Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
ทำไมต่างประเทศประท้วงบ่อย แต่ไม่มีคนตาย ทำไมประเทศเราจึงมีคนตาย ติดต่อทีมงาน

มื่อวันพุธที่ 12 ตุลาคม 2554  ณ ห้องเลคเชอร์ ชั้น 2 อาคารมีเดีย อาร์ต แอนด์ ดีไซน์ หอศิลป์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีการจัดเสวนา "เดือนตุลา : ความรุนแรง สันติวิธี และ การต่อสู้ทางวัฒนธรรม"  โดย ภัควดี ไม่มีนามสกุล นักเขียนและนักแปลอิสระ หนึ่งในวิทยากรผู้ร่วมเสวนาได้กล่าวถึงประเด็นเรื่องความรุนแรงของรัฐและสันติวิธี ซึ่งมีเนื้อหาดังนี้


ภัควดี  เริ่มต้นกล่าวถึงความสนใจเรื่องการปราบจลาจลว่า ทำไมต่างประเทศประท้วงบ่อย แต่ไม่มีคนตาย  ทำไมประเทศเราจึงมีคนตาย ดังนั้น จากความสนใจในประเด็นเรื่องการปราบจลาจลของตน จึงนำมาสู่เรื่องที่จะนำมาเล่าอยู่สองเรื่องคือหนึ่ง เรื่องความรุนแรงของรัฐ  ในเมืองไทยมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการปราบจลาจล  ซึ่งในภาษาอังกฤษมีอยู่สองอย่าง อย่างแรกเรียก "Counterinsurgency" ภาษาไทยเรียกว่าการปราบปรามการก่อความไม่สงบ ซึ่งคิดว่ายังแปลไม่ถูกและยังไม่รู้ว่าจะแปลอย่างไรจึงขอเรียกเป็นภาษา อังกฤษ อีกอย่างคือ  Riot control  หรือการควบคุมการจลาจล  เมืองไทยไม่มีการแยกสองอย่างนี้  ฉะนั้นทุกครั้งที่เกิดปัญหาประชาชนประท้วงในเหตุการณ์ต่างๆไม่ว่าจะเป็น 14 ตุลา 6 ตุลา พฤษภา 35 กรือเซะ ตากใบ เมษายน 52 เราจะใช้วิธีการเดียวกันคือการเอาอาวุธหนักออกมาปราบ  วิธี การที่รัฐไทยทำคือ "counterinsurgency"  ซึ่งจริงๆ แล้ววิธีนี้ใช้ใน 3 กรณี  หนึ่ง ใช้ในการสงคราม  สอง การรุกรานเพื่อการยึดครอง   และ สาม การปราบปรามกบฏติดอาวุธ  
 

ในสงครามเวียดนาม เวลาทหารสหรัฐเข้าไปปราบปรามคนเวียดนาม  เขาจะฆ่ามั่ว ฆ่าชาวบ้านด้วย ที่เป็นเช่นนั้นเพราะเป็นเรื่องยากที่เขายากจะแยกแยะว่าใครเป็นใคร ก็เลยฆ่าหมด  เป็นวิธีการเหมารวม สิ่งที่อยากจะบอกคือรัฐไทยอยู่ในชุดความคิดนี้ไม่เคยเปลี่ยน การปราบประชาชนก็ปราบแบบ "counterinsurgency"  ตลอดเวลา ฉะนั้นเราจะเห็นว่า ตอนพฤษภา 53 ทำไมพยาบาลตาย ทำไมสื่อมวลชนตาย  นั่นก็เป็นเพราะทหารไทยปราบหมด  ฆ่าตายหมด  นี่คือชุดความคิดของรัฐไทยที่มีต่อประชาชนไทย
 

ทำไมรัฐไทยจึงคิดแบบนี้ทั้งที่ประเทศอื่นเขาก้าวหน้าไปหมดแล้ว บทความอาจารย์ธงชัยในหนังสือฟ้าเดียวกันเล่มล่าสุดตอบคำถามนี้ได้ดี โดยบอกว่ารัฐไทยในช่วงรัชกาลที่ 5  ไปรับเอาความคิดแบบอาณานิคมเข้ามา  ขณะเดียวกันกรุงเทพฯ ที่เป็นศูนย์กลางก็มองพื้นที่ต่างจังหวัดเป็นอาณานิคมด้วย  อธิปไตยของรัฐไทยในสายตาผู้ปกครอง คือ การมีอำนาจเหนือดินแดน  สิ่งสำคัญคือดินแดน ไมใช่คน  เพราะฉะนั้นรัฐไทยจึงไม่ใช่รัฐประชาชาติ   คือไม่ได้มองว่าชีวิตมนุษย์ประชาชนสำคัญต่อรัฐ ดังนั้นเมื่อต้องการปราบปรามประชาชน  คือ การปราบปรามให้หมดสิ้น เหมือนปราบปรามประเทศในอาณานิคม
 

นอกจากนี้ วิธีคิดของรัฐและองค์กรยุติธรรมยังมีวิธีคิดเป็นชนเผ่าอยู่  แนวคิดสมัยใหม่ องค์กรยุติธรรมต้องมองมนุษย์เป็นปัจเจกบุคคล ใครทำผิดก็หาหลักฐานเป็นบุคคล  แต่องค์กรยุติธรรมและรัฐกลับมีแนวคิดคล้ายช่างกลตีกัน คือ  ตีหมดทุกคน โดยไม่มองว่าคนนี้เป็นอริหรือไม่ เห็นหัวเข็มขัดก็ตีไว้ก่อน  องค์กรยุติธรรมไทยก็คิดแบบนี้ เวลาจับคนเสื้อแดง  แค่ใส่เสื้อแดงก็ผิดหมด  ไม่มีการพิสูจน์เป็นรายปัจเจกบุคคล วิธีคิดนี้ครอบงำรัฐไทยมาตลอด
 

ส่วนวิธีปราบจลาจลแบบ  Riot control  โดยปกติประเทศโลกที่หนึ่งจะใช้กันมาก คือ มีข้อห้ามในการใช้อาวุธที่ทำให้ถึงแก่ชีวิต แต่ให้ใช้กระบอง โล่ แก๊สน้ำตา ปืนฉีดน้ำ  สเปรย์พริกไทย   ใช้กระสุนยาง แทน วิธีการนี้มีมาเป็นร้อยปี   อย่างประเทศอังกฤษเขาใช้วิธีนี้มานานแล้ว  น่าสนใจว่าทำไมอังกฤษ ประเทศซึ่งเคยเป็นเจ้าอาณานิคม  แต่ไม่ใช้วิธีปราบปรามรุนแรง  ไม่ใช้วิธีการฆ่าให้ตายหมด   วิธีการนี้เริ่มต้นที่ประเทศอังกฤษ อย่างไรก็ตามอังกฤษก็เลิกใช้กระสุนยางไปเมื่อ 30 กว่าปีแล้วเพราะอาจเกิดอันตรายได้


"เป็นที่น่าสังเกตว่ารัฐไทยไม่เคยใช้วิธี นี้ในการปราบปรามการจลาจล ในขณะที่ประเทศอื่นๆ อย่าง เยอรมนีหรือมาเลเซียเองใช้วิธีนี้ในการควบคุมฝูงชนและไม่ทำให้ผู้ประท้วง เสียชีวิต ทำไมรัฐไทยไม่เปลี่ยนชุดความคิด เปลี่ยนวิธีการปราบจาลาจลใหม่" นักเขียนและนักแปลอิสระ กล่าว
 

ประเด็นที่สอง คือเรื่องสันติวิธี  การต่อสู้แบบนี้ไม่ใช่เป้าหมายในตัวมันเอง ถ้าเราสังเกตดูมันเกิดขึ้นในระยะหลัง  อาจเรียกได้ว่า คานธีเป็นคนริเริ่ม   แต่ปัญหาอยู่ที่การนิยามรุนแรง ซึ่งแต่ละคนจะคิดแตกต่างกัน การประท้วงในต่างประเทศ แรกเริ่มคือนักสันติวิธีจะพยายามห้ามโน่น  ห้ามนี่  จนเกิดการโต้เถียงกันในขบวนการประท้วง และมีแบ่งโซนกันประท้วงว่าโซนสีเขียว (แบบสันติวิธี)   โซนสีแดง  (แบบแนวหน้าชอบปะทะ ไม่ได้นั่งเฉย  เช่น อาจมีการรื้อรั้ว) แต่เวลาประท้วงจริงกลับปรากฏว่าผู้ประท้วง จะเทไปอยู่ในโซนสีแดงทุกครั้ง  เพราะเวลาโดนยิงแก๊สน้ำตาก็โดนหมด
 

ฉะนั้นความรุนแรงจึงยากที่จะนิยามได้ เพราะในบางประเทศการใช้ระเบิดขวด ถูกกล่าวหาว่ารุนแรง แต่ในประเทศแคนนาดาโซนที่ใช้ภาษาฝรั่งเศส ระเบิดขวดเป็นมาตรฐานของการประท้วง ไม่ถือว่าเป็นความรุนแรงเพราะผู้ประท้วงปาระเบิดขวดหมด แล้วปรากฏว่าการระเบิดขวดก็ไม่ได้ทำให้อาคารไหม้ด้วย 
 

การประท้วง WTO (องค์การการค้าโลก) หลายครั้ง  คนก็จะบอกว่าผู้ประท้วงใช้ความรุนแรง  เช่นการรื้อรั้ว (แต่ไม่มีใครตาย) แต่ก็ได้ผลทำให้ที่ประชุมหยุดการประชุมชั่วคราวได้เหมือนกัน อย่างนี้เรียกว่ารุนแรงหรือไม่ ในขณะที่ทั่วโลก ประท้วงสหรัฐในการทำสงครามกับอิรัก โดยใช้หลักสันติวิธี แต่สุดท้ายก็ห้ามไม่ได้ จึงเกิดคำถามขึ้นมาอีกว่าแบบนี้สันติวิธีเกินไปหรือเปล่าจึงทำให้ไม่สามารถ ยับยั้งสงครามได้ มันจึงเป็นคำถามที่ต้องหาคำตอบ
 

สันติวิธีในเมืองไทยมีปัญหามากกว่าในต่าง ประเทศ เป็นเพราะมันถูกผูกขาดหรือนิยามโดยคนกลุ่มเดียว และนักสันติวิธีในเมืองไทยไม่ใช่นักเคลื่อนไหว ใช้ทฤษฎีมากกว่าการปฏิบัติ ส่วนใหญ่เป็นนักสันติวิธีในห้องแอร์  นักสันติวิธีกลุ่มนี้มักจะเอาตัวอย่างในต่างประเทศมาโดยไม่ดูบริบท จะอ้าง คานธี หรือ เนลสัน แมนเดลา  ซึ่งไม่ได้ดูว่าคานธีเคยคิดใช้อาวุธต่อสู้กับอังกฤษ แต่คิดว่าไม่ได้ผลเลยไม่ใช้ ส่วนแมนเดลาก็เคยใช้อาวุธในการต่อสู้มาก่อนเหมือนกันแต่ไม่ประสบความสำเร็จ จึงหันมาต่อสู้โดยสันติวิธี
 

"อหิงสาของคานธีที่นำมาใช้กัน อย่างการประท้วงเรื่องเกลือ เราจะเห็นภาพคนเดินให้ตำรวจตีหัวโดยไม่ตอบโต้ เป็นภาพที่น่าสะเทือนใจมาก แต่ถามว่าวิธีการนี้มันใช้ได้ทุกที่หรือเปล่า เขาบอกว่าคนอินเดียใช้วิธีการนี้ได้เพราะอินเดียมีระบบวรรณะ และวรรณะต่ำ คือ จัณฑาล ซึ่งถูกกดขี่หรือถูกทำร้ายอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นการที่วรรณะนี้จะเดินไปให้เขาตีเป็นเรื่องปกติ  ดังนั้นการที่วิธีการนี้จะสำเร็จในพื้นที่อื่น จะต้องสร้างระบบวรรณะขึ้นมาหรือไม่" นักเขียนและนักแปลอิสระ กล่าว
 

ภัควดี กล่าวอีกว่า ในสังคมไทยเป็นสังคมของเจ้า พ่อ  นักเลง  การใช้สันติวิธีแบบอินเดีย เช่น การเดินไปให้เขาตี  อาจทำไม่ได้   การใช้สันติวิธีจึงต้องมีเงื่อนไขเฉพาะ  นักสันติวิธีเมืองไทยเอาเรื่อง อหิงสามาใช้โดยไม่ดูบริบท  ทำให้มีปัญหาในสังคม  นอก จากนี้ยังนำสันติวิธีไปผูกติดกับศาสนา โดยส่วนตัวแล้วเห็นว่าคนที่คิดเรื่องจิตวิญญาณ  มักจะมองคนเป็นระดับชั้น  คือเมื่อเราเชื่อเรื่องจิตวิญญาณเราก็เชื่อว่ามีจิตวิญาณที่ลุ่มลึกกับจิต วิญญาณที่ตื้นเขิน ฉะนั้นจึงนับถือคนที่มีจิตวิญญาณที่ลุ่มลึก จึงทำให้คนที่คิดเรื่องนี้ยึดติดกับผู้นำที่มีบารมี สังเกตได้จากขบวนการสัตยาเคราะห์ของอินเดีย 
 

"กระบวนการสันติวิธีในไทยนั้นแปลก  เพราะในต่างประเทศสันติวิธีนั้นมีเป้าเหมายทางการเมือง เช่น คานธีต้องการเอกราชจากอังกฤษ เนลสัน แมนเดลา ต้องการยกเลิกการแบ่งแยกสีผิวในแอฟริกาใต้  มาร์ติน ลูเธอร์ คิง ต้องการให้คนยอมรับสิทธิคนผิวดำในอเมริกา หรือแม้กระทั่งสันติวิธีในการประท้วง WTO ก็ต่อต้านทุนนิยม  แต่ในไทยใช้สันติวิธีเฉยๆ  ไม่มีเป้าหมายหรืออุดมการณ์ทางการเมืองอะไรเลย คือ ไม่เคยบอกว่าต้องการอะไรทางการเมือง ไม่เคยสร้างภาพวิสัยทัศน์การเมืองแบบที่เขาต้องการ  สันติวิธีเพื่อสันติวิธีเท่านั้นเอง  เป็นสันติวิธีที่ระบอบการปกครองเป็นอะไรก็ได้   ขอแต่อย่าให้มีใครตาย  ถ้าสันติวิธีเป็นอย่างนี้ก็อยากให้ผู้ทำสันติวิธีนอนอุเบกขาอยู่บ้านดีกว่า"


นักเขียนและนักแปลอิสระ สรุปว่า การ ต่อสู้ของประชาชนไทยต่อไปข้างหน้า เราคงต้องมาคิดเรื่องสันติวิธีกันใหม่ มาสร้างสันติวิธีกันใหม่ที่ไม่ต้องผูกขาดโดยคนกลุ่มเดียว นอกจากนี้ทุกความเปลี่ยนแปลงไม่โรแมนติก  ฉะนั้นจึงไม่ต้องยึดติดกับตัวบุคคล  เพราะฉะนั้นการเปลี่ยนแปลงเราจึงต้องมีการเตรียมตัว  เรื่องสันติวิธีเป็นการเคลื่อนไหวเพื่อความเปลี่ยนแปลงที่ได้รับความนิยม เพราะการเปลี่ยนแปลงรัฐด้วยการใช้กองกำลังอาวุธ   เราต้องมีทุน  อาวุธ  เหมือนสมัยก่อน  แต่ปัญหาคือเมื่อไรก็ตามที่เราจัดตั้งกองทัพหนึ่งขึ้นมาเพื่อปราบอีกกองทัพ หนึ่ง มันจะสร้างอสุรกายขึ้นมากดขี่เราอีก  เกิดบาดแผลจากการใช้กองกำลังอาวุธ  และใช้เวลาในการเยียวยานาน เป็นไปไม่ได้ที่เราจะใช้ความเป็นเผด็จการมาสร้างประชาธิปไตย  
 

ส่วนเรื่องการนำสันติวิธีมาใช้  ปัญหามันอยู่ที่การนิยามความรุนแรงที่ต่างกัน  เพราะในเมืองไทยสันติวิธีมันถูกผูกขาดโดยคนกลุ่มหนึ่ง  คนกลุ่มนี้ได้ออกทีวี เพราะเขาบอกว่า การเทเลือดคือความรุนแรง  เป็นต้น
 

ภัควดี กล่าวทิ้งท้ายว่า ดีใจที่คนทำงานด้านศิลปะหันมาสนใจประเด็นนี้   ซึ่งถ้าดูการประท้วงในต่างประเทศ  ศิลปินมีบทบาทสูงมาก และทำให้การประท้วงมีสีสัน  เช่น การประท้วงในประเทศอิตาลี กลุ่ม "ตูเต้ เบียงเช่" ที่เชื่อว่าสันติวิธีคือการประท้วงแล้วไม่เจ็บตัว  เวลาประท้วงเขาจะใส่เกราะ  แล้วเดินไปให้ตำรวจตี  เขาก็ไม่เจ็บตัว  ฉะนั้นถ้าศิลปินเข้ามาร่วมเคลื่อนไหว  ก็จะทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์มากขึ้น

จากคุณ : โชติช่วงชัชวาล
เขียนเมื่อ : 16 ต.ค. 54 03:04:18 A:124.122.6.47 X:



ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com