Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
+++++ ขอบคุณคุณศาลายา ครับ แต่หากมิใช่โทษทางอาญากฎหมายนั้นอาจย้อนหลังได้ +++++ ติดต่อทีมงาน



ต้องขอโทษที่อาจจะตั้งหัวกระทู้ที่ไม่ถูกใจนัก แต่ก็ขอขอบคุณที่ตั้งกระทู้พาดพิงไว้ข้างล่าง และคุณ ศาลายา พูดถูกต้องแล้วในกระทู้ P11451757 นั้นคือหลักกฎหมายสากล เขาไม่ยอมให้มีกฎหมายพิจารณาย้อนหลัง  แต่จะถูกต้องมากยิ่งขึ้นหากเราจะเจาะจงว่า หลักกฎหมายสากล เขาไม่ยอมให้มีกฎหมายอาญาพิจารณาโทษอาญาย้อนหลังเพื่อลงโทษแก่ผู้กระทำความผิด

ในกระทู้ P11451263 ที่ผมยกมาเรื่องศาลอาญาระหว่างประเทศไม่พิจารณาคดีย้อนหลังนั้นก็เป็นหลักเดียวกัน เพราะศาลนี้พิจารณาคดีอาญา และย่อมจะลงโทษทางอาญาแก่ผู้ถูกกล่าวหา ดังนั้น จึงมีหลักที่จะไม่พิจารณาคดีทางอาญาที่กระทำก่อนกฎบัตรกรุงโรมมีผลใช้บังคับในประเทศใด เช่น ไม่พิจารณาคดีอาญาตามกฎบัตรกรุงโรมที่ในไทยในช่วง เดือนพค.53 เพราะเป็นช่วงที่กฏบัตรกรุงโรมไม่มีผลในไทย

แต่หากคุณศาลายา จะพูดถึงกรณีทั่วๆไปของกฎหมาย ที่ไม่ใช่การลงโทษทางอาญาที่เป็นผลร้ายต่อจำเลยแล้ว ผมคิดว่า ต้องพูดว่า 1. กฎหมายมีผลย้อนหลังได้ หากกฎหมายนั้นไม่ใช่โทษทางอาญา 2.แม้แต่กฏหมายอาญาที่เกี่ยวกับโทษเองก็ย้อนหลังได้ หากไม่เป็นโทษแก่ผู้กระทำความผิด

ความในข้อ 2 ดูจะอธิบายเข้าใจได้ง่ายกว่า และมีบัญญัติไว้ชัดเจนในตัวประมวลกฎหมายอาญาเองในมาตราที่ 2 วรคที่สองว่า "....ถ้า ตามบทบัญญัติของกฎหมายที่บัญญัติในภายหลัง การกระทำ เช่นนั้นไม่เป็นความผิดต่อไป ให้ผู้ที่ได้กระทำการนั้นพ้นจากการ เป็นผู้กระทำความผิด.."  และตามมตรา 3 "...ถ้ากฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดแตกต่างกับกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิด ให้ใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่ผู้กระทำความผิด ไม่ว่าในทางใด เว้นแต่คดีถึงที่สุดแล้ว..."

ที่เป็นปัญหากันมาตลอดคือข้อ 1 ที่ว่ากฎหมายมีผลย้อนหลังได้ หากกฎหมายนั้นไม่ใช่โทษทางอาญา คนไม่ค่อยเชื่อกัน ทั้งๆที่กฎหมายย้อนหลังได้ หากไม่ใช่โทษทางอาญาที่จะลงแก่ผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลยนี้ มีมานานแล้ว ก่อนจะเกิดคดียุบพรรคพปช. เรื่องนี้ผมเคยโพสต์ให้ความเห็นมานาน  ตามข้อเท็จจริงที่มันเป็นอยู่จริงๆ แต่คนที่จะไม่ยอมรับฟังเพราะมันไม่ตรงใจ และความเห็นแบบนี้ก็ไม่ช่วยพรรคพปช.ที่เชียร์กันอยู่

ผมขออนุญาต ยกคำพิพากษาในอดีตมาประกอบ และพิจารณากันเอาเองแล้วกันครับว่า จริงๆแล้วกฎหมายที่ไม่ใช่โทษอาญานั้น ย้อนหลังได้หรือไม่
คำพิพากษาฎีกาที่ 4593/2545 คำสั่งศาลให้ส่งตัวจำเลยไปฝึกอบรมยังสถานพินิจ ไม่ใช่โทษทางอาญา จึงย้อนหลังไปบังคับให้ส่งตัวจำเลยไปยังสถานพินิจได้
คำพิพากษาฎีกาที่ 4593/2545 คำสั่งศาลให้ส่งตัวจำเลยไปฝึกอบรมยังสถานพินิจ ไม่ใช่โทษทางอาญา จึงย้อนหลังไปบังคับให้ส่งตัวจำเลยไปยังสถานพินิจได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  6411/2534 การถอนสัญชาติแม้จะย้อนหลังก็มีผล เพราะไม่ใช่โทษทางอาญา



        กรณียุบพรรคพปช. การลงโทษตัดสิทธิทางการเมือนั้น มิใช่โทษทางอาญา

คดียุบพรรคพปช.นั้น ขั้นตอนพิจารณาว่าผิดหรือไม่ผิด ไม่ได้ใช้กฏหมายย้อนหลังเลยครับ แต่ใช้กฏหมายที่มีอยู่ในขณะที่มีการกระทำผิด นั้นคือพรบ.พรรคการเมือง พศ.2541 ซึ่งเป็นกฎหมายเก่า และมีอยู่ขณะที่มีกรกระทำผิด

เฉพาะแต่ส่วนที่ผิดแล้วจะลงโทษอย่างไร และมีการตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปีเท่านั้น ที่ใช้กฏหมายใหม่ คือประกาศคปค.ฉบับที่ 21 ซึ่ง ไม่ใช่โทษทางอาญา เพราะปกติโทษทางอาญา ตามมาตรา 18 มีมาตรา ๑๘  โทษสำหรับลงแก่ผู้กระทำความผิดมีดังนี้ (๑) ประหารชีวิต (๒) จำคุก (๓) กักขัง (๔) ปรับ (๕) ริบทรัพย์สิน

ศาลรัฐธรรมนูญพิพากษาให้ยุบพรรคพปช.และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งตัดสิทธิทางการเมือง ถามว่าการตัดสิทธิทางการเมืองเป็นโทษทางอาญาหรือไม่ คำตอบคือไม่ เพราะ 1.การตัดสิทธิ์ทางการเมือง ไม่ใช่โทษที่มีปรากฏในคำนิยามโทษของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 18 ที่ยกมา และ 2. มีฏีกาชี้ชัดว่าการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมิใช่โทษตามกฏหมาย

 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9083/2544 การเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเป็นมาตรการที่มุ่งจะจำกัดสิทธิของเจ้าพนักงานผู้ ดำเนินการเลือกตั้งซึ่งกระทำหน้าที่โดยทุจริต มิใช่โทษตามกฎหมาย



ในอีกแง่มุมหนึ่งนั้น การเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง อาจถูกมองว่าเป็น วิธีการเพื่อความปลอดภัย   ที่มีบัญญัติไว้ในกฎหมายว่า มาตรา ๑๒  ว่า "....วิธีการเพื่อความปลอดภัยจะใช้บังคับแก่บุคคลใดได้ก็ต่อเมื่อมีบทบัญญัติแห่งกฎหมายให้ใช้บังคับได้เท่านั้น และกฎหมายที่จะใช้บังคับนั้นให้ใช้กฎหมายในขณะที่ศาลพิพากษา..." นั้นคือ ไม่ใช้กฎหมายที่มีในขณะกระทำผิด แต่ให้ใช้กฎหมายที่มีในวันพิพากษา  ในกรณีนี้คือ ประกาศคปค.ฉบับที่ 21 นั้นเอง และเทียบเคียง การห้ามการประกอบอาชีพบางอย่างอันเป็นมาตรการวิธีการเพื่อความปลอดภัย กับการห้ามเข้ามายุ่งเกี่ยวทางการเมือง ผ่านทางการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง แต่เรื่องนี้เป็นเพียงแนวคิดเท่านั้น ที่สำคัญเป็นแนวฏีกาที่ยกมานั้น



ผมไม่ทราบว่าคุณจะเห็นด้วยหรือไม่ ไม่เห็นด้วยก็คงเป็นสิทะิของคุณ แต่ความจริงมันเป็นอย่างที่ผมยกมาให้ดูนี้ และผมขอสรุปว่า ตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏข้างบนนั้น เราควรจะสรุปว่า

1.    กฎหมายย้อนหลังได้ แม้เป็นฏหมายเกี่ยวกับโทษอาญา หากโทษนั้นไม่ใช่โทษทางอาญาที่เพิ่มภาระแก่จำเลย  เช่นการที่กฎหมายอาญามีผลดีต่อจำเลย สามารถนำมาย้อนใช้กับจำเลยได้
2.    กฎหมายย้อนหลังได้ หากไม่ใช่โทษทางอาญา ตามฏีกา ดังกล่าวข้างต้น
3.    การเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ไม่ใช่โทษทางอาญา จึงย้อนหลังได้
4.    คดียุบพรรคนั้น การพิจารณาความผิดนั้น ใช้กฎหมายที่มีอยู่ขณะกระทำความผิด(ไม่ได้ใช้กฎหมายย้อนหลัง) แต่ตอนพิจารณาตัดสิทธินั้น เป็นการใช้ลักษณะของวิธีการเพื่อความปลอดภัย ที่กฎหมายกำหนดให้ใช้กฎหมายที่มีในวันพิพากษา คือประกาศคปค. ซึ่งไม่ใช่โทษทางอาญา จึงย้อนหลังได้ตามปอ.มาตรา 12 และ ตามแนวฏีกา 9083/2544 ที่ยกมา


ก็คงแค่นี้ละครับ


จากคุณ : thyrocyte
เขียนเมื่อ : 13 ธ.ค. 54 16:12:44 A:58.137.0.146 X:



ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com