เห็นมีการกล่าวหากันอยู่บ่อยๆว่า โง่ ๆ ๆ ๆ แล้วคนแบบไหนล่ะที่เข้าข่ายคนโง่ ใครที่ควรเรียกว่าคนโง่ คนที่กล่าวหาคนอื่นหรือคนที่ถูกกล่าวหากันแน่
ในสังคมของชาวโลกทั่วไปมักเข้าใจว่าคนที่เรียนสูงๆสอบผ่านได้เกรดดีๆก็จะยกย่องกันว่า"คนนี้มีสติปัญญาดี" แต่ความเป็นจริงแล้วอาจโง่กว่าคนที่เรียนต่ำก็มีอยู่มากมาย
ในทางธรรมะเรียกคนฉลาดว่า"ผู้มีปัญญา" เปรียบเหมือนบัวที่พ้นน้ำแล้ว เพียงแต่บอกข้อธรรมเพียงเล็กน้อยก็สามารถคิดได้เองอย่างแตกฉานและกว้างขวางไม่ต้องเพิ่มเติมอีก
แต่ในทางโลกเห็นคนที่สอบผ่านเรียนสูงๆว่าคนปัญญาดี โดยความจริงบางคนอาจมี"ปัญญา"ไม่ดีก็ได้ แต่กลับมี"สัญญา"ดี คำว่า"สัญญา"ในทางธรรมะหมายถึง"ความจำ" คนๆนั้นจึงอาจมีความจำดีเพียงอย่างเดียว
เมื่อนักเรียนมีความจำดีสามารถจดจำคำสอนของครูบาอาจารย์ได้ดี เวลาสอบครูก็ออกข้อสอบตามที่สอน นักเรียนที่มีความจำดีย่อมทำข้อสอบได้ นั่นหมายถึงนักเรียนผู้นั้นมี"สัญญาดี"(ความจำดี)แต่"ปัญญา"อาจไม่มี
คนฉลาดจะต้องมีคุณสมบัติอย่างอื่นอีกหลายอย่างนอกเหนือจากมีปัญญาดี เช่น มีความสนใจใคร่รู้ ,มีความกระตือรือร้น , มีความมั่นใจในตัวเอง ,ชอบการเรียนรู้ แสวงหา และทดลองสิ่งใหม่ ๆ ,ไวต่อปัญหา , มีวิสัยทัศน์, มีความยืดหยุ่น., มีโลกทัศน์ที่กว้างไกล ,มีความมุ่งมั่น อดทน. ,กล้าตัดสินใจ ,มีหลักตรระที่ดี,มีเหตุผล ,มีอารมณ์ขัน และที่สำคัญที่สุดคือรู้จักใช้วิจารณญาณ ไตร่ตรอง คาดการณ์ได้อย่างละเอียด รอบคอบ และระแวดระวังรู้ทันคน
ส่วน"ความโง่"ในทางธรรมะเรียกความไม่รู้ว่า "อวิชา" ส่วนคนโง่นั้นพุทธศาสนาแบ่งเป็น 4 กลุ่มและกลุ่มสุดท้ายคือ "ปทปรมะ" ซึ่งแปลว่า"โง่ดักดาน" เป็นคน"ไร้ปัญญา"เหมือนบัวในตม ที่วัยรุ่นเรียกกันว่า"โค ตะ ร ะ โง่ "นั่นเอง
ครูบาอาจารย์เลวๆบางคนในยุคที่บ้านเมืองแตกแยกขาดจรรยาบรรณ ได้สอดแทรกการเมืองซึ่งเป็นเรื่องของความเชื่อส่วนตนให้ศิษย์วันละเล็กละน้อย โดยเจตนาให้ศิษย์เข้าใจว่าคือสิ่งที่ถูกต้อง
ศิษย์ซึ่งด้อยปัญญา(โง่)ที่เคยเห็นครูบาอาจารย์สอนในตำราอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันจึงรู้ไม่เท่าทันเล่ห์เหลี่ยมของครู ด้วยความที่ขาดปัญญาจึงเชื่อครูไปโดยไม่รู้ตัวเพราะขาดความระแวดระวังรู้ไม่เท่าทันครูชั่วๆเหล่านั้น พอจบออกมามักเรียกกันว่า "ปัญญาชน" แต่แท้จริงนั้นเป็นปัญญาชนทุกคนหรือเปล่า ส่วนศิษย์ที่ฉลาดจะเลือกเชื่อเฉพาะสิ่งที่ควรเชื่อเท่านั้น
ตามกาลามสูตรข้อที่ 10 ที่ว่า อย่าปลงใจเชื่อ เพราะนับถือว่าท่านสมณะนี้เป็นครูของเรา
ให้ดูองคุลีมาลเป็นตัวอย่าง
บางคนเรียนสูงจนจบด๊อกเตอร์ก็ยังคิดว่าคำสอนของอาจารย์นั้นถูกต้องทั้งหมด แต่อาศัยที่มี "สัญญา"(ความจำ)เป็นเลิศจึงเรียนจบกันสูงๆ แล้วหลงตัวเองว่าเป็นคนฉลาดมีปัญญารอบรู้ แต่หารู้ไม่ว่าที่จบมาได้นั้นเป็นเพราะมีเพียง "สัญญา"ดีเท่านั้น
คนที่ฉลาดปัญญาดีมักอ่อนน้อมถ่อมตัว เมื่อจบออกมาก็จะจัดไปอยู่ขั้วหนึ่งซึ่งมีจำนวนมากกว่า เพราะโดยสัจจะธรรมแล้วคนฉลาดย่อมมีมากกว่าคนโง่ ส่วนคนโง่จบออกมาก็ไปอยู่อีกขั้วหนึ่งและมักคุยโม้โอ้อวดว่าตนเองเรียนสูงฉลาดกว่าคนอื่นอยู่เป็นนิจ อย่างนี้เข้าข่าย"โง่แล้วอวดฉลาด"
นักวิชาการบางคนจึงควรเรียกว่า"นักวิชาเกิน" และอาจารย์บางคนควรเรียกว่า "อาจม"น่าจะถูกต้อง
อยากจะถามว่าคุณเป็นคนโง่หรือคนฉลาดก็เกรงใจ จึงขอถามว่า "คุณเป็นคนส่วนน้อยหรือคนส่วนมากครับ ??????"