จากเฟสบุ๊คของคุณ Faris PHar Yothasamuth เมื่อ 11 ตุลาคม 2011 เวลา 23:39 น.
น้ำท่วมใหญ่ที่เรากำลังประสบอยู่อาจเรียกได้ว่าเป็นวิกฤตครั้งร้ายแรงในรอบหลายสิบปี น้ำท่วมคราวนี้ทำให้เราได้เห็นศักยภาพของสื่อออนไลน์โดยเฉพาะโซเชี่ยลมีเดีย"อีกครั้ง" ว่ามีพลังในการกระจายข่าว ในการเชื่อมโยงคน ในการสื่อสาร ในการรวบรวมความช่วยเหลือและธารน้ำใจได้มากขนาดไหน รูปแบบการใช้โซเชี่ยลมีเดียแบบหนึ่งที่น่าสนใจในวิกฤตครั้งนี้คือการใช้เพื่อบอกข่าวน้ำท่วมในที่ต่างๆ ดังเช่นเฟสบุ๊คชื่อ "น้ำขึ้นให้รีบบอก" อย่างไรก็ตามความไวของข่าวสารก็ทำให้สื่อชนิดนี้สร้างข้อเสียอันมหึมาขึ้นมา ได้แก่ ความคลาดเคลื่อนของข้อเท็จจริง ข่าวลือ และข่าวเท็จมากมาย
ในบทความนี้ผมจะเน้นไปที่ช่องทางหนึ่งในการกระจาย ข้อ"เท็จ"จริง นั่นก็คือการใช้ "รูปภาำพ"
หลายคนอาจบอกว่ารูปภาพเป็นการนำเสนอความจริงที่เที่ยงตรงที่สุดแล้ว เพราะเกิดอะไรขึ้นเราก็สามารถถ่ายทอดออกมาได้ตรงไปตรงมา ถ่ายรูปมาได้อย่างชัดเจน บิดเบือนได้อยาก ไม่เหมือนคำบอกเล่าที่ไม่มีหลักฐาน ดังนั้นแล้วในเพจบอกข่าวเหล่านี้ ถ้าใครเอารูปมาโพสต์ก็จะได้รับความเชื่อถือและจะถูก "แชร์" ไปมากยิ่งขึ้น
แต่ความน่าเชื่อถือของรูปภาพนั้นเอง ที่เป็นกับดักของข้อ"เท็จ"จริง
กล่าวคือรูปภาพเป็นการ "จับ" เอาสิ่งทีเ่กิดขึ้นจริงในชั่วขณะหนึ่งมานำเสนอแก่เรา ถ้าสิ่งที่เกิดขึ้นมันถูกจับอยู่ในรูปภาพนั้นหมดแล้วก็คงไม่เป็นปัญหาอะไร แต่การกระทำหรือพฤติการณ์ใดๆที่ดำเนินอยู่อาจมีความต่อเนื่อง (Continuity) เช่น ถ้านศ.คนนึงกำลังนั่งเรียนในห้องอยู่ แล้วหลับตาลงชั่วขณะ และในขณะนั่นเองที่เจ้าเพื่อนตัวดีถ่ายรูปไว้ เอาไปฟ้องครูว่าไอ้นี่แอบหลับ ถามว่าภาพนั้นนำเสนอข้อเท็จจริงได้ถูกต้องหรือ จะเห็นได้ว่ารูปภาพมันเป็นการ"ดึง"เอาวินาทีเดียวของกาลเวลาที่ดำเนินไปมา ซึ่งความจริงที่ภาพนั้นแทนมันอาจไม่ใช่ความจริงที่เกิดขึ้นจริงซึ่งมีความเป็นลำดับ (Sequence) ก็เป็นได้ เราอาจเรียกว่าเป็นการ "พราก" ตัวบท(Text)หนึ่ง ออกจากบริบท(Context)รอบตัว ทำให้ตัวบทนั้นมีความหมาย/ความจริงที่บิดเบือนไปอย่างสิ้นเชิง
ผมขอยกตัวอย่างรูปภาพข้างล่างนี้ (ดูภาพได้จาก link)
รูปทางซ้ายจับภาพยิ่งลักษณ์ขณะที่เธอเดินทรงตัวบนสะพานไม้ ข้างๆมีชาวบ้านที่ประสบภัยน้ำท่วมยืนอยู่ในน้ำ "ความจริง" ที่รูปนี้นำเสนอคือ นายกอ่อนหัด หยิบโหย่ง เหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อ ไม่กล้าลุยน้ำ ไปจนถึงนายกทำตัวเหนือชาวบ้านปล่อยให้ชาวบ้านยืนอยู่ในน้ำ แต่ตัวเองเดินบนสะพาน บลาๆๆๆๆๆ ส่วนรูปอภิสิทธิ์นั้นนำเสนอ "ความจริง" ว่า เป็นคนลุย ไม่กลัวความลำบาก ทุ่มเท บลาๆๆๆๆ ซึ่งเมื่อเรานำรูปนี้มาวางเทียบกัน สิ่งที่เกิดขึ้นคือภาพกำลังเสนอสารว่า ยิ่งลักษณ์เป็นนายกที่ห่วย อภิสิทธิ์เป็นนายกที่ดี
จริงหรือ?
รูปที่ยิ่งลักษณ์เดินบนสะพานใครจะรู้ว่าหลังจากนั้นเธออาจจะลงเดินลุยน้ำก็ได้ ใครจะรู้ว่าเธออาจจะไปลุยงานหนักยิ่งกว่าอภิสิทธิ์ที่เคยทำมาก็เป็นได้ แต่รูปมันไม่บอกคุณหรอก กลับกันรูปทางขวาใครจะรู้ว่าหลังจากอภิสิทธิ์ลุยน้ำแล้วอาจจะไปนั่งเต๊ะอยู่บนเรือ ไม่ไปลุยงาน เหยาะแหยะกว่านายกหญิงก็ได้ แต่รูปก็ไม่ได้บอกอะไรคุณอีกเช่นกัน
สิ่งที่เกิดขึ้นก็เป็นอย่างที่ผมบอก คือรูปภาพกำลังนำเสนอสิ่งที่ไม่ใช่ข้อเท็จจริงของทั้งเรื่อง แต่เป็นชั่วขณะหนึ่งที่ถูกบิดเบือนและตัดแต่งมาแล้ว และเราก็จะพบการนำเอาภาพเหล่านี้มาใช้ประโยชน์เพื่อสนับสนุนความคิดและวาทกรรมหลายแบบๆ ในที่นี้ก็คือการโจมตีทางการเมือง (ทั้งสองฝ่ายก็ทำสิ่งนี้เหมือนกัน เพราะรูปที่จับมาเทียบเพื่อด่าอภิสิทธิ์ชมยิ่งลักษณ์แบบบิดเบือนเช่นนี้ก็มีให้เห็น) คำถามคือเราควรจะไร้เดียงสาพอที่จะเชื่อว่าข้อ"เท็จ"จริง ที่ภาพเสนอออกมาเป็นสิ่งทีเ่กิดขึ้น"จริงๆ"อย่างนั้นหรือ
สิ่งเหล่านี้ยิ่งจะเลวร้ายลงเมื่อรูปภาพถูก"แต่งเติม"ลงไปอีกชั้นหนึ่งด้วยกับคำบรรยายภาพ รูปภาพโดยตัวเองก็นำเสนอ"ความจริง"ชุดหนึ่งที่อาจจะบิดเบี้ยวอยู่แล้ว แต่คำบรรยายภาพยิ่งเป็นสิ่งที่นำเสนอความจริงอีกชุดซ้ำลงไป ทำให้มันถูกบิดเบือนจนบิดเบี้ยวไปกันใหญ่ อย่างในกรณีของรูปยิ่งลักษณ์-อภิสิทธิ์ที่ยกมานั่นก็จะมีการบรรยายใต้ภาพไปต่างๆ โดยเฉพาะจากฝั่งที่ต่อต้านรบ. จนทำให้ยิ่งลักษณ์เป็นนายกที่งี่เ่ง่า-ปัญญาอ่อน-สารเลว-ไม่เห็นหัวประชาชน-ทำตัวเหนือเจ้า-บลาๆๆๆๆ
สรุปได้ว่าทั้งรูปภาพและคำบรรยายต่างก็สามารถนำเสนอ"ความเท็จ"ผ่านข้อเท็จจริงได้อย่างแนบเนียน แต่โลกออนไลน์โดยเฉพาะในโซเชี่ยลมีเดียมีสิ่งที่จะทำให้ "อสัจจภัย" นี้ร้ายแรงยิ่งขึ้นไม่ต่างจากอุทกภัย สิ่งนั้นคือ "ปุ่มแชร์"
การแชร์กันในเฟสบุ๊คถ้าเป็นเรื่องดีๆก็คงจะดีไป แต่ถ้าสิ่งที่แชร์เป็นรูปภาพที่ประกอบด้วยความเท็จดังที่ได้ยกตัวอย่างไปแล้วละก็ สิ่งที่ตามมาย่อมสร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวง คนดีๆอาจถูกทำให้เสื่อมเสีย อาจก่อให้เกิดความตระหนก และเป็นต้นตอของข่าวลือมากมาย สิ่งเหล่านี้ผู้ใช้สื่อออนไลน์เองก็คงไม่ได้ตระหนัก เพราะการแชร์ทำได้รวดเร็ว ทันใจ แค่คลิกเดียวเราก็ได้มีส่วนร่วมในกระแสอะไรซักอย่างบนโลกไซเบอร์แล้ว หลายๆคนจึงแชร์กันอย่างไม่ได้ตระหนักและฉุกคิด จนในที่สุดตัวเราเองก็กลายเป็นทั้ง"เหยื่อ"ของความเท็จ และเป็น"ผู้กระทำ" ที่ทำให้ความเท็จนั้นแพร่ขยายไปในสังคม
หรือถ้าที่บอกมามันทำยากนัก..... ไม่ต้องแชร์เลยก็คงไม่เป็นไรมั้ง