 |
เก็บเรื่องเล่า เอามาเขียน..............(ตอน สามเหลี่ยมเศรษฐกิจ , จำนำข้าว - ค่าแรง - ภาษีฯ ภาค 2)
|
 |
วันนี้มาต่อจากเมื่อวานนะคะ ท่านใดยังไม่ได้อ่านเชิญได้ที่
http://www.pantip.com/cafe/rajdumnern/topic/P10823176/P10823176.html
มาเข้าเรื่องบัวหิมะกันต่อ...เฮ้ย ไม่ใช่ เล่นแต่มุขบัวหิมะ เดี๋ยวกลายเป็นจอมยุทธ์กันพอดี (ฮา)
วันนี้มาต่อกันเรื่องสามเหลี่ยมเศรษฐกิจภาคเกษตร ไม่เกี่ยวกับสี่เหลี่ยมพระวิหาร ที่ศาลโลกขีดให้ในแผนที่ (ฮา)
มาเข้าเรื่องข้าวกันต่อค่ะ เมื่อวานวิเคราะห์ไปว่านโยบายประกันฯ มีทั้งข้อดีและข้อเสีย
ข้อดีคือ 1. ถ้านาดีก็ไม่ขาดทุน 2. ถ้านาล่มก็ได้เงินชดเชย
แต่ข้อเสียใหญ่ของนโยบายประกันฯ คือ 1. ถ้าทำนาจริงก็ได้กำไรไม่พอกิน 2. รัฐเสียเงินฟรี เพราะพวกแอบอ้างรับสิทธิ
ทีนี้เราก็มาดูนโยบายจำนำกันบ้างดีกว่า
ทำไมต้องรับจำนำข้าว? บางคนตอบว่าก็มันเป็นข้าวไง ถึงต้องรับจำนำ ถ้ามันเป็นบ้านจะกลายเป็นรับจำนอง ...ตอบได้กำปั้นทุบดินสุดๆ (ฮา)
จริงๆ จะเรียกว่าจำนำก็ไม่เชิงซะทีเดียว เรียกว่าขายฝากก็นับว่าใกล้เคียงสำหรับนโยบายของพรรคเพื่อไทย คือจะมารับคืนก็ได้ หรือ จะขายไปเลยก็ได้
ถ้าไปเจอพ่อค้าใจดีรับซื้อราคาสูงกว่ารัฐบาล ก็ไปรับข้าวคืนมาขายพ่อค้า
ถ้าแถวบ้านมีแต่พ่อค้าหน้าเลือด ไม่ยอมขึ้นค่าจ้าง...คนละเรื่องแล้ว (ฮา) ถ้าพ่อค้ารับซื้อข้าวราคาต่ำ ชาวนาก็ปล่อยให้รัฐไปเลย โดยเข้าใจว่านโยบายนี้คงมีการกำหนดกรอบเวลาการรับคืน ว่าให้รับข้าวคืนได้ในกี่เดือนกี่ปี ก็ว่ากันไป
ทำไมต้อง 15,000 บาท แพงไปมั้ย ราคาข้าวจะแพงขึ้นหรือเปล่า? เรื่องนี้ต้องมองเป็นสองส่วนนะคะ 1. ราคาที่รับซื้อจากเกษตรกร 2. ราคาขายส่งจากพ่อค้าข้าว
ราคาที่เป็นตัวกำหนดว่าเราจะกินข้าวถูกหรือแพง คือราคาขายส่งจากพ่อค้าข้าวค่ะ ไม่ใช่ราคารับซื้อจากเกษตรกร เพราะคนขายข้าวแกง คนทั่วไป และคนน่ารักอย่างหงส์ซื้อข้าวจากพ่อค้า ..แหวะ..แกน่ารักตรงไหนยัยหงส์ << คิดแบบนี้กันใช่มั้ยล่ะ (ฮา)
อธิบายง่ายๆ คือ ถ้าชาวนาขายข้าวราคาถูก แล้วพ่อค้ามาขายต่อแพงๆ เราก็กินข้าวแพงอยู่ดี แบบนี้ชัดเจนดี
ดังนั้นถ้าเราอยากรู้ว่าจะกินข้าวถูกหรือแพง เราต้องไปดูราคาขายส่งจากพ่อค้าข้าวค่ะ ปรากฎว่า....ราคาล่าสุด (ไม่รวมน้ำหนักกระสอบ) - ข้าวหอมมะลิ 100% ราคาประมาณ ตันละ 3 หมื่น!! - ข้าวขาว 100% ราคาประมาณตันละ 1 หมื่น 5 พันบาท
เห็นแบบนี้หลายคนปรี๊ดเลย ...ทำไมขายแพงกว่าที่ซื้อจากชาวนาตั้งเยอะ
พ่อค้าข้าวรีบออกแถ..การณ์ เอ้ย ออกแถลงการณ์ทันทีว่า พวกลื้อจายเยงๆก่อง ....บลาๆๆๆ (ทำไมส่วนใหญ่เป็นคนจีน ไม่เคยเห็นพม่าเป็นพ่อค้าข้าวในเมืองไทย)..(ฮา)
พ่อค้าจะอธิบายว่าราคานี้คือราคาข้าวสารที่สีแล้วมันจึงแพง ส่วนราคาที่ชาวนาขายนั่นเป็นข้าวเปลือก ราคาจึงต่างกัน
เพื่อดูต้นทุนพ่อค้าข้าวให้ชัดเจน เราปลอมตัวไปเป็นเกษตรกรระดับไฮโซที่มีโรงสีเป็นของตัวเองกันดูซักวันค่ะ เป็นเกษตรกรไฮโซแบบหงส์มี ที่นา และ โรงสี
ที่นาปล่อยมันไว้เฉยๆ ไม่ต้องไปทำ รอรับเงินประกันฯ ฟรี (ฮา) ส่วนโรงสีเราเอาไว้รับข้าวจากชาวนามาสี
*ปกติแล้วชาวนาจะเอามาสีเฉยๆ แล้วเอาข้าวขาวกลับไป แต่นโยบายประกันฯ ทำให้ข้าวถูกกดราคา เมื่อสีข้าวเสร็จแล้วจึงมักขายข้าวให้โรงสีไปเลย
เช้าหน่อย ชาวนามาแล้ว เอาข้าวเปลือกใส่กระสอบมาวางหน้าโรงสี * ส่วนมากนิยมใส่กระสอบขนาด 35 กิโลกรัมมาสี โดยเขียนชื่อหน้ากระสอบไว้ เวลามารับจะได้ไม่งง
เพื่อให้ตัวเลขลงตัว เรารอให้คนเอาข้าวมาสีครบ 1 ตันก่อน
สมมุติว่าได้ข้าวเปลือกมาสีครบ 1 ตันแล้วตอนนี้ <<< เร็วมั้ยล่ะ(ฮา)
ก่อนสีข้าว ได้อะไร? โรงสีจะทำการตักข้าวเปลือกเก็บไว้ 5% เป็นค่าสีข้าว คิดง่ายๆ คือ 1 ตันได้ข้าวเปลือกฟรี 50 กิโล (บางแห่งก็เก็บเงินค่าสีข้าว บางที่งกๆ ก็เอาทั้งเงินทั้งข้าวเลย)
สีข้าวออกมาจะได้อะไรบ้าง? ข้าวเปลือก 1 ตัน หากใช้อุปกรณ์มาตรฐานในการสี จะได้ - ข้าวเต็มเมล็ด (บางที่เรียกข้าวต้น หรือ ต้นข้าว) ได้ 420 กิโลกรัม - ข้าวหัก (ปลายข้าว) ได้ 240 กิโลกรัม - แกลบ ได้ 230 กิโลกรัม - รำ ได้ 110 กิโลกรัม
ข้าวหัก, แกลบ และ รำ โรงสีจะเก็บไว้เป็นค่าสีข้าวด้วย !
สีเสร็จ โรงสีก็ต้องเอาผลผลิตไปขาย แต่เก็บรำไว้กินเอง ..เฮ้ย ไม่ใช่หมู (ฮา)
ข้าวหัก, แกลบ และ รำ ตามปริมาณที่ได้มาเอาไปขายได้เงินประมาณ 3,000 บาท ได้ข้าวเปลือกมาฟรีอีก 50 กิโล สะสมไว้สีเองขายเอง คิดออกมาได้เงินจากตรงนี้อีกประมาณ 500 บาท
ตอนนี้โรงสีทำรายได้ไปแล้ว 3,500 บาทจากข้าวเปลือก 1 ตัน ยังไม่ได้ขายข้าวสารเต็มเมล็ดเลย
ขั้นต่อไปเราก็รับซื้อข้าวขาวจากชาวบ้านที่เอาข้าวมาสีนั่นแหละ 420 กิโลกรัมซื้อได้มา 5 พันกว่าบาท ถ้าข้าวขาว 1 ตันซื้อมาประมาณ 1 หมื่นต้นๆ เอาไปขายได้ประมาณตันละ 1 หมื่น 5 พันบาท
ตัวเลขเยอะปวดหัว สรุปคือทั้งกระบวนการหงส์จ่ายเงินแค่ครั้งเดียว (ตอนซื้อข้าวขาว) ประมาณ 1 หมื่นบาทนิดๆ แต่ขายสินค้าได้ทั้งหมดเกือบ 2 หมื่นบาทต่อตัน กำไรราวๆ ตันละ 6 พันบาท
*ย้ำ... นี่แค่เริ่มจากข้าวเปลือกของชาวบ้าน 1 ตัน โรงสีส่วนมากสีข้าวได้มากกว่าวันละ 10 ตัน กำไรวันละ 6 หมื่นกว่าบาท !!! คิดแล้วอยากเปิดโรงสีขึ้นมาเลย (ฮา)
บางคนสงสัยว่าชาวนาไม่ขายข้าวสารให้โรงสี แล้วเอาไปขายเองได้มั้ย? ตอบว่าได้ค่ะ แต่...ถ้ารู้ว่าชาวบ้านจะไม่ขายข้าวขาวให้ โรงสีจะใช้วิธีเปลี่ยนอุปกรณ์การสีข้าว เช่นเปลี่ยนตะแกรง เปลี่ยนความแข็งของหินสี ทำให้ได้แกลบ รำข้าว และข้าวหักเพิ่มขึ้น แต่ชาวนาได้ข้าวขาวน้อยลงไปอีก
เหลือข้าวเท่าฉี่มดเอาไปขายได้ไม่กี่บาท ดังนั้นๆ ยอมๆ ขายให้โรงสีซะดีกว่า
จะเห็นได้ว่าถ้าโรงสียอมลดกำไรลงมาหน่อย จากกำไรตันละ 6 พัน มาเหลือกำไรแค่ซักตันละ 3 พัน อีก 3 พันเอาไปชดเชยราคาข้าวที่ซื้อจากเกษตรกร แค่นี้ราคาขายข้าวของชาวนาก็ใกล้เคียง 15,000 บาทแล้ว
แค่โรงสีและพ่อค้าข้าวยอมลดกำไรลง ไม่เอากำไรเกินควรเหมือนที่ผ่านมา ชาวบ้านก็กินข้าวราคาเดิม ชาวนาก็มีรายได้มากขึ้น อิ่มกันถ้วนหน้า^^
แต่...คิดเหรอว่าพ่อค้าพวกนี้จะยอม เกลือเรียกพี่อยู่แล้ว (ฮา) (** โรงสีดีๆ ก็มีนะคะ แต่ส่วนมากจะเป็นโรงสีชุมชน ส่วนพวกโรงสีอาชีพก็เป็นอย่างที่เล่ามา)
เมื่อพ่อค้าไม่ยอม แต่รัฐบาลคิดจะรับจำนำข้าวในราคาสูงทำอย่างไรดี? ก็ตั้งสต๊อกสร้างโรงสีเองมันซะเลย ค่าสร้างโรงละไม่กี่ตังค์ เพื่อความกินดีอยู่ดีของชาวนาไทย
เมื่อรัฐบาลสีข้าวเองก็ย่อมคิดกำไรนิดเดียวเป็นค่าดำเนินการ แล้วเอากำไรส่วนใหญ่(ตันละ 6 พันที่เราคิดไว้อ่ะค่ะ) แบ่งเป็น 2 ส่วน
ส่วนแรกไปเพิ่มราคาข้าวให้ชาวนา อีกส่วนเอาไปหักต้นทุนของตัวเอง เพื่อให้คิดรวมแล้วต้นทุนข้าวสารต่อกิโล ต่ำลง แล้วก็เอาข้าวที่คิดต้นทุนต่ำๆ นี้ มาขายให้เรากิน แปลง่ายๆ ว่า รัฐบาลซื้อเอง สีเอง ขายเอง
อ่านมาตั้งนาน บางคนยังงงว่า ตกลงเราต้องกินข้าวแพงขึ้นหรือเปล่า? ตอบแบบชัดๆ ว่าแพงขึ้นค่ะ ....แพงขึ้นกิโลละ 2 บาท
ทีมเศรษฐกิจของพรรคเพื่อไทยสรุปตัวเลขมาว่า หากรับจำนำที่ตันละ 1 หมื่น 5 พันบาท ราคาข้าวสารในประเทศจะแพงขึ้นกิโลกรัมละ 2 บาทเท่านั้น..โอ้ ซาร่า มันยอดมาก
ชาวนามีรายได้เพิ่มขึ้น 30% แต่เรากินข้าวแพงขึ้นกิโลละ 2 บาท แบบนี้รับได้มั้ย ...พี่มาร์คบอกว่ารับไม่ได้...เลือกตั้งคราวหน้าใครจะเลือกช้านนน (ฮา)
ถามต่อไปอีกว่าจะเอาข้าวที่รับจำนำไปไว้ไหน? ตอบว่า 1. เอาไปขายในตลาดโลกราคาแพงๆ 2. เอาไว้ขายในประเทศราคาถูกๆ 3. เอาไปแลกสินค้า ที่ปกติต้องเอางบประมาณประเทศไปซื้อ
ถ้าทำ 3 อย่างนี้แล้วมันยังเหลืออีก หงส์เสนอว่าแจกข้าวให้คนไทยไปเลยคนละ 1 กิโล ...เอาไว้แข่งกะนโยบายแจกตังค์ของพี่มาร์ค (ฮา)
ทำยังไงให้ขายข้าวในตลาดโลกให้ได้แพงๆ? เรื่องนี้ต้องดูก่อนว่าเรามีอำนาจต่อรองแค่ไหน
ปัจจุบันประเทศไทยส่งออกข้าวประมาณ 40% จากการส่งออกข้าวทั่วโลก ถ้าประเทศไทยไม่ขายข้าว จะมีคนเกือบครึ่งโลก ไม่มีข้าวกิน แบบนี้ง่ายค่ะ ใช้นโยบายทะยอยปรับราคาขาย
ตอนแรกขายไปก่อน ตันละ 15,000 บาท ล่อให้ประเทศอื่นขึ้นตาม ต่อไปก็ค่อยๆ ไล่ราคาขึ้นไปเรื่อยๆ ประเทศไหนที่รอข้าวลดราคาก็ไม่กล้ารออีก ยิ่งแพงต้องยิ่งรีบซื้อ วิธีนี้เคยใช้และประสบความสำเร็จในสมัยรัฐบาลทักษิณ
ประกอบกับการร่วมมือกันกำหนดราคาข้าว แค่ฮั้วกับ จีน - อินเดีย - เวียดนาม ได้แค่นี้ก็เกือบเต็มตลาดโลกแล้ว แต่อย่าทะลึ่งมีม๊อบมาหาว่าเค้าฮั้วอะไรกันอีกล่ะ เค้าเรียกว่าฮั้วเพื่อชาติ (ฮา)
เมื่อขายได้กำไรจากต่างประเทศมากขึ้น ก็เอากำไรมาอุดหนุนราคาขายข้าวสารในประเทศให้ราคาถูกๆ ประชาชนก็กินดีอยู่ดีมีข้าวกิน ข้าวอาจเพิ่มราคาขึ้นมาบ้างนิดหน่อย แต่รับได้เพราะจะได้ค่าแรงเพิ่มแล้ว (ฮา) เรื่องนี้ไว้ว่ากันต่อในภาคแรงงานค่ะ
เอ้า...ดูไปดูมาข้าวยังเหลือในสต๊อกทำไงดี? มาดามปู ก็ต้องไปถามหน่วยงานต่างๆ เช่นกองทัพ หรือกระทรวงต่างๆ ว่าอยากได้อะไรเป็นพิเศษมั้ย เดี๋ยวปูจะเอาข้าวไปแลกมาให้
ติดหนี้พันกว่าล้าน ไม่อยากจ่ายเงิน เอาข้าวไปแทนได้มั้ย แต่ขอโบอิ้งคืนมาก่อน (ฮา)
กระทรวงเกษตรฯ อยากได้ระบบชลประทานครบวงจรใช่มั้ย ไปถามรัฐบาลประเทศต่างๆ ว่าหาเอกชนมาทำให้ไทยได้หรือเปล่า สมมุติว่าประเทศเยอรมันบอกว่ามีคนทำได้.... ..เยอรมันอีกแล้ว จะมายึดอะไรอีกมั้ยเนี่ย (ฮา)
ขั้นตอนก็จะเป็นแบบนี้คือ รัฐบาลไทยส่งข้าวให้รัฐบาลเยอรมันแบบรัฐต่อรัฐเป็นค่าดำเนินการ (เพราะรัฐบาลเยอรมันอยากได้ข้าว) รัฐบาลเยอรมันจ่ายเงินให้กับบริษัทเอกชนของตนเองเป็นค่าจ้างให้ไปทำระบบให้ไทย ไทยได้ระบบชลประทานครบวงจร แฮปปี้กันถ้วนหน้า
ดูแล้ว...ถ้าข้าวยังเหลืออีก ไปถามกองทัพบ้าง พี่ยุทธ์ อยากได้อะไรมั้ยคะ? "อยากได้คนดี อยากได้ทหารคุมกองทัพ ต้องปกป้องสถาบัน บลาๆๆๆๆ" แผ่นเสียงตกร่อง ผ่านไปดีกว่าคนนี้ (ฮา)
กองทัพเรืออยากได้เรือดำน้ำ เดี๋ยวปูจัดให้ เอาข้าวไปหาแลกมา ถ้าเรือดำน้ำยังไม่พอเดี๋ยวแลกเรือดำดินให้ด้วย (ฮา)
ทำแบบนี้งบประมาณประเทศก็จะเหลือไปพัฒนาส่วนอื่นอีกมากมาย
แฟนๆ ฝ่ายค้านถามต่อว่า เราขายข้าวแพงๆ แล้วเราจะเสียแชมป์ขายข้าวหรือเปล่า? ตอบว่า เป็นไปได้ถ้าดูจากปริมาณการขาย
เอาง่ายๆ คือเราอาจขายข้าวได้ปริมาณลดลง แต่...ได้เงินมากขึ้นเพราะเราขายแพงขึ้น ตอนนี้ภาครัฐเราภูมิใจ ที่เราขายข้าวได้ปริมาณมากที่สุดในโลก แต่ชาวนาไทย ยากจน!
ต่อไปเราจะภูมิใจที่เราได้เงินจากการส่งออกข้าวมากที่สุดในโลก และชาวนาไทยกินดีอยู่ดี
2 อย่างนี้จะเลือกอะไร ??
บางทีเราอาจไม่ต้องเลือก เพราะถ้าฮั้วกับผู้ผลิตข้าวอื่นๆ สำเร็จ ราคาข้าวก็จะไม่หนีกันมาก สัดส่วนการขายก็จะใกล้เคียงเดิม เราก็คงเป็นแชมป์เหมือนเดิม ทั้งปริมาณการขาย และ รายได้จากการขายข้าว
พี่มาร์คแอบกระซิบถามมาว่า... เมื่อก่อนเคยรับจำนำแล้วมีทุจริตเยอะนะ มีเอาข้าวจากเวียดนามถูกๆ มาจำนำแพงๆ ด้วย? ตอบว่า นั่นเพราะเดิมไม่มีระบบฐานข้อมูลการผลิตข้าวที่แท้จริงในไทย
แต่แบบใหม่นี้ จะใช้ฐานข้อมูลจากนโยบายบัตรเครดิตเกษตรกร ทำให้เรารู้ว่าคนปลูกข้าวจริงมีเท่าไหร่ ที่นาจริงมีเท่าไหร่ แต่ละคนควรจะผลิตข้าวได้เท่าไหร่
สมมุติว่าน้องห้อยมีฐานข้อมูลในบัตรเครดิตเกษตรกรบอกว่ามีนา 10 ไร่ (ควรได้ข้าว ประมาณ 5 - 7 ตัน) แต่น้องห้อยดันเอาข้าวมาจำนำ 100 ตัน แบบนี้ก็รู้ทันทีว่า นังนี่เอาข้าวนอกมาสวมสิทธิ์
เมื่อมีข้อมูลทั้งหมด ใครจะเอาข้าวต่างชาติมาสวมสิทธิ์ก็ทำได้ยาก เมื่อก่อนไม่มีฐานข้อมูลแบบนี้ จึงทุจริตได้ง่ายเพราะข้าวสารร้องเพลงไม่ได้.. ..ถ้าเป็นแรงงานต่างด้าวให้ร้องเพลงชาติก็รู้แล้ว (ฮา)
อ้าว..เล่ามาตั้งนาน ยังไม่เห็นบอกเลยว่าถ้านาล่ม นาเสียหายจะทำยังไง? รัฐบาลก็ต้องกำหนดเงินชดเชยหากกรณีเกิดภัยพิบัติ หรือ ที่นาเสียหาย โดยกำหนดไปว่าชดเชยไร่ละกี่บาทก็ว่ากันไป แต่ต้องมีการตรวจสอบว่าได้ทำการปลูกข้าวจริง
วิธีง่ายๆ ก็คือใช้ฐานข้อมูลเดียวกับบัตรเครดิตเกษตรกรนั่นแหละอ้างอิง แบบนี้จะแอบอ้างแอ๊บแบ๊วมารับสิทธิฟรีทั้งที่ไม่ทำนาก็ยาก เพราะฐานข้อมูลมันฟ้องอยู่
คำถามสุดท้าย ทำแบบนี้โรงสีกับพ่อค้าข้าวไม่เจ๊งเหรอ? ตอบว่าไม่เจ๊งหรอกค่ะ ในเมื่อรัฐบาลมีนโยบายดันราคาข้าวในตลาดโลกให้สูงขึ้นเรื่อยๆอยู่แล้ว
แรกๆ กำไรอาจจะลดลงไปบ้าง แต่ในระยะยาวกำไรก็จะเริ่มกลับมาอยู่ดี ลองคิดดูว่าถ้าในอนาคต พ่อค้าส่งออกข้าวได้ตันละ 3 หมื่นบาท จะได้กำไรขนาดไหน คิดแล้วเราไปตั้งบริษัทขายข้าวกันดีกว่า (ฮา)
จะเห็นได้ว่านโยบายเรื่องข้าวของพรรคเพื่อไทย เป็นมุมมองแบบนักเศรษฐศาสตร์สมัยใหม่ คือมองเศรษฐกิจอย่างเป็นระบบ เอาตัวเลขทั้งหมดที่เกิดขึ้นมาคิดต้นทุนที่แท้จริง
แต่นักวิชาการเศรษฐศาสตร์บางท่านกลับมองเศรษฐกิจแบบนักคณิตศาสตร์ คือคิดแบบมิติเดียว ด้านเดียว คิดกำไรขาดทุนจากจุดเดียว ไม่มองทั้งระบบ
จากที่เขียนมา 2 วันจะเห็นได้ว่า นโยบายจำนำข้าวของพรรคเพื่อไทยรอบนี้ ดูแล้วมีแนวโน้มที่จะทำได้จริง อยู่ที่ว่าจะกล้าทำหรือเปล่า อย่างน้อยถ้าพรรคเพื่อหงส์เป็นรัฐบาลก็ทำได้แน่ๆ ล่ะ (ฮา)
พรุ่งนี้มาต่อภาคแรงงานค่ะ ค่าแรง 300 ทำได้มั้ย ทำอย่างไร อย่าลืมติดตามกันนะคะ โพสต์ทุกวันหลัง 3 ทุ่มครึ่งเล็กน้อยค่ะ (ถ้าไม่อู้ ^^)
** อยากให้มีนโยบายรับจำนำ Prize เป็นกิฟท์บ้างจัง กิฟท์ไม่พอค่ะ (ฮา)
แก้ไขเมื่อ 19 ก.ค. 54 01:10:34
แก้ไขเมื่อ 18 ก.ค. 54 21:45:23
แก้ไขเมื่อ 18 ก.ค. 54 21:40:44
แก้ไขเมื่อ 18 ก.ค. 54 21:35:56
จากคุณ |
:
หงส์หิมะ
|
เขียนเมื่อ |
:
18 ก.ค. 54 21:35:25
A:124.121.251.134 X:
|
|
|
|  |