ผมเองมิได้ชื่นชมในการรัฐประหาร แต่เผอิญไม่ใช่คนดัดจริตที่จะทำตัวว่าไม่ยอมรับว่าอำนาจรัฐประหารที่แม้แต่รัฐบาลส่วนใหญ่ของประเทศนั้น หรือสภาของประเทศนั้นๆ ก็ยังให้การรับการยอมรับ (ขนาดคนระดับคณะรัฐมนตรี สส.ยังให้การยอมรับ และแสดงออกทางการบริหารงานการทำงานในสภาผมเองก็เป็นแค่ประชาชนคน) และผมไม่เคยนึกตำหนิศาลว่าทำไมศาลจึงไปอ้างอำนาจของคณะรัฐประหาร เพราะในข้อเท็จจริงกว่าคดีจะถึงศาล กว่าศาลจะพิพากษาได้ ในช่วงเวลานั้น สังคมหรือฝ่ายบริหาร หรือฝ่ายนิติบัญญัติมัวไปทำอะไรอยู่ จึงปล่อยให้ประกาศและคำสั่งของคณะรัฐประหารมีผลทางกฎหมายอยู่ จนถึงวันที่ศาลพิพากษาคดี
ก็ในเมื่อสังคมหรือฝ่ายบริหาร หรือฝ่ายนิติบัญญัติ ปล่อยให้ประกาศและคำสั่งของคณะรัฐประหารมีผลทางกฎหมายอยู่ในวันที่ศาลพิพากษาคดี ศาลก็ต้องถือว่าสังคมให้การยอมรับต่ออำนาจคณะปฏิวัติรัฐประหาร เพราะหากสังคมไม่ยอมรับ ฝ่ายบริหารหรือฝ่ายนิติบัญญัติที่มีหน้าที่ต้องดูแลเรื่องนี้โดยตรง ก็คงได้มีการแก้ไขยกเลิกคำสั่งประกาศเหล่านั้นไปแล้ว คำสั่งหรือประกาศนั้นไม่อยู่รอดมาเป็นแรมเดือนหรือแรมปีจนมีปรากฏเป็นตัวบทให้ศาลต้องหยิบหยกมาใช้ในการพิจารณาคดีเลย
การจะยกเลิกอำนาจของประกาศหรือคำสั่งของคณะรัฐประหารนั้น จะกระทำได้ก็ต้องทำเสียแต่ในวันแรกๆของการรัฐประหาร เหมือนอย่างที่ไทยก็เคยมีประสบการณ์ เช่นกรณีกบฐเมษาฮาวายสมัยเปรม การปฏิเสธอำนาจรัฐประหารต้องเสียแต่ในตอนเริ่มจนคณะรัฐประหารกลายเป็นกบฐ แต่หากปล่อยล่วงเลยไปย่อมเท่ากับว่าสังคมให้การยอมรับการรัฐประหารไปโดยปริยาย และการแก้ให้หวนคืนนั้นยาก เพราะมีผู้สุจริตที่ต้องปฏิบัติตามคำสั่งประกาศหรือไปเกี่ยวข้องกับประกาศคำสั่งเหล่านั้นมากมาย จนการประกาศให้ผลของประกาศคำสั่งของคณะรัฐประหารเสียเปล่าเมื่อเวลาล่วงเลยไปนั้น แทบเป็นไปไม่ได้ เพราะจะก่อความโกลาหลอย่างมิอาจจะพรรณนา
ตัวอย่างหากประกาศคำสั่งของคณะปฏิรูปเป็นเสียเปล่า จะมีปัญหาว่าคณะรัฐบาลสุรยุทธ์ชอบด้วยกฎหมายไหม พรบ.งบประมาณที่รัฐบาลนั้นทำและจ่ายออกไป จะเสียเปล่าต้องเรียกคืนจากประชาชนที่ได้เงินจากรัฐบาลสุรยุทธ์หรือไม่ กฎหมายที่ออกมาในระหว่างนั้น และมีผู้ปฏิบัติมีผลกระทบจะทำอย่างไร ข้อตกลงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ การว่าจ้างของหน่วยราชการภายใต้รัฐบาลสุรยุทธ์ที่ทำกันไปแล้วเสียเปล่าเช่นนั้นหรือ รัฐธรรมนูญ 2550 ที่มีที่มาจากการสสร.ของคณะรัฐประหารเสียเปล่าหรือไม่ สภาและรัฐบาลชุดต่อๆมาที่มาจากรัฐธรรมนูญ2550 เสียเปล่าหรือไม่ งบประมาณรัฐบาลนั้นจ่ายออกไปหรือข้อตกลงที่รัฐบาลนั้นๆทำไปเสียเปล่าหรือไม่
คำถามข้างบนนี้ก็คงต้องหาทางตอบกันไปให้ได้ แต่เอาเป็นว่าหากไม่พอใจที่ศาลยกเอาอำนาจคณะรัฐประหารมาอ้างในคำพิพากษา ก็ทำไมรัฐบาลคุณปูไม่ผลักดันให้สภาที่มีพรรคเพื่อไทยอยู่ ออกกฎหมายเพื่อให้ศาลปฏิบัติเสียให้ชอบ ตามแนวทางที่พรรคเพื่อไทยเห็น ซึ่งก็ไม่ยากอะไรเพียงแต่ออกกกฎหมายมาให้ศาลถือปฏิบัติให้ชัดเจนเท่านั้น เช่นกฎหมายการพิจารณาคดีของศาลที่เกี่ยวข้องกับประกาศคำสั่งคณะปฏิวัติหรือคณะรัฐประหาร โดยระบุไปในกฎหมายนี้เลยครับว่า ในการพิจารณาคดีของศาล มิให้ศาลยกเอาคำสั่งของคณะรัฐประหารไม่ว่าชุดใดๆ มาใช้ในการพิจารณาคดี ให้สภาออกมาเป็นพระราชบัญญัติว่าด้วยการพิจารณาคดีเลยครับ เพียงเท่านี้ก็จบ เชื่อได้เลยว่าศาลจะไม่สามารถอ้างประกาศหรือคำสั่งของคณะรัฐประหารไม่ว่าชุดใดๆได้อีกอย่างแน่นอน
แต่การออกกฎหมายหรือพระราชบัญญัตินี้จะก่อผลกระทบแก่สังคมอย่างไร จะก่อความวุ่นวายหรือไม่ คงคิดกันองได้ แต่บอกได้เลยว่า หากไม่แก้กฎหมายที่มาจากคณะรัฐประหารที่ฝั่งตัวอยู่ในระบบกฎหมายไทยจำนวนมากแล้วละก้อ คงวุ่นกันมากทีเดียว แต่โดยสรุป กรุณาอย่าไปตำหนิศาลเลย ควรตำหนิฝ่ายบริหารหรือฝ่ายนิติบัญญัติมากกว่า ที่ไม่จัดการเรื่องนี้ให้ชัดเจน
หรือว่าต้องการจัดการเฉพาะบางคดีที่มีคุณทักษิณเกี่ยวข้องเท่านั้น อันนี้ต้องถามใจคุณปูและพรรคเพือไทย