[รักคนเสื้อแดง] ปรากฎการณ์จาก "โทลเวย์" สู่ "รันเวย์" กรณีกระแสข่าวยึดเครื่องบินลำที่ 2
|
 |
อ้างอิงกระทู้ P10848308 ของคุณ webkit ที่ผมเห็นด้วย และหลายกระทู้ของคุณ พลายทมิฬ ที่สมควรอ่านประกอบ (ใช้ smart search พันทิป ช่วยค้นหา)
จากกระแสข่าวลือที่ทางเจ้าหน้าที่พิทักษ์ทรัพย์ของบริษัทวอลเตอร์บาวในเยอรมันจะทำการแจ้งอายัดเครื่องบินพระที่นั่งลำที่สอง "ทิพย์อาภา" บล.11 ข มวก.2/47 (Boeing 737-448 HS-HRH/99-999) ที่จอดปรากฎอยู่ที่สนามบินเยอรมันเคียงข้างเครื่องบินพระที่นั่งลำแรก "ฑีปังกรรัศมีโชติ" บล.11 ข มวก.1/38 (Boeing 737-4Z6 HS-CMV/11-111) ที่ถูกทางศาลมีคำสั่งให้อายัด
ทางฝั่งไทยทั้งทางนายอภิสิทธิ์และทางอัยการสูงสุดได้ออกมาแถลงปฏิเสธว่า ทางฝั่งเยอรมันไม่สามารถยึดเครื่องบินลำที่สองได้ โดยนายอภิสิทธิ์และอัยการสูงสุดได้ให้เหตุผลยืนกรานเหมือนกรณีการอายัดเครื่องบินพระที่นั่งลำแรกว่า กรรมสิทธิ์ความเป็นเจ้าของเครื่องบินพระที่นั่งหรือเครื่องบินพระราชพาหนะทั้ง 2 ลำ ไม่ใช่กรรมสิทธิ์ของรัฐบาลไทยหรือกรรมสิทธิ์ของกองทัพอากาศไทย
เมื่อเกิดกระแสข่าวลือดังกล่าวนี้ จึงทำให้สื่อเริ่มตั้งคำถามด้วยความเป็นห่วงว่า
ถ้ายังมีความพยายามที่จะอายัดเครื่องบินของรัฐบาลไทยอย่างนี้จะเกิดปัญหากับเครื่องบินของบริษัท การบินไทย จำกัด(มหาชน)ที่บินไปเยอรมนีด้วยหรือไม่?
นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า จากการที่ได้สอบถามไปนั้นเห็นว่าเครื่องบินของการบินไทยไม่น่าจะมีปัญหา เพราะเป็นบริษัท และอสส.ได้ดูเรื่องนี้ด้วย
เมื่อสื่อถามต่อว่า เยอรมันจะอ้างได้หรือไม่ว่าถือเป็นของรัฐบาลไทย เพราะรัฐบาลไทยถือหุ้นใหญ่อยู่ในบมจ.การบินไทย?
นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ต้องมาว่ากันที่เรื่องหุ้น แต่ตนคิดว่าไม่มีปัญหา และขอย้ำว่าคดีนี้ยังไม่เป็นที่สิ้นสุด
ที่มา (มติชน)
ถ้าดูตามท่าทีและแนวทางที่ทางไทยจะไม่ใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน และจะใช้เรื่องกรรมสิทธิ์ในความเป็นเจ้าของเครื่องบินพระที่นั่งต่อสู้คดีให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการอายัดเครื่องบินพระที่นั่ง ด้วยกรอบกระยะเวลาการต่อสู้คดีที่ไม่รู้ว่าทางการไทยจะต้องใช้ระยะเวลาอีกยาวนานเท่าใด ประกอบกับคำสั่งศาลที่ให้อายัดเครื่องบินและจะถอนอายัดถ้ามีการวางหลักทรัพย์ค้ำประกัน (20 ล้านยูโร) ไม่มีการเปลี่ยนแปลง
ด้วยความกังวลใจในฐานะพสกนิกรชาวไทย อนาคตการเสด็จต่างประเทศไปเยอรมันเพื่อดำเนินพระราชกรณียกิจส่วนพระองค์ของเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน กองทัพอากาศจะไม่สามารถถวายเครื่องบินพระที่นั่งที่มีชื่อกองทัพอากาศครอบครองดูแลได้เลย อาทิ เครื่องบินพระที่นั่งหลัก บล.11 ค (Boeing 737-8Z6 HS-TYS/55-555)
ดังนั้นแนวทางที่ทางการไทยดำเนินการอยู่ในขณะนี้ อาจจะนำมาซึ่งปัญหาที่ก่อให้เกิดอุปสรรคต่อการเดินทางเสด็จต่างประเทศไปเยอรมันในอนาคต และการณ์นี้อาจจะทำให้เกิดความระคายเคืองเบื้องยุคคลบาทได้ ถ้าทางรัฐบาลไทยมีความมั่นใจว่าจะสามารถเอาชนะคดีความโทลเวย์ได้ การวางเงินหรือสินทรัพย์ค้ำประกันเพื่อเพิกถอนคำสั่งการอายัดเครื่องบินพระที่นั่งน่าจะเป็นทางเลือกที่น่าจะนำมาพิจารณาใหม่
นอกจากการวางเงินหรือสินทรัพย์ค้ำประกันเพื่อให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งการอายัดเครื่องบินจะเป็นการกอบกู้พระเกียรติแล้ว การดำเนินการดังกล่าวจะยังสามารถสร้างภาพลักษณ์กอบกู้เครดิตของรัฐบาลและหน้าตาของประเทศไทย กระชับความสัมพันธ์ทั้งสองประเทศ และเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนชาวต่างชาติที่อาจนำเม็ดเงินลงทุนจำนวนมากมาลงทุนที่ประเทศไทยว่า ถ้าบริษัทต่างชาติดำเนินการลงทุนในประเทศไทยแล้วเกิดกรณีฟ้องร้องแบบนี้ ถ้าคดีความถึงที่สุด รัฐบาลไทยแพ้คดี รัฐบาลไทยก็พร้อมที่จ่ายเงินโดยไม่ขัดข้อง
ถ้าวาระรัฐบาลนี้สิ้นสุดลง โดยที่ไม่สามารถดำเนินการใดๆ เพื่อเอาเครื่องบินออกพระที่นั่งออกมาได้ ผมได้แต่หวังว่าว่าที่รัฐบาลใหม่คงจะแก้ปัญหาให้ถูกที่คันนะครับ
ปล. นอกเสียจากว่าภายใต้รัฐบาลโดยการนำของนายอภิสิทธิ์ ทีมกฎหมายของไทยที่ใช้ในการต่อสู้ทางคดีความสามารถทำให้ศาลสั่งเพิกถอนอายัดเครื่องบินพระที่นั่งได้ โดยไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน สำเร็จเสร็จสิ้นก่อนที่รัฐบาลชุดนี้จะปิดฉากอำลา ถ้าทำได้ก็ต้องแจกคำยกย่องให้เขาล่ะ
ประเด็นสุดท้ายถ้าผมเข้าใจไม่ผิด การถวายเครื่องบินพระที่นั่งของกองทัพอากาศน่าจะมีความหมายแบ่งออกเป็น 2 กรณี คือ
กรณีที่ 1 การถวายเครื่องบินพระที่นั่งที่มีความหมายในลักษณะการถวายกรรมสิทธิ์ในความเป็นเจ้าของให้เลย (ถวายสิ่งของ) ดังเช่น เครื่องบินพระที่นั่ง บล.11 ข มวก.1/38 และเครื่องบินพระที่นั่ง บล.11 ข มวก.2/48
กรณีที่ 2 การถวายเครื่องบินพระที่นั่งที่มีความหมายในลักษณะเป็นการถวายการรับใช้การเสด็จต่างประเทศเพื่อประกอบพระราชกรณียกิจ (ภารกิจของฝูงบิน 602 ฝูงบินรักษาพระองค์หรือฝูงบินพระที่นั่ง) โดยที่กรรมสิทธิ์ความเป็นเจ้าของยังคงเป็นของกองทัพอากาศหรือทางรัฐบาลไทย ดังเช่น เครื่องบินพระที่นั่งหลัก บล.11 ค
และการถวายการรับใช้ในการเสด็จต่างประเทศแม้เครื่องบินพระที่นั่งจะถูกโอนกรรมสิทธิ์ในความเป็นเจ้าของไปแล้วดังกรณีที่ 1 แต่ภารกิจถวายการรับใช้ก็ยังคงไว้
จากคุณ |
:
สิงห์สนามหลวง
|
เขียนเมื่อ |
:
26 ก.ค. 54 10:27:12
A:115.87.195.141 X:
|
|
|
|