จริงอยู่ คำทำนายนี้ ไม่ได้มาจาก หลวงพ่อฤาษีลิงดำโดยตรง
แต่คาดการณ์ว่า เป็นการนำเอาคำทำนายของท่านมาแต่งเป็นกลอน โดยศิษย์ของท่านบางคนที่ไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่าเป็นใคร และเป็นกลอนที่แต่งไว้เนิ่นนานมากแล้ว ก่อนที่จะเกิดเหตุความไม่สงบทางการเมืองเสียอีก ดูได้จาก วันเวลาการโพสต์แจ้งปฏิเสธกลอนบทนี้ของเว็บไซด์
ซึ่งแน่นอนว่าทางวัดต้องปฏิเสธเพราะไม่ใช่กลอนที่ท่านแต่งโดยตรง
และยังพบว่า คำทำนายนี้ หลวงพ่อฤาษีลิงดำ ไม่ใช่ผู้ทำนายเองทั้งหมด แต่จุดเริ่มต้นมาจากคำทำนายโบราณ ของพระอาจารย์สมัยก่อนกรุงศรีฯ แตก ที่ว่า ๑.มหากาฬผ่านมหายักษ์ ๒.รู้จักธรรม ๓.จำต้องคิด ๔.สนิทธรรม ๕.จำแขนขาด ๖.ราษฏร์ราชาโจร ๗.นั่งทนทุกข์ ๘.ยุคทมิฬ ๙.ถิ่นกาขาว ๑๐.ชาววิไล
ความโด่งดังของกลอนถิ่นกาขาวนี้ เพราะเหตุ มีทั้งหมด 14 บท ปัจจุบันได้เป็นจริงไปแล้ว 12 บท ซึ่งบทที่ 12 ก็คือ บทนารีขี่ม้าขาว นั่นเอง
"จะมีหนึ่งนารีขี่ม้าขาว ควงคฑามุ่งสู่ดาวสร้างความหวัง ผู้ปกครองจะเป็นหญิงพึงระวัง สายน้ำหลั่งกรากเชี่ยวหวาดเสียวใจ"
กลอนถิ่นกาขาวนี้ แทบจะบอกเหตุการณ์ต่างๆ ล่วงหน้าไว้อย่างตรงๆ และสิ่งที่เกิดขึ้นก็เกิดขึ้นตามนั้นตรงๆ ไม่ต้องตีความมากมายอย่างใดให้ยุ่งยาก ส่วนคำต่างๆ ก็ใช้สำนวนพื้นๆ ที่คนที่มีความรู้ด้านสำนวนภาษาไทย หรือนักกลอนก็จะรู้ความหมายหรือสิ่งที่ผู้ประพันธ์ต้องการสื่อได้
...แต่ที่ตีความกันไปต่างๆ นานา เพราะมักใช้ อคติ ในการตีความ...
เท่าที่เห็นซ้ำร้าย บางคนกลับพยายามบิดเบือน เนื้อหาของบทกลอน เช่น
อ้างว่า ไม่ใช่นารีขี่ม้าขาว แต่เป็นขัตติยะนารีขี่ม้าขาว เป็นการพยายามชักนำให้คนคิดว่า ผู้ที่จะมาสร้างความหวัง คือ เชื้อพระวงศ์ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริง เหตุใดผู้ประพันธ์ไม่ใช้คำที่มีความสัมพันธ์เกี่ยวกับเชื้อพระวงศ์ เพราะการระบุอย่างนั้น ย่อมเป็นการเทิดพระเกียรติแห่งวงศ์กษัตริย์ และเป็นการแสดงถึงความแม่นยำของการทำนายที่ระบุได้ชัดเจน แต่ความจริงที่ปรากฏคือ คำทำนายที่เกี่ยวข้องกับกลอนนี้ เป็นสิ่งต้องห้ามในอดีตมิให้เผยแพร่ และไม่มีการยืนยันชัดเจนจากแหล่งใดตามการอ้างดังกล่าว
อ้างว่า นารีขี่ม้าขาว เป็นคนละคนกับ ผู้ปกครองจะเป็นหญิง ในความเป็นจริง นารีขี่ม้าขาว ก็คือ อัศวินขี่ม้าขาว ความหมายที่รู้กันก็คือ เป็นฮีโร่ หรือคนที่ไม่มีใครรู้และคาดคิดมาก่อน ว่าจะมาเป็นผู้มาช่วยเหลือกอบกู้ในสถานการณ์อันเลวร้าย เมื่อเป็นสตรี จึงใช้คำว่า นารี แทน อัศวิน
เหตุการณ์นารีขี่ม้าขาวนี้ ย่อมมาก่อนหรือพร้อมกับเหตุผู้ปกครองจะเป็นหญิง แต่มิปรากฎว่า มีสตรีท่านใดในขณะนั้น ที่มีบทบาทในฐานะ ผู้สร้างความหวัง นอกจากสตรีที่คนที่หลายคน ไม่เคยรู้จัก ไม่คาดคิด และไม่อยู่ในสายตามาก่อน ที่มาปรากฎตัว เป็นหมายเลข 1 ในช่วงเวลาสั้นๆ และกลายมาเป็น ผู้ปกครอง คุณคิดว่า คือใคร...
อ้างว่า ถ้าเป็นสามัญชนน่าจะใช้ไม้เท้า มากกว่าคฑา คำว่า ควงคฑามุ่งสู่ดาวสร้างความหวัง ก็คือ เธอเหมือน ดรัมเมเยอร์ ที่ควงคฑา คฑาก็คือ ความเชื่อและศรัทธาของประชาชนที่ได้มอบให้เธอ นำหน้ากองทัพข้าราชการและนักการเมือง ไปแก้ปัญาของประเทศ ท่ามกลางเสียงเชียร์ของประชาชน ส่วนไม้เท้าในการตีความจะมุ่งไปที่ผู้สูงวัยมากกว่า
อ้างว่า ให้ระวังผู้ปกครองที่จะเป็นหญิง แท้จริงแล้ว ผู้ปกครองจะเป็นหญิงพึงระวัง เป็นการเตือนผู้ปกครองหญิงให้ระวัง สายน้ำหลั่งกราดเชี่ยวหวาดเสียวใจ หรือภัยพิบัติอันเกิดจากน้ำที่รุนแรงที่สุด บางท่านอาจตีความคำว่า สายน้ำ คือ กระแส ซึ่งกราดเชี่ยวหวาดเสียวใจ ก็คือ กระแสต่อต้านรุนแรง แต่อย่างที่บอก การตีความกลอนนี้ก็คือ ตีความตรงๆ ก็ชัดเจนในตัวอยู่แล้ว
สองบทสุดท้าย เป็น เรื่องดี มากกว่า เรื่องร้าย และเป็นเรื่องที่ก่อให้เกิด กำลังใจ ในการยืนหยัดต่อไป หลังจากเหตุภัยพิบัติทางธรรมชาติ เหตุใดจึงจะเป็นเรื่องไม่สร้างสรรค์
"ศิวิไลซ์จะบังเกิดในสยาม หลังฝนคร้ามลั่นครืนจะยืนได้"
ถ้าตีความตรงๆ จะได้ว่า หลังเหตุฝนตกน้ำท่วมใหญ่ครั้งใหญ่นี้ หรือถ้าตีความอีกอย่างก็คือ หลังการล่มสลายของบางสิ่งที่ครอบงำประเทศ จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของประเทศที่จะไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองสุดขีด ที่เรียกว่า ศิวิไลซ์ นั่นคือ
"จะเข้าสู่ยุคมหาชนพาไป เปลี่ยนเมืองใหม่ศักราชแห่งประชา"
ตีความตรงๆ ก็คือ อาจจะมีการลงประชามติยอมรับ การย้ายเมืองหลวง!! ซึ่งเป็นก้าวใหม่ของประวัติศาสตร์ไทยที่ต้องจารึก เพราะการตั้งราชธานีใหม่ กษัตริย์ทรงเป็นผู้ตัดสินพระทัยมาแต่ในอดีต แต่นี่คือการตัดสินใจของประชาชน จึงเรียกได้ว่า เป็นการเปิดศักราชแห่งประชา และเมืองใหม่นี้ จะมีความเจริญรุ่งเรืองอย่างมากในอนาคต
เหตุผลคงสืบเนื่องมาจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ ที่ไม่อาจเอาชนะได้ หลังภัยน้ำท่วมครั้งนี้ คงได้มาคิดกันถึงอนาคตของเมืองที่ได้ชื่อว่าเป็นหลวงของประเทศต่อไป
บทสุดท้าย 14 /14
"คนชั่วจะถูกปราบราบคาบสิ้น แผ่นดินเดือดสูญหายไร้ปัญหา"
ภัยพิบัติ หรือการย้ายเมือง อาจทำให้ฐานอำนาจของคนบางกลุ่มที่ก่อปัญหา อ่อนแอลง การปราบปรามผู้กระทำความผิด แน่นอนย่อมไม่ใช่การใช้วิธีการรุนแรง เพราะไม่ทำให้อะไรดีขึ้น และก่อปัญหาใหม่ตามมา แต่เป็นการเปิดโปงความชั่วด้วยหลักฐานที่ชัเจน จนไม่สามารถดิ้นหลุด การตัดสินโทษซึ่งได้รับการยอมรับไม่เป็นที่ครหา หรือไม่เป็นเหตุก่อให้เกิดการปลุกระดมต่อต้านได้ จึงจะเรียกว่า "ราบคาบสิ้น"
"ประเทศชาติผ่านวิกฤตด้วยศรัทธา ยามที่ฟ้าสีทองผ่องอำไพ"
สุดท้าย เราต้องพึ่งในส่งที่เรียกว่า "ศรัทธา" เพื่อผ่านวิกฤตต่างๆ ศรัทธา ก็คือ ความเชื่อมั่น และยอมรับในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง
ยุคศิวิไลซ์ที่มหาชนพาไป จะศรัทธาต่อสิ่งใด ถ้าไม่ใช่ ...ศรัทธาในการตัดสินใจของคนส่วนใหญ่ของประเทศ... จริงๆ แล้วนี่คือสาเหตุของปัญหาทั้งหมดที่ประเทศไทยกำลังเผชิญ เพราะการไม่เชื่อ และดูถูกเสียงคนส่วนใหญ่ของประเทศ ของคนบางกลุ่มนั่นเอง.
กลอนทำนายนี้ ในแง่หนึ่งก็เป็นกำลังใจและความหวังให้หลายคนยืนหยัดที่จะเฝ้ารอวันหลังฝนคร้ามลั่นครืน ที่จะพบกับความศิวิไลซ์หลังฝนซาฟ้าเปิด ซึ่งหมายถึงชีวิตที่ดีขึ้น
แต่ถึงกระนั้นก็เป็นแค่คำทำนาย ที่เป็นการคาดการณ์ อาจจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่จริงก็ได้ แต่ที่แน่ๆ...12 ใน 14 ก็เป็นจริงไปแล้ว จะเชื่อดีมั้ย ก็เล่นกันต่อไป และลุ้นกันต่อไป....