*** มาหาวิธีป้องกันน้ำท่วม และบรรเทาปัญหาภัยแล้งให้ประเทศไทยกันเถอะ ***
|
 |
ภัยพิบัติจากเหตุน้ำท่วมครั้งนี้นับเป็นครั้งร้ายแรงที่สุดครั้งหนึ่งของประเทศไทย ทั้งในด้านจำนวนผู้เดือดร้อน พื้นที่ๆได้รับผลกระทบ ความเสียหายด้านเศรษฐกิจจำนวนมหาศาล และเมื่อเราเร่งแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการเร่งระบายน้ำลงสู่ทะเลโดยเร็ว แต่หลังจากนี้อีกไม่กี่เดือนเราก็อาจเจอปัญหาใหม่คือ "ปัญหาภัยแล้ง" ซึ่งเป็นวงจรซ้ำๆซากๆที่อยู่คู่กับประเทศไทยมานาน โดยไม่มีผู้ใดสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างเป็นรูปธรรมและจริงจัง ถึงเวลาแล้วที่ประชาชนอย่างเราๆต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการสะท้อนปัญหา และเสนอแนวทางแก้ไขให้ภาครัฐหยิบไปพิจารณา การระดมสมองของคนจำนวนมาก อาจจะเกิดไอเดียดีๆที่ไม่เคยมีใครมองเห็น ไปเข้าตาผู้มีอำนาจสั่งการ หรืออาจเกิดเป็นกระแสเรียกร้องจากประชาชนเจ้าของประเทศเพื่อให้ภาครัฐเข้ามาพิจารณาแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังก็เป็นได้
ผมขอเริ่มตรงนี้เลยนะครับ
1. ปลูกป่าทั่วประเทศเพื่อคืนพื้นที่ซับน้ำให้ธรรมชาติ โดยรณรงค์ให้เป็นวาระแห่งชาติที่มีเป้าหมายชัดเจนว่าภายใน 5-10-20-30 ปีข้างหน้าจะมีพื้นที่ป่าเพิ่มขึ้นกี่ล้านไร่ แบ่งซอยพื้นที่รับผิดชอบไปยังหน่วยงานต่างๆ ทั้งกระทรวงเกษตรฯ กระทรวงทรัพยากรฯ และองค์กรบริหารส่วนท้องถิ่น เช่น อบจ. อบต. ให้ทุกหน่วยงานมีส่วนร่วมในการคืนผืนป่าให้ธรรมชาติ จัดหาแหล่งทุนทั้งจากเงินงบประมาณปกติ เงินสนับสนุนจากองค์กรณ์ระหว่างประเทศ รัฐวิสาหกิจที่มีผลประกอบการกำไรสูง และภาคเอกชนต่างๆที่มีจิตสำนึกที่จะมีส่วนร่วม โดยอาจมีมาตรการด้านภาษีช่วยกระตุ้นถ้าจำเป็น
2. ขุดลอกแม่น้ำลำคลองที่ตื้นเขินเพื่อรองรับปริมาณน้ำจำนวนมากในหน้าฝน จัดสร้างฝายชะลอน้ำกั้นลำน้ำเป็นระยะๆเพื่อชะลอความเร็วของน้ำไม่ให้ไหลลงสู่ทะเลเร็วเกินไป และทำหน้าที่ทดน้ำเข้าสู่อ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก ที่จะขุดไว้เป็นระยะๆตามสองฟากข้างของลำน้ำ
3. ขุดอ่างเก็บน้ำขนาดย่อมสองฟากข้างที่แม่น้ำไหลผ่านทุกๆระยะ 50 กม. ซึ่งสามารถผันน้ำเข้าไปเก็บในฤดูน้ำหลากเพื่อเก็บไว้ใช้หน้าแล้ง ทั้งเพื่อการอุปโภคบริโภคและการเกษตรกรรม พื้นที่ๆเหมาะสมคือที่ลุ่มมีน้ำท่วมขังจากเหตุน้ำท่วมครั้งนี้ ซึ่งเราสามารถดูได้จากภาพถ่ายดาวเทียมของภาครัฐที่ถ่ายเก็บไว้ โดยรัฐบาลอาจจำเป็นต้องออกพรบ.เวณคืนที่ดินถ้าจำเป็น
4. หาพื้นที่ๆเหมาะสมจัดทำแหล่งน้ำขนาดกลางเก็บน้ำได้ประมาณ 400-500 ล้านลูกบาศก์เมตร กระจายไปตามภูมิภาคต่างๆทั่วประเทศ โดยให้ความสำคัญกับพื้นที่ๆมีปัญหาความแห้งแล้ง เช่นภาคอีสานเป็นลำดับต้นๆ โดยมีระบบส่งน้ำที่มาจากแหล่งน้ำขนาดใหญ่ที่อยู่ใกล้ที่สุด เพื่อเพิ่มศักภาพพื้นที่เพาะปลูกและรองรับน้ำจำนวนมากในยามวิกฤติ
5. พัฒนาศักยภาพของแหล่งนำ้ขนาดใหญ่ที่มีอยู่ในปัจจุบัน เช่นอ่างเก็บน้ำเหนือเขื่อนต่างๆ แหล่งน้ำธรรมชาติขนาดใหญ่ เช่นกว๊านพะเยา บึงบรเพ็ด หนองหาร ให้มีระบบโครงข่ายเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน เช่นคลองส่งน้ำและท่อขนาดใหญ่ สามารถถ่ายเทน้ำภายในโครงข่ายได้ทั้งในช่วงน้ำมากและช่วงหน้าแล้ง และหาเส้นทางเพื่อผันน้ำจากแม่น้ำขนาดใหญ่ เช่นแม่น้ำโขงมาลงยังแหล่งน้ำในบริเวณใกล้เคียง เพื่อเก็บไว้ใช้ในหน้าแล้ง
6. สร้างประตูน้ำขนาดใหญ่กั้นปากแม่น้ำที่ไหลลงสู่ทะเล เช่นแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน เพื่อให้สามารถบริหารปริมาณน้ำได้ทั้งในหน้าฝนและหน้าแล้ง โดยไม่ต้องกังวลกับภาวะน้ำขึ้น-น้ำลงของน้ำทะเล และติดตั้งเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ให้สามารถระบายน้ำลงทะเลได้อย่างรวดเร็วเมื่อถึงคราวจำเป็น
7. พัฒนาองค์ความรู้ของเจ้าหน้าที่ๆเกี่ยวข้องกับการจัดเก็บและพยากรณ์น้ำ เช่นกรมชลประทาน การไฟฟ้าฝ่ายผลิต กรมอุตุนิยมวิทยาให้มีศักยภาพเพียงพอที่จะบริหารจัดการปริมาณน้ำทั่วประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ จัดทำแผนภูมิพื้นที่รับน้ำฝนและจัดสร้างสถานีตรวจวัดน้ำฝนให้เพียงพอและครอบคลุมพื้นที่นั้นๆ และมีซอฟท์แวร์ที่จะสามารถคำนวณปริมาณน้ำและเวลาที่น้ำจะไหลลงแหล่งน้ำต่างๆโดยอัตโนมัติ เชื่อมโยงข้อมูลเหล่านี้ไปยังศูนย์กลางซึ่งมีคณะทำงานวิเคราะห์และสั่งการภายใต้การดูแลของปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการเก็บกักหรือระบายน้ำตามแหล่งน้ำต่างๆ เพื่อให้เป็นการรวมศูนย์และเพื่อหาผู้รับผิดชอบในเวลาที่เกิดปัญหาไม่ว่าในยามน้ำท่วมหรือน้ำแล้ง
8. สร้างแบบจำลองพื้นที่ของประเทศไทย แสดงรายละเอียดระดับความสูงต่ำของพื้นที่ทั้งหมด (Contour) แม่น้ำลำคลองต่างๆ ปริมาณน้ำที่แต่ละแม่น้ำสามารถรองรับได้ เชื่อมโยงโครงข่ายแม่น้ำแต่ละสายเข้าด้วยกัน เมื่อผนวกกับข้อมูลของปริมาณน้ำในข้อ 7 จะสามารถวิเคราะห์ล่วงหน้าได้ว่า พื้นที่ใดจะถูกน้ำท่วมบ้าง สูงเท่าใด จะท่วมเมื่อใด และจะท่วมเป็นเวลาเท่าใด ( http://www.youtube.com/watch?v=-SRkeq1W97c&feature=player_embedded ) เพื่อประโยชน์ในการแจ้งเตือนภัยต่อประชาชน โดยแสดงเป็นภาพแผนที่ให้เข้าใจได้ง่าย (http://www.pantip.com/cafe/news/topic/NE11180575/NE11180575-131.jpg )
9. ออกกฎหมายเก็บภาษีน้ำท่วม เพื่อเยียวยาเจ้าของพื้นที่ผู้เสียสละให้น้ำท่วมพื้นที่ของตนไม่ว่าเต็มใจหรืออยู่ในภาวะจำยอม เช่นพื้นที่ไร่นาหรือบ้านเรือนซึ่งถูกผันน้ำเข้ามาท่วม เพื่อป้องกันพื้นที่เศรษฐกิจหรืออุตสาหกรรม ให้ได้รับเงินชดเชยอย่างสมควรแก่เหตุและเป็นธรรม โดยภาษีเหล่านี้ให้จัดเก็บจากผู้ที่อยู่ในพื้นที่ๆได้รับการดูแลและป้องกันเป็นพิเศษ เช่น กรุงเทพมหานคร เป็นต้น
ขอจบขอเสนอของผมแค่นี้ก่อนนะครับ และอยากให้เพื่อนๆมีส่วนร่วมในการเสนอแนะทางออกประเทศไทยของเรา ดังคำที่ว่า " หลายหัวดีกว่าหัวเดียวครับ "
แก้ไข - เพิ่มเติมข้อ 8 ครับ
แก้ไขเมื่อ 15 ต.ค. 54 11:06:32
จากคุณ |
:
One Putt
|
เขียนเมื่อ |
:
15 ต.ค. 54 08:56:41
A:223.207.153.63 X:
|
|
|
|