ที่มา http://www.siamintelligence.com/helicopter-and-the-role-of-media/
เราแทบจะปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกวันนี้สื่อมวลชนมีบทบาทต่อการรับรู้ของสังคมค่อนข้างมาก อาจถือได้ว่าทรงอิทธิพลต่อความทัศนคติของผู้คนเลยก็ว่าได้ อย่างน้อยที่สังเกตง่ายๆ โดยขอยกตัวอย่างกรณีหมอมุกที่ถูกรถชน/กระโดดใส่รถ เป็นเหตุการณ์หนึ่งของการทะเลาะวิวาทเพราะเรื่องรถ ซึ่งจริงๆมีเรื่องประเภทนี้เกิดขึ้นนับไม่ถ้วนในแต่ละวัน
แต่เมื่อสื่อมวลชนได้ หยิบ เรื่องนี้ไปทำเป็นข่าว ทำให้กรณีข่าวหมอมุกกลายเป็นประเด็นของสังคมขึ้นมาทันที จากตัวอย่างนี้สะท้อนให้เห็นว่า สื่อมวลชนมีอิทธิพลมากเพียงใดต่อการรับรู้และการพูดคุยของสังคม อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ว่าทุกกรณีคล้ายหมอมุกจะได้เป็น ข่าว ฉะนั้นจึงเกิดเป็นคำถามว่า อำนาจในการตัดสินใจว่าอะไรควรเป็นข่าวและอะไรไม่ควรเป็นข่าว อยู่ในมือใคร ?
หากว่ากันตามทฤษฎีสื่อมวลชน อำนาจในการหยิบเรื่องต่างๆมาเป็นข่าวนั้นเป็นอำนาจของสาธารณะ เพื่อให้สื่อมวลชนได้รับสิทธิอำนาจ(authority) เข้าไปสืบค้น ขุดคุ้ยข้อมูลจากแหล่งข่าว และให้สื่อมวลชนนำข้อมูลต่างๆมานำเสนอโดยชอบธรรม
ฉะนั้น สื่อมวลชนที่ดีจึงต้องทำหน้าที่เสนอข้อมูลที่สาธารณะจำเป็นต้องรู้และต้องการรู้ กล่าวคือ ทำหน้าที่เป็นหูเป็นตาแทนประชาชนนั่นเอง แต่เมื่อลองมองสื่อมวลชนไทยทุกวันนี้ อาจเรียกได้ว่าแทบจะไม่มีสื่อมวลชนใดเลยที่มีพื้นที่ของการเปิดฟังความคิดเห็นของสาธารณะ นอกจากไทยพีบีเอสที่มีความพยายามที่ดีที่จะเปิดให้ประชาชนเข้ามามีบทบาทในการกำหนดทิศทางของการนำเสนอข้อมูลต่างๆ
ดังนั้น ปัญหาหนึ่งของสื่อมวลชนไทยคือขาดการสร้างพื้นที่รับฟังประชาชน ซึ่งปัญหานี้มักนำไปสู่การเผด็จการในการเลือก หยิบ และนำเสนอข่าวของสื่อมวลชน อย่างไรก็ตาม การอ้างว่าสื่อเป็นเผด็จการนั้นอาจเป็นสิ่งที่พูดได้ยาก จริงๆแล้วสื่อเองก็มีความจำเป็นที่จะต้องคิดแทนสาธารณะ เพราะสื่อเป็นปราการด่านแรกที่รับรู้ข้อมูลหรือข้อเท็จจริง
ฉะนั้นอำนาจการตัดสินใจว่าอะไรควรเป็นข่าวจึงมักตกอยู่ที่สื่อ อย่างไรก็ตามการอ้างความจำเป็นดังกล่าวก็ไม่ได้แปลว่าสื่อมวลชนจะมีสิทธิอย่างเสรีที่จะกำหนดขอบเขตการนำเสนอข่าว กล่าวอีกอย่างคือ แม้ว่าสื่อมวลชนมีภาระที่ต้องตัดสินใจแทนสาธารณะ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าสื่อมวลชนจะมีอำนาจเบ็ดเสร็จที่จะเลือกทำข่าวได้ตามอำเภอใจ ฉะนั้น การเปิดพื้นที่รับฟังประชาชนยังคงเป็นสิ่งจำเป็นอยู่ดีภายใต้หลักการของสื่อมวลชน
นอกเหนือจากอำนาจในการการเลือกหยิบมาเป็นข่าว อำนาจที่สื่อมวลชนสามารถนำไปใช้ได้น่ากลัวกว่านั้นคืออำนาจในการ นำเสนอ ข่าวของสื่อมวลชน จริงๆการนำเสนอของสื่อมวลชนไม่ได้แตกต่างอะไรกับการ เล่าเรื่อง ซึ่งแน่นอนว่าการ เล่าเรื่อง นั้นมีรูปแบบที่หลากหลาย และได้หลากหลายมุมมอง เช่นที่มีคนพูดว่า ถ้าตันซิ่วเล่าเรื่องสามก๊กผ่านโจโฉ เล่าปี่ก็คงร้ายมากแน่ๆ
เช่นกันกับการนำเสนอข้อมูลของสื่อ เราในฐานะสาธารณะ หรือคนบริโภค เราจะรู้ได้อย่างไรว่าคนที่นำเสนอข่าวให้เราดู/ฟัง/อ่าน ไม่ได้มีอคติแอบแฝง แต่อย่างไรเรื่องเส้นแบ่งระหว่างอคติกับความเป็นกลางอาจเป็นเรื่องที่พูดได้ยาก เพราะมาตรวัดตรงนี้ไม่สามารถระบุชัดเจนหรือตัดสินได้ ฉะนั้นในวงการสื่อมวลชน เส้นแบ่งตรงนี้จึงละไว้ให้เป็นเรื่องของวิจารญาณหรือจรรยาบรรณของสื่อแทน
อย่างไรก็ตาม แม้การพูดถึงเรื่องเส้นแบ่งของการวางตัวเป็นกลางจะเป็นสิ่งที่พูดได้ยาก แต่สิ่งหนึ่งที่สาธารณะไม่ควรลืม หรือไม่ควรวางใจคือ สื่อมวลชนเป็นกลไกสำคัญหนึ่งของโครงสร้างอำนาจของประเทศ สังเกตจาก ไม่ว่าเหตุการณ์ทางเมืองใดก็ตาม โดยเฉพาะการปฏิวัติหรือรัฐประหาร สื่อมวลชนมักจะถูกควบคุมก่อนใครเพื่อน เพราะสื่อเป็นช่องทางในการสื่อสารกับประชาชน การควบคุมสื่อจึงเปรียบเสมือนการควบคุมการรับรู้ของประชาชน
แต่อย่างไร เราต้องไม่ลืมว่าในภาวะ(ดูเหมือน)ปกติของบ้านเมือง สื่อมวลชนก็ยังคงเป็นกลไกสำคัญที่อำนาจทางการเมือง หรือแม้แต่อำนาจของทุนที่ต้องการควบคุมและครอบครองอยู่เสมอ เพราะสื่อยังคงเป็นเครื่องมือสำคัญเพื่อใช้สื่อสารหรือแม้แต่สร้างความเข้าใจบางอย่างให้แก่สาธารณะ ทั้งนี้ หากลองย้อนไปถึงที่มาของสื่อมวลชนไทย สื่อมวลชนไทยนั้นมีพัฒนามาจากกองทัพไทย สืบเนื่องไปตั้งแต่การมีวิทยุไปจนถึงการมีโทรทัศน์ แม้กระทั่งทุกวันนี้สถานีวิทยุและโทรทัศน์หลายๆช่องก็ยังคงเช่าจากกองทัพ ฉะนั้นแล้ว การมองสื่อมวลชนไทย จึงต้องไม่ลืมความสัมพันธ์ของสื่อไทยกับกองทัพ
สำหรับเหตุการณ์เฮลิคอปเตอร์ของกองทัพที่ตก 3 ลำ ที่กำลังเป็นประเด็นพูดถึงค่อนข้างมากในสังคม สิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนตั้งข้อสังเกตกับการนำเสนอของสื่อมวลชนไทยต่อเหตุการณ์ดังกล่าวนี้ คือ สารที่สื่อมวลชนกำลังนำเสนอเกี่ยวกับเหตุการณ์นี้มีลักษณะออกมาทางด้าน อารมณ์ มากกว่า สาเหตุหรือข้อเท็จจริง ของการตก
เพราะจริงๆสิ่งที่สื่อควรต้องแสดงบทบาทต่อเหตุการณ์นี้มากที่สุด คือการสืบค้น หรือขุดคุ้ยสาเหตุของเฮลิคอปเตอร์ตก และไม่ใช่แค่การนำเสนอข้อสันนิษฐานของทางกองทัพเท่านั้น สื่อมวลชนควรทำได้มากกว่านั้น กล่าวคือสื่อต้องตรวจสอบและเก็บข้อมูลต่างๆที่ได้รับจากแหล่งข่าวต่างๆ ที่ไม่ใช่เพียงแค่กองทัพ แล้วนำมาประมวลเพื่อให้สาธารณะเป็นคนชั่งน้ำหนักหรือพิจารณาเองว่าควรเชื่อหรือไม่
แต่จากการนำเสนอข่าวเหตุการณ์เกือบทุกสำนัก สื่อมวลชนทำได้เพียงแค่นำถ้อยสรุปของกองทัพมานำเสนอเท่านั้น ในขณะเดียวกัน แทนที่สื่อให้น้ำหนักการนำเสนอข่าวไปที่ประเด็นสาเหตุของการตก สื่อกลับ เลือก นำเสนอข้อมูลในเชิงของ ความสูญเสีย ค่อนข้างมาก ตั้งแต่การติดตามภารกิจนำศพกลับมา การไถ่ถามความรู้สึกของญาติผู้สูญเสีย(กับประโยคสิ้นคิดสุดยอดฮิต รู้สึกอย่างไรต่อการจากไปของ
?) หรือพิธีศพ ซึ่งผู้เขียนคิดว่าการนำเสนอข้อมูลด้านนี้ก็เป็นหน้าที่หนึ่งเช่นกันที่สื่อควรทำ แต่ไม่ใช่สิ่งหลัก
การสืบค้นหาสาเหตุของการสูญเสีย หรือข้อเท็จจริงของการตายน่าจะเป็นสิ่งที่สำคัญกว่า เพราะนั่นคือความยุติธรรมสำหรับการตายของคนคนหนึ่ง ในทางกลับกันกัน การเน้นการนำเสนอข้อมูลด้านใดด้านหนึ่งจนเกินไป อาจมีผลต่อการรับรู้และการต้องการรู้ของสาธารณะเช่นกัน กล่าวคือ เพราะสื่อมีอำนาจในการ เล่าเรื่อง แต่การเล่าเรื่องใดเรื่องหนึ่งจนเกินไป สะท้อนให้เห็นสื่อมวลชนว่าต้องการให้สาธารณะรู้เรื่องบางอย่างค่อนข้างมาก และไม่ต้องการให้สาธารณะรู้เรื่องบางอย่าง หรือเปล่า?
ซึ่งนั้นย่อมแสดงถึงความไม่เป็นกลาง หรือความไม่ตรงมาตรงมาของสื่อมวลชน และยิ่งไปกว่านั้น ปฏิเสธไม่ได้ว่าสื่อมวลชนกับกองทัพยังมีความสัมพันธ์บางอย่างอยู่ สำหรับเหตุการณ์นี้สื่อมวลชนยิ่งต้องแสดงบทบาทให้ได้ดีกว่านี้ อย่างน้อยที่สุดก็ต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าไม่มีอะไรในกอไผ่ ต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าข้อมูลต่างๆที่กองทัพให้มานั้นน่าเชื่อถือหรือไม่ เพราะหน้าที่ของสื่อมวลชนคือการปกป้องประชาชน ไม่ใช่ปกป้องบุคคลหรือคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง
อย่างไร การจะเห็นสื่อมวลชนดีขึ้นได้นั้น ภาพสะท้อนของสื่อก็จำเป็นไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน นั่นคือสาธารณะหรือประชาชนผู้บริโภคสื่อ จากคำกล่าวที่ได้กล่าวมาทั้งหมด อย่างน้อยเพื่อแสดงให้เห็นว่าสื่อมวลชนยังมีปัญหา เงื่อนไข และอุปสรรคของตัวเองพอสมควร ฉะนั้นแล้วประชาชนจึงควรมีวิจารณญาณในการรับสื่อเช่นกัน
เพราะอย่างไรคงปฏิเสธไม่ได้ว่า ในความเป็นจริงไม่ว่าสื่อใดในโลกก็ยังคงมีปัจจัยต่างๆทั้งที่มองเห็นและไม่มองเห็นครอบงำอยู่ การนำเสนอข้อมูลต่างๆของสื่อจึงอาจมีความเคลือบแคลงบางอย่างอยู่ได้เสมอ ประชาชนผู้บริโภคข่าวสารจึงไม่ควรรีบด่วนสรุปตามที่สื่อบอก หากแต่ควรใช้ ปัญญา ไตร่ตรองข้อมูลต่างๆที่ได้รับ เพราะท้ายที่สุดแล้วแม้ว่าสื่อจะได้รับสิทธิอำนาจในการหาข้อมูลและการนำเสนอ แต่คนที่เลือกจะเชื่อสิ่งที่สื่อนำเสนอมาหรือไม่นั้นอยู่ที่ ตัวเรา
อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการฟังตามๆ กันมา
อย่าปลงใจเชื่อ เพราะเห็นรูปการณ์ว่าน่าจะเป็นไปได้
๒ ใน ๑๐ ประการ กาลามสูตร ที่พระพุทธเจ้าทรงสอน
( ป.ล.. จขกท. ไม่ได้ดัดแปลงถ้อยคำ แต่ขอแบ่งแต่ละย่อหน้า ให้ย่อยลง เพื่อให้อ่านง่ายขึ้น สบายตา )