สถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ตกต่ำเป็นอุปสรรคต่อการทำงานของรัฐบาลอยู่แล้ว ยังมาเจอ "วิกฤตน้ำท่วม" ให้อีก
ยิ่งน้ำท่วมนานเสียงวิจารณ์ก็เริ่มมาก รัฐแก้ปัญหาล่าช้า ไม่ทั่วถึง ได้แต่ "รับมือ" ขาดการวางแผนล่วงหน้า
ประเด็นเหล่านี้ส่งผลต่อเสถียรภาพรัฐบาลแน่นอน แต่มองอีกมุมหนึ่งหากรัฐบาลทำได้ดี
อาจกลายเป็นการพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสได้เช่นกัน
พิเชต สุนทรพิพิธ
ส.ว.สรรหา ภาควิชาการ
น้ำท่วมครั้งนี้ไม่ใช่เรื่องปกติ เป็นเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ที่เกิดจากภัยธรรมชาติติดกัน และปล่อยประละเลยมีการทำลายธรรม ชาติ ตัดไม้ทำลายป่า ถมคูคลอง สร้างถนน หมู่บ้านจัดสรรขวางทางน้ำ เหล่านี้มีโอกาสทำให้เกิดน้ำท่วม
จะเห็นว่าครั้งนี้รัฐบาลทำได้เพียงแก้ไขเฉพาะหน้า เมื่อน้ำมาเร็วและมีจำนวนมาก จะขวางก็ยาก ทำนบที่ทำไว้ทยอยพัง
จึงน่าจะนำมาเป็นบทเรียนไว้เมื่อน้ำลดต้องวางแผนกันเป็นระบบ ต้องบูรณาการกัน จะเป็นกระทรวงน้ำ หรือนำเข้าสู่วาระแห่งชาติก็ต้องทำ ต้องช่วยกันคิดทำอย่างไรให้น้ำจากภาคเหนือไหลออกสู่ทะเลให้เร็วที่สุดให้ได้
มีการเตือนระวังก่อนน้ำท่วม 3-4 เดือน ไม่เห็นหน่วยงานของกทม.ออกมาขุดลอกคูคลองระบายน้ำ สมัยก่อนยังเห็นนักโทษที่ใกล้จะพ้นโทษ ออกมาลอกคลองระบายน้ำ แต่เดี๋ยวนี้ผมไม่เห็น แสดงว่าทุกภาคส่วนไม่ได้รับมืออย่างเต็มที่
ที่อยากแสดงความเห็นคือ สถานการณ์เวลานี้คนในชาติต้องสามัคคี พรรครัฐบาลและพรรคฝ่ายค้านควรหยุดเล่นเกมการเมือง เลิกทะเลาะเบาะแว้ง น่าจะจับมือและร่วมใจกันบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชน แต่ดูข่าวจากหนังสือพิมพ์เห็นแต่ข่าวหาเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการแก้พ.ร.บ.กลาโหม
นายกฯ ดูเอาจริงเอาจังลงไปลุยเอง เสาร์อาทิตย์ก็ยังลงไป ถือว่าสอบผ่าน แต่รัฐมนตรีท่านอื่นไม่แน่ใจ ไม่ค่อยเห็นในข่าวทางหนังสือพิมพ์ ทีวี มีแต่นายกฯ ออกมาเต้นแร้งเต้นกาคนเดียว
คณะรัฐมนตรีน่าจะต้องเดือดร้อนกันมากกว่านี้ เช่นรัฐมนตรีที่คุมด้านการท่องเที่ยวต้องออกมาวิเคราะห์ พูดถึงการดูแลการป้องกันสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญๆ รัฐมนตรีคนอื่นก็ควรออกมาช่วยกันเต็มที่มากกว่านี้ อย่าเอาแต่อยู่ในวอร์รูมอย่างเดียว
เห็นได้จากชาวบ้านหลายหมู่ บ้านยังไม่ได้รับถุงยังชีพ แต่หมู่บ้านต้นๆ บอกได้รับแล้ว 5-6 ครั้ง เพราะปัญหาการแจกจ่ายไม่ทั่วถึง ทำให้การบรรเทาทุกข์ให้ชาวบ้านเข้าไปไม่ถึง หน่วยงานราชการ บางครั้งก็ทำเพียงให้เสร็จๆ ไป รัฐมนตรีต้องลงไปกำกับ
การแก้ไขน้ำท่วมครั้งนี้จะส่งผลต่อเสถียรภาพของรัฐบาลหรือไม่ ผมว่าเป็นได้ทั้งบวกและลบ เพราะวิกฤตที่นายกฯ จะต้องเจอะเจอครั้งนี้ นายกฯ จะได้โชว์ฟอร์ม จะได้รับความนิยมหรือล้มเหลว เป็นได้ทั้งคู่
เหตุการณ์ครั้งนี้รุนแรงเกินกว่าจะแก้ไขแต่สามารถบรรเทาให้เบาลงได้ และจะให้นายกฯ คนเดียวไปป้องกันน้ำคงไม่ได้ หากนายกฯ ทำงานเข้าตาประชาชนจนคิดว่าสุดวิสัยของการช่วยเหลือ สุดความสามารถบรรเทาหนักเป็นเบา
ตรงนี้ต่างหากท่านจะได้คะแนนนิยม แต่ถ้าทำแล้วล้มเหลวก็จะเป็นผลลบ จึงเป็นการพิสูจน์บทบาทความสามารถของนายกฯ ซึ่งถือเป็นช่วงที่ค่อนข้างเร็ว เพราะเข้ามาบริหารงานพียงเดือนกว่าก็เจอวิกฤตนี้แล้ว
แถมยังมีปัจจัยหลายด้านเข้ามาอีก แต่ถ้าผ่านวิกฤตนี้ได้จะมีโอกาสทำงานต่อไปได้
แต่ถ้าคณะรัฐมนตรีไม่ออกมาร่วมไม้ร่วมมือ คะแนนก็ลดลง เพราะการทำงานต้องการทีมเวิร์ก ไม่ใช่เห็นแค่รองนายกฯ ยงยุทธ วิชัยดิษฐ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก
รัฐมนตรีทุกคนและทุกภาคส่วนทุกหน่วยงานต้องออกมาช่วยกัน
พรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล
รองประธานกรรมการหอการค้าไทย
ปัญหาน้ำท่วมคงไม่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อเสถียร ภาพของรัฐบาล เนื่องจากเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจากภัยธรรมชาติที่ไม่สามารถควบ คุมได้ ไม่ได้เกิดจากการกระทำของรัฐบาล
แต่อาจกระทบต่อเสถียร ภาพของรัฐบาลได้ หากไม่ สามารถแก้ไขปัญหาน้ำท่วมได้รวดเร็วและทันท่วงที โดยเฉพาะการส่งความช่วยเหลือให้ถึงมือประชาชน ซึ่งขณะนี้ประชาชนกำลังจับตามองการทำงานของรัฐบาลอย่างใกล้ชิด
ที่หลายฝ่ายมองว่าปัญหาน้ำท่วมรุนแรงเกิดขึ้นเพราะรัฐบาลไม่มีแผนเตรียมการป้องกันที่ดี ผมมองว่าแม้รัฐบาลจะมีการวางแผนที่ดีแต่หากไม่มีเครื่องมือในการแก้ไขปัญหา ก็คงไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้
ต้องยอมรับว่าระบบหรือกลไกการแก้ไขปัญหาของไทยไม่ดี ทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากในพื้นที่เดิมตลอดเวลา
ดังนั้น รัฐบาลควรต้องมีการบูรณาแผนการแก้ไขปัญหาระยะยาว 5-15 ปี เพื่อไม่ให้ประเทศไทยเกิดปัญหาน้ำท่วมอีก ซึ่งมองว่าสามารถทำได้
สุริชัย หวันแก้ว
อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ
ขณะนี้ชาวบ้านประสบความลำบากจากเหตุน้ำท่วมเป็นวงกว้าง ทุกภาคส่วนต้องช่วยกันแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า
รัฐบาลจึงควรมีหน้าที่มากกว่าให้ข่าวประจำวัน ต้องเตรียมแผนขั้นต่อไปที่จะดูแลไม่ให้สถาน การณ์ร้ายแรงขึ้น ไม่ใช่ให้ข่าวฉาบฉวยไปวันๆ จะทำให้ข่าวน้ำท่วมกลายเป็นโฆษณาบุคคลมากกว่าการทำหน้าที่
รัฐบาลมีความมั่นคงในชีวิตแต่ชาวบ้านไม่มี จึงจำเป็นที่รัฐบาลต้องมีภาวะความเป็นผู้นำ ไม่ใช่ทำเพื่อหน้าตาตัวเอง และควรมีหลายบทบาท ไม่ใช่อยู่บนหอคอยเพียงอย่างเดียว
รัฐบาลต้องให้ความสำคัญกับพื้นที่ที่อยู่ไกลหูไกลตาด้วย และควรมีแผนสำหรับพื้นที่ที่เป็นแผนการแก้ไขจริงๆ ไม่ใช่แผนหลอกเด็ก ไม่ทำให้ประชาชนฝันว่าการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมนั้นทำได้อย่างถาวร
รัฐบาลควรเรียนรู้การอยู่กับธรรมชาติ ใช้ภูมิปัญญา ถอดความรู้เสียใหม่ ไม่ใช่มานั่งวางแผนตามหลักการอย่างเดียว เพราะที่ผ่านมาเราได้ใช้ที่ดินกันแบบไม่บันยะบันยัง กั้นทางน้ำไหลตามธรรมชาติจึงส่งผลกระทบอย่างที่เห็น เราไปเปลี่ยนแปลงธรรมชาติ
ผมมองว่าที่ผ่านมา รัฐบาลยังทำงานได้ไม่สมบทบาท การเชื่อวิศวกร เชื่อชลประทานในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมมันแก้ได้ไม่หมด เราต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับน้ำอย่างวิถีในอดีต
ชาวบ้านเขาต้องการหน่วยงาน ต้องการคนที่จะเข้ามาช่วยเหลือเขาจริงๆ รัฐบาลจึงควรให้ความสำคัญกับหน่วยงาน ชุมชน หรือองค์กรต่างๆ ที่เข้าไปช่วยชาวบ้านด้วย เพราะรัฐบาลไม่ใช่พระเอกเสมอไป
รัฐบาลจะอยู่ได้ยาว ไม่ยาว ไม่สำคัญ แต่สำคัญตรงที่รัฐบาลสามารถผ่อนความทุกข์ยากลำบากของชาวบ้านได้แค่ไหน
สมมาต ขุนเศษฐ
เลขาธิการสภาอุตสาหกรรมฯ
ขณะนี้ภาคเอกชนเริ่มพึงพอใจการแก้ไขสถานการณ์น้ำท่วมของรัฐบาล ภายหลังจากที่มีการจัดตั้งศปภ. ทำให้ภาพรวมในการแก้ไขปัญหาดีขึ้น เนื่องจากเป็นการรวมจุด ศูนย์กลางความช่วยเหลือ ไม่กระจัดกระจายเหมือนที่ผ่านมา
ขณะเดียวกันภาคเอกชน หรือภาคประชาชน ก็จะมีส่วนร่วมได้สะดวกยิ่งขึ้น โดยมีรัฐบาลเป็นหน่วยงานหลักในการกระจายความช่วยเหลืออย่างทั่วถึง
แต่ยังไม่สามารถระบุได้ว่าการแก้ไขรัฐบาลสอบผ่านแล้วหรือไม่ ความมั่นใจในเสถียรภาพของรัฐบาลในระยะยาวจะเป็นอย่างไร ต้องรอดูการแก้ไขปัญหาทั้งหมด เพราะสถานการณ์ยังไม่ได้คลี่คลาย
ที่ผ่านมาภาคเอกชนยังค่อนข้างเป็นกังวลอย่างมากต่อการให้ข้อมูลที่ถูกต้อง และความรวดเร็วในการให้ข่าวที่ถือว่ายังล้มเหลว จึงเสนอให้รัฐบาลแถลงข่าวรายงานสถานการณ์น้ำท่วมต่อเนื่อง ไม่ใช่ 3 ชั่วโมงครั้ง เพราะยังช้าไป
หากจำเป็นต้องอพยพ เวลาแค่ 3 ชั่วโมงจะถือว่าไม่ทันการณ์ ขณะเดียวกันควรจัดทีมโฆษกรัฐบาลมาแถลงด้วยตนเอง
ปัญหาใหญ่คือเรื่องของข้อมูลที่ยังเป็นไปคนละทิศละทาง ภาคเอกชน ภาคประชาชนต้องการข้อมูลสถานการณ์ที่ชัดเจนและถูกต้องแม่นยำจากรัฐบาล เพื่อเตรียมมือรับสถานการณ์ให้ทัน
ที่ผ่านมาปัญหาลุกลามก็เพราะเราไม่ได้ข้อมูลที่ถูกต้อง และได้ข้อมูลไม่มาก อาศัยติดตามการรายงานของสื่อเท่านั้น ทำให้การ เตรียมการรับมือจึงมีประสิทธิภาพน้อยตามไปด้วย
หลังจากที่น้ำเริ่มลด รัฐบาลควรเร่งผลักดันมาตรการฟื้นฟูเยียวยาออกมาโดยเร็วที่สุด โดยเฉพาะในส่วนของลูกจ้างที่คาดว่าต้องตกงานเป็นจำนวนมาก ส่วนโรงงานก็ต้องใช้เวลาฟื้นฟูหลายเดือน กว่าจะกลับมาจ้างงานได้ตามปกติ
รัฐบาลต้องหาทางออกเตรียมไว้
http://www.khaosod.co.th/view_news.php?newsid=TUROd2Iyd3dNakV5TVRBMU5BPT0=§ionid=TURNd05BPT0=&day=TWpBeE1TMHhNQzB4TWc9PQ==
หลากหลาย มุมมอง การแก้ปัญหาของรัฐบาล
หึ หึ ... ดูความเห็นของอ.จ.รัฐศาสตร์ จุฬา ฯ
กับเลขาธิการ สภาอุตสาหกรรม ฯ
ใครชอบคคห.ของคนไหน ก็อ่านได้ตามสบาย
มันอยู่ที่เราพอใจ หรือไม่พอใจ รัฐบาลมากกว่า
แน่นอน บ้านใครจมน้ำ คงยากที่จะพอใจนะ
ที่บ้าน ไม่จมน้ำ เพราะอยู่กลางเมืองกรุง
แต่ก็เห็นใจทุกบ้านที่จมน้ำ ปริ่มน้ำ เพราะเคย
ผ่านประสบการณ์นั้นมาแล้ว เป็นกำลังใจให้ ทุกท่านค่ะ
ป.ล. หนุ่มหล่อ ...ตระกองขวัญ เป็นกำลังใจให้ สู้ สู้
หลังไมค์เต็มนะ ...ลบบ้างนะ ...สงสัยแฟนคลับเพียบ
อ้าว....เราก็เป็นกับเขาด้วยเหมือนกัน