มอนิเตอร์ตัดตอน
การมอนิเตอร์หนังสือพิมพ์เพียง 5 ฉบับ เป็นการตัดตอนขาย ปั้นสิบ จากศูนย์ ดังกล่าวแล้วว่า การมอนิเตอร์ไม่ได้เกี่ยวข้องกับอีเมล์ ซื้อสื่อ เลย เพราะผลการสอบสวนสื่อทั้ง 7 คน ท่านไปตั้งข้อกังขาคนของค่ายเนชั่น แต่ท่านก็สรุปเหมือนกับว่าคมชัดลึกเป็นกลางที่สุด (ความจริงไม่ใช่หรอก รู้กันอยู่ว่าค่ายเนชั่นเกลียด พท.และเชียร์ ปชป.สุดลิ่ม เพียงแต่ตอนหาเสียงเมื่อกระแสยิ่งลักษณ์แรง คุณทำได้อย่างมากก็คือทำให้มันเท่ากัน)
ท่านไม่สามารถสรุปว่าสื่อ 7 คน มีอำนาจหน้าที่กำหนดนโยบายการนำเสนอข่าว พาดหัวข่าว ลงภาพข่าว ในหนังสือพิมพ์ 5 ฉบับอย่างไร แต่ท่านฉวยโอกาสมอนิเตอร์ 5 ฉบับ แล้วเอามาสรุป ทั้งที่ควรมอนิเตอร์ให้หมดทุกฉบับ ทั้งเนชั่น คมชัดลึก กรุงเทพธุรกิจ บางกอกโพสต์ โพสต์ทูเดย์ ไทยโพสต์ ASTV แนวหน้า สยามรัฐ ฯลฯ แล้วใช้มาตรฐานเดียวกันไปสรุปว่าใครเอนเอียงอย่างไร
ท่านอ้างว่า พรรคเพื่อไทยน่าจะมี การบริหารจัดการสื่อมวลชน อย่างเป็นระบบ เช่น มีการเลือกลงโฆษณาเฉพาะในหนังสือพิมพ์บางฉบับ มีการสร้างและประสานประเด็นข่าว ตลอดจนน่าจะมีการจัดส่งภาพของตนไปตีพิมพ์เป็นภาพข่าวในหนังสือพิมพ์บางฉบับ
โดยท่านพุ่งเป้าไปที่ค่ายมติชน เพราะบอกว่า พรรคเพื่อไทยได้ลงพื้นที่โฆษณาผ่านหนังสือพิมพ์ 29 หน้าสี ซึ่งมากกว่าพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งลงโฆณา 18 หน้าสี นอกจากนี้มีข้อสังเกตว่า พรรคเพื่อไทยลงโฆษณาเฉพาะในหนังสือพิมพ์ในเครือมติชนเท่านั้นคือ หนังสือพิมพ์ข่าวสด มติชน และประชาชาติธุรกิจ (12,12 และ 5 หน้า ตามลำดับ) ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ลงโฆษณาใน 5 ฉบับคือ ข่าวสด มติชน ประชาชาติธุรกิจ เดลินิวส์ และคมชัดลึก
ข้อสรุปนี้ขัดกับผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงของท่านเอง เพราะท่านอ้างว่า พาดหัวข่าว/ความนำ การเรียงลำดับประเด็นข่าวเลือกตั้ง ข่าวสด มติชน ไทยรัฐ แสดงออกผ่านกลวิธีการใช้ภาษาที่ชัดเจนว่า สนับสนุนพรรคเพื่อไทยและ น.ส.ยิ่งลักษณ์ แต่พรรคเพื่อไทยไม่ได้ลงโฆษณาไทยรัฐสักชิ้นเดียว
เช่นเดียวกับกรณีของเดลินิวส์ ที่ท่านสรุปเรื่องภาพข่าว และผมชี้ให้เห็นแล้วว่าเดลินิวส์ไม่ได้โฆษณาพรรคเพื่อไทยแม้แต่ชิ้นเดียว เขาก็ยังลงภาพยิ่งลักษณ์ในเชิงบวก
หรือถ้าดูโฆษณาพรรคการเมืองอื่น พรรคชาติพัฒนาลงโฆษณาค่ายมติชน 23 หน้าสี รองจากพรรคเพื่อไทย 29 หน้าสี พรรคชาติไทย 18 หน้าสี 6 หน้าขาวดำ พรรคภูมิใจไทย 11 หน้าสี ถ้าท่านคิดว่าค่ายมติชนทำข่าวสนองโฆษณา ทำไมไม่เห็นเขาให้ความสำคัญกับ 3 พรรคนี้เลย ทั้งที่ค่าโฆษณาต่างกันไม่มาก
ที่ผมประหลาดใจอย่างยิ่งคือ ท่านมอนิเตอร์หนังสือพิมพ์ 5 ฉบับ แต่พอเวลานับค่าโฆษณา ท่านนับประชาชาติธุรกิจเข้ามาด้วย เฮ้ย ถ้าอย่างนี้ทำไมไม่นับ Nation และกรุงเทพธุรกิจ ที่อยู่ในเครือเดียวกับคมชัดลึกล่ะ ท่านไม่รู้หรือว่า หนังสือพิมพ์ค่ายต่างๆ เวลาขายโฆษณาเขาขายพ่วงกัน เช่น อยากลงโฆษณาบางกอกโพสต์ ก็ต้องซื้อควบโพสต์ทูเดย์ อยากลงโฆษณากรุงเทพธุรกิจ ก็ขายควบเนชั่น คมชัดลึก
และทำไมท่านไม่นับให้ครบทุกฉบับ เพราะพรรคประชาธิปัตย์ก็ยังมีโฆษณาในหนังสือพิมพ์ฉบับอื่นๆ ไม่ใช่สรุปว่า 5 ฉบับมีโฆษณาเพื่อไทย 29 หน้าสี ประชาธิปัตย์ 18 ½ หน้าสี เผลอๆ นับโฆษณาหนังสือพิมพ์ฉบับอื่นแล้ว ปชป.อาจลงโฆษณามากกว่าก็ได้
ที่สำคัญกว่านั้นคือ ท่านมอนิเตอร์ตัดตอนเฉพาะช่วงเลือกตั้ง โดยที่ท่านทำเป็นไม่รู้เลยว่า ที่ผ่านมา 2 ปีเศษรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์อัดโฆษณาหน่วยงานรัฐ ซื้อใจสื่อ มามากมายเท่าไหร่ ถ้าท่านจะมอนิเตอร์เรื่องผลประโยชน์ของสื่อกับพรรคการเมือง ท่านต้องไปนับย้อนหลังให้หมดว่า เมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว ค่ายเนชั่น ค่ายบางกอกโพสต์ เดลินิวส์ ฯลฯ ได้โฆษณาหน่วยงานรัฐไปเท่าไหร่ แล้วค่ายมติชนได้เท่าไหร่ ไม่เฉพาะค่าโฆษณาหน่วยงานรัฐ แต่ยังต้องดูผลประโยชน์เรื่องการเข้าไปจัดรายการวิทยุทีวี เรื่องรับจัดงาน event ซึ่งกลายเป็นแหล่งทำมาหากินครบวงจรของสื่อค่ายใหญ่
นี่คือสิ่งที่สภาการหนังสือพิมพ์ควรมอนิเตอร์มานานแล้ว หรือควรตรวจสอบหลายๆ เรื่องที่เกิดขึ้น เช่นที่ผมเคยเขียนไปว่า บก.ข่าวหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งหมั่นไส้ บก.เศรษฐกิจ ที่ซี้ปึ้กกับกรณ์ จาติกวณิช จนรื้อข่าวกลางดึกเขียนข่าวใหม่ว่ามีสื่อสุมหัวกับหน้าห้องรัฐมนตรีเป็นหัวเบี้ยจัดลงโฆษณา
ก็คนกันเองทั้งนั้น รู้ๆ กันอยู่ไม่ใช่หรือ
ใครเป็นกลาง
ตามตำรานิเทศศาสตร์ที่ดรุณี หิรัญรักษ์ เที่ยวพร่ำสอนสื่อ คือสื่อต้องเป็นกลาง โดยเฉพาะการนำเสนอข่าว เขียนข่าว พาดหัวข่าว ส่วนคอลัมน์เป็นการแสดงความคิดเห็นโดยอิสระ
แต่ทำไม คณะอนุกรรมการกลับไปมอนิเตอร์คอลัมน์การเมืองในข้อ 4 ว่า หนังสือพิมพ์ข่าวสดมีคอลัมน์ทางการเมืองที่มีเนื้อหาโจมตีนายอภิสิทธิ์ชัดเจนและมากที่สุด เนื้อหาทั้งหมดยังสนับสนุนและสร้างภาพลักษณ์เชิงบวกให้แก่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ซึ่งแตกต่างจากฉบับอื่นๆ ที่ค่อนข้างมีความสมดุล ส่วนมติชนก็มีคอลัมน์ที่วิพากษ์วิจารณ์นายอภิสิทธิ์มากเช่นกัน แต่วิธีการสื่อภาษาไม่ชัดเจนเท่ากับหนังสือพิมพ์ข่าวสด
คำถามข้อที่หนึ่งคือ ท่านก้าวล่วงเข้าไปเรียกร้องให้คอลัมนิสต์ เป็นกลาง ได้อย่างไร คำถามข้อที่สองคือ ที่ว่าฉบับอื่นสมดุลนั้นไม่จริง ฉบับเดียวที่สมดุลคือไทยรัฐมี 2 ขั้ว ส่วนฉบับอื่นๆ ยังไม่ต้องข้ามไปดูแนวหน้า ไทยโพสต์ ASTV ฯลฯ (อ้อ ASTV อาจจะสมดุลเพราะเรียกร้องให้ Vote No-ฮา) เอาแค่เดลินิวส์ ผมไม่เห็นคอลัมนิสต์เชียร์พรรคเพื่อไทยซักราย ขณะที่คอลัมน์ เขื่อนขันธ์ หน้า 3 ด่าทักษิณ-เพื่อไทยทุกวัน คมชัดลึกยิ่งไม่ต้องพูดถึง มี อ.พิชญ์คนเดียวโด่เด่ นอกนั้นใส่ไม่ยั้ง ตั้งแต่หน้าการเมืองไปถึงหน้าต่างประเทศ
คำถามที่ยกระดับขึ้นมาอีกชั้นคือ จริงหรือที่ว่าสื่อต้องเป็นกลาง ถ้าเห็นว่าสื่อต้องเป็นกลาง คณะอนุกรรมการท่านก็ต้องวิพากษ์วิจารณ์เฮียชัช เตาปูน ด้วยที่ส่งลูกชายลง ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ (กล้ามอนิเตอร์สยามรัฐรึป่าว ฮิฮิ
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1313912357&grpid=01&catid=&subcatid=
ยังเข้มข้นโดนใจทุกครั้ง ใบตองแห้ง
