เผยพบทุจริตติดCCTVในภาคใต้ เตรียมสอบเพิ่ม-ชงนายกฯเอาผิด
นายเจะอามิง โต๊ะตาหยง ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ความมั่นคงแห่งรัฐ สภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงผลการตรวจสอบการติดตั้งทีวีวงจรปิดในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า จากการลงพื้นที่ตรวจสอบในทุกจังหวัด พบว่าไม่มีความคืบหน้าในการติดตั้ง มีเพียงจังหวัดสงขลา ที่ติดวงจรปิดในบางจุด แต่ไม่มีการเดินสายไฟเบอร์ออฟติก ส่วนพื้นที่ จ.ยะลา นราธิวาส และปัตตานี ไม่พบว่ามีการติดทีวีวงจรปิด และการวางสายไฟเบอร์ออฟติกในพื้นที่ใด รวมทั้งยังพบการเปลี่ยนเสป็ค เช่น เซิร์ฟเวอร์ สำหรับการบันทึกภาพจากกล้อง และเปลี่ยนจอมอนิเตอร์
นายเจะอามิง กล่าวต่อไปว่า กมธ.ยังพบข้อพิรุธภายหลังจากที่มีการเชิญ บริษัท ดิจิตอล รีเสิร์ช แอนด์ คอนซัลทิ่ง จำกัด หรือ DRC ซึ่งได้รับสัมปทานจากรัฐในการติดตั้งกล้อง CCTV รวม 3,520 จุด และกล้องพราง 7,000 ตัว เพื่อเฝ้าระวังเหตุร้าย รวมมูลค่ากว่า 900 ล้านบาท มาชี้แจงถึงความคืบหน้าของโครงการเมื่อวันที่ 23 ก.ค. 52 แต่ล่าสุดกลับพบว่าบริษัทดังกล่าวได้ทำหนังสือถึงสำนักงานปลัดกระทรวง มหาดไทย ขอยกเลิกหนังสือสัญญาการติดตั้งทีวีวงจรปิดและวางสายไฟเบอร์ออฟติก ลงวันที่ 22 ก.ค. 52 ซึ่งถือว่าเป็นการทำหนังสือย้อนหลัง จึงอาจจะเป็นประเด็นการปิดบังซ่อนเร้นในการให้ข้อมูลต่อกมธ.
ประธานกมธ.ความมั่นคงแห่งรัฐ กล่าวว่า จากการสอบสวนในเบื้องต้น ได้ตั้งข้อสังเกตว่า การขอยกเลิกสัญญาในโครงการของรัฐของบริษัทเอกชนผู้ได้ประมูลสามารถทำได้หรือ ไม่ เพราะบริษัทยังคงค้างค่าปรับล่าช้ากับรัฐกว่า 48 ล้านบาท และยังคงไม่มีความคืบหน้าของสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย หน่วยงานที่เร่งรัดและตรวจสอบดูแล ในการติดตามทวงถามค่าปรับต่อพฤติการณ์ดังกล่าวที่เกิดขึ้น ซึ่งตนเห็นว่ามีกระบวนการทุจริตงบติดตั้งทีวีวงจรปิด ซึ่งเป็นกระบวนการที่หากินกับงบประมาณของรัฐ ที่เริ่มตั้งแต่การฮั้วประมูล ที่ได้เลือกบริษัทที่ประมูลได้ราคาต่ำกว่าราคากลางแค่ 3 ล้านบาท แต่ไม่มีความเชี่ยวชาญด้านการติดตั้ง และการวางระบบไฟเบอร์ออฟติก
นอกจากนี้ ยังมองเห็นถึงความหละหลวมต่อการติดตามการใช้งบประมาณของภาครัฐ ที่ไม่ตรวจสอบหนังสือสัญญาให้ถี่ถ้วน ทั้งจากร่างหนังสือทีโออาร์ ที่มีคณะกรรมการทีโออาร์ รับรองเพียง 3 คน จากข้อกำหนด 5 คน และการตั้งคณะกรรมการรับรองผลการตรวจงานที่ไม่ใช่ชุดเดียวกับคณะกรรมการร่าง ทีโออาร์ โดยสังเกตว่า การแบ่งคณะกรรมการออกเป็น 2 คณะ เพื่อเป็นการให้คณะกรรมการทีโอาร์พ้นผิดทางคดีหากถูกฟ้องร้อง ขณะที่คณะกรรมการตรวจรับงาน ก็ไม่เคยรับรองงานของบริษัทดังกล่าว เนื่องจากเป็นการทำผิดระเบียบ และหากลงนามไปอาจถูกฟ้องร้องในภายหลังได้
นายเจะอามิง กล่าวว่า การทุจริตครั้งนี้ ถือเป็นโครงการใหญ่ที่สุดของงบประมาณแก้ปัญหาภาคใต้ ตั้งแต่ปี 2547 ที่มีการตรวจพบ ทำให้มองถึงความไม่จริงใจ และเป็นการซ้ำเติมสภาพจิตใจของคนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ต้องการได้งบประมาณมาเพื่อแก้ปัญหาความไม่สงบสุข อย่างไรก็ตาม สัปดาห์หน้าทางกมธ.จะประชุมดำเนินการทางกฎหมายกับบริษัท DRC และสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย ต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น จากนั้นจะนำเสนอต่อนายกรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง เพื่อเอาผิดขบวนการทุจริตทั้งหมด ที่เชื่อว่าน่าจะมีทั้งนักการเมืองและข้าราชการประจำเกี่ยวข้องด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับโครงการติดตั้งกล้อง CCTV ในพื้นที่ภาคใต้ริเริ่มในสมัยพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ โดยมีนายอารีย์ วงศ์อารยะ เป็นรมช.มหาดไทย เป็นผู้ดูแล จนกระทั่งเกิดการปฏิวัติรัฐประหาร รัฐบาลของพล.อ.สุรยุทธ์ จุลลานนท์ อดีตนายกฯ มีการสานต่อโครงการและอนุมัติงบสั่งซื้อกล้อง ซึ่งมีนายอารีย์ วงศ์อารยะ เป็นรมว.มหาดไทย นายพงศ์โพยม วาศภูติ เป็นปลัดกระทรวงมหาดไทย และบริษัท DRC ได้รับงบล่วงหน้าไปแล้วกว่า 140 ล้านบาท แต่ผ่านมาจนถึงขณะนี้โครงการกลับไม่มีความคืบหน้าใดๆ
กรุงเทพธุรกิจ
การเมือง
วันที่ 10 กันยายน 2552 06:00
http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/politics/politics/20090910/76280/%E0%B9%80%E0%B8%9C%E0%B8%A2%E0%B8%9E%E0%B8%9A%E0%B8%97%E0%B8%B8%E0%B8%88%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B8%95%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%94CCTV%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%84%E0%B9%83%E0%B8%95%E0%B9%89-%E0%B9%80%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%A1%E0%B8%AA%E0%B8%AD%E0%B8%9A%E0%B9%80%E0%B8%9E%E0%B8%B4%E0%B9%88%E0%B8%A1-%E0%B8%8A%E0%B8%87%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%81%E0%B8%AF%E0%B9%80%E0%B8%AD%E0%B8%B2%E0%B8%9C%E0%B8%B4%E0%B8%94.html
แถมหลักฐานเพิ่มเติม
ที่รัฐสภา วันที่ 30 กรกฎาคม 2552 นายเจะอามิง โตะตาหยง ส.ส.นราธิวาส พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ สภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงผลการติดตามตรวจสอบโครงการติดตั้งกล้องวงจรปิดในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนใต้ว่า โครงการนี้กระทรวงมหาดไทยสมัยนายอารีย์ วงศ์อารยะ เป็น รมว.มหาดไทย, พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ได้อนุมัติงบประมาณ 969 ล้านบาท เพื่อใช้ในการเฝ้าระวังการก่อเหตุรายวันของกลุ่มผู้ก่อการร้ายด้วยการติด ตั้งกล้องวงจรปิด แต่จากการตรวจสอบปรากฏว่า การดำเนินการของบริษัท ดิจิตอล รีเสิร์ช แอนด์ คอนซัลทิ่ง จำกัด (DRC) ในการติดตั้งกล้อง CCTV รวม 3,520 จุด ไม่เป็นไปตามกำหนดเวลาที่ตกลงกันไว้
http://www.ryt9.com/s/tpd/846764