'ทูตญี่ปุ่น'ชื่นชม ปูเข้มแข็ง ฝ่าฟันแก้ภัยน้ำท่วม ยืดฟรีโทลล์เวย์ถึง20พย. แบงก์โลกพร้อมปล่อยกู้ 3หมื่นล้าน-ฟื้นประเทศ! ฮิลลารี-บันคีมุนมา16 พย. ถกแนวทางช่วยอุทกภัย 'ทูตญี่ปุ่น' ประกาศให้เงินช่วยเหลือแบบให้เปล่า400 ล้านบาทแก่รัฐบาลไทย พร้อมชื่นชม 'ยิ่งลักษณ์' ลุยแก้วิกฤตมหาอุทกภัยเข้มแข็งมากขึ้นทุกวัน สามารถยืนหยัดสู้แรงกดดันมุ่งมั่นทำงานจนพิสูจน์ได้ถึงความตั้งใจจริง ด้านนายกฯ ปูย้ำแผนฟื้นฟู 3 ระยะ ขอบคุณ 'โกร่ง-สุเมธ' เข้ามาช่วยชาติ เผยสัปดาห์หน้าเตรียมหารือปัญหาน้ำท่วมกับ 'ฮิลลารี-บิ๊กยูเอ็น' การประปาฯเตือนภัยแก๊งตุ๋นโทร. หลอกเก็บค่าน้ำ ดอนเมืองโทลล์เวย์แจ้งข่าวดีขยายเวลาใช้ทางยกระดับฟรีถึง 20 พ.ย. แบงก์ออมสินยันโอนเงินชดเชย 5 พันให้คนกรุงครบใน 45 วัน ส่วนธนาคารโลกเสนอให้เงินกู้ไทย 30,000 ล้านบาทใช้ในโครงการป้องกันอุทกภัยระยะยาว 'ปู'กำหนด 3 ขั้นฟื้นประเทศ เมื่อเวลา 08.30 น. วันที่ 12 พ.ย. น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวผ่านรายการรัฐบาลยิ่งลักษณ์พบประชาชนว่า เพื่อให้ประเทศผ่านวิกฤตนี้ไปได้รัฐบาลได้กำหนดยุทธศาสตร์ฟื้นฟูประเทศเป็น 3 ระยะ หรือ "3 อาร์" คือ 1.ระยะสั้นหรือระยะเร่งด่วน ขั้นการเรสคิว หรือกู้ภัย ขั้นตอนนี้ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) จะเป็นผู้ดำเนินการรับผิดชอบจนกว่าน้ำจะลดในช่วงเร่งด่วน 2-3 เดือน ส่วนขั้นที่ 2 เรียกว่า รีสโตร์หรือซ่อมแซม ทำทุกอย่างกลับมาเป็นปกติโดยเร็วในระยะ 1 ปี ฟื้นฟูระบบต่างๆ ให้กลับมาทำงานเหมือนเดิม ดูแลเยียวยาโครงสร้างพื้นฐานทั้งภาคประชาชนและนิคมอุตสาหกรรม รัฐบาลแบ่งคณะกรรมการเป็น 3 ชุด ดูแลโครงสร้างพื้นฐานทั้งหมด ดูแลโครงสร้างอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจ และดูแลเยียวยาจิตใจและทรัพย์สิน และยังมีการสนับสนุนจากหน่วยงานอื่นๆ เช่น การดูแลจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ กองทัพ จะรายงานตรงต่อนายกฯ โดยมอบให้รองนายกฯ ยงยุทธ เป็นผู้รับผิดชอบ ขอบคุณ'โกร่ง-สุเมธ'ช่วยชาติ นายกฯ กล่าวต่อไปว่า ขั้นที่ 3 รีดิวส์ หรือระยะยาว จะทำความเข้าใจเกี่ยวกับธรรมชาติของน้ำ การเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต จะสร้างความเชื่อมั่นและการฟื้นฟูประเทศให้กลับมาเหมือนเดิม โดยออกระเบียบสำนักนายกฯ ตั้งคณะกรรมการ 2 ชุด คือคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.) ที่มีนายวีรพงษ์ รามางกูร เป็นประธาน และคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) โดยตนจะเป็นประธาน นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกฯ เป็นรองประธาน และนายสุเมธ ตันติเวชกุล ให้เกียรติเป็นที่ปรึกษา ในส่วนของ กยน.ได้เรียนเชิญผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับเรื่องน้ำ เพราะเรื่องนี้ต้องการคำแนะนำจากภาคเอกชนหรือวิชาการที่จะมาหารือวิธีการจัดการอย่างถาวรเพราะเรื่องนี้ถือป็นวาระแห่งชาติ โอกาสนี้ขอขอบคุณนายวีรพงษ์และนายสุเมธที่ตอบรับคำเชิญเข้ามาช่วยชาติด้วย ฮิลลารี-บันคีมุนหารือ'ปู' น.ส.ยิ่งลักษณ์เปิดเผยว่า มียอดบริจาคเข้ามา 918 ล้านบาท ส่วนใหญ่ใช้จ่ายไปกับการซื้อของอุปโภคบริโภค ซื้อเรือยาง นอกจากนั้น ยังจ่ายในส่วนผู้เสียชีวิตไปแล้ว 353 รายจากยอดผู้เสียชีวิตจากน้ำท่วม 533 ราย ขณะนี้มียอดคงเหลือ 309 ล้านบาท ขอยืนยันว่าจะใช้จ่ายอย่างโปร่งใส "ในสัปดาห์หน้าวันที่ 16-17 พ.ย. จะมีบุคคลสำคัญเดินทางมาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ คือ นายบัน คีมุน เลขาธิการ สหประชาชาติ และนางฮิลลารี คลินตัน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐอเมริกา โดยจะหารือถึงปัญหาอุทกภัยที่เกิดขึ้น การแนวทางการช่วยเหลือน้ำท่วม การบริหารและฟื้นฟูของประเทศไทย" นายกฯ ระบุ ทูตญี่ปุ่นชื่นชมนายกฯ เข้มแข็ง นายเซอิจิ โคจิมะ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ให้สัมภาษณ์ถึงความช่วยเหลือของรัฐบาลญี่ปุ่นต่อไทยในวิกฤตครั้งนี้ว่า เบื้องต้นญี่ปุ่นมอบสิ่งของจำเป็นในวงเงินบริจาคเริ่มต้นราว 22 ล้านบาท ทั้งเครื่องกรองน้ำ เครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ เครื่องปั่นไฟ กระสอบทราย เต็นท์นอน ผ้าห่ม ผ้าใบ เรือยนต์ สุขาเคลื่อนที่ เสื้อชูชีพ ยังมีเงินช่วยเหลือแบบให้เปล่าแก่รัฐบาลไทยราว 400 ล้านบาท ล่าสุดรัฐบาลญี่ปุ่นจัดเตรียมรถสูบน้ำระบายน้ำ 10 คันจะเดินทางมาถึงไทยวันที่ 17 พ.ย.นี้ ส่วนโครงการองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (ไจก้า) ช่วยเหลือเป็นเงิน 12 ล้านบาท พร้อมส่งทีมประเมินสถานการณ์ เพื่อสำรวจความเสียหายที่เกิดขึ้นในไทย ก่อนเข้าให้ความช่วยเหลือในเชิงทักษะการรับมือกับอุทกภัยแก่เจ้าหน้าที่ไทย เมื่อถามถึงการทำงานของน.ส.ยิ่งลักษณ์ นายกฯ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่น กล่าวว่า เห็นความเข้มแข็งในตัวนายกฯ ไทยค่อยๆ เพิ่มมากขึ้นทุกวัน โดยปกติแล้วหากเกิดสถานการณ์รุนแรงต่อประเทศชาติ ผู้นำคือบุคคลที่ต้องเผชิญหน้ากับแรงกดดัน และคำวิพากษ์วิจารณ์จากหลายฝ่าย แต่จุดวิกฤตช่วงนี้นี่เองที่จะพิสูจน์ได้ถึงความตั้งใจจริงของนายกฯ และคณะรัฐบาล ขอให้กำลังใจเพื่อฝ่าฟันความยากลำบากนี้ไปด้วยกัน 'โตโยต้า'ช่วยลากรถลุยน้ำดับ นายกิจจา แสงพุ่ม ผู้จัดการฝ่ายบริการด้านเทคนิค กล่าวว่า บริษัทโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จํากัด จัดตั้งหน่วยช่วยเหลือผู้ประสบภัยในกทม.หลายจุด ได้แก่ แยกสุทธิสารตัดรัชดาภิเษก เซ็นทรัลพระราม 2 บริเวณพระราม 2 ซอย 50 แยกเทียมร่วมมิตร เยื้องโรบินสัน รัชดาฯ หากผู้ใช้รถใช้ถนนมีปัญหาระหว่างทางหรือในกรณีรถเสีย ติดต่อได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 0-2386-2000 ทางศูนย์จะให้บริการส่งรถลากเข้าช่วยเหลือทันที ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริษัทโตโยต้าตั้งเต็นท์ให้บริการช่วยเหลือผู้ใช้รถที่บริเวณแยกสุทธิสาร มาตั้งแต่วันที่ 9 พ.ย. เพื่อคอยดูแลประชาชนที่ใช้รถยนต์ลุยน้ำท่วม พร้อมทั้งให้บริการติดตั้งท่ออุปกรณ์ต่างๆ ด้วย ขึ้น'โทลล์เวย์'ฟรีถึง 20 พ.ย. นายสมบัติ พานิชชีวะ ประธานกรรมการ บริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด ผู้ให้บริการทางยกระดับดอนเมืองโทลล์เวย์ เปิดเผยว่า ดอนเมืองโทลล์เวย์ขยายเวลายกเลิกเก็บค่าผ่านทางจากเวลา 24.00 น. ของวันที่ 12 พ.ย. เป็นเวลา 24.00 น. ของวันที่ 20 พ.ย. เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนใช้ทางดอนเมืองโทลล์เวย์ เนื่องจากถนนวิภาวดีรังสิตยังประสบปัญหาน้ำท่วม จนทำให้รถเล็กไม่สามารถสัญจรได้ ส่วนจะขยายเวลาต่ออีกหรือไม่นั้นจะขอรอดูสถานการณ์ในวันที่ 19-20 พ.ย.อีกครั้งว่าสถานการณ์น้ำท่วมที่ถนนวิภาวดีฯ เป็นอย่างไร ชวนเอกชนร่วม'เรือธงฟ้า' นายยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงแผนการกระจายสินค้าให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากภาวะน้ำท่วม ว่า กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมการค้าภายใน จัดตั้งศูนย์กระจายสินค้าอุปโภคบริโภค จัดรถและเรือโมบายธงฟ้าเคลื่อนที่นำสินค้าจำเป็นไปจำหน่ายในราคาถูกกว่าตลาดทั่วไป แยกเป็นรถธงฟ้า วันละ 10-12 สาย และเรือธงฟ้า วันละ 2-3 สาย จำหน่ายตามจุดน้ำท่วมต่างๆ ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล เริ่มตั้งแต่ 20 ต.ค. ถึงวันที่ 11 พ.ย.2554 รวม 255 จุด "หากเอกชนที่เป็นผู้ผลิตสินค้าหรือกระจายสินค้าต้องการเข้าร่วมโครงการเรือธงฟ้าให้ติดต่อได้โดยตรงที่กรมการค้าภายใน ซึ่งมีศูนย์ประสานการกระจายสินค้าในภาวะน้ำท่วม เพราะหลายหมู่บ้านมีน้ำท่วมขังจนออกมาซื้อข้าวของข้างนอกไม่ได้ และภาคราชการมีเรือไม่เพียงพอ แต่หากภาคเอกชนมีเรือของตัวเองต้องการจะกระจายสินค้าไปตามชุมชนต่างๆ ก็สามารถทำได้" นายยรรยงกล่าว 'เวิลด์แบงก์'เสนอเงินกู้ 3 หมื่นล. สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานจากมลรัฐฮาวาย สหรัฐ ว่า นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกฯ และรัฐมนตรีพาณิชย์ ซึ่งเป็นตัวแทน น.ส.ยิ่งลักษณ์ นายกฯ ไทยเข้าร่วมประชุมเอเปก ให้สัมภาษณ์ว่า หลังร่วมหารือกับ ผู้แทนธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) ได้ข้อสรุปว่า ทางธนาคารโลกพร้อมมอบเงินกู้ 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 30,000 ล้านบาทให้กับรัฐบาลไทย นำไปใช้ในโครงการวางแผนป้องกันอุทกภัยระยะยาว และรัฐบาลไทยกำลังพิจารณาข้อเสนอนี้อยู่ เพราะการกู้ยืมเงินจากธนาคารโลกมาใช้จ่ายในโครงการต่างๆ จะช่วยเป็นเครื่อง การันตีได้ว่าทุกอย่างดำเนินไปอย่างโปร่งใส โดยมีธนาคารโลกคอยตรวจสอบ นายกิตติรัตน์ระบุอีกว่า ธนาคารโลกยังเสนอให้ความช่วยเหลือด้านคำปรึกษาวิธีบริหารจัดการน้ำ ขณะเดียวกันก่อนหน้านี้มีสถาบันและสถาบันการเงินระดับสากลหลายแห่ง เสนอช่วยเหลือไทยในรูปแบบต่างๆ รวมถึงกู้ยืมเงิน เช่น ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) ธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (เจบิก) และองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (ไจก้า) |