว่าผมไม่ใช่คนรักทักษิณ ผมไม่ได้มีความชื่นชมหรือชื่นชอบคุณยิ่งลักษณ์เป็นการพิเศษ และแน่นอนยิ่งกว่าแช่แป้ง ถ้าเอ่ยชื่อเจ๊แดง'เยาวภา' ผมยิ่งไม่ใคร่พิศมัยในบทบาททางการเมืองของเจ๊แกในอดีตพอๆ กับเจ๊น.เจ้าแม่กทม. การเขียนกระทู้นี้ของผม ผมขอหยิบความเป็นจริงทางสังคมและความเป็นจริงทางตัวบทกฎหมาย และความคิดเห็นที่เกี่ยวข้องของผู้ร่วมเขียนกฎหมายมานำเสนอแลกเปลี่ยนกับคุณหล่อขวัญ
ในกระทู้ของคุณหล่อขวัญ ดู ๆ ไป ก็น่าจะผิดนะครับ กรณียิ่งลักษณ์หาเสียงที่เชียงใหม่ แล้วเยาวภาสะเออะเข้าไปร่วมด้วย เนื้อหาส่วนใหญ่ผมอ่านแล้ว ผมก็มีความรู้สึกนึกคิดในทางส่วนตัวค่อนข้างจะคล้อยตามข้อความที่คุณหล่อเขียน แต่ผมต้องขอหยิบยกประโยคในวรรคแรกในกระทู้ของคุณหล่อขวัญ มาแบ่งออกเป็น 3 หัวข้อ เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนแสดงความคิดเห็นต่างเป็น 3 ประเด็นดังนี้
1. เยาวภาร่วมเดินหาเสียงกับยิ่งลักษณ์นี่สิ ภาพมันออกทีวี ประชาชนคนเลือกตั้งเห็น มันก็เป็นเรื่องจูงใจ
2. เยาวภาโดนตัดสิทธิ์ทางการเมือง มันผิดข้อห้ามของ กกต.
3. มันเป็นช่วงมีพระราชกฤษฎีกาหาเสียง ไม่เหมือนกรณีเนวิน เพราะนั่นมันเลือกตั้งจบแล้ว
ประเด็นที่ 1
เรื่อง "คุณเยาวภาร่วมเดินหาเสียงกับยิ่งลักษณ์นี่สิ ภาพมันออกทีวี ประชาชนคนเลือกตั้งเห็น มันก็เป็นเรื่องจูงใจ"
ถ้าให้ตั้งคำถามกับคนที่เป็นโรคทักษิณโฟเบียว่า คนในตระกูลชินวัตร ถ้าตัดชื่อทักษิณออกแล้ว ใครในพี่น้องตระกูลชินวัตรที่พะยี่ห้อยี้ทางการเมืองมากที่สุด คำตอบที่ออกมา 99.99% น่าจะมาหยุดลงที่ชื่อเจ๊แดง 'เยาวภา' และต่อให้เป็นคนเสื้อแดงเองก็ตาม ผมว่าคนเสื้อแดงที่เป็นคอการเมืองเกินกว่าครึ่ง ก็คงไม่ปลื้มชื่อเจ๊แดง 'เยาวภา' เช่นเดียวกัน
ดังนั้นการปรากฎกายของเจ๊แดงเคียงข้างน้องสาวอย่างคุณยิ่งลักษณ์ ผมว่านอกจากการปรากฎตัวดังกล่าวจะไม่ได้ช่วยจูงใจส่งเสริมสร้างภาพลักษณ์คุณยิ่งลักษณ์ไปในทางบวกแล้ว ภาพยี้ของเจ๊แดงน่าจะกลายมาเป็นตัวถ่วงฉุดเรตติ้งของน้องสาวที่กำลังพุ่งกระฉูดทำให้เกิดอาการสะดุด ทำให้ความใสปิ๊งของคุณยิ่งลักษณ์ต้องมีราศีหมองม่นเสียมากกว่า
ถ้าพูดกันด้วยอารมณ์ก็ยากที่จะตัดสินว่าการปรากฎตัวของเจ๊แดงจะช่วยจูงใจคนดูหรือช่วยทำให้คนดูหดหู่ใจ ผมจึงชวนคุณหล่อขวัญมาดูทรรศนะของ ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม ซึ่งเคยเป็น 1 ในกรรมาธิการที่พิจารณากฎหมายลูกทั้ง 3 ฉบับเกี่ยวกับการเลือกตั้ง (พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว.-พ.ร.บ.ว่าด้วยพรรคการเมือง-พ.ร.บ.ว่าด้วย กกต.)
ดร.เจษฎ์มองบทบาทของ 111 อดีต กก.บห.พรรคไทยรักไทยที่ถูกตัดสิทธิว่า สามารถช่วยผู้สมัครพรรคต่างๆ ปราศรัยหาเสียงได้ เพราะเป็นสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น แต่บุคคลเหล่านี้ไม่สามารถใช้อำนาจหรือทำหน้าที่เสมือนกรรมการบริหารของพรรคนั้นๆ ได้
“ในเรื่องของการช่วยหาเสียง ทำได้ เพราะเขาก็ถือเสมือนหนึ่งว่าเป็นคนที่รักชอบ มีความรู้สึกถูกใจในพรรคและมาช่วยงานพรรค อันนั้นเนี่ยทำได้ จะเป็นสมาชิกพรรค เขาก็เป็นได้ เพราะฉะนั้นตรงนี้ต้องถือเป็นเสรีภาพอย่างหนึ่งในการที่คุณจะมาช่วยให้ใครที่คุณรักคุณชอบในการหาเสียง แต่ในส่วนที่เป็นการไปกำหนดตัวผู้สมัคร ไปจัดโผ ไปเข้าร่วมประชุม ไปทำตัวเป็นที่ปรึกษา ไปทำอะไรก็ตามที่มันเป็นไปในลักษณะที่คุณทำหน้าที่เสมือนหนึ่งเป็นกรรมการหรือทำหน้าที่ในพรรคในฐานะที่ไม่ได้เป็นเพียงแค่คนที่อยู่ในพรรคคนหนึ่งหรือสมาชิกพรรคธรรมดาๆ คนหนึ่ง แต่ส่อไปในทางที่เป็นกรรมการอะไรพวกนี้ มันก็ต้องตีความว่าเป็นกรรมการ เพราะฉะนั้นอย่างนี้ทำไม่ได้ ถ้าเกิดทำต้องถือว่ามีความผิด เพราะเขาห้ามคุณเป็นกรรมการแล้ว ถ้าเกิดคุณไปเป็นกรรมการก็ถือว่าผิด”
ดร.เจษฎ์ เผยด้วยว่า ตอนพิจารณาร่างกฎหมายลูกเกี่ยวกับพรรคการเมือง มีผู้เสนอด้วยว่า ให้กำหนดไปเลยว่า “ห้ามนอมินี” - “ห้ามผู้ที่ถูกตัดสิทธิเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมืองไม่ว่ากรณีใด” แต่คณะกรรมาธิการฯ เห็นว่าน่าจะปฏิบัติเช่นเดียวกับประเทศอื่น คือให้เป็นเรื่องของ “มารยาท” ที่ผู้ถูกตัดสิทธิน่าจะทราบดีว่าควรทำอะไรแค่ไหน
“เรื่องนี้เรียนตรงๆ ว่ามีผู้เสนอเข้ามาว่าให้กำหนดไปเลยว่า ห้ามนอมินี ให้กำหนดไปเลยว่า ห้าม 111 คน หรือห้ามคนที่ถูกเพิกถอนสิทธิทางการเมืองไปพร้อมๆ กับการยุบพรรค เข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมืองใดใดทั้งสิ้นเลย มีคนเสนอเข้ามา แต่เราอภิปรายกันแล้วเรามองว่า เรื่องราวเหล่านี้มันเป็นเรื่องที่ประเทศอื่นๆ เขาเป็นเรื่องมารยาท ถ้าเราจะพัฒนา เราก็ควรจะให้มันเป็นเรื่องของมารยาท และมาดูกันไป ถ้าเกิดปล่อยไว้แล้ว คนเหล่านี้มันไร้มารยาท ก็อาจจะต้องไปออกเป็นกฎหมาย เนื่องจากว่าสูตรของประเทศไทยอาจจะใช้แบบประเทศอื่นไม่ได้ คนอื่นเขาอาจจะมีมารยาท คนไทยเราอาจจะไม่มี เราก็ต้องปรับเปลี่ยนตามนั้น แต่ก็ต้องขอให้ได้ลองให้สังคมพัฒนาขึ้นบ้าง”
ประเด็นที่ 2
เรื่อง 'เยาวภาโดนตัดสิทธิ์ทางการเมือง มันผิดข้อห้ามของ กกต.'
ถ้าพูดถึงเรื่อง "สิทธิทางการเมือง" ขอบเขตของคำๆ นี้มันกินความหมายไว้กว้างมากอย่างที่ดร.เจษฎ์ว่าไว้ข้างบน เมื่อมีการเสนอเพื่อที่จะกำหนดขอบเขตของผู้ถูกตัดสิทธิและมีการถกอภิปรายกันเสร็จแล้ว สิทธิทางการเมืองที่ครอบจักรวาลสำหรับคณะกรรมการบริหารพรรค 111 คน ของพรรคที่ถูกยุบและถูกเพิกถอนสิทธิ ก็ถูกกำหนดคัดสรรมาเป็นตัวบทกฎหมายดังที่เห็นข้างล่างนี้
มาตรา 97 ในกรณีที่พรรคการเมืองต้องยุบเพราะเหตุอันเนื่องมาจากการฝ่าฝืนมาตรา 42 วรรคสอง หรือมาตรา 82 หรือต้องยุบตามมาตรา 94 ผู้ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารของพรรคการเมืองที่ถูกยุบไป จะจดแจ้งการจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่ หรือ เป็นกรรมการบริหารพรรคการเมือง หรือมีส่วนร่วมในการจดแจ้งการจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่อีกไม่ได้ ทั้งนี้ ภายในกำหนดห้าปีนับแต่วันที่พรรคการเมืองนั้นต้องยุบไป
เมื่อถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง คณะกรรมการบริหารพรรค 111 คน ก็ไม่สามารถไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้ เมื่อไม่ได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งก็จะเสียสิทธิทางการเมือง 8 ประการ
1. เสียสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ส.ว. สมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น
2. เสียสิทธิสมัครรับเลือกเป็นกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน
3. เสียสิทธิร้องคัดค้านการเลือกตั้ง ส.ส. ส.ว. สมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น
4. เสียสิทธิร้องคัดค้านการเลือกกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ถ้าเห็นว่าการเลือกไม่สุจริต
5. เสียสิทธิเข้าชื่อร้องขอเพื่อให้รัฐสภาพิจารณากฎหมาย
6. เสียสิทธิเข้าชื่อร้องขอเพื่อให้ ส.ว. มีมติถอดถอนบุคคลในตำแหน่งสำคัญ ที่มีพฤติการณ์ส่อไปในทางทุจริต
7. เสียสิทธิเข้าชื่อขอให้สภาท้องถิ่น เช่น สภา อบต. สภาเทศบาล พิจารณาออกข้อบัญญัติท้องถิ่น
8. เสียสิทธิเข้าชื่อร้องขอให้ถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น
*การถูกศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งรุนแรงกว่า การถูกตัดสิทธิเลือกตั้ง (สิทธิเลือกตั้งจะถูกตัดจนถึงวันที่มีการเลือกตั้งใหม่ หากไปใช้สิทธิเลือกตั้งครั้งใหม่ สิทธิเลือกตั้งที่ถูกตัดไปก็จะหายไป แต่ถ้าถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง สิทธิเลือกตั้งจะถูกตัดตามระยะเวลาที่ศาลกำหนด)
กฏเหล็ก 5 ข้อของกกต. เป็นเพียงข้อหารือ ไม่ใช่ข้อห้าม คำสั่ง หรือกฎหมายตามคำให้สัมภาษณ์ของนายอภิชาต สุขัคคานนท์ ประธาน กกต.ที่ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวเมื่อวันที่ 16 พ.ย. 2550
ผู้สื่อข่าวถามว่า เมื่อ กกต.มีมติแล้วหากยังมีการดำเนินการอยู่จะสามารถเอาผิดได้หรือไม่
นายอภิชาตกล่าวว่า มติ กกต.เป็นเพียงการตอบข้อหารือเท่านั้น ถือเป็นเพียงการตอบความเห็นของการหารือ แต่ไม่ได้หมายความว่า กกต.จะมีอำนาจไปชี้ว่า ผิดหรือถูก เพราะตรงนี้เป็นอำนาจของศาลที่จะวินิจฉัย โดยทุกเรื่องที่มีมติถือเป็นเสียงส่วนใหญ่ กกต.ขอให้ผู้ที่หารือมารอดูคำวินิจฉัยที่จะตอบ ซึ่งจะตอบกลับไปภายในวันนี้ (16พฤศจิกายน 2550)
"ที่กกต.มีมติวันนี้เป็นเพียงความเห็นเท่านั้น หากใครเห็นว่ามีความผิดเกิดขึ้นก็ให้ไปร้องทุกข์ดำเนินคดี ส่วนที่มีข่าวว่า อดีตกรรมการบริหารพรรคที่ถูกตัดสิทธิเข้าไปร่วมจัดโผ ส.ส.สัดส่วนพรรคพลังประชาชนนั้น ขอให้เป็นปัญหาเกิดขึ้นก่อน โดยขอให้มีคนร้องเข้ามาก่อนจึงจะตอบได้" นายอภิชาตกล่าว
ดังนั้นข้อห้ามของกกต.เป็นเพียงข้อหารือหรือความเห็นที่กกต.ไม่มีอำนาจไปชี้ว่าผิดหรือถูก สิ่งที่คุณเยาวภาทำอาจจะไม่มีความผิดเลย เหมือนดั่งที่คนในบ้านเลขที่ 111 เช่น นายจาตุรนต์ หรือ นายอดิศร เคยเปิดเวทีปราศรัยท้ากกต.ไปนั่งฟังและเอาผิดในอดีต (ไม่มีการเอาผิด) ปัจจุบันนายจาตุรนต์และคนในบ้านเลขที่ 111 ก็ยังเปิดเวทีปราศรัยเพราะคิดว่าเป็นสิทธิทางการเมืองที่ตนเองทำได้
แล้วถ้าย้อนไปดูการหาเสียงเลือกตั้งที่ผ่านมา ผมขอหยิบยกประโยคข้อเขียนจากกระทู้คุณเด็กรู้ทัน P10810995 ที่เขียนว่า
และถ้าคิดว่าทำไมพรรคอื่นไม่โดน ก็ไปถามนายบรรหารที่บ่นน้อยใจออกสื่อว่า ตนเองอยากช่วยหาเสียง อยากขึ้นปราศรัยก็ทำไม่ได้ เหตุใดนายบรรหารถึงคิดอย่างนั้น เมื่อพวก 111 นายจาตุรนต์ หรือ นายอดิสร ยืนปราศรัยเวทีภาคอีสานไม่รู้กี่เวที ทำไมนายบรรหารถึงเชื่อว่าตนเองเดินออกหาเสียงไม่ได้ เมื่อแม้แต่ยิ่งลักษณ์ยังขึ้นรถหาเสียงพร้อมกับนายสมชายและนางเยาวภา
ผมอยากให้ทุกท่านเข้าไปดูเนื้อข่าวและภาพตาม link ข้างล่าง แล้วจะเห็นพฤติกรรมปากว่าตาขยิบของปลาไหลใส่สเก็ตตัวพ่อว่าเป็นเช่นใด และขอแถมชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน
ประเด็นที่ 3
เรื่อง 'มันเป็นช่วงมีพระราชกฤษฎีกาหาเสียง ไม่เหมือนกรณีเนวิน เพราะนั่นมันเลือกตั้งจบแล้ว'
คณะกรรมการบริหารพรรคที่ถูกยุบและถูกตัดสิทธิเลือกตั้ง นอกจากจะไม่มีสิทธิทางการเมือง 8 ข้อตามสิทธิเลือกตั้งที่ถูกเพิกถอนไปแล้ว ถ้าหากมีการกระทำในลักษณะที่ต้องห้ามตามมาตรา 97 ของพรบ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง บทลงโทษของมาตรา 97 มีกรอบระยะเวลาห้าปี จะอยู่ในช่วงเลือกตั้งหรือไม่อยู่ในช่วงเลือกตั้งก็ถือว่ามีความผิด
ถ้าว่ากันตามหลักความเป็นจริง ต่อให้คณะกรรมการบริหารพรรค 111 คนเดินทางไปจดทะเบียนตั้งพรรคด้วยตนเอง หรือใส่ชื่อตนเองเป็นคณะกรรมการ ในทางปฏิบัติจริง นายทะเบียนพรรคการเมืองก็ไม่อนุญาตให้จดทะเบียนตั้งพรรคหรือใส่ชื่อ 111 คนเป็นกรรมการพรรคอยู่ดี
ถ้าให้เทียบเคียงกรณีที่พวกบ้านเลขที่ 111-109 ทำตัวเหมือนคณะกรรมการบริหารพรรค เคสที่ใกล้เคียงที่สุดก็คือการหารือจับขั้ว รวมพรรค หรือหารือเพื่อร่วมจัดตั้งรัฐบาลของหัวเรือใหญ่พรรคต่างๆ ที่แสดงตนออกมาว่าเป็นแกนนำ อาทิ นายบรรหาร นายสุวัจน์ นายเนวิน นายอภิสิทธ์ กกต.ก็ยังมีมติยกคำร้อง ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะกฎหมายมันบัญญัติไว้อย่างไรก็ให้ว่ากันตามนั้น ถ้าพยายามจะยัดเยียดอะไรลงไปและตัดสินให้เป็นไปในแนวทางนั้น มันก็จะกลายเป็นการเขียนตัวบทกฎหมายมาตรานั้นขึ้นมาใหม่ เหมือนที่พวกเผด็จการชอบทำกัน
สุดท้ายผมหวังว่าคุณหล่อขวัญ(ตระกองขวัญ)น่าจะได้สาระข้อมูลเพิ่มเติมจากกระทู้นี้บ้างไม่มากก็น้อยนะครับ เรื่องนี้ที่กกต.ผมไม่ค่อยกังวลสักเท่าใด แต่ถ้าหลุดไปถึงท่านเปาก็ตัวใครตัวมัน