จดหมายถึงสมาคมสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย
|
 |
คัดลอกมา จากคุณ "สายลมรัก" ชอบ เห็นด้วย และถูกใจ ขอบคุณครับ เรียน สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย กับสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย
เรื่อง ขอความกรุณาแยกแยะ การคุกคามกับเสียงสะท้อนจากภาคประชาชน
อ้างถึง แถลงการณ์ เรื่อง ขอให้ยุติการคุกคามสื่อมวลชนของสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ลงวันที่ 31 สิงหาคม 2554
ตามที่ สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ได้ออกแถลงการณ์ ขอให้ยุติการคุกคามสื่อมวลชน และเป็นกำลังใจให้กับนางสาวสมจิตต์ นวเครือสุนทร ผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 ดังความละเอียดแจ้งแล้วนั้น
กระผม ในฐานประชาชนคนไทยคนหนึ่ง มีบัตรประชาชนหมายเลข 13 หลัก และเป็นพลเมืองที่ดีของประเทศ ขออนุญาตแสดงความคิดเห็นต่อแถลงการณ์ฉบับดังกล่าว ดังนี้
1. ขอตั้งคำถามว่าการที่ประชาชนจำนวนหนึ่ง ไม่ว่าเขาหรือเธอ เหล่านั้น จะเรียกตนเองในสังคมว่า เป็นกลุ่มบุคคลใดก็ตาม เดินทางไปยื่นหนังสือ ขอให้ทบทวนบทบาทการทำหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ในสังกัด อย่างสงบ และปราศจากอาวุธเป็นพฤติกรรม คุกคาม อย่างนั้นหรือ ? หากทั้งสองสมาคมเห็นว่าเป็นการคุกคามการทำหน้าที่ ก็ขอความกรุณา "อธิบายโดยละเอียด"ว่า เป็นการคุกคามอย่างไร เพราะในสังคมที่เจริญแล้ว การที่ประชาชนจะรวมตัวกันยื่นหนังสือ ต่อหน่วยงาน เพื่อขอให้แสดงความรับผิดชอบอย่างสงบ เป็นที่ยอมรับกันในประเทศที่เจริญแล้วทางวัฒนธรรม ผมเห็นว่าการที่ประชาชนจำนวนหนึ่งเดินทางไปยื่นหนังสือต่อสถานีโทรทัศน์ช่อง 7 สี ในความรู้สึกของประชาชนจำนวนมาก จึงมิน่าจะใช่ "การคุกคาม" แต่เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงการไม่เห็นด้วยในพฤติกรรม และสามารถที่จะแสดงออกได้ตามกฏหมาย ต่อสื่อมวลชนนั้น
2. ประชาชนเข้าใจดีว่า การปกป้อง พวกพ้อง และเพื่อนร่วมอาชีพ เป็นวัฒนธรรมที่มีมาอย่างยาวนาน เพื่อเป็นเกราะป้องกันตนเอง แม้นว่าบางครั้ง ประชาชนจะรู้สึกว่า สื่อมวลชนในประเทศนี้ จะมีใครล่วงละเมิดมิได้ แม้นสื่อหนังสือพิมพ์บางฉบับ วิทยุ และสถานีโทรทัศน์บางช่อง จะนำเสนอความเห็นของตนเอง เพื่อชี้นำให้สังคมคล้อยตาม โดยไม่สนข้อเท็จจริง หรือความเสียหายแก่สังคมโดยรวมว่าจะเป็นอย่างไร ยกตัวอย่างการตกแต่งภาพอาวุธในมือของผู้เสียชีวิต ในเหตุการณ์ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ การใช้คำพูดที่แสดงออกอย่างชัดเจนในรายการที่ตนเองจัด ถึงการชอบอีกฝ่ายหนึ่งและการเกลียดชังอีกฝ่ายหนึ่ง ประชาชนก็ไม่เคยเห็น สมาคมใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสื่อ ออกมาแถลง กับพฤติกรรมใด ๆ ของบุคคลเหล่านี้
3. ในยุคที่เราเรียกกันว่า โลกไร้พรมแดน การใช้มาตรการทางสังคม เช่นนัดกันไปยื่นหนังสือ หรือไปยืนชูป้าย แสดงความรู้สึก อันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานตามกฏหมายรัฐธรรมนูญ ที่ให้สิทธิประชาชนสามารถจะแสดงออกได้ จึงเป็นการกระทำที่เหมาะสม และทำให้สังคมโดยรวมตื่นตัวและให้ความสนใจกับ พฤติกรรมของสื่อมวลชน อันเป็นมาตรการควบคุมทางสังคมที่ดีที่สุด มากกว่าการยื่นหนังสือไปตามขั้นตอน เพราะประชาชนส่วนมากไม่ไว้วางใจ สมาคมอันเป็นผู้มีหน้าที่ควบคุม จรรยาบรรณและวิชาชีพ ตามเหตผลในข้อ 2 ข้างต้น
4. ประชาชนขอให้ ทั้ง 2 สมาคมฯ ข้างต้นได้พิจารณา พฤติกรรมของคุณสมจิตต์ นวเครือสุนทร ผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 ว่ามี Agenda ซ่อนเร้นในระหว่างการทำหน้าที่หรือไม่ ? และเหตุใด ผู้สื่อข่าวภาคสนามอีกจำำนวนเป็นร้อย เป็นพันคน ซึ่งเคยลงไปทำข่าว หรือรายงานข่าวการชุมนุมของกลุ่มประชาชน ที่เรียกตนเองว่า "คนเสื้อแดง" อย่างยาวนาน ทำไมสื่อมวลชนในภาคสนามเหล่านั้นจึงไม่ได้รับการต่อต้านจากประชาชน เพราะเหตุใด คุณสมจิตต์ จึงเป็นนักข่าวภาคสนามเพียงคนเดียวที่โดนประชาชนประนามอย่างรุนแรง
สุดท้ายนี้ ผมไม่หวังว่าจดหมายฉบับนี้ จะเปลี่ยนแปลงแถลงการณ์หรือจุดยืนใด ๆ ของสมาคมทั้งสองที่อ้างถึง เพียงแค่ขอแสดงความคิดเห็นในฐานะของประชาชนคนหนึ่ง ที่มองเห็นพฤติกรรม การปฏิบัติหน้าที่ของสื่อมวลชน ทีบางคนก็ทำหน้าที่อย่างน่าชมเชย แต่บางคนก็ทำหน้าที่ได้อย่างน่ารังเกียจ ผมได้ใช้ดุลยพินิจอันเป็นธรรมพิจารณา โดยมิต้องให้ผู้ใดมาชี้นำว่า สื่อค่ายใดเป็นพวกใคร สื่อช่องใดเชียร์พรรคการเมืองใด เพราะผมถือว่าสื่อมวลชนก็เป็นมนุษย์ ย่อมจะมีความรัก โลภ โกรธ หลง
แต่ในเมื่อพวกคุณบางคนเหล่านั้น กลับทำหน้าที่ต่อไปโดยไม่สำนึก หรือคำนึงถึงจรรยาบรรณในวิชาชีพ เอาเรื่องส่วนตัวมาปะปน แล้วนำเสนอออกสู่สังคม ผมว่าประชาชนก็ย่อมมีสิทธิจะวิพาก หรือแสดงออกในความไม่เห็นด้วยเท่าทีที่กฏหมายจะให้สิทธิ ในวันนี้ผมก็ยังเชื่ออย่างบริสุทธิใจว่า คุณสมจิตต์ก็ยังคงไม่รู้สำนึกว่า ตนเองยังคงเหมาะสมที่จะทำหน้าที่สื่อมวลชนต่อไปหรือไม่ โดยดูจากคำให้สัมภาษณ์ ของเธอแล้ว ก็ยังคงโทษในสิ่งแวดล้อมทุกอย่าง โดยไม่เคยพิจารณาตนเอง ฉะนั้นผมก็ถือว่าเป็นกรรมของประชาชนในประเทศนี้ หากสื่อยังไม่ยอมรับความผิดพลาดในการทำงาน และผู้มีหน้าที่เองก็พิจารณาปกป้องพรรคพวกของตนเองกันแบบไม่ลืมหูลืมตา ความศักดิ์สิทธิความน่าเชื่อถือในจรรยาบรรณ ของสมาคมวิชาชีพต่าง ๆ จะโดนประชาชนเคลือบแคลงสงสัย และเป็นหนทางในการนำไปสู่ความเสื่อม ก็มิใช่เรื่องแปลก หรือไกลตัวแต่อย่างใด
ขอแสดงความนับถือ
ไพร่สามัญ "สายลมรัก"
จากคุณ |
:
สีน้ำเงินแก่
|
เขียนเมื่อ |
:
3 ก.ย. 54 08:09:03
A:210.1.61.146 X:
|
|
|
|