๔. คณะนิติราษฎร์ยืนยันว่าผลพวงของรัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ ต้องถูกลบล้าง
แต่เนื่องจากการกระทำที่เป็นผลต่อเนื่องจากรัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ มีหลายรูปแบบ
ก่อตั้งสิทธิและหน้าที่และส่งผลกระทบต่อบุคคลจำนวนมาก
เพื่อรักษาความมั่นคงแน่นอนแห่งนิติฐานะและคุ้มครองความเชื่อถือไว้วางใจ
การลบล้างผลพวงของรัฐประหารดังกล่าว จึงต้องกระทำโดยคำนึงถึงบุคคลผู้สุจริตด้วย
ด้วยเหตุนี้ ในหลักการ คณะนิติราษฎร์
จึงไม่ได้เสนอให้ลบล้างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๔๙
และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ เป็นการทั่วไป
ส่วนที่คณะนิติราษฎร์เสนอให้ลบล้างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๔๙
เฉพาะมาตรา ๓๖ และมาตรา๓๗ ก็เนื่องจากบทบัญญัติทั้งสองมาตราดังกล่าวเป็นการนิรโทษกรรมการรัฐประหาร
และรับรองการกระทำใดๆของคณะรัฐประหารให้ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ
๕. การลบล้างผลพวงของรัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ ตามข้อเสนอของเรานั้นสามารถทำได้ในทางกฎหมาย
ดังตัวอย่างที่ปรากฏให้เห็นในนานาอารยประเทศ ได้แก่ การประกาศความเสียเปล่าของคำพิพากษาสมัยนาซีในเยอรมนี,
การประกาศความเสียเปล่าของการกระทำใดๆสมัยระบอบวิชี่ในฝรั่งเศส,
การประกาศความเสียเปล่าของคำพิพากษาที่ลงโทษบุคคลที่ให้ความช่วยเหลือผู้หลบหนีลี้ภัยจากนาซีในสวิตเซอร์แลนด์,
การประกาศความเสียเปล่าของการกระทำใดๆของรัฐบาลเผด็จการทหาร ตั้งแต่รัฐประหาร ๒๑ เมษายน ๑๙๖๗ ถึง
๒๕ พฤศจิกายน ๑๙๗๓ ในกรีซ,
การยกเลิกเอกสิทธิ์และความคุ้มกันของคณะรัฐประหาร ๑๒กันยายน ๑๙๘๐ ในการไม่ถูกดำเนินคดีในตุรกี
และความพยายามผลักดันให้ตรากฎหมายประกาศความเสียเปล่าของคำพิพากษาในสมัยระบอบฟรังโก้ในสเปนเป็นต้น
๖. ต่อข้อสงสัยที่ว่าเหตุใดคณะนิติราษฎร์จึงเสนอให้ลบล้างผลพวงของรัฐประหารเฉพาะรัฐประหาร๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ เท่านั้น
เหตุใดจึงไม่เสนอให้ลบล้างผลพวงของรัฐประหารในครั้งอื่นๆด้วย คณะนิติราษฎร์มีจุดยืนปฏิเสธรัฐประหารทุกครั้งที่ล้มล้างรัฐธรรมนูญ
และทำลายนิติรัฐ-ประชาธิปไตย แต่เหตุที่คณะนิติราษฎร์เสนอให้ลบล้างผลพวงของรัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ ในเบื้องต้นก่อนนั้น
ก็เพราะว่าผลพวงของรัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ ยังคงดำรงอยู่
และเป็นต้นตอของความขัดแย้งทางการเมืองซึ่งฝังรากลึกอยู่ในสังคมไทยในขณะนี้
๗. ข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์นี้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการไม่ยอมรับรัฐประหาร เมื่อระบบกฎหมาย-การเมืองเข้าสู่ปกติ
อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ (Pouvoir constituant) เป็นของประชาชน ประชาชนในฐานะรัฏฐาธิปัตย์ในระบอบประชาธิปไตย
ย่อมมีความชอบธรรมอย่างเต็มที่ในการลบล้างผลพวงของรัฐประหารคณะนิติราษฎร์ขอยืนยันว่า
แถลงการณ์ของเราเป็นไปเพื่อประโยชน์ทางวิชาการ โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของการปฏิเสธรัฐประหารอย่างถึงที่สุด
ข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์ยึดมั่นหลักการเคารพกระบวนการทางกฎหมายที่ถูกต้องและเป็นธรรม หลักความมั่นคงแห่งนิติฐานะ
และการคุ้มครองความเชื่อถือไว้วางใจต่อการดำรงอยู่ของกฎหมาย หลักการบังคับใช้กฎหมายอย่างเสมอภาค
ซึ่งหลักการทั้งหลายเหล่านี้จำเป็นอย่างยิ่งในนิติรัฐ-ประชาธิปไตย และคณะนิติราษฎร์ยืนยันที่จะปกป้องหลักการทั้งหลายเหล่านี้
อย่างสุดกำลังด้วยความบริสุทธิ์ใจ
วรเจตน์ ภาคีรัตน์
จันทจิรา เอี่ยมมยุรา
ฐาปนันท์ นิพิฏฐกุล
ธีระ สุธีวรางกูร
สาวตรี สุขศรี
ปิยบุตร แสงกนกกุล
ปูนเทพ ศิรินุพงศ์
คณะนิติราษฎร์ : นิติศาสตร์เพื่อราษฎร
ท่าพระจันทร์, ๒๕ กันยายน ๒๕๕๔
จาก.. http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1316932942&grpid=&catid=01&subcatid=0100