รู้แต่ที่แน่ๆ บริหารธุรกิจ ครอบครัว แบบก้าวกระโดด เมื่อได้มาปกครองประเทศ
สมแล้ว ที่ได้ชื่อ "แฟมิลี่ คาบิเน็ต" เหมือน ประธานาธิบดี สหรัฐ ยุค บุช ไม่ผิด
พ่อ จอร์จ บุช ทำสงคราม อิรัก
ลูก จอร์จ ดับบลิว บุช ทำสงคราม อัฟกานิสถาน
เขาเรียกว่า เชื้อไม่ทิ้งแถว
ผ่า 5 ปีเศรษฐกิจยุคทักษิณ รับผลพวงรัฐบาลเก่า
กรุงเทพธุรกิจ วันพฤหัสบดีที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2549
คณะนักวิจัยจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ประกอบด้วย อัมมาร สยามวาลา,สมชัย จิตสุชน,สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ,ชัยสิทธิ์ อนุชิตวรวงศ์ และจิราภรณ์ แผลงประพันธ์ ได้นำเสนองานวิจัยชื่อ "ประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจ ของนโยบายรัฐบาลทักษิณ" ณ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เมื่อวานนี้ โดยมีทั้งหมด 5 ด้าน "กรุงเทพธุรกิจ" จะทยอยตีพิมพ์ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป อย่างไรก็ตาม บทวิเคราะห์นี้เป็นผลงานส่วนบุคคลของคณะผู้เสนอ ไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของทีดีอาร์ไอ
บทวิเคราะห์นี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อตอบคำถามว่า การดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจของรัฐบาลไทยรักไทย ภายใต้การนำของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นั้นมีผลงานเป็นอย่างไร โดยจำกัดการวิเคราะห์เพียงด้านเศรษฐกิจเท่านั้น ไม่ประเมินแง่มุมทางสังคมและทางการเมือง โดยทั่วไปแล้ว ผลงานทางเศรษฐกิจของรัฐบาลใดรัฐบาลหนึ่ง หรือของนายกรัฐมนตรีคนใดคนหนึ่ง ไม่สามารถแยกได้อย่างชัดเจนเด็ดขาดจากผลกระทบจากสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจ หรือจากการขับเคลื่อนของกลไกอื่นในสังคมไทยและสังคมโลกได้ อย่างไรก็ตาม ในบทวิเคราะห์นี้จะพยายามแยกผลงาน ของรัฐบาลไทยรักไทย และของ พ.ต.ท.ทักษิณทั้งด้านบวก และด้านลบออกจากปัจจัยอื่นๆ เท่าที่ทำได้ ผลงานทางเศรษฐกิจที่เลือกวิเคราะห์แบ่งออกเป็นสามด้านใหญ่ๆ คือ ด้านความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ ด้านความโปร่งใสในการบริหารเศรษฐกิจ และด้านนโยบายประชานิยมรวมทั้งนโยบายสามสิบบาทรักษาทุกโรค
1.ผลงานด้านความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ : กรณีศึกษาการฟื้นตัวและการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และความเคลื่อนไหวของดัชนีหลักทรัพย์
ข้อสรุปผลการวิเคราะห์ :
1. การฟื้นตัวจากภาวะวิกฤติเศรษฐกิจของไทยนั้นขึ้นกับความรุนแรงของวิกฤติเศรษฐกิจ ประเทศส่วนใหญ่ฟื้นตัวก่อนไทย ยกเว้นเพียงอินโดนีเซียซึ่งประสบปัญหาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ในขณะที่รัฐบาลทักษิณได้ประโยชน์ จากความมีเสถียรภาพก่อนหน้าการเข้ามาบริหาร
2. ไม่มีหลักฐานบ่งชี้ว่า ในภาวะปกติ อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยภายใต้การบริหารของรัฐบาลทักษิณ สูงกว่าอัตราปกติของประเทศ หรือสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้านที่มีระดับพัฒนาการเศรษฐกิจใกล้เคียงกับไทย
3. มีหลักฐานสนับสนุนการใช้ทฤษฎี Dual Track Economy สำหรับประเทศไทยโดยเฉพาะในช่วงที่มีทรัพยากรส่วนเกินเหลืออยู่ แต่รัฐบาลทักษิณมิได้มีส่วนในการเพิ่มอุปสงค์ภายในมากนัก การเพิ่มขึ้นของการบริโภคมาจากปัจจัยอื่นมากกว่า เช่น อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ
4. ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ของไทยมีผลตอบแทนแท้จริงในระยะที่รัฐบาลทักษิณบริหารค่อนข้างสูง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะดัชนีตกต่ำไปลึกมากก่อนรัฐบาลทักษิณ อย่างไรก็ตาม พบว่าในระยะสองปีหลังของรัฐบาลทักษิณ อัตราผลตอบแทนของไทยติดลบและมีผลงานต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน ผลรวมคือแม้รัฐบาลทักษิณจะบริหารมา 5 ปีเต็ม อัตราผลตอบแทนตลาดหลักทรัพย์ไทย ก็ยังไม่สามารถลบล้างความเสียหายที่เกิดขึ้นจากวิกฤติเศรษฐกิจได้
รัฐบาลทักษิณได้รับเครดิตค่อนข้างมากในเรื่องการบริหารเศรษฐกิจมหภาค โดยเฉพาะในเรื่องการนำพาประเทศให้หลุดพ้นจากภาวะวิกฤติที่เริ่มในปี 2540 การล้างหนี้ไอเอ็มเอฟก่อนกำหนด การกล่าวอ้างถึงความสามารถของรัฐบาลในการพัฒนาประเทศให้ก้าวทันประเทศพัฒนาแล้ว การนำเสนอทฤษฎีการบริหารเศรษฐกิจแบบ Dual Track Economy โดยอ้างว่าเป็นแนวคิดแบบใหม่ที่ไม่เคยมีคนทำมาก่อน
บทวิเคราะห์ในส่วนนี้จะทำการประเมินว่า ผลงานการบริหารเศรษฐกิจมหภาคของรัฐบาลทักษิณ เป็นอย่างที่กล่าวข้างต้นมากน้อยเพียงใด โดยจะทำการเปรียบเทียบผลทางด้านเศรษฐกิจมหภาคของรัฐบาลทักษิณ เทียบกับประสบการณ์ในอดีตของไทย และเปรียบเทียบกับผลงานทางเศรษฐกิจของรัฐบาล และผู้นำประเทศเพื่อนบ้านที่มีลักษณะใกล้เคียงกับไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศที่ประสบปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจเช่นเดียวกัน
การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ :
เครดิตที่รัฐบาลทักษิณได้รับในเรื่องการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยจากวิกฤติทางการเงินและเศรษฐกิจปี 2540 น่าจะเกิดขึ้น เพราะคนส่วนใหญ่ "รู้สึก" ว่า ภาวะเศรษฐกิจดีขึ้นอย่างชัดเจนหลังจากรัฐบาลทักษิณเข้ามาบริหารประเทศไม่นาน เพื่อที่จะตอบคำถามว่าความรู้สึกนี้มีส่วนถูกต้องมากน้อยเพียงใด ก่อนอื่นต้องทราบก่อนว่าแต่ละประเทศที่ประสบวิกฤติเศรษฐกิจนั้นได้ "ฟื้นตัว" อย่างเต็มที่ในปีใดบ้าง ซึ่งแสดงไว้ในตารางที่ 1
จะเห็นว่า (ก) ระยะเวลาที่ใช้ในการฟื้นตัวจะนานหากวิกฤติเศรษฐกิจมี "ความลึก" หรือรุนแรงมากกว่า และ (ข) เกือบทุกประเทศฟื้นตัวทางเศรษฐกิจก่อนประเทศไทย ส่วนหนึ่งก็เพราะว่าวิกฤติไม่รุนแรงเท่า (ค) มียกเว้นเพียงอินโดนีเซียเท่านั้นซึ่งฟื้นตัวหลังไทยประมาณครึ่งปี ซึ่งอาจเป็นเพราะว่าถึงแม้การหดตัวของ GDP จะไม่แรงเท่าไทยในช่วงสองปีแรกของวิกฤติ แต่อินโดนีเซียก็มีปัญหาอื่นเช่น ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน อัตราเงินเฟ้อที่สูงมากในปี 2541-2542 (ร้อยละ 58 และ 20 ตามลำดับ) ซึ่งไทยไม่มีปัญหานี้เพราะในช่วงเวลาเดียวกันนั้นเศรษฐกิจไทยได้เข้าสู่ความมีเสถียรภาพมากกว่าอินโดนีเซียตั้งแต่ก่อนรัฐบาลทักษิณ ซึ่งการมีเสถียรภาพในช่วงนั้นมีความสำคัญต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในปี 2545-2546 ในช่วงรัฐบาลทักษิณอย่างปฏิเสธมิได้
ดังนั้น แม้การเปรียบเทียบการฟื้นตัวระหว่างอินโดนีเซียกับไทย จะดูเหมือนว่าไทยมีการบริหารจัดการที่ดีกว่า จนเป็นผลให้ฟื้นตัวได้เร็วกว่าเล็กน้อย แต่ก็ยังไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นผลงานของรัฐบาลทักษิณทั้งหมด น่าจะเป็นผลงานร่วมระหว่างการมุ่งรักษาเสถียรภาพในรัฐบาลก่อนหน้าและการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงรัฐบาลทักษิณมากกว่า ส่วนการเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ก็ไม่สามารถบอกได้ว่ารัฐบาลทักษิณมีผลงานดีกว่าเช่นกัน เพราะทุกประเทศได้ฟื้นตัวก่อนที่รัฐบาลทักษิณจะเข้าบริหารประเทศไทยเสียอีก
การขยายตัวทางเศรษฐกิจในภาวะปกติ
เมื่อเศรษฐกิจหลุดพ้นจากวิกฤติแล้ว คำถามถัดมาคือรัฐบาลทักษิณได้บริหารเศรษฐกิจ จนทำให้เชื่อได้ว่าประเทศไทยจะมีความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจเหนือกว่าที่เคยเป็นมาในอดีตหรือเหนือกว่าประเทศเพื่อนบ้านหรือไม่ ซึ่งได้ทำการเปรียบเทียบไว้ในตารางที่ 2 และ 3
หากดูรวมๆ แล้ว เศรษฐกิจไทยภายใต้การบริหารของรัฐบาลทักษิณระยะเวลา 5 ปี (พ.ศ. 2544-2548) มีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 5 ต่อปี ซึ่งสูงกว่าประเทศในแถบอาเซียนประมาณร้อยละ 0.5-1.0 แต่เมื่อแยกเป็นสองช่วงจะพบว่าในช่วงระยะฟื้นตัวภายใต้รัฐบาลทักษิณ (ปี พ.ศ. 2544-2546) จะดีเป็นพิเศษ
ทั้งนี้ เนื่องจากประเทศมาเลเซียและสิงคโปร์ ได้รับผลกระทบจากการถดถอยของเศรษฐกิจโลกจากผลของฟองสบู่ IT แตกในปี 2544 (ซึ่งไทยก็รับผลกระทบเช่นกัน และเป็นปีแรกของรัฐบาลทักษิณด้วย แต่ผลกระทบน้อยกว่า) แต่ในช่วงที่สองคือปี พ.ศ. 2547-2548 ซึ่งเป็นระยะที่เศรษฐกิจพ้นจากวิกฤติแล้ว กลับพบว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย มิได้โดดเด่นกว่าประเทศเพื่อนบ้านเลย คือขยายตัวใกล้เคียงกับอินโดนีเซีย ต่ำกว่ามาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ และสูงกว่าเกาหลีใต้ (ซึ่งฟื้นตัวก่อนไทยและมีการกระตุ้นการบริโภคภายในเกินตัวในช่วงปี 2541-2543 จนส่งผลเสียให้อัตราการขยายตัวในระยะหลังแผ่วไปมาก) และหากดูอันดับการขยายตัวของไทยก็พบว่าในระยะสองปีนี้ อันดับของไทยตกไปอย่างรวดเร็ว คือในปี 2548 อยู่ในอันดับที่ 15 จาก 26 ประเทศกำลังพัฒนาในเอเชีย จากที่เคยอยู่อันดับที่ 6-7 ในระยะ 3 ปีก่อนหน้า
คำอธิบายหนึ่งของการขยายตัวที่ชะลอตัวลงของไทย อาจมาจากปัจจัยนอกเหนือการควบคุมของรัฐบาลทักษิณเอง เช่น เรื่องไข้หวัดนกและเรื่องสึนามิเป็นต้น อย่างไรก็ตาม ผลของสองเหตุการณ์นี้ต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจมิได้มีมากอย่างที่หลายฝ่ายคาดคิด ตัวอย่างเช่น รายได้จากการท่องเที่ยวที่ขาดหายไปในปี 2548 เนื่องจากสึนามินั้นคิดเป็นเพียงประมาณร้อยละ 0.35 ของ GDP เท่านั้น
กล่าวโดยสรุป อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยภายใต้การบริหารของรัฐบาลทักษิณนั้น เมื่อทำการเปรียบเทียบกับประสบการณ์ในอดีต และกับประเทศเพื่อนบ้านแล้ว น่าจะอยู่ในระดับใกล้เคียงกัน ความแตกต่างในเรื่องของจังหวะเวลา และระดับการขยายตัวส่วนใหญ่ยังคงอธิบายได้ด้วยปัจจัยภายนอก ในขณะที่ผลทางเศรษฐกิจส่วนที่มาจากการบริหารนั้น ไม่สามารถบอกได้ว่าประเทศใดดีกว่าประเทศใดอย่างชัดเจน
ทฤษฎี Dual Track Economy
ทฤษฎี Dual Track Economy ตามที่เสนอโดยรัฐบาลทักษิณนั้นสาระหลัก คือการให้ความสำคัญกับอุปสงค์ภายใน และภายนอก เท่าเทียมกันในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แต่รัฐบาลทักษิณไม่เคยมีความชัดเจนว่า สมควรใช้ทฤษฎีนี้ในภาวะการณ์ใดบ้าง ในส่วนนี้จะทำการวิเคราะห์นัยสำคัญของทฤษฎีนี้ว่ามีอยู่มากน้อยเพียงใด และรัฐบาลทักษิณมีส่วนมากน้อยเพียงใดในการดำเนินการตามทฤษฎีนี้ วิธีการคือการสร้างแบบจำลองขนาดเล็ก ที่อธิบายอัตราการเจริญเติบโตของประเทศไทย และประเทศเพื่อนบ้านจากปัจจัยภายนอก (การส่งออก) และปัจจัยภายใน (การบริโภคภาคเอกชนและการใช้จ่ายภาครัฐ) ซึ่งผลการประมาณการเสนอในตารางที่ 4 พบว่าการกระตุ้นการบริโภคภายใน จะได้ผลดีสำหรับประเทศไทยและเกาหลีใต้
เนื่องจากมีค่าสัมประสิทธิ์สูงกว่าประเทศอื่นๆ ในขณะที่การกระตุ้นด้วยการใช้จ่ายภาครัฐมีผลไม่มากนัก โดยเฉพาะในกรณีของไทยมีผลต่ำ (เกาหลีใต้ไม่มีผลเลย) ส่วนประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซียและเกาหลีใต้ ได้ประโยชน์จากปัจจัยภายนอกสูงกว่าประเทศอื่นๆ ผลตรงนี้แสดงว่าการกระตุ้นการบริโภคภายในสำหรับประเทศไทย จะมีส่วนช่วยเร่งการขยายตัวของเศรษฐกิจได้ ซึ่งเป็นการสนับสนุนแนวคิด Dual Track Economy แต่อย่างไรก็ตาม กลับพบว่า ปัจจัย "ยุคทักษิณ" มิได้มีผลในการอธิบายการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยและประเทศเพื่อนบ้านเลย (ยกเว้นฟิลิปปินส์ ซึ่งมีอัตราการขยายตัวที่สูงในช่วงเวลาตรงกับที่รัฐบาลทักษิณบริหารประเทศไทย) ตรงกับข้อสังเกตก่อนหน้านี้ว่ารัฐบาลทักษิณมิได้มีผลงานที่โดดเด่นกว่ารัฐบาลประเทศอื่นๆ ในช่วงเวลาเดียวกัน