Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
วอลเตอร์บาวน์ อีกที ..5 คดีที่ควรรู้ ..อดีต ปัจจุบัน อนาคต.. ต้องจ่ายหรือไม่ มาแลดูกัน ติดต่อทีมงาน

ถ้าหากรวบรวมคดี “ วอลเตอร์บาวน์ ” ที่กำลังต่อสู้ กับผู้จัดการทรัพย์ วอลเตอร์บาวน์ ของเยอรมันนี ที่ชื่อ นายเวอร์เนอร์ ชไนเดอร์ รวมๆกัน ไม่ใช่ 2 คดี แต่มีอยู่ทั้งสิ้น 5 คดี .. ออกจะยาวหน่อยแต่ก็น่าศึกษาและเก็บไว้เป็นข้อมูลเพื่อถกถียงกันครับ

คดีแรก

คดีที่คณะอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ  แห่งนครเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ ชี้ขาด เมื่อวันที่ 1 ก.ค. 2552 ว่า ไทยต้องชดใช้ค่าเสียหายให้กับบ. วอลเตอร์บาวน์ เป็นมูลค่า 36 ล้านยูโร ฐานผิดสัญญา เนื่องจากรัฐบาลไทยเปลี่ยนแปลง นโยบายต่างๆ ทำให้มีผลกระทบต่อโครงการโทลเวย์  อาทิเช่น

-  สมัยรัฐบาล พล.อ. ชาติชาย ผุดโครงการรถไฟยกระดับในกทม. หรือ โครงการโฮปเวลล์

-  สมัยรัฐบาล นายชวน อนุมัติครงการถนนเลียบทางรถไฟ หรือโลคัลโรด

-  สมัย พ.ต.ท. ทักษิณ สั่งให้กรมทางหลวงปรับค่าผ่านทางโทลเวย์ เหลือ 20 บาท ตลอดสาย

ต่อมารัฐบาล พล.อ. สุรยุทธ์ ได้เจรจากับ บ.ดอนเมืองโทลเวย์ เพื่อรับซื้อหุ้นคืน และ ในเวลาต่อมา ก็ขายหุ้นคืน ในราคาพาร์ และอนุมัติขยายสัมปทานออกไปถึงปี 2577 โดยมีข้อสัญญาแนบท้ายว่า บ.ดอนเมืองโทลเวย์ ห้ามฟ้องเรียกค่าเสียหายใดๆ จากรัฐบาลไทย

คดีนี้ เข้าสู่กระบวนการฯ โดยจัดให้ไต่สวนที่ ฮ่องกง ระหว่างวันที่ 31 ก.ค. – 1 ส.ค. 2550 ในสมัยรัฐบาลขิงแก่ พล.อ สุรยุทธ์ จุลลานนท์ แล้วก็มาจบในรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ 1 ก.ค.2552 ( นายอภิสิทธิ์ เป็นนายกฯ วันที่ 17 ธ.ค. 2551 )

คดีที่สอง

เป็นผลสืบเนื่องจากคดีแรก โดยเมื่อวันที่ 26 มี.ค. 2553  ผจก. หลักทรัพย์ บ.วอลเตอร์บาวน์ ยื่นร้องต่อ ศาลนิวยอร์ก ขอให้บังคับคดีตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ

18 พ.ค. 2553 เรื่องนี้กลายเป็นวาระเร่งด่วน เข้าครม. ในสมัยรัฐบาล นายอภิสิทธ์

ซึ่งในเวลาต่อมา ก็เป็นที่ทราบกันว่า ศาลนิวยอร์กได้ออกคำสั่งรับรอง และให้รัฐบาลไทยจ่ายค่าเสียหาย ตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการฯ

คดีนี้ สนง.อัยการอยการสูงสุดส่งตัวแทนไปยื่นอุทธรณ์ ต่อศาลนิวยอร์กแล้ว เมื่อวันที่ 28 ก.ค. 2554 ที่ผ่านมา

คดีที่สาม

เป็นคดีอายัดโบอิ้ง 737 เครื่องบินราชพาหนะส่วนพระองค์ คดีนี้ ผจก.ทรัพย์ วอลเตอร์ บาวน์  ยื่นร้องต่อศาลประจำเมืองลันส์ฮุต ขอให้มีคำสั่งอายัดเครื่องบินดังกล่าว ขณะจอดอยู่ที่สนามบินเมืองมิวนิก  โดยอ้างว่าเป็นเครื่องบินของกองทัพอากาศไทย ซึ่งถือว่าเป็นทรัพย์สินของทางราชการไทย

12 ก.ค. 2554 ศาลเมืองลันส์ฮุต อนุมัติตามคำร้องฯ

20 ก.ค. 2554 ศาลเมืองลันส์ฮุต เห็นชอบให้ถอนอายัด แต่รัฐบาลไทยต้องหาหลักทรัพย์มาค้ำประกัน เป็นมูลค่า 20 ล้านยูโร

31 ก.ค. 2554 สมเด็จพระบรมฯพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อนำไปใช้ในการระงับข้อพิพาทดังกล่าว ทั้งนี้ไม่ทรงปรารถนาที่จะให้มีพระนามาภิไธยไปเกี่ยวข้องกับข้อพิพาทและมิให้เป็นที่เสื่อมเสีย

02 ส.ค. 2554 รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เข้าถวายรายงาน ประกาศสู้คดี และ ให้สัมภาษณ์ว่ารัฐบาลพร้อมรับผิดชอบ 100 % โดยไม่ต้องรบกวนพระราชทรัพย์

ประมาณกลางเดือนสิงหาคมนี้ ศาลเมืองลันส์ฮุต นัดสืบพยานคดีนี้ และคาดว่าคดีน่าจะจบลงประมาณเดือนสิงหาคมนี้โดยฝ่ายรัฐบาลไทยได้เตรียมข้อมูลยืนยันไว้แล้ว่าไม่ใช่เป็นเครื่องบินของรัฐบาลไทย

คดีที่สี่

เป็นคดีที่เกิดขึ้นในศาลกรุงเบอร์ลิน คดีนี้ ผจก.ทรัพย์ วอลเตอร์ บาวน์  เป็นผู้ร้องต่อศาลชั้นต้นที่กรุงเบอร์ลิน ขอให้วนิจฉัยเกี่ยวกับทรัพย์สินเพื่อบังคับคดีตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณา ซึ่งศาลกรุงเบอร์ลินยังไม่ได้สืบพยาน  โดยคู่ความทั้งสองฝ่ายนัดยื่นเอกสารในวันที่ 16 สิงหาคมนี้

ส่วนฝ่ายไทย ได้เตรียมข้อมูลที่จะนำไปใช้ต่อสู้คดีศาลนิวยอร์ก มายื่นสู้ในศาลกรุงเบอร์ลิน..คดีนี้มีนัยยะเหมือนจ้องอายัดทรัพย์สินอื่นอีก ?

คดีที่ห้า

รัฐบาลไทยเตรียมข้อมูลยื่นฟ้องกลับ..หลังจากเกิดเหตุการณ์ วุ่นวาย ทำให้เสื่อมเสีย ส่วนจะฟ้องใคร ฟ้องที่ไหน ฟ้องในข้อหาอะไร ยังอยู่ในชั้นความลับ ไม่สามารถเปิดเผยได้ เพราะกลัวเสียรูปคดี

ข้อสังเกต

1 ) รัฐบาล พล.อ. สุรยุทธ์ ทำไมปล่อยช่องว่างให้ บ.วอลเตอร์ บาวน์ ฟ้อง ด้วยการยกข้อสัญญาว่าด้วยการส่งเสริม และการคุ้มครองการลงทุนต่างตอบแทน ระหว่าง ราชอาณาจักรไทย กับสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน พ.ศ. 2545 ต่ออนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศในขณะนั้น..พูดง่ายๆร้องในฐานะผู้ลงทุน ไม่ใช่ในฐานะผู้ถือหุ้น ?

เพราะหากคู่สัญญาทำผิด ก็มีเพียง บ.ดอนเมืองโทลเวย์ เท่านั้นที่มีอำนาจที่จะฟ้องร้องค่าเสียหายได้ ตามสัญญาสัมปทาน ผู้ถือหุ้นไม่มีอำนาจฟ้องร้องแทน นอกจากนี้บ.วอลเตอร์ บาวน์ ก็ขายหุ้นให้ “ ดิวิดัก โฮลดิ้ง ”  ไปแล้วจึงไม่มีสิทธิ์ในฐานะผู้ถือหุ้นอีกต่อไป

2 ) ประเด็นนี้ ทำให้น่าสงสัยว่าเหตุใด ฝ่ายตัวแทนรัฐบาลไทยในขณะนั้นจึงไม่งัดเอาเหตุผลดังกล่าวขึ้นมาต่อสู้ จึงทำให้ผลการชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศออกมา ตามที่ทราบกัน ..และถือเป็นอันสิ้นสุด

3 ) ทำไมรัฐบาลนายอภิสิทธิ์จึงไม่รีบดำเนินการ ก่อนเรื่องจะขึ้นศาลที่นิวยอร์ก ปล่อยให้เหตุการณ์ลุกลาม บานปลายจนถึงทุกวันนี้..นอกจากจะทำให้เสื่อมพระเกียรติแล้ว ยังกระทบถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอีกด้วย

4 ) ล่าสุดตามที่ทราบกัน ท่านอัยการสูงสุดเพิ่งจะมีความเห็นตอบโต้ไปว่า คำชี้ขาดของ อนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ ไม่ถือเป็นที่สิ้นสุด อีกทั้งกระบวนการไต่สวนฯ ไม่เปิดโอกาสให้ไทยนำพยานบุคคลเข้าพิสูจน์อย่างเต็มที่ ตัดพยานปากสำคัญ ซึ่งเป็นผู้รู้เรื่องราวการทำสัญญา และเป็นตัวกลางในการเจรจาระหว่างไทย กับ เยอรมัน

ซึ่งตัวกลางคนนี้เป็นชาวต่างประเทศ  ที่ทางฝ่ายไทยเห็นว่าเป็นคนกลางที่มีน้ำหนักหักล้างกันได้

5 ) ฉะนั้นทางฝ่ายไทย จะต้องชี้ให้เห็นว่า การที่ศาลเห็นว่าการเข้ามาทำสัญญาของเยอรมันเป็นการลงทุน ไม่ใช่การเข้ามาถือหุ้นนั้น จะทำให้การวินิจฉัยของ ของ อนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ ไม่อาจบังคับได้

6 ) ดังนั้นจึงเป็นเหตุผลที่รัฐบาลไทยจะยังไม่จ่ายเงิน 36 ล้านยูโร แต่ จะจ่ายเมื่อศาล มีคำพิพากษาว่าการตัดสินของ อนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศนั้น เป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้วเท่านั้น

7 ) ทางฝ่ายเยอรมันอ้างว่า ยังไงๆ ไทยก็ต้องจ่าย แม้จะยื่นอุทธรณ์ก็ไม่มีผล เพราะเหตุผลว่าผจก. ทรัพย์วอลเตอร์บาวน์ ขอให้ศาลนิวยอร์ก ตัดสินว่า การบังคับคดีตามคำสั่งของ อนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ จะสามารถกระทำได้ในสหรัฐหรือไม่ เท่านั้น ( ไม่เกี่ยวกับที่เยอรมัน ) และจะไม่มีการสืบพยานใดๆอีก

ส่วนทางฝ่ายไทย ท่านอัยการสูงสุดระบุว่า คดีที่นิวยอร์ก ฝ่ายไทยมีโอกาสชนะ  ( แต่มิได้บอกว่าที่เยอรมันจะมีโอกาสหรือไม่ ? )

สรุป ว่า เครื่องบินก็ต้องจอดรอต่อไป จะต้องจ่ายหรือไม่ จะชนะ หรือแพ้ ก็โปรดใช้วิจารณญาณเดาเอาเอง แต่ที่แน่ๆ ก็ต้องมาจบที่รัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์อย่างแท้ และแน่นอนครับ

จึงเรียนมาเพื่อทราบ


ขอบคุณข้อมูลจาก นสพ.มติชนรายวัน 05- 08-2554

จากคุณ : แมวน้ำสีคราม
เขียนเมื่อ : 6 ส.ค. 54 08:31:40 A:180.180.95.153 X:



ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com