http://www.khaosod.co.th/view_newsonline.php?newsid=TVRNeE9URTNORE01T1E9PQ==
ยิ่งลักษณ์งัด "ม.31" สั่งการเด็ดขาดแก้น้ำท่วมขึ้นตรงนายกฯเวลา 10.00 น. วันที่ 21 ต.ค. ผู้สื่อข่าว "ข่าวสด" รายงานว่า ที่ ศปภ. ดอนเมือง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้เรียกประชุมรัฐมนตรี ผู้บัญชาการเหล่าทัพ ผู้ว่าการประปานครหลวง (กปน.) ผู้ว่าฯ กทม. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อปรับแผนการทำงานแก้ไขปัญหาอุทกภัยให้เป็น เอกภาพ โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง ยกเว้น ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม. ที่ไม่ได้เข้าร่วม แต่ส่งนายสัญญา ชีนิมิตร ผอ.สำนักการระบายน้ำ เข้าร่วมประชุมแทน
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี กล่าวกับผู้เข้าร่วมประชุมช่วงหนึ่งว่า วันนี้ภาพรวมของมวลน้ำที่มาจาก จ.พระนครศรีอยุธยา ไม่ได้สูงขึ้น แสดงว่าสามารถผันน้ำไปได้ระดับหนึ่ง แต่เพื่อให้การระบายน้ำทำได้รวดเร็วมากขึ้น และให้การทำงานสัมพันธ์กัน และเป็นเอกภาพ ตนจะมีการออกคำสั่งในการแก้ไขปัญหาภัยพิบัติร้ายแรง ตามมาตรา 31 ของ พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 ซึ่ง หลังจากที่ได้พูดคุยกันในวันนี้แล้ว ตนจะออกคำสั่งเป็นลายลักษณ์อักษรที่ชัดเจนให้ทราบกันอีกครั้ง เพื่อให้เจ้าหน้าที่แต่ละส่วนได้นำไปปฏิบัติตาม ซึ่งตนได้ตั้งคณะทำงานเพื่อเฝ้าระวังติดตามระดับน้ำ และการบริหารจัดการน้ำในแต่ละส่วน เพื่อให้มีการเร่งระบายน้ำออกไปทางฝั่งตะวันออกทำได้ให้เร็วที่สุด ซึ่งคำสั่งตรงนี้หมายการทำงานร่วมกับกทม.ด้วย แม้ว่าการบริหารงานของ กทม.จะแยกส่วนไปต่างหาก แต่การทำงานในภาพรวมต้องเชื่อมต่อและสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด เพื่อให้การเปิดประตูระบายน้ำทำได้เต็มที่ โดยผู้รับผิดชอบในแต่ละจุดจะต้องเปิดประตูระบายน้ำให้มีความสัมพันธ์กับความ สามารถในการระบายน้ำออกสู่ทะเลเพราะถือเป็นหัวใจสำคัญ เพราะถ้าประตูแรกเปิดเต็มที่ แต่อีกประตูเปิดไม่เต็มที่น้ำก็จะไม่มีทางระบายลง จึงต้องขอความร่วมมือจากผู้ที่รับผิดชอบทุกส่วน เพื่อลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้น
นายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า ส่วนปัญหาที่มีน้ำไหลเข้าสู่คลองประปานั้น เนื่องจากมีพนังกั้นน้ำบางส่วนชำรุดจึงขอให้ผู้ว่า กปน.เฝ้าระวังพื้นที่ที่เกิดการชำรุด และดูแลการไหลของน้ำ เพื่อให้ประชาชนเกิดความมั่นใจในความสะอาดของน้ำประปา ในส่วนของแนวคันกั้นน้ำในจุดที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นบริเวณหลัก 6 และคลอง 6 วา ขอให้กองทัพจัดเวรยามเฝ้าระวังตลอด 24 ชั่วโมง นอกจากนี้ ขอให้ทุกจังหวัดและทุกหน่วยงานเฝ้าระวังสถานที่สำคัญ เช่น สถานที่ผลิตไฟฟ้า ผลิตน้ำประปา พระบรมมหาราชวัง โรงพยาบาลศิริราช สนามบินสุวรรณภูมิ สนามบินดอนเมือง ต้องให้แน่ใจว่าสถานที่เหล่านี้ได้รับการดูแลและปกป้องอย่างดี ส่วนเส้นทางคมนาคมสายหลัก เช่น โทลเวย์ จุดขึ้น-ลง โทลเวย์ ต้องใช้ได้ ไม่ปล่อยให้มีการติดขัด รวมทั้งรถไฟฟ้า สถานีรถไฟต่างๆ ต้องรักษาไว้และให้แน่ใจว่าใช้การได้ และขอให้ทางกระทรวงคมนาคมไปดูเส้นทางหลักๆ เช่น เส้นทางเข้าเมือง เส้นทางที่ใช้ขนส่งสินค้า จะต้องไม่ถูกปิดหรือเป็นอัมพาต เพื่อไม่ให้สินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นของประชาชนขาดตลาด และขอให้เพิ่มสถานที่จอดรถให้กับประชาชนด้วย
น.ส.ยิ่งลักษณ์ ระบุว่า ส่วนการดูแลช่วยเหลืออพยพประชาชน ขณะนี้ยังมีประชาชนที่ประสพภัยและติดอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมจำนวนมาก โดยเฉพาะที่ จ.ปทุมธานี นนทบุรี ส่วน กทม.ก็ต้องเตรียมทำแผนไว้ ต้องไม่ประมาท ควรจะมีการจัดหาศูนย์อพยพให้เพียงพอ โดยให้ทุกหน่วยงานที่มีตึกสูงทั้งหมด โดยเฉพาะส่วนราชการ โรงเรียน และหน่วยงานของกองทัพ จัดเตรียมเป็นสถานที่ให้ประชาชนได้พักพิงอาศัย และเป็นที่จอดรถ และขอให้ไปประสานกับภาคเอกชนด้วย หากได้ข้อสรุปแล้ว สถานที่ใดทำเป็นศูนย์อพยพก็ขอให้ติดป้ายบอกให้ชัดเจนและแจ้งมายัง ศปภ.เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบ
“ทั้งหมดที่ได้สั่งการ จะออกเป็นคำสั่งตามมาตรา 31 เพื่อให้ทุกหน่วยงาน ทำงานขึ้นตรงกับนายกฯ และขอให้รายงานผลตรงมายังนายกฯด้วย โดยขอให้พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก ผอ.ศปภ.ประสานกับทุกหน่วยงานให้แจ้งรายชื่อผู้ที่รับผิดชอบในแต่ละส่วนให้ ชัดเจน” นายกฯ กล่าว
ต่อมาเวลา 13.30 น. น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์อีกครั้งถึงเหตุผลในการออกคำสั่งตามมาตรา 31 ของ พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 ว่า เพื่อบูรณาการการทำงานให้เป็นเอกภาพและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เติมเต็มการใช้อำนาจในการบรรเทาสาธารณภัย โดยออกเป็นรายลักษณ์อักษร เพื่อให้การสั่งการมีความชัดเจน และทุกหน่วยงานปฏิบัติตาม อีกทั้งจะให้คณะกรรมการที่ตั้งขึ้นมาใหม่ สามารถทำงานและเข้าไปตรวจสอบได้
เมื่อถามว่าการออกคำสั่งดังกล่าวเป็นเพราะที่ผ่านมา สั่งไปแล้วไม่ได้ผลใช่หรือไม่ นายกรัฐมนตรีกล่าวยอมรับว่า ใช่ จึงจำเป็นต้องออกมาเป็นรายลักษณ์อักษร เพื่อให้ทุกคนปฏิบัติตาม จะบิดพลิ้วอีกไม่ได้ ตอนนี้ข้อมูลที่ได้มาไม่ตรงกัน จึงต้องมีคำสั่งออกมา เช่น เรื่องของการเปิดประตูระบายน้ำอย่างเต็มที่ ที่ผ่านมาข้อมูลไม่ตรงกัน เราจึงต้องมีคำสั่งว่าถ้าสั่งให้เปิดก็ต้องเปิด เพื่อจะได้คำนวณปริมาณน้ำว่ามีเท่าไหร่ และสมดุลกับการระบายออกแค่ไหน ผู้ที่ได้รับคำสั่งทุกคนต้องปฏิบัติตาม เพื่อให้การระบายน้ำในแต่ละจุดสัมพันธ์กันเป็นอย่างดี และมีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม
เมื่อถามย้ำว่าเป็นเพราะกทม.ไม่ยอมปฏิบัติตามใช่หรือไม่ นายกัฐมนตรี ไม่ตอบ และเดินเลี่ยงขึ้นรถไปทันที..
ข่าวจาก ข่าวสด ประจำวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2554 เวลา 12:16 น.
****************************************
ผมมีข้อสงสัยประการหนึ่งขึ้นมา ในเมื่อทุกหน่วยงาน รวมถึงผู้เกี่ยวข้องรับผิดชอบทั้งปวง ต่างมากันประชุมโดยพร้อมเพรียง แต่ผู้ว่า กทม. กลับไม่ให้ความสนใจที่จะร่วมประชุม แต่ส่งตัวแทนเข้าประชุม ก็หมายความว่า ผู้ว่า กทม. ไม่มีความจำเป็นต่อการประชุมนี้ใช่หรือไม่
สมควรที่จะปลดภาระหน้าที่ความรับผิดชอบเรื่อง "น้ำท่วม" นี้ออกจากตำแหน่งผู้ว่า กทม. พร้อมแต่งตั้งรักษาการณ์ขึ้นดำรงค์ตำแหน่งซะ..เมื่อมีหน้าที่ แต่ไม่ยอมรับผิดชอบ ก็ไม่ต้องให้ทำ..
หลังเสร็จงานรับมือน้ำท่วมครั่งนี้ ผมหวังจะได้เห็น "โพล" ของสำนักใดสำนักหนึ่งตั้งคำถามว่า "ผู้ว่า กทม. ทำหน้าที่สมที่ได้รับมอบหมายมั๊ย ?" / "เห็นควรที่จะมีการปลด ผู้ว่า กทม. แล้วทำการเลือกตั้งใหม่หรือไม่ ?" ...ถ้านายสุขุมพันธุ์ ทำงานเข้าตาชาว กทม. ก็เลือกเขากลับเข้ามาอีก จะได้เห็น กทม. ท่วมอีกปีหน้า