 |
เก็บเรื่องเล่า เอามาเขียน..............(ตอน สามเหลี่ยมเศรษฐกิจ , จำนำข้าว - ค่าแรง - ภาษีฯ ภาค 3)
|
 |
ตอนที่ 3 แล้วจ้ากับเรื่องนี้ เขียนเป็นซีรี่ย์แข่งกับเพชรพระอุมาเลยดีมั้ย (ฮา)
วันนี้ได้ฤกษ์เขียนเรื่องที่อยากเขียนซะที คือเรื่องค่าแรงภาคแรงงาน เนื้อหามีตัวเลขดูเหมือนเยอะ แต่อ่านเข้าใจง่ายมากค่ะ ^^
ทบทวนกันก่อนว่าก่อนหน้านี้หงส์วิเคราะห์ว่านโยบายของเพื่อไทย มีลักษณะเป็นสามเหลี่ยมเศรษฐกิจ คือ 1. ภาคเกษตร 2. ภาคลูกจ้างและแรงงาน 3. ภาคผู้ประกอบการ
ภาคเกษตรจบไปแล้ววันนี้มาต่อกันเรื่องภาคแรงงานค่ะ * หากยังไม่ได้อ่านภาคเกษตร เชิญอ่านได้ที่ http://www.pantip.com/cafe/rajdumnern/topic/P10823176/P10823176.html และ http://www.pantip.com/cafe/rajdumnern/topic/P10827232/P10827232.html
ค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน เงินเดือนปริญญาตรี 15,000 บาท ทำได้มั้ย? คำถามที่ถกเถียงกันมากมาย วันนี้เราไปดูกันว่าเป็นยังไง
ทั้งเรื่องค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท และปริญญาตรี 15,000 บาท มีจุดมุ่งหมายเดียวกัน คือเพิ่มรายได้ให้กับภาคแรงงาน ให้มีเงินใช้มากขึ้น
ก่อนจะไปดูว่าค่าแรงวันละ 300 บาททำได้หรือไม่ เรามาดูกันก่อนว่าทำไมถึงต้องวันละ 300 บาท? นี่เป็นคำถามที่คนไม่ค่อยถามกัน
เรื่องนี้ต้องเปรียบเทียบระหว่างแนวคิด 2 ด้านค่ะ
แนวคิดแบบโบราณ เมื่อก่อนประเทศไทย ใช้วิธีคิดค่าแรงโดย นายทุนคิดก่อนว่าอยากขายเท่าไหร่ และอยากได้กำไรเท่าไหร่ แล้ว คิดว่าต้นทุนวัตถุดิบทั้งหมดเท่าไหร่ ส่วนที่เหลือค่อยเอาไปจ่ายเป็นค่าแรง
แปลง่ายๆ คือ เมื่อก่อนนายทุนได้กำไรพอใจแล้ว ค่อยเอาเงินที่เหลือมาจ่ายค่าแรง
แนวคิดแบบสมัยใหม่ ระบบคิดแบบใหม่ที่เป็นที่นิยมในนานาอารยประเทศ ย้ำว่า ในอารยประเทศ...ถ้าคิดว่าประเทศเราเป็นอารยะ ก็ควรดำเนินตามวิถีทางเดียวกัน ประเทศเหล่านี้จะใช้วิธีคิดค่าแรงขั้นต่ำจากค่าของความเป็นมนุษย์
ค่าของความเป็นมนุษย์คืออะไร?
ค่าของความเป็นมนุษย์คือ - ต้องมีเงินไว้ซื้ออาหารกินได้เท่าไหร่จึงจะครบถ้วน เพียงพอ ไม่อดอยาก
- ต้องมีเงินไว้บริโภค ได้สมควรแก่อัตภาพ คือ ต้องมีเงินไว้ซื้อเสื้อผ้าบ้าง ไว้ซื้อยาตอนป่วย ไว้เช่าบ้าน ไว้ซื้อผงซักฟอก ฯลฯ
- ต้องมีเงินไว้เลี้ยงดูบุตรที่ยังเล็ก และ บุพการีสูงอายุที่เลี้ยงดูตนเองไม่ได้ โดยประเทศอารยะทั้งหลายใช้สูตรว่าต้องทำงาน 1 คน เลี้ยงดูคนได้ 3 คน ก็คือทำงาน 1 คน กินเอง 1 กับเลี้ยงคนอื่นได้อีก 2
เขียนมาแค่นี้หลายๆ คนก็เครียดแล้ว ว่าวันละ 300 จะพอเหรอ (ฮา) ซึ่งจริงๆ แล้วมันก็ยังไม่พอ โดยตัวเลขที่พอตามที่ว่ามานี้ในปัจจุบันอยู่ที่วันละ 441 บาทค่ะ
แปลชัดๆ แบบฟันธง ว่าค่าแรงขั้นต่ำของไทยในปัจจุบัน ไม่พอสำหรับมนุษย์!!
ส่วนพวกที่ทำเป็นอ้างเศรษฐกิจพอเพียง กรุณาอย่ายกคำสอนมาอ้างงูๆ ปลาๆ ค่ะ พระองค์สอนให้พอเพียง แต่ว่าตอนนี้มันไม่พอ จะให้ทำยังไง? (เรื่องนี้ที่จริงก็เอามาใช้ผิดๆ กันเยอะ ไว้วันหลังจะมาเขียนเต็มๆ ซักที)
ดังนั้นเข้าใจว่านโยบายวันละ 300 บาท จึงเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น แล้วคงจะค่อยๆ ดันเศรษฐกิจให้โตขึ้น พร้อมกับปรับค่าแรงขึ้นไปเรื่อยๆ เพื่อปรับค่าแรงให้ไปสู่จุดที่เหมาะสมได้ในที่สุด
ตอนนี้รู้แล้วว่าทำไมต้องวันละ 300 บาท ต่อไปเราไปดูว่าทำได้มั้ย ดีไม่ดียังไงกันต่อ
บางท่านวิเคราะห์ว่าเป็นนโยบายกระเป๋าซ้าย-กระเป๋าขวา คือได้เงินเพิ่ม 50 บาทของราคาเพิ่ม 50 บาท สรุปซื้อของได้เท่าเดิม แต่จะเป็นอย่างนั้นจริงหรือเปล่ามาติดตามดูกัน
วันนี้หงส์จะพาพวกเราไปเปิดโรงงานเล็กๆ กันค่ะ สมมุติว่าเราเป็นเจ้าของโรงงานผลิตรองเท้ายี่ห้อ"แป๊ะยิ้ม" กรุณาอย่าอ่านผิดเป็น "แป๊ะลิ้ม" เพราะเกรงว่าโรงงานเราจะล้มละลาย (ฮา)
เดินดูโรงงานก็จะเห็นพนักงานแต่ละแผนกทำหน้าที่ของตัวเองไป แผนกเย็บก็เย็บไป แผนกทากาวติดพื้นก็ทำกันไป
นับไปนับมาเรามีพนักงานอยู่ 50 คน ผลิตรองเท้าได้ประมาณวันละ 800 คู่ (อ้างอิงจากปริมาณการผลิตจริงของรองเท้ายี่ห้อ Breaker ที่อ่อนนุช พนักงาน 500 คน ผลิตได้วันละ 8,000 คู่)
เฉลี่ยแล้วพนักงาน 1 คนผลิตรองเท้าได้ 16 คู่ต่อวัน ถ้าเดิมค่าแรง 200 บาท แล้วเพิ่มไปเป็น 300 บาท
คิดให้เห็นกันชัดๆ ค่าจ้างเพิ่ม 100 บาทต่อวัน พนักงาน 1 คนผลิตได้วันละ 16 คู่เท่าเดิม เท่ากับต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นแค่คู่ละ 6 บาทกว่าๆ!!
กลับไปนั่งอ่านนโยบายพรรคเพื่อไทยอีกที ไม่มีข้อไหนสั่งห้ามขึ้นราคานี่นา...ถ้าขึ้นราคานิดหน่อยแต่ไม่เวอร์คงไม่เป็นไร เราก็จัดการขึ้นราคารองเท้าเราไปเลยค่ะ
แต่ถ้าต้นทุนแพงขึ้นแล้วใครอยากลดราคา ก็เชิญตามสบาย (ฮา)
สมมุติว่าเดิมคู่ละ 90 บาท เราเปลี่ยนราคาเป็นคู่ละ 100 บาท ต้นทุนเพิ่มคู่ละ 6 บาท เราขายแพงขึ้น 10 บาท ได้กำไรเพิ่มขึ้นอีกคู่ละ 4 บาทซะงั้น (ฮา)
ถ้าทุกกิจการทำแบบนี้ ราคาสินค้าในตลาดจะเพิ่มขึ้นประมาณ 10%
ราคาสินค้าที่ขายในตลาดเพิ่มขึ้นแค่ 10% แต่คนงานได้ค่าแรงเพิ่มขึ้น 50% โรงงานเราขายของได้กำไรเพิ่มขึ้นอีกต่างหาก ยังไม่เห็นใครเสียหาย แล้วสภาอุตสาหกรรมเค้ากลัวอะไร??
ถ้าเราเอาสูตรนี้มาคำนวณค่าข้าวแกงที่หลายๆ คนกังวลกัน ข้าวแกงปัจจุบัน พิเศษ 35 <<< เผื่อธรรมดาไม่อิ่ม (ฮา) ขึ้นราคา 10% เป็น 39 บาท ให้ 40 เลยอ่ะ ขี้เกียจรับเงินทอน
เดิมค่าแรงวันละ 200 บาทกินข้าวได้ 5 จาน เหลือเงิน 25 บาท (จานละ 35 บาท) อัตราใหม่ค่าแรงวันละ 300 บาทกินข้าวได้ 7 จาน เหลือเงิน 20 บาท (จานละ 40 บาท)
ถามว่าข้าวแพงขึ้นจริงมั้ย ตอบว่าจริง ข้าวแพงขึ้น แต่กินได้เยอะขึ้น กลัวอะไรกัน??
ถามว่าสินค้าแพงขึ้นจริงมั้ย ก็จริงอีกนั่นแหละ แต่ทั้งๆ ที่สินค้าแพงขึ้น แต่ซื้อของได้มากขึ้น กลัวอะไรกัน??
ทำแบบนี้เสร็จผ่านไปซักระยะ ยอดขายรองเท้ากลับเพิ่มขึ้น อุ๊ย..ตกใจ ทำไมอยู่ดีๆ รองเท้าเราถึงขายดี (ทั้งที่ขายแพงขึ้น)
ปรากฏว่าขายดีขึ้นเพราะ... เดิมคนงานมีเงินวันละ 200 บาท ถ้าเอาเงินทั้งหมดมาซื้อรองเท้าเราจะซื้อได้ 2 คู่ แต่พอเพิ่มเงินให้เป็นวันละ 300 บาท สามารถซื้อรองเท้าเราได้ถึง 3 คู่ เรียกเป็นภาษาวิชาการว่าประชาชนมีกำลังการซื้อเพิ่มขึ้น สินค้าเราก็ขายดีขึ้น
เป็นเจ้านายที่ดีต้องใกล้ชิดลูกน้อง เดินเข้าไปคุยกับพนักงานซะหน่อยดีกว่า เห็นป้ายชื่อแว๊บๆ ชื่อ"น้าเทพ" ชายหนุ่มผิวเข้ม แค่เข้าใกล้ก็ได้กลิ่นสะตอ ลอยมาเชียว
"ยู้ฮู น้าเทพคะ ทำงานเป็นไงมั่ง เหนื่อยมั้ย?" ...เหนื่อยจ้า แต่มีกำลังใจเห็นว่าค่าแรงใกล้ขึ้นแล้ว...
"น้าทำงานที่นี่มานานหรือยังคะ?" ...ไม่นานจ้า เมื่อก่อนทำงานให้พรรคการเมืองเก่าแก่ แต่พาพรรคแพ้เลือกตั้ง เลยลาออกมาอยู่โรงงานนี้แหละจ้ะ...
"ดีใจมั้ยคะ ค่าแรงใกล้ขึ้นแล้ว?" ...ดีใจสิหนู เดิมได้แค่ 200 ไม่พอเลี้ยงผัว 3 คน...
'แบ่งมั่งดิ น้าเอาไปหมด หนูก็ไม่มีใครจีบอ่ะดิ' <<< แอบคิดค่ะ (ฮา)
"เฮ้ย...น้าเป็นผู้ชายทำไมมีสามีล่ะคะ?" ...น้าเป็นเกย์จ้ะหนู... <<< โรงงานเราไม่เหยียดเพศ ไม่เหยียดผิว ไม่เหยียดภาคค่ะ ^^
"แล้วถ้าได้ค่าแรง 300 บาทจะพอเลี้ยงสามีน้าเหรอคะ ตั้ง 3 คน?" ...ก็ดีกว่าเดิมมากล่ะหนู กินอิ่มขึ้นอีกเยอะ เวลาสั่งข้าวผัดกะเพรา จะได้ใส่ไข่ดาวซะที...
"อ้าว แล้วทุกวันนี้ทำไมไม่ใส่ไข่ล่ะคะ?" ...ก็เงินมันน้อย น้าสั่งข้าวกะเพราะใส่ไข่ 1 ขีด แม่ค้าเค้าไม่ยอมขายน่ะ...
"แล้วทำไมไม่ใส่ไข่ 1 ฟองล่ะน้า?" ...ก็รัฐบาลเค้าบอกให้ชั่งกิโลขายอ่ะหนู น้าดูข่าวมาเลยลองสั่งดู...
"ถ้าค่าแรงเพิ่มขึ้น อยากเอาไปทำอะไรคะ?" ...ไม่เอาไปทำอะไรหรอกหนู กินอิ่มขึ้นอีกนิด ที่เหลือเก็บออมไว้เพื่ออนาคตน่ะ เผื่อมีลูกมีเต้าจะได้ส่งเรียนออกซ์ฟอร์ด น้าอยากให้ลูกได้เรียนดีๆ..
"เง้อ..น้ามีลูกได้ด้วยเหรอ - -"?" ...เออ น้าลืมไปจ้ะ หนูมีอะไรอีกมั้ย น้าจะรีบทำงาน..
ดูทำเข้า กินเงินเรายังมาไล่ยิงเรา...เอ้ย ยังมาไล่เราอีก (ฮา)
*หมายเหตุ บทสนทนาที่ผ่านมาเป็นการพูดคุยระหว่างหงส์กับพนักงานเท่านั้น ไม่ได้มีเจตนาพาดพิงถึงบุคคลที่ 3 ใดๆ ทั้งสิ้น ^^
ผู้ใช้แรงงานเหล่านี้ ชีวิตเขาไม่ได้ต้องการอะไรมาก ขอแค่มีกินอย่างไม่อด มีความสุขบ้างเล็กๆ น้อยๆ ตามอัตภาพ พวกเขาก็มีความสุข และพร้อมจะตั้งอกตั้งใจทำงานให้เราอย่างเต็มความสามารถแล้ว
ได้คุยกับคนงานแล้วรู้สึกอิ่มใจที่ได้ขึ้นค่าแรงให้ กลับมาโต๊ะทำงาน ฝ่ายบัญชีเอาตัวเลขมาให้ดู
อ้าวทำไมได้ส่วนลดภาษีด้วย โรงงานเราเล็กจิ๊ดเดียว มีพนักงานแค่ 50 คนเอง
งั้นไปดูตัวเลขกำไรกัน ผลิตได้วันละ 800 คู่ เอากำไรแค่ 20% = กำไรคู่ละ 20 บาทก็พอ เป็นรองเท้าเอื้ออาทร (ฮา) (ส่วนต้นทุนค่าแรงและค่าวัตถุดิบรวมเป็น 80 บาท เพราะเราขาย 100 บาท)
ได้กำไรวันละ 16,000 บาท 1 เดือนได้กำไร 480,000 บาท 1 ปีมีกำไร 5,760,000 บาท (5 ล้าน 7 แสน 6 หมื่นบาท)
กำไรเกินปีละ 3 ล้านบาทอยู่ในกลุ่มจ่ายภาษี 30% แต่รัฐบาลใหม่ลดให้เหลือ 23% ลดไป 7%
ได้ส่วนลดภาษีทั้งหมด 403,200 บาท เอาเป็นง่ายๆ ว่าได้ลดภาษีมา 4 แสนกว่าบาท ทั้งๆ ที่บริษัทมีกำไรเพิ่มขึ้น <<< กำไรเพิ่มมาคู่ละ 4 บาท อย่าเพิ่งลืมค่ะ อิอิอิ แถมขายได้เพิ่มขึ้นอีก เพราะประชาชนมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น
ย้ำอีกครั้งกันลืม โรงงานเรามีพนักงานแค่ 50 คน เรียกว่าบริษัทขนาดใหญ่หรือเปล่า? ไหนว่ากิจการขนาดกลางและเล็กจะอยู่ไม่ได้ไงคะ?? ไหนว่ากิจการสิ่งทอและเครื่องหนังจะอยู่ไม่ได้ไงคะ??
แล้วเห็นโรงงานรองเท้านี่ มันผลิตอาหารหรือไง จะได้เอาใส่จานไปให้เสิร์ฟให้พวกที่คัดค้านซะหน่อย เอาไปเลยจานละ 1 คู่ (ฮา)
ปัญหาใหญ่ข้อนึงที่ใช้ในการมองนโยบายนี้ คือ หลายคนมองแค่ว่าค่าแรงแพงของก็แพง แต่ลืมนึกไปว่าพนักงาน 1 คน ผลิตของได้คนละกี่ชิ้นต่อวัน เหมือนตามตัวอย่างโรงงานรองเท้าของเรา พอเฉลี่ยต้นทุนที่เพิ่มขึ้นต่อชิ้นแล้ว ต้นทุนเราเพิ่มมาจิ๊ดเดียวเอง
เอาไปอีกตัวอย่างนึงจะได้เห็นภาพชัดๆ คราวนี้เรามาเปิดร้านน้ำปั่นบ้าง เดินไปเห็นป้ายเซ้งร้านพอดี ชื่อร้าน "ผู้ชายเทวดาเขียว" เมื่อก่อนเป็นร้านหนังสือ แต่ไปมีเรื่องจดหมายอะไรก็ไม่รู้ ทำให้คนจำนวนมากแอนตี้ จำเป็นต้องย้ายกิจการหนี เราก็จัดการไปเซ้งร้านนี้ต่อมา แล้วเอามาเปิดร้านน้ำปั่น
เซ้งมาเสร็จมีหงส์เป็นเจ้าของ กับ คนงาน 1 คน ค่าจ้างวันละ 200 บาท 1 วันขายได้ซัก 50 แก้ว แก้วละ 20 บาท (ถ้าขายได้น้อยกว่านี้ ทำคนเดียวก็ได้ จะมีลูกจ้างทำไม)
เพิ่มค่าแรงใหม่เป็นวันละ 300 บาท เท่ากับค่าแรงเพิ่มขึ้นวันละ 100 บาท เฉลี่ยแล้วต้นทุนน้ำปั่นขึ้นมาแก้วละ 2 บาท
ก็สูตรเดิมค่ะ ว่าที่รัฐบาลใหม่เค้าไม่ได้บอกว่าห้ามสินค้าขึ้นราคา แต่ขอให้ขึ้นราคาอย่างมีเหตุมีผล และ ไม่เวอร์
จากเดิม 20 เราขึ้นราคาเป็น 22 บาท แค่นี้ก็ไม่ขาดทุนแล้ว ค่าแรงทั้งประเทศขึ้นวันละ 100 บาท แต่ราคาน้ำปั่นสูงขึ้นแค่แก้วละ 2 บาท คิดว่าจะมีคนบ่นหรือ??
ให้ขึ้นเป็นแก้วละ 25 บาท ยังไม่บ่นเลยด้วยซ้ำ ^^ แต่ถ้าร้านไหนขึ้นพรวดพราดเป็น 30 บาท แบบนี้เกินไปหน่อย ก็โทรเรียกกรมการค้าภายในมาจัดการซะ
ปัญหาอยู่ที่การมองต้นทุนสินค้าค่ะ ถ้ามองแบบใจแคบ ก็เห็นแต่ว่าต้นทุนแพงขึ้น แต่ถ้ามองแบบใจกว้าง จะเห็นว่าต้นทุนสินค้าเพิ่มขึ้นชิ้นละหน่อยเดียวเอง
สินค้าที่ต้นทุนจะสูงขึ้นเยอะ คือสินค้าที่ใช้เวลาผลิตนานๆ หรือสินค้าที่ใช้คนงานผลิตหลายคน เช่น สมมุติว่าผลิตรถยนต์ได้เฉลี่ยวันละ 1 คัน ใช้พนักงาน 100 คน
แบบนี้ต้นทุนก็สูงขึ้น คันละ 10,000 บาท รถยนต์ต้นทุนสูงขึ้นคันละ 10,000 บาท มันจะเจ๊งเหรอคะ ? ปกติเห็นแถมเครื่องเสียงราคาหลายหมื่น ต้นทุนเพิ่มแค่หมื่นเดียวคงไม่เป็นไรมั้ง ถ้าไม่ไหวจริงๆ ให้ไปขอจากพี่มาร์คค่ะ พี่มาร์คเค้าชอบแจกตังค์ (ฮา)
นึกออกแค่สินค้าเดียวที่มีปัญหา เพราะ 100 ปี ได้ผลผลิตชิ้นเดียว นั่นคือ บัวหิมะ <<< ยังไม่เลิกเล่น (ฮา) ค่าจ้างคนรดน้ำ ใส่ปุ๋ย คงเพิ่มขึ้นเยอะเลย ^^
จากที่เขียนมาทั้งหมดจะเห็นว่า ค่าแรงวันละ 300 บาท ทำให้ต้นทุนสินค้าเพิ่มขึ้นนิดเดียวเอง เมื่อคิดเป็นรายชิ้น
บางคนบอกว่า ยัยหงส์โกงนี่ เล่นขึ้นราคาสินค้าด้วย อ้าว...ก็หงส์ไม่เห็นพรรคเพื่อไทยเคยบอกว่าห้ามขึ้นราคาสินค้า
ถ้าต้นทุนมันขึ้น จะขึ้นราคาสินค้าก็ไม่ผิด แต่ขอให้ขึ้นอย่างมีเหตุผล อย่าเวอร์ อย่าค้ากำไรเกินควร อย่าฉวยโอกาส และอย่าเอาเปรียบผู้บริโภค เท่านี้ก็แฮบปี้กันทุกฝ่าย
บางคนบอกว่านโยบายต่างๆ จะทำให้ข้าวแกงขึ้นราคาเป็นจานละ 50 - 60 บาท จริงมั้ยไปดูกัน
จากกระทู้ที่แล้ว เรารู้แล้วว่าราคาข้าวสารจะเพิ่มขึ้นแค่กิโลละ 2 บาท และจากกระทู้นี้ เรารู้แล้วว่าต้นทุนสินค้าจะเพิ่มขึ้นเฉลี่ยแค่ 10%
ข้าว 1 กิโล หุงได้อย่างน้อยๆ 10 จาน แสดงว่าต้นทุนเพิ่มขึ้นจานละ 20 สตางค์ รวมแล้วต้นทุนข้าวแกงเพิ่มขึ้นไม่เกิน 11% ขึ้นราคาแค่จานละ 5 บาท ยังได้กำไรเพิ่มเลย
ถ้าเดิมขาย 30 บาท ก็ขึ้นราคาเป็น 35 บาท ถ้าเดิมขาย 35 บาท ก็ขึ้นราคาเป็น 40 บาท แค่เนี้ย ผู้ใช้แรงงานก็กินได้สบาย เพราะได้ค่าแรงเพิ่ม คนขายข้าวแกงก็ได้กำไรมากขึ้นอีกหน่อย แบ่งๆ กันรวย
แต่ถ้าเห็นร้านไหนขายขึ้นราคาสูงกว่าเดิมแบบพรวดพราด แสดงว่าเป็นร้านค้านิสัยไม่ดี ให้แจ้งกรมการค้าภายในมาตรวจสอบเลยค่ะ พวกฉวยโอกาสต้องจัดการซะให้เข็ด
ที่สำคัญ ค่าแรงเค้าเพิ่มกันปีหน้าโน่น แปลว่าต้นทุนร้านค้าตอนนี้ยังเท่าเดิม ร้านไหนทะลึ่งขึ้นราคาตอนนี้ มันจะดูงกโจ่งแจ้งไปหน่อยมั้ยคะ (ฮา) จะขึ้นราคาก็ต้องไปขึ้นพร้อมๆ กับตอนปรับค่าแรงโน่นค่ะ อย่ามามั่ว
บางคนสงสัยว่า ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำแบบนี้คนที่ได้เกินวันละ 300 อยู่แล้วจะได้ปรับหรือเปล่า? เรื่องนี้คงต้องตอบว่าแล้วแต่เจ้าของกิจการค่ะ ถ้านายจ้างหน้าเลือด ก็อาจจะไม่ปรับ ไปบังคับก็ไม่ได้ (เพราะจ่ายตามค่าแรงขั้นต่ำแล้ว) แบบนี้หงส์แนะนำว่า..ค่อยๆ มองหางานใหม่ ที่นายจ้างนิสัยดีค่ะ (ฮา)
ถ้ากิจการที่ดี นายจ้างที่ดี ก็ต้องปรับทั้งระบบ เช่นปรับขึ้นวันละ 100 บาททุกคน เพราะจากตัวอย่างโรงงานรองเท้าที่เราคำนวณกันมา เราก็คิดว่าปรับขึ้นวันละ 100 ทุกคน แต่ทำให้ต้นทุนสินค้าเพิ่มขึ้นจิ๊ดเดียวเท่านั้นเอง
มีคนถามอีกว่า แบบนี้คนงานต่างชาติที่เข้ามาก็ได้ค่าแรงเยอะตามไปด้วยสิ? โห..ดูข่าวมั่งสิจ๊ะ เขาให้ค่าแรงวันละ 300 เฉพาะคนไทยจ้า มีเสียงตอบกลับมาว่าดูข่าวแล้ว แต่ดูจาก ASTV เห็นมีแต่ด่าคนโน้นคนนี้อ่ะ (ฮา)
บางคนบอกว่า ค่าแรงแพงเดี๋ยวก็หันไปใช้แรงงานต่างด้าวกันหมดหรอก แหม...ก็ออกนโยบายจำกัดจำนวนแรงงานต่างด้าว หรือ อะไรก็ว่าไป แค่นี้เองไม่เห็นจะยากเลย
เช่น ทุกกิจการห้ามมีแรงงานต่างชาติเกิน 20% ของพนักงานทั้งหมด ยกเว้นลูกจ้างตามที่อยู่อาศัย (ที่เรียกกันจนชินว่าแม่บ้าน หรือ คนรับใช้อ่ะค่ะ)
หรืออีกวิธีคือ คิดภาษีแรงงานต่างชาติแพงๆ แบบไม่มียกเว้นรายได้ขั้นต่ำ รับรองวิ่งกลับประเทศกันแทบไม่ทัน (ฮา)
ถามว่าบางกิจการอาจจะมีผลกระทบหรือเปล่า? ตอบว่า อาจจะมีค่ะ แน่นอนว่านโยบายแบบนี้ส่งผลกระทบทั้งประเทศ บางกิจการก็อาจได้รับผลกระทบจริงๆ แต่ต้องดูก่อนว่าทำแล้วดีหรือเสียกับคนส่วนใหญ่
ถ้าทำแล้วเป็นผลดีกับคนส่วนใหญ่ แล้วมีกิจการที่ลำบากซัก 10% เราก็ต้องทำไปตามนโยบาย แล้วไปหามาตรการช่วยเหลือกิจการที่เค้าลำบาก ไม่ใช่บอกว่าบริษัท 10% จะแย่ แต่แรงงานไม่พอกินช่างมัน
กระทู้ยาวเกินไปอีกแล้ว เขียนสั้นๆ ไม่เป็นหรือไงยัยหงส์ << ต้องมีคนคิดแบบนี้ชัวร์ (ฮา)
วันนี้เราได้ข้อสรุปว่า เพิ่มค่าแรงเป็นวันละ 300 บาททำให้สินค้าขึ้นราคาจริง แต่....ขึ้นราคานิดเดียว ทั้งๆ ที่ค่าแรงเพิ่มขึ้นตั้งเยอะ แรงงานกินดีอยู่ดี พ่อค้าแม่ค้ามีกำไรเพิ่มอีกต่างหาก
ดังนั้นนโยบายนี้ สามารถทำได้จริงค่ะ อยู่ที่ว่ากล้าทำหรือไม่ ส่วนจะค่อยๆ ปรับเป็นบางจังหวัด หรือ ตูมเดียวทั้งประเทศ ก็ตามสะดวก เรื่องนี้เป็นแค่วิธีการเท่านั้น
ถ้าสุดท้ายปลายทางคือค่าแรงเท่ากันทั่วประเทศ และ กินดีอยู่ดีทั้งประเทศ จะทำยังไงก็ไม่เกี่ยงค่ะ
แปลกใจนิดเดียวว่าสภาอุตสาหกรรมกลัวอะไร? หรือกลัวคนมีเงินเหลือเก็บมากขึ้นแล้วจะมาเปิดโรงงานแข่ง ที่แท้ก็ป๊อดนี่เอง (ฮา)
พรุ่งนี้เราจะมาต่อเรื่องเงินเดือนปริญญาตรี 15,000 บาท และภาษีเงินได้นิติบุคคล โพสต์หลัง 3 ทุ่มครึ่งนิดๆ เหมือนเดิม คอยติดตามกันได้นะคะ
แก้ไขเมื่อ 19 ก.ค. 54 22:42:57
จากคุณ |
:
หงส์หิมะ
|
เขียนเมื่อ |
:
19 ก.ค. 54 21:37:51
A:110.169.214.6 X:
|
|
|
|  |