ตามแบบตุรกี...
ข้อเสนอให้ล้มล้างผลพวงของรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ของคณะนิติราษฎร์ ไม่ได้เกิดขึ้นที่ประเทศไทยเป็นแห่งแรก แต่ว่ามีตัวอย่างมาแล้วในหลายประเทศ
หลังจากรอคอยมานานถึง 31 ปีเต็ม ในที่สุดวันที่ชาวตุรกีรอคอยก็มาถึง เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคมที่ผ่านมา หัวหน้าอัยการของกรุงแองการา ประเทศตุรกี ออกประกาศให้นายพลคีนาน เอแรน อดีตหัวหน้านายพล ในวัย 93 ปี และนายทาห์ซิน ชาฮินคายา อดีตผู้บัญชาการกองทัพอากาศตุรกี เข้าสาบานตนเป็นผู้ต้องสงสัยในการก่อรัฐประหารเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2523
โดยอัยการแจ้งข้อกล่าวหาทั้งคู่ว่าเป็นผู้ก่อการรัฐประหาร และใช้กำลังแก้ไขรัฐธรรมนูญ ส่งผลให้ทั้งคู่ต้องเข้าให้การในศาล เริ่มต้นจากนายพลเอแรน ที่ถูกไต่สวนไปแล้วเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งเขาก็ยืนยันกับอัยการพิเศษว่า เขาไม่เคยรู้สึกเสียใจกับการก่อรัฐประหารเมื่อปี 2523 และถ้าเขาย้อนเวลากลับไปได้ เขาก็จะทำเช่นเดิมอีก เพราะว่าในขณะนั้นประเทศอยู่ในช่วงย่ำแย่
โดยหลังการก่อรัฐประหารเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2523 เป็นที่ปรากฏชัดว่า ประชาชนถึง 650,000 คน ซึ่งส่วนใหญ่ถูกกล่าวหาว่าเป็นฝ่ายซ้ายถูกจับกุมกักขัง และประชาชนอีก 230,000 ถูกนำตัวขึ้นพิจารณาคดีในศาล อัยการทหารตัดสินให้ประชาชน 7,000 คนต้องรับโทษประหาร ในขณะที่ชาวเติร์กกว่า 14,000 และประชาชนเชื้อสายอื่นอีกกว่า 30,000 คนต้องลี้ภัยอยู่นอกประเทศ
ด้านสถานการณ์ในเรือนจำหลังการรัฐประหาร พบนักโทษ 299 ราย เสียชีวิตอย่างไม่ทราบสาเหตุ อีก 14 รายเสียชีวิตจากการอดอาหารประท้วง และอีก 171 รายเสียชีวิตจากการถูกทำร้ายจากกองกำลังรักษาความปลอดภัย
แม้ว่าในรัฐธรรมนูญฉบับรัฐประหารจะยังคงมีผลบังคับมาจนถึงปัจจุบัน และมีมาตราที่ให้เอกสิทธิ์และความคุ้มกันคณะรัฐประหารเมื่อปี 2523 เอาไว้ แต่เมื่อวันที่ 12 กันยายนของปีที่ผ่านมา ซึ่งก็คือวันครบรอบ 30 ปีของการรัฐประหาร รัฐบาลพรรคความยุติธรรมและการพัฒนา ได้กำหนดให้มีการลงประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ในหลายๆ ส่วน ซึ่งรวมถึงการปฏิรูประบบตุลาการ การให้สิทธิแก่ผู้หญิงและคนพิการ
และหนึ่งในนั้นก็คือการยกเลิกมาตรา 15 ซึ่งเท่ากับเท่ากับเป็นการยกเลิกเอกสิทธิ์และความคั้มกันของคณะรัฐประหาร 12 กันยายน 2523 และทำให้บุคคลผู้มีเกี่ยวข้องกับการรัฐประหารเหล่านี้ จะต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมายในประเทศตุรกี ซึ่งสุดท้ายแล้วการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ได้รับความเห็นชอบจากประชาชนร้อยละ 58
...เอามาจากvoice tv