ชัยชนะการเลือกตั้งแบบถล่มทลายของพรรค เพื่อไทย คงปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นผลมาจากนโยบาย ประชานิยม แบบ ตายดาบหน้า โดยเฉพาะ นโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน ถือเป็นการซื้อใจ รากหญ้า แต่ แทงใจ ผู้ประกอบการ ดังจะเห็นได้จากธุรกิจเอสเอ็มอีที่เดินหน้าออกมาคัดค้าน รวมไปถึงนโยบายปรับเงินเดือนปริญญาตรีเป็น 1.5 หมื่นบาท ก็ถือได้ว่าเป็น เผือกร้อน อีกนโยบายหนึ่งครับ และจะเป็นภาระของรัฐบาลชุดต่อๆ ไปในอนาคต อีกทั้งยังเป็นเสมือน ตัวเร่ง ที่ก่อให้เกิดภาวะ เงินเฟ้ออย่างรุนแรง เพราะเมื่อค่าแรงขึ้น ข้าวของเครื่องใช้ตลอดจนสินค้าอุปโภคบริโภคก็จะขยับราคาขึ้นในอัตราที่สูงกว่าเงินเดือนที่เพิ่มขึ้นเสมอครับ
จากสถิติของประชากรไทยที่อยู่ในวัยทำงานเมื่อเดือนธันวาคม 2553 ที่ผ่านมา ผู้ที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป มีจำนวนทั้งสิ้น 53.72 ล้านคน เป็นผู้ที่พร้อมจะทำงานประมาณ 39.50 ล้านคน ซึ่งผู้คนส่วนใหญ่เหล่านี้แหละครับ จะได้รับอานิสงส์จากการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาทต่อวัน จากเดิมที่ ผู้ว่าจ้าง จ่ายอยู่วันละ 159 -221 บาท ผลกระทบที่เกิดขึ้นไม่เฉพาะแรงงานใหม่ที่เข้ามาเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบถึงแรงงานปัจจุบันที่กระจายอยู่ในภาคเกษตรกรรม ภาคอุตสาหกรรมการผลิต รวมไปถึงภาคอุตสาหกรรมการก่อสร้าง ภาคบริการ รวมทั้งภาคอื่นๆ ตามไปด้วย
สำหรับนโยบาย ประชานิยม ในการปรับเงินเดือนที่ผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรีเป็น 1.5 หมื่นบาทต่อเดือน หากลองพิจารณาอัตราเงินเดือนขั้นต่ำของข้าราชการทั้งประเทศที่มีจำนวนมากถึง 1,795,588 คน ในปัจจุบันข้าราชการปริญญาตรีจบใหม่มีอัตราเงินเดือน 8,700 บาท, ระดับปริญญาโท 1.2 หมื่นบาท และระดับปริญญาเอก 16,200 บาท ดังนั้น หากมีการปรับขึ้นเงินเดือนปริญญาตรีจบใหม่เป็นไปตามนโยบาย ประชานิยม ที่พรรค เพื่อไทย ได้ให้ สัญญาประชาคม ไว้ หมายความว่าเงินเดือนจะมีการปรับสูงขึ้นถึง 72%
หากนำมาตรฐานนี้ไปปรับเงินเดือนทั้งในระดับปริญญาโทและปริญญาเอกก็จะเป็นผลให้เงินเดือนระดับปริญญาโทปรับขึ้นเป็น 20,640 บาท และระดับปริญญาเอกจะปรับขึ้นเป็น 27,864 บาท ซึ่งคงต้องใช้งบประมาณเพิ่มขึ้นอีกมากมายมหาศาลแต่ประสิทธิภาพประสิทธิผลเท่าเดิม อีกทั้งรัฐบาลยังต้องแบกรับภาระเงินเดือนที่จะปรับขึ้นทุกปีโดยเฉลี่ยที่ 8% ต่อปี จึงเป็นเรื่องที่น่ากังวลใจมิใช่น้อย แม้ว่ากระทรวงการคลังจะพยายาม เลี่ยงบาลี ไม่ต้องไปแก้กฎหมาย เพื่อรื้อโครงสร้างเงินเดือนราชการใหม่ทั้งระบบ โดยแทนที่จะปรับเงินเดือนก็ปรับเป็นเงินช่วยเหลือค่าครองชีพจากปัจจุบันที่มีเพียง 1,500 บาทต่อเดือน ให้สูงขึ้นเมื่อรวมกับเงินเดือนให้ได้เป็นจำนวน 1.5 หมื่นบาท ตามที่ได้ให้ สัญญาประชาคม ไว้
แต่ยังเป็นที่สงสัยคือ นโยบายนี้จะครอบคลุมถึงข้าราชการที่มีวุฒิต่ำกว่าปริญญาตรีและสูงกว่าปริญญาตรีหรือไม่ เพราะปัจจุบันมีข้าราชการที่มีวุฒิต่ำกว่าปริญญาตรีอยู่มาก อีกทั้งบางคนจบปริญญาตรีก็จริงแต่ใช้วุฒิ ปวช., ปวส. เพื่อให้ตรงกับตำแหน่งงาน และสำหรับข้าราชการที่มีวุฒิสูงกว่าปริญญาตรีเมื่อปรับเงินเดือนในระดับปริญญาตรีแล้วจะปรับด้วยหรือไม่ เพราะถ้าขยับขึ้นก็คงต้องขยับขึ้นทุกระดับชั้นมิฉะนั้นคงมีปัญหา เลือกปฏิบัติ ตามมากันอีก
นอกจากนี้ ผมเชื่อว่านโยบายของพรรค เพื่อไทย เป็นการบิดเบือนกลไกทางการตลาด ซึ่งจะส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ไปทั้งระบบ เพราะถึงแม้นโยบายปรับเงินเดือนปริญญาตรี 1.5 หมื่นบาทต่อเดือน จะไม่ได้บังคับภาคเอกชน แต่ในความเป็นจริงแล้ว จะกลายเป็นตัวเลขอ้างอิงที่ทำให้เงินเดือนขั้นต่ำเปลี่ยนไปและส่งผลกระทบต่อเงินเดือนขั้นต่ำของวุฒิปริญญาตรีในการจ้างงานทั้งระบบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ที่ผมกังวลเป็นที่สุด คือ เงินเฟ้อ อาจจะเพิ่มสูงมากขึ้นถึง 5% อาจจะเป็นผลให้ธนาคารแห่งประเทศไทยต้องปรับอัตราดอกเบี้ยเพื่อดูแลภาวะ เงินเฟ้อ ดังนั้น โปรดทบทวนนโยบาย ตายดาบหน้า เถอะครับ เพราะไม่เช่นนั้นเผลอๆ จะพากัน ล่มจม ทั้งประเทศอีกครั้งครับ
เอาให้ชนะเลือกตั้ง...นโยบาย ทำได้ หรือไม่ได้ ไปตาย เอาดาบหน้า...เห็นหรือยัง
" ไอ้ประชาชนหน้าโง่ "

แก้ไขเมื่อ 05 ส.ค. 54 08:47:18