 |
เก็บเรื่องเล่า เอามาเขียน..............(ตอน สามเหลี่ยมเศรษฐกิจ , จำนำข้าว - ค่าแรง - ภาษีฯ ภาค 4)
|
 |
ตอนที่ 4 แล้วจ้า สำหรับท่านที่ไม่เคยอ่านตอนก่อนหน้านี้ เชิญอ่านได้ตามลิงค์ค่ะ จะได้ไม่งง^^ ตอนที่ 1 >> http://www.pantip.com/cafe/rajdumnern/topic/P10823176/P10823176.html ตอนที่ 2 >> http://www.pantip.com/cafe/rajdumnern/topic/P10827232/P10827232.html ตอนที่ 3 >> http://www.pantip.com/cafe/rajdumnern/topic/P10831426/P10831426.html
ตามที่สัญญาไว้เมื่อวานนี้ วันนี้จะไปดูเรื่องเงินเดือนปริญญาตรีเริ่มต้นที่ 15,000 บาทกันค่ะ
ก่อนอื่นต้องไปดูก่อนว่าทำไมต้อง 15,000 บาท อย่างแรกคือ เพราะนโยบายใหม่เพิ่มค่าแรงขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท
ดังนั้นในเบื้องต้นต้องตั้งเป้าไว้ก่อนว่าปริญญาตรีจบใหม่ ควรมีรายได้ไม่น้อยกว่าวันละ 300 บาท ใช่มั้ย? นั่นหมายความว่าควรมีเงินเดือนไม่ต่ำกว่า 9,000 บาท ถ้าปริญญาตรีรายได้น้อยกว่านี้ อาจมีการคืนใบปริญญากันยกใหญ่ (ฮา)
บางคนเถียงว่า ปริญญาตรีทำงานไม่เต็มเดือน คิด 30 วันได้ไง ตอบว่า อ้าว...ก็ตอนคิด OT ยังเอาเงินเดือนเราไปหาร 30 วันอยู่เลย (เพราะมันจะทำให้นายจ้างจ่าย OT น้อยๆ ...บางทีมีหาร 31 ด้วย)
พอตอนนี้เวลาคิดค่าแรงเพิ่มก็ต้องคิด 30 วันเหมือนกันสิคะ แฟร์ๆ ^^
เป็นอันว่าตอนนี้ได้ข้อสรุปร่วมกันอย่างแรก คือปริญญาตรีจบใหม่ ควรมีเงินเดือนไม่น้อยกว่า 9,000 บาท
*ข้อสังเกต จากข้อสรุปแรก มีจุดที่คนจบปริญญาตรีเสียเปรียบอย่างแรงอยู่ คือ เฉลี่ยแล้ว ได้ค่าแรงแค่วันละ 300 บาท เท่ากับแรงงานทั่วไป แบบนี้คนที่กำลังเรียนอยู่ อาจลาออกมาทำงานกันหมด อาจารย์เหงากันพอดี (ฮา)
ดังนั้นตัวเลข 9,000 บาท จะทำให้คนไม่อยากเรียนเยอะ เรียนไปทำไม ในเมื่อได้ค่าแรงเท่ากัน ทำให้ในความเป็นจริงจึงต้องกำหนดเงินเดือนปริญญาตรีขั้นต่ำให้เกิน 9,000 บาท
แล้วกำหนดเท่าไหร่ดี? เราจะไปดูอัตราส่วนค่าจ้างปัจจุบันกันค่ะ
ตอนนี้ ค่าแรงขั้นต่ำเฉลี่ยประมาณวันละ 200 เดือนละ 6,000 บาท เงินเดือนปริญญาตรีปัจจุบันเฉลี่ยเดือนละ 10,000 บาท ** จริงๆ มัน 1 หมื่นกับอีกร้อยกว่าบาท แต่เอาเป็นเลขกลมๆ จะได้ดูง่ายค่ะ
เขียนแบบให้ดูง่ายๆ คือ แรงงานทั่วไปในปัจจุบัน จะมีรายได้ 3 ใน 5 ของปริญญาตรี
ใช้อัตราส่วนเดียวกันนี้ กับอัตราจ้างใหม่ ถ้าแรงงานทั่วไป ได้เดือนละ 9,000 บาท ดังนั้นปริญญาตรีควรเริ่มต้นที่ 15,000 บาท พอดีเป๊ะ
บางคนสงสัยว่าข้าราชการเดี๋ยวนี้เงินเดือนเริ่มต้น 8,700 บาทเอง ไม่ถึง 1 หมื่นซะหน่อย
ก็ต้องถามกลับไปว่า แล้วข้าราชการจบใหม่เงินเดือนพอกินมั้ยคะ?
อยากให้ข้าราชการทำงานดีๆ ไม่ทุจริต บริการประชาชนแบบถึงอกถึงใจ และไม่เอาเวลางานไปขายแอมเวย์ (ฮา) เราก็ต้องปรับเงินเดือนข้าราชการให้พอกิน พอเลี้ยงครอบครัวด้วย ดังนั้นถือโอกาสเพิ่มเงินเดือนให้ข้าราชการไปด้วยเลย ถือว่าเป็นการดีค่ะ
เขียนมาตั้งเยอะเพิ่งได้ข้อสรุปว่า หากพิจารณานโยบายเศรษฐกิจทั้งระบบแล้ว (ของเพื่อไทย) เงินเดือน เดือนละ 15,000 บาท มีที่มาที่ยอมรับได้ค่ะ ได้เงินเดือนเพิ่ม ยอมรับกันหน้าบานทุกคน (ฮา)
เมื่อรู้แล้วว่าเงินเดือนเริ่มต้น 15,000 มีที่มายังไง ทีนี้เราไปดูกันต่อ ว่าจะมีผลกระทบแค่ไหน อย่างไร และจะนำไปปฏิบัติได้อย่างไร
ภาคแรงงานไทยมีประมาณ 39 ล้านคน เป็นคนจบปริญญาตรีขึ้นไป ที่อยู่ในระบบแรงงานประมาณ 3.9 ล้านคน คิดง่ายๆ คือ ทั้งระบบแรงงานในเมืองไทย มีคนจบปริญญาตรีขึ้นไปประมาณ 10%
จากเงินเดือนปริญญาตรีที่เราคิดมา ว่าต้องเพิ่มจาก 10,000 เป็น 15,000 บาท แสดงว่าเงินเดือนเพิ่มขึ้น 50% หรือคิดง่ายๆ คือเพิ่มขึ้นครึ่งเท่าของเงินเดือนเดิม
เพื่อคิดให้ง่ายเข้า เราย่อขนาดการคิดมาเหลือแค่เท่าโรงงานรองเท้า "แป๊ะยิ้ม" อย่าเพิ่งลืมค่ะ โรงงานนี้เราตั้งกันเมื่อวาน (ฮา)
เรามีพนักงานทั้งหมด 50 คน น่าจะมีพนักงานจบ ป.ตรี ประมาณ 5 คน (10%) ** ใช้สัดส่วนเดียวกับเศรษฐกิจของประเทศไทย
สมมุติว่าเดิมโรงงานเราจ่ายเงินเดือน ป.ตรี เฉลี่ยเดือนละ 12,000 บาท (นี่โรงงานเราจ่ายสูงกว่าเงินเดือน ป.ตรีเฉลี่ยของไทยอีกนะเนี่ย) เพิ่มขึ้นครึ่งเท่า ต้องเพิ่มเป็นคนละ 18,000 บาทต่อเดือน เท่ากับเพิ่มขึ้นเฉลี่ยคนละ 6,000 บาท
*ที่จริง คนที่เกิน 15,000 อยู่แล้วไม่ต้องเพิ่มก็ได้ แต่หงส์ใจดี เพิ่มให้ทุกคนค่ะ สวยแล้วยังใจดีด้วย <<< แหวะ (ฮา)
เท่ากับว่าโรงงานเราจ่ายเงินเดือนเพิ่มขึ้นเดือนละ 30,000 บาทสำหรับ ป.ตรี (เพิ่มขึ้นเฉลี่ยคนละ 6 พัน >>> 5 คน = 30,000 บาท) 1 ปีจ่ายเงินเดือนเพิ่ม 360,000 บาท
บร๊ะแล่วๆ ...ต้องจ่ายเงินเดือนเพิ่มตั้งปีละเกือบสี่แสน ทำไงดี?
หันไปหันมา อ้อ....โล่งอก จากเมื่อวานนี้เราได้ส่วนลดภาษีมา 4 แสนกว่าบาทไงคะ จำได้มั้ยเอ่ย
เมื่อวานนี้จะเห็นได้ว่า หงส์ไม่ได้เอาส่วนลดภาษีไปชดเชยการจ่ายค่าแรงขั้นต่ำเลยแม้แต่บาทเดียว แต่เราใช้วิธีขึ้นราคาสินค้าแค่จิ๊ดเดียว (ไม่เกิน 10%)
ผลจากเมื่อวานส่งผลดีมาที่วันนี้ค่ะ คือเหลือส่วนลดภาษี เอามาเพิ่มเงินเดือน ป.ตรี แถมยังมีกำไรจากภาษีเหลืออีกหลายหมื่นบาท เอาไว้จัดงานเลี้ยงปีใหม่ให้พนักงาน <<< หาเรื่องกินฟรีเองค่ะ (ฮา)
โรงงานของเราใช้ข้อมูลอ้างอิงจากเศรษฐกิจระดับมหภาค ของประเทศไทย ดังนั้นจะเห็นได้ว่า ในระดับภาพรวม ทำได้สบายๆ
ทีนี้ก็ต้องมาดูระดับย่อยๆ เป็นรายๆ กิจการไป ว่าจะทำได้มั้ย ดูแล้วส่วนใหญ่ทำได้ไม่มีปัญหา
พวกที่มีพนักงานระดับปริญญาเยอะๆ พวกนี้เป็นกิจการขนาดใหญ่ มีกำไรมหาศาล ลดภาษีให้ 7%...ได้กำไรจากภาษีอีกต่างหาก ...อิ่มเลย (ฮา)
ส่วนกิจการขนาดกลางๆ พวกนี้ก็มีคนจบปริญญาไม่เยอะ อัตราการลดภาษีเท่าไหร่ที่ช่วยได้ก็ว่ากันไป กิจการไหนไม่ไหว ก็เข้าไปช่วยเป็นรายกลุ่มไป
ส่วนกิจการขนาดเล็ก ขายก๋วยเตี๋ยว ขายข้าวแกง พี่จะจ้าง ป.ตรี มาล้างจานเหรอคะ? (ฮา)
แน่นอนว่าไม่ใช่ว่าทุกกิจการจะไร้ปัญหา บางกิจการก็อาจจะมีปัญหาจริงๆ จากการเพิ่มเงินเดือน นั่นเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะเข้าไปดูแลเป็นรายกลุ่มไป ไม่ใช่คิดแต่ว่าทำยาก แล้วไม่ทำ
ทีเงินเดือนนักการเมือง ตอนขอขึ้นเห็นยกมือกันให้พรึบ ไม่เห็นมีใครค้านเลย แม้แต่พี่มาร์คกับลุงชวน!!
เงินเดือนเป็นแสน บอกว่าไม่พอ ...พอคนธรรมดาขอขึ้นมั่งคนละไม่กี่ตังค์ บอกให้อยู่อย่างพอเพียงซะงั้น (ฮา)
เรื่องเงินเดือนข้าราชการนั้น หงส์ไม่ห่วงเลย เพราะใช้เงินงบประมาณมาจ่าย จัดสรรดีๆ เชื่อว่าทำได้สบายมาก
ที่แน่ๆ คือ ถ้าเงินเดือนข้าราชการสูงขึ้น สุดท้ายบริษัทต่างๆ ก็ต้องปรับเงินเดือนให้สูงตามอยู่ดี ดังนั้นจะออกเป็นนโยบายหรือไม่ออก ปลายทางก็เหมือนกัน
บางคนบอกว่าให้เอางบประมาณไปสร้างปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจก่อน สร้างถนน สร้างสะพาน นู่น นี่ นั่น แล้วค่อยมาขึ้นค่าจ้าง เฮ้ย...เอาอะไรคิด?
ปัจจัยพื้นฐานของมนุษย์น่ะ ง่ายๆ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค ปัจจุบันปัจจัยพื้นฐานของชีวิตยังไม่พอเลย แต่ให้ไปสร้างปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ!!
แค่มีเงินซื้อปัจจัยพื้นฐานครบ ก็ดำรงชีวิตได้ไม่ลำบากแล้ว ดันผ่าบอกให้ไปสร้างถนนก่อน เอากะเค้าสิ (ฮา)
บางคนบอกว่ารัฐบาลลดภาษี แบบนี้รายได้เข้ารัฐก็น้อยลงสิ อ้าว...ตกลงรัฐบาลมีหน้าที่หากำไรจากประชาชนตั้งแต่เมื่อไหร่เนี่ย? ถ้ารายได้ภาครัฐมันจะลดไปบ้าง แต่ประชาชนกินดีอยู่ดีทั้งประเทศ ยอมไม่ได้เหรอ?
และอันที่จริงรายได้เข้ารัฐมันจะลดลงแค่ระยะสั้นๆ เท่านั้น เพราะในระยะยาวจะมีเงินหมุนเวียนในระบบมากขึ้น ก็เก็บภาษีได้มากขึ้น สุดท้ายระยะยาวจริงๆ แล้ว รายได้เข้ารัฐจะมากขึ้นด้วยซ้ำไป (เรื่องภาษีไว้มาต่อตอนหน้าในภาคผู้ประกอบการค่ะ)
ส่วนพวกสายงานเฉพาะทางทั้งหลาย ที่เดิมเงินเดือนสูงอยู่แล้ว ปรับคราวนี้ก็อาจจะได้ปรับเพิ่มบ้างเป็นค่าความสามารถเฉพาะทาง แต่อาจจะได้เพิ่มมาไม่เยอะมาก เหมือนกับสายงานทั่วไป (เพราะคราวนี้สายงานทั่วไปเพิ่มแรงมาก)
เช่นวิศวกร เดิมเริ่มต้นประมาณ 15,000 บาท * มากน้อยกว่านี้แล้วแต่สาขา และ กิจการที่ทำงาน
ก็อาจได้เพิ่มเป็นประมาณ 18,000 บาทไปก่อนในระยะปีสองปีแรก ซึ่งเพิ่มน้อยกว่าสายงานทั่วไป ...มีเสียงกระซิบมาว่า ได้เพิ่มก็ดีกว่าไม่ได้ (ฮา)
พอหลังจากนั้นเศรษฐกิจเริ่มขับเคลื่อนไป รายได้ของกิจการก็จะดีขึ้น ในระยะยาวเมื่อชาวไทยมีกำลังซื้อสินค้ามากขึ้น เศรษฐกิจก็ยิ่งดีขึ้น สุดท้ายค่าแรงก็จะปรับไปสู่จุดที่เหมาะสมสำหรับแต่ละสายงาน ด้วยตัวมันเองอีกครั้ง
แต่ที่ชัวร์ๆ คือ เงินเดือนปริญญาตรีเริ่มต้นจะไม่ลงมาต่ำกว่า 15,000 บาทอีกแล้ว โอ้....มันเยี่ยมมากเลยนะจอร์จ
ถามว่าเงินเดือนปริญญาตรี กับ ค่าแรงภาคแรงงานต่างกันเกินไปหรือเปล่า? มองแล้วเหมือนต่างกันเยอะ ต่างกันตั้งเดือนละ 6 พันบาทแน่ะ
แต่...ตรงกลางเป็นระดับเงินเดือนของ ปวช. ปวส. อนุปริญญา ไงคะ กลุ่มผู้จบอาชีวะเหล่านี้ ก็จะได้ค่าแรงขยับขึ้นด้วย เท่าไหร่ก็ว่ากันไป กินดีอยู่ดีทุกระดับการศึกษา ^^
ผ่านมาแล้ว 4 ตอน
ตอนนี้รู้แล้วว่าจำนำข้าว 15,000 บาท ทำได้จริง โดยข้าวสารแพงขึ้นแค่กิโลละ 2 บาท
ค่าแรง 300 บาทก็ทำได้จริง โดยทำให้ราคาสินค้าในระบบเพิ่มขึ้นเฉลี่ยแค่ 10% เท่านั้น แต่รายได้เพิ่มขึ้น 50%
เงินเดือน 15,000 บาท ก็ทำได้จริง โดยไม่กระทบราคาสินค้าเลย แต่ใช้นโยบายลดภาษีนิติบุคคลเข้ามาช่วย
ตอนหน้าคิดว่าคงเป็นตอนสุดท้ายในซีรี่ย์นี้ ...เอ้ยในเรื่องนี้ค่ะ เป็นภาคสุดท้ายในสามเหลี่ยมเศรษฐกิจ คือ ภาคผู้ประกอบการ จะว่ากันด้วยเรื่อง ภาษีฯ กิจการ และ รัฐบาลไทย
โดยเราจะมาดูกันว่าทำไมปีแรกต้องลดภาษีนิติบุคคล เหลือ 23% และมาดูกันว่าจริงๆ แล้ว ผู้ประกอบการกลุ่มไหนที่คัดค้านการขึ้นค่าแรง
แต่....หงส์จะไม่อยู่บ้านประมาณ 5 วันค่ะ ต้องไปติดต่องานนิดหน่อย
ดังนั้นตอนที่ 5 จะมาต่อสัปดาห์หน้านะคะ มาวันไหนจะเจอกระทู้ของหงส์หลัง 3 ทุ่มครึ่งนิดๆ เหมือนเดิมค่ะ วันนี้จบสั้นๆ งี้แหละ วันนี้น้องหงส์อู้ค่ะ <<< นี่สั้นแล้วเหรอยัยหงส์ (ฮา)
**หมายเหตุ วันนี้ลืมเล่นมุขบัวหิมะ (ฮา)
จากคุณ |
:
หงส์หิมะ
|
เขียนเมื่อ |
:
20 ก.ค. 54 21:36:06
A:124.122.118.2 X:
|
|
|
|  |