 |
เก็บเรื่องเล่า เอามาเขียน..............(ตอน สามเหลี่ยมเศรษฐกิจ , จำนำข้าว - ค่าแรง - ภาษีฯ ภาค 1)
|
 |
ตามที่สัญญาไว้เมื่อวาน ว่าถ้าไม่อู้จะมาเขียนเรื่องค่าแรงขั้นต่ำ ปรากฎว่าพอดูข้อมูลแล้ว ถ้าเขียนเรื่องเดียวมันจะไม่ครอบคลุม งั้นขอรวมเรื่องค่าแรง กับ นโยบายเศรษฐกิจอื่นๆ ไปด้วยทีเดียวเลยนะคะ
โดยหงส์รวมนโยบายทั้งหมดที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ เรียกว่า "สามเหลี่ยมเศรษฐกิจ" ค่ะ
ก่อนอื่นต้องบอกก่อนว่า นี่คือการหาข้อมูลมาวิเคราะห์นโยบายเท่านั้น ส่วนพรรคเพื่อไทยจะทำหรือไม่ทำ จะทำได้หรือไม่ได้ นั่นเป็นเรื่องของเพื่อไทย ไม่เกี่ยวกับหงส์ หรือ กองเชียร์พรรคอื่นที่ทวงเช้าทวงเย็นแต่อย่างใด (ฮา)
สมมุติว่าพรรคเพื่อไทยทำไม่ได้ แต่พรรคเพื่อหงส์ทำได้(ฮา)
มาเข้าเรื่องดีกว่า สามเหลี่ยมเศรษฐกิจ ของหงส์คืออะไร? คือ ประชาธิปัตย์ - พันธมิตร - หมอตุลย์...เฮ้ย ไม่ใช่ นั่นมันสามเหลี่ยมทำลายเศรษฐกิจ (ฮา)
สามเหลี่ยมเศรษฐกิจของหงส์คือ 1. ภาคการเกษตร 2. ภาคลูกจ้างและแรงงาน 3. ภาคผู้ประกอบการ
มีใครอยู่นอกสามเหลี่ยมที่หงส์บอกมาบ้างยกมือขึ้น ปรากฎว่าคุณแม่ยกมือค่ะ ... แม่อยู่ภาคตกงาน (ฮา)
ไอเดียเรื่องสามเหลี่ยมเศรษฐกิจนี้ไม่ได้มาจากพรรคเพื่อไทย แต่เมื่ออ่านนโยบายของพรรคเพื่อไทยแล้วหงส์ตีความได้เองแบบนั้น มาดูกันว่าเพราะอะไรพรรคเพื่อไทยจึงคิดว่านโยบายต่างๆ ที่ประกาศมา จะทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโต
1. ภาคการเกษตร พรรคมาดามปู มีนโยบายเด่นๆ ในภาคการเกษตรคือ - บัตรเครดิตเกษตรกร - จำนำข้าว 15,000 บาท ต่อเกวียนหรือต่อตัน
*หมายเหตุ ข้าวเปลือก 1 เกวียนมีน้ำหนักประมาณ 1 ตันค่ะ (ใช้คำว่าประมาณ เพราะเกวียนเป็นปริมาตร ส่วน ตันเป็นน้ำหนัก เมื่อแปลงหน่วยแล้วอาจไม่เท่ากันเสมอไปขึ้นอยู่กับพันธุ์ข้าว) ส่วนข้าวสารจะมีอัตราส่วนที่ต่างออกไป เพราะข้าวเปลือกเบากว่าข้าวสารค่ะ
มาดูเรื่องบัตรเครดิตกันก่อน บัตรเครดิตเกษตรกร เอาไว้ทำไม?
ตอบว่า เอาไว้ให้ชาวนา ชาวไร่ ชาวสวน ไปรูดซื้ออุปกรณ์การเกษตรเท่านั้น เรียกง่ายๆ คือ ให้เอาไปซื้อปุ๊ย ซื้อเมล็ดพันธุ์ ซื้อยาฆ่าแมลง พวกเนี้ย แต่เอาไปรูดซื้อ น้ำมันปาล์ม ผัดหมี่ ขนมครก หรือ โบอิ้ง737 ไม่ได้ (ฮา)
มีแฟนๆ ฝ่ายค้านสงสัยว่า แบบนี้จะทำให้ราคาปุ๋ย ราคาเมล็ดพันธุ์แพงขึ้นหรือเปล่า ตอบว่าอาจจะแพงขึ้นค่ะ แต่...ไม่มาก และ อยู่ในระดับที่เกษตรกรยอมรับได้
ราคาอาจจะแพงขึ้น เพราะร้านขายอุปกรณ์เกษตรอาจไม่ได้เข้าร่วมทุกร้าน ดังนั้นร้านที่เข้าร่วมโครงการอาจขอขึ้นราคานิดหน่อย เพื่อเป็นค่าดำเนินการ ในการรับชำระด้วยบัตรเครดิต
ราคาขึ้นแล้วทำไมเกษตรกรยอมรับได้? เพราะปกติเกษตรกรกว่า 70% ไม่มีแหล่งเงินทุนในการทำการเกษตรเลย ดังนั้นแหล่งเงินทุนแบบเดิมๆ ก็คือนายทุนเงินกู้ อาเฮีย อาเสี่ย อาเจ๊ประจำตำบลนั่นเอง ดอกเบี้ยอย่างถูกร้อยละ 5 ต่อเดือน อย่างแพงร้อยละ 30 ต่อเดือน !!
ทำไร่ ทำสวน ทำนา เก็บเกี่ยวต่อรอบ เกินเดือนทั้งนั้น อย่างน้อยๆ ต้องจ่ายดอกเบี้ย 2 เดือน ทำนายิ่งแย่ กว่าจะเก็บเกี่ยวได้ปาไปสามสี่เดือน แบกดอกเบี้ยกันหลังแอ่น แต่ก็แปลก ที่เกษตรกรมักจะหาเงินมาชำระหนี้จนครบทั้งต้นและดอกเบี้ย
ไม่เหมือนเศรษฐีขี่เบนซ์บอกว่า ไม่หนี ไม่มี ไม่จ่าย (ฮา)
แต่ช้าก่อน หากคุณโทรหาเราตอนนี้.....เฮ้ย ไม่ใช่ทีวีไดเร็ก (ฮา)
แต่หากเข้าร่วมโครงการบัตรเครดิตเกษตรกร ก็ไม่ต้องไปกู้นายทุนอีกต่อไป เวลาไปซื้อสินค้าเกษตรสามารถรูดบัตรได้เลย สมมุติว่าราคาสินค้าพวกนี้เพิ่มขึ้นซัก 10% ก็ไม่เดือดร้อน
เช่น สมมุติว่าน้องหงส์ปลูกบัวหิมะ 3 เดือนเก็บเกี่ยว 1 ครั้ง (ถ้าในหนังจีน 100 ปีเก็บเกี่ยวได้ครั้งเดียว กินแล้วเพิ่มวิทยายุทธ์)..(ฮา) เฉลี่ยแล้วต้นทุนวัตถุดิบเพิ่มขึ้น 3.33% ต่อเดือน เกษตรกรบอกว่า ยังชิลๆ เดิมจ่ายอาเฮียแพงกว่านี้เยอะ
แถมดอกเบี้ยให้ ธกส. อีกซัก 5% ต่อปียังสบายๆ (แต่เห็นว่าจะคิด 1% ต่อปีนะคะ)
บางคนขี้สงสัย ยังถามต่อว่า... ถ้าชั้นเป็นเกษตรฐานะดีไม่เคยกู้เงินใครล่ะ ของแพงขึ้นก็ซวยสิ?
ตอบว่า อย่าแกล้งโง่ค่ะ ^^ ก็บอกแล้วไงว่าไม่ใช่ทุกร้านที่ร่วมรับบัตรเครดิตเกษตรกร ร้านไหนไม่รับมันก็ไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่ม แล้วจะขึ้นราคาทำแมวน้ำอะไร คุณรวย คุณก็เอาเงินสดไปซื้อร้านที่มันขายราคาเดิมสิ
จะเห็นได้ว่าเกษตรกรที่เคยขาดเงินทุน หรือต้องแบกดอกเบี้ยแพงๆ ได้ประโยชน์ ส่วนเกษตรกรที่ร่ำรวยก็ไม่เสียประโยชน์
ร้านค้าเองอยากร่วมก็ร่วม ขึ้นราคานิดหน่อย แฟร์ๆ เข้าใจว่าต้องจ่ายค่าธรรมเนียมรับบัตรเครดิต ร้านที่ไม่อยากร่วมก็อย่าทะลึ่งขึ้นราคา เพราะไม่ต้องเพิ่มค่าใช้จ่าย ร้านค้าก็ไม่ได้เสียประโยชน์อะไร
กลุ่มเดียวที่เสียประโยชน์คือนายทุนเงินกู้นอกระบบ พวกนี้ภาษีก็ไม่เสีย ขูดรีดคนทำมาหากิน ไม่เห็นต้องไปใส่ใจ ปล่อยให้เฉาตายไปเลยก็ดีค่ะ (ฮา)
เอาล่ะ เกษตรกรมีแหล่งเงินทุนแล้ว ทีนี้ได้ผลผลิตมาเอาไปขายใคร ก็มาเข้านโยบายต่อไป คือ รับจำนำข้าว 15,000 บาทต่อตัน
ทำไมต้องเป็นข้าว? เพราะชาวนาเป็นเกษตรกรที่มีจำนวนมากที่สุดในประเทศไทยไงคะ หรือจะให้ไปช่วยผู้ปลูกบัวหิมะ ? (ฮา)
หากต้องการให้เกิดการกระจายรายได้ และมีการใช้จ่ายภายในประเทศเพิ่มขึ้น แนวทางที่ดีคือช่วยเหลือเกษตรกรที่มีเป็นจำนวนมากในประเทศเป็นลำดับแรก นั่นคือชาวนา
ก่อนเข้านโยบายจำนำข้าว ต้องไปพูดถึงนโยบายประกันราคาข้าวในปัจจุบันก่อน ถามว่านโยบายประกันฯ ในปัจจุบันดีมั้ย? ตอบว่าดีค่ะ ชาวนาได้ประโยชน์เยอะ โดยตัวเลขระบุว่ามีชาวนาได้ประโยชน์ถึง 4.9 ล้านราย
ได้ประโยชน์...แต่ไม่พอกิน!!
มาดูระบบการทำนาตอนนี้เป็นยังไง? ต้นทุนการปลูกข้าวปัจจุบัน 3 พันกว่าบาทต่อไร่ เฉลี่ยนา 2 ไร่ได้ข้าว 1 ตัน สรุปง่ายๆจะได้ไม่งง.. ทำนา 2 ไร่ต้นทุน 6 พันกว่าบาท ได้ข้าว 1 ตัน
โรงสีรับซื้อตันละ 6 พันกว่าบาทพอดีต้นทุนเป๊ะ ชาวนารีบขายเลย แล้วไปรับเงินชดเชยจากรัฐอีกตันละพันกว่าบาท อ้าวได้กำไรเห็นๆ ....แล้วมาบ่นอะไรยัยหงส์ ..ใจเย็นค่ะ ติดตามต่อไป..
ค่าชดเชยเพิ่มเติมที่ได้ชาวนาต้องเอาไปจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้อาเฮีย อาแป๊ะ ตามที่เล่าไว้ก่อนหน้านี้ เหลือจริงๆ หลักร้อยบาทต่อตันค่ะ ทำนา 10 ไร่ ได้ข้าว 5 ตัน กำไรสุทธิประมาณ 4 พันบาท
ทำนาแต่ละรอบใช้เวลาหลายเดือนนะคะ สมมุติว่าทำ 3 เดือนครั้ง (เยอะสุดแล้ว) 3 เดือนมีเงินใช้ 4 พันบาท พระเจ้าจอร์จ!!
ดังนั้นโครงการประกันฯ มีประโยชน์เพราะโครงการนี้ช่วยให้ไม่ขาดทุน แต่ไม่พอกินเพราะได้กำไรเท่าจิ๋มมด (ฮา)...ขอยืมมุขโน๊ต อุดมมาเล่นหน่อย สรุปง่ายๆ คือทำนาทั้งปีมีเหลือแต่เงินทุนไปคืนเจ้าหนี้ แต่ไม่พอกิน *-*
พวกที่ได้กำไรกลายเป็นพวกที่ไม่ทำนา เช่นมีที่นาอยู่เปล่าๆก็ไปแจ้งรับสิทธิ รับเงินส่วนต่างฟรีๆ สบายเลย ไม่ต้องลงทุน ไม่ต้องเหนื่อย
กับอีกพวกที่ได้กำไรคือพวกเกษตรกรเส้นใหญ่ พวกนี้รู้จักมักคุ้นกับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อ.บ.ต. ทำนาจริงแค่ 10 ไร่ แต่แจ้งว่าทำ 40 ไร่ โดยให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อบต. เซนต์รับรอง 10 ไร่แรกทำนาได้เท่าทุน ที่แจ้งเกินมาอีก 30 ไร่ รับเงินฟรีไปไร่ละพันกว่าบาท
คนเจ้าปัญหายังสงสัยอีกว่า... ถ้าเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติแล้วนาเสียหายล่ะ? อย่างน้อยยังได้เงินประกันไร่ละพันกว่าบาทนะ
เรื่องนี้ดีจริงต้องปรบมือให้ เป็นข้อดีของนโยบายนี้จริงๆ
แต่...พรรคเพื่อไทยไม่เคยบอกว่านาล่มแล้วจะไม่ช่วย คิดกันไปเองหรือเปล่าว่าถ้านาล่ม ไม่มีข้าว แล้วจะไม่มีรายได้ (เรื่องนี้มาต่อกันในเรื่องนโยบายจำนำข้าว)
ถ้ายังเห็นชอบกับนโยบายประกันฯ หงส์เสนอว่าชาวนาทุกท่านเอาเวลาไปทำอย่างอื่นดีกว่าค่ะ ไม่ต้องปลูกข้าวกันแล้ว อยู่เฉยๆ ก็ได้ส่วนต่างฟรีๆ มีกำไรเห็นๆ ยิ่งพวกเศรษฐี สปก. กินส่วนต่างฟรีกันอิ่มเลย (ฮา)
เมื่อเห็นแล้วว่านโยบายประกันฯ ชาวนาไม่ได้กำไร ยิ่งคนทำนายิ่งไม่ได้กำไร ก็มาดูนโยบายจำนำฯ กันมั่ง ...แต่คงต้องต่อพรุ่งนี้ค่ะ วันนี้กระทู้ยาวเกินไปแล้ว (ฮา)
พรุ่งนี้มาต่อเรื่องนโยบายจำนำข้าว ยังไม่แน่ใจว่าจะได้ไปเรื่องค่าแรงขั้นต่ำ(ภาคแรงงาน) หรือเปล่า เพราะเรื่องข้าวมีรายละเอียดเยอะค่ะ มีรายการแฉโรงสีด้วย และยังจะพาทุกท่านไปรู้จักผลผลิตจากการสีข้าวอีกนิดนึง
แต่หงส์จะเขียนไปเรื่อยๆ จนครบทั้งระะบสามเหลี่ยมเศรษฐกิจที่เริ่มไว้ค่ะ ดังนั้นเรื่องค่าแรงต้องมีเขียนแน่นอน ติดตามได้ในตอนต่อๆ ไปนะคะ โพสต์ทุกวันประมาณหลัง 3 ทุ่มครึ่งนิดหน่อย...ถ้าไม่อู้ (ฮา)
**..pantip จะเพิ่มกิฟท์ขั้นต่ำเป็น 300 กิฟท์มั่งมั้ยคะ กลัวไม่พอแจกค่ะ (ฮา)
จากคุณ |
:
หงส์หิมะ
|
เขียนเมื่อ |
:
17 ก.ค. 54 21:38:27
A:124.120.172.204 X:
|
|
|
|  |