(ที่มา : มติชนรายวัน ฉบับวันที่ 14 ธันวาคม 2554)
ดูเหมือนมาตรา 17 ของพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 จะกลายเป็นเกราะป้องกัน "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" อดีตนายกรัฐมนตรี และ "สุเทพ เทือกสุบรรณ" อดีตรองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.)
รวมถึงเจ้าหน้าที่รัฐ ที่ปฏิบัติหน้าที่ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในการสลายการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง จนมีคนบาดเจ็บ ล้มตาย จำนวนมาก
เพราะมาตรา 17 ระบุว่า
"พนักงานเจ้าหน้าที่และผู้มีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชกำหนดนี้ไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญา หรือทางวินัย เนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ในการระงับหรือป้องกันการกระทำผิดกฎหมาย หากเป็นการกระทำที่สุจริต ไม่เลือกปฏิบัติ และไม่เกินสมควรแก่เหตุหรือไม่เกินกว่ากรณีจำเป็น แต่ไม่ตัดสิทธิผู้ได้รับความเสียหายที่จะเรียกร้องค่าเสียหายจากทางราชการ ตามกฎหมายว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่"
หมายความว่า "เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติตามคำสั่ง จะไม่ต้องรับผิดใดๆ แต่ถ้ามีความเสียหายเกิดขึ้น ผู้เสียหายต้องไปฟ้องรัฐเอาเอง"
สอดรับกับคำพูดของ "สุเทพ" ที่ระบุว่า "อภิสิทธิ์" ไม่เกี่ยวข้อง เพราะอำนาจการสั่งการ "อภิสิทธิ์" มอบให้ผู้อำนวยการ ศอฉ. ดำเนินการทั้งหมด
เช่นเดียวกับ "อภิสิทธิ์" ที่บอกว่า มีอำนาจดูภาพรวมนโยบายในการปฏิบัติงานของ ศอฉ. ส่วนการปฏิบัติเป็นหน้าที่ "สุเทพ"
จะเห็นว่า สิ่งที่ "อภิสิทธิ์" และ "สุเทพ" พูด
เป็นการพูดตามกรอบของมาตรา 17 เกราะกำบังชั้นดี
แน่นอน หากมองแง่กฎหมาย อภิสิทธิ์-สุเทพ กระทำการตามอำนาจที่มีอยู่ใน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน
หากมองให้ลึกลงไปกว่านั้น จะพบ "จุดน่าสังเกต" หลายจุด
จุดแรก ช่วงสถานการณ์หัวเลี้ยวหัวต่อ "อภิสิทธิ์-สุเทพ" รวมถึง "สาทิตย์ วงศ์หนองเตย" รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ขณะนั้น พักอาศัย กิน นอนอยู่ใน ร.11 รอ. ตั้งแต่ 13 มีนาคม 2553 เรื่อยมาจนถึงวันสลายการชุมนุม
ร.11 รอ. เป็นทั้งศูนย์บัญชาการของ ศอฉ. เป็นทั้งทำเนียบรัฐบาลชั่วคราว ที่ ครม.อภิสิทธิ์ใช้ประชุมหลายต่อหลายครั้ง
อีกทั้งยังเป็น ที่กิน-นอนของทั้งทหาร นักการเมือง ระดับสูงของประเทศ ประดุจ "กองบัญชาการหลัก"
การระบุว่า ไม่มีส่วนรู้เห็นในการ "ใช้ไม้แข็ง" เข้าสลายการชุมนุม คงไม่น่าจะถูกต้องนัก
จุดต่อมา เมื่อ 16 พฤษภาคม แกนนำ นปช. ยืนยันเจตนารมณ์ "พร้อมเจรจา" กับรัฐบาลทันที่ที่ทหารถูกถอนกำลังกลับไป แต่ข้อเสนอดังกล่าวถูกปฏิเสธจากรัฐบาล
พร้อมคำประกาศ "กลุ่มผู้ชุมนุมต้องสลายตัวไปโดยไม่มีเงื่อนไข"
ในวันเดียวกัน รัฐบาลอภิสิทธิ์ ก็ปฏิเสธการเรียกร้องให้ "หยุดยิง" ของวุฒิสภา ทั้งที่รู้อยู่เต็มอกว่า หลัง "เสธ.แดง" พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล ถูกยิงเสียชีวิตเมื่อ 13 เมษายน ความรุนแรงจะเพิ่มดีกรีขึ้น
ครั้งนั้นมองได้สองมุม มุมหนึ่งรัฐบาลอภิสิทธิ์มองว่าต้องเร่ง "ปิดเกม" หากยือเยื้อความเสียหายจะขยายวงกว้าง อีกมุมการยอมทำตามเงื่อนไขกลุ่ม นปช.จะ "เสียหน้า" ทางการเมือง
ด้วยเจตนารมณ์ดังกล่าวทำให้การ "กระชับพื้นที่" จึงเกิดขึ้นในเช้า 19 พฤษภาคม ทำให้ช่างภาพชาวอิตาลี "ฟาบิโอ โปแลงกี" ถูกยิงเสียชีวิตเวลา 10.45 น. ใกล้สวนลุมพินี ห่างใจกลางชุมนุมราว 1 กิโลเมตร
และยังมีอีก 4 ชีวิตที่สังเวยในเช้าสุดสยอง
หากมองในมุมการใช้ "ดุลพินิจ" จุดนี้อาจกลายเป็น "จุดบอด" ของผู้มีอำนาจช่วงนั้น
เพราะรู้อยู่แล้วว่า การกระชับพื้นที่ ด้วยกำลังทหารอาวุธครบมือ พร้อมรถถังหุ้มเกราะ จะต้อง "สูญเสีย"
จุดสุดท้าย เมื่อแกนนำ นปช.เห็นท่าไม่ดี จึงประกาศยุติการชุมนุม และเตรียมเข้ามอบตัวที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติในเวลา 13.00 น.
ทำไมปฏิบัติการ "กระชับพื้นที่" ยังไม่ยุติ
ยังปรากฏมีกลุ่มชายใส่ชุดคล้ายทหาร ขึ้นไป "เล็งปืน" บนรางรถไฟฟ้าบีทีเอส บริเวณสถานีสยาม
จนเกิดเหตุการณ์มีคนใช้อาวุธหนักยิงเข้าใส่ผู้ชุมนุมในวัดปทุมวนาราม ช่วง 22.00 น.
เวลา 23.00 น. นพ.ปิยะลาภ วสุวัต แพทย์กองอุบัติเหตุโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ยืนยันว่า มีการยิงเข้าไปภายในวัดจริง มีผู้เสียชีวิต 9 ราย บาดเจ็บ 7 ราย แต่ต้องรอถึงวันที่ 20 พฤษภาคม ทีมแพทย์จึงจะเข้าไปตรวจสอบได้
จะเห็นว่าแม้แกนนำ นปช.ทั้งหมดมอบตัวแล้ว คนเสื้อแดงสลายการชุมนุมและขึ้นรถที่ทางการจัดเตรียมไว้กลับภูมิลำเนาแล้ว
ในค่ำ 19 พฤษภาคม ยังมี "คนเสียชีวิต"
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้มองเห็น "ดุลพินิจ" ของผู้มีอำนาจในเวลานั้น ว่าคิดอย่างไร ต้องการอะไร และมีเจตนาอะไร
จริงอยู่ มาตรา 17 อาจเป็นเกราะป้องกันอันทรงพลังให้กับ "อภิสิทธิ์-สุเทพ"
อีกทั้งญาติผู้เสียชีวิต และบาดเจ็บ สามารถเรียกร้องค่าเสียหายจากรัฐได้
แต่เทียบไม่ได้เลย กับความสูญเสียชีวิต สูญเสียทางเศรษฐกิจ
ถ้า "ลดทิฐิ" ทางการเมือง บวกกับการใช้ "ดุลพินิจ" อย่างมีสติและระมัดระวัง
ความสูญเสียคงไม่เกิดขึ้นมากมายขนาดนี้
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1323836789&grpid=01&catid=&subcatid=
เก็บมาให้อ่านกัน ถึงวิชา มหาคุณ จะมองอย่างไร ก็เป็นเรื่อง ปปช.
มองในแง่กฎหมาย อาจจะใช่ แต่การบริหารราชการในฐานะนายก ฯ
จะไม่ยึดหลักรัฐศาสตร์ เลยหรือ
เพราะยึดหลักนิติศาสตร์อย่างเดียวนี่เอง วันนี้ถึงยังมีคำถามเรื่อง
91 ศพ และการตายของนักข่าวต่างชาติ ที่รัฐบาลที่แล้ว ปิดคดีไม่ได้
และก็ทำให้พ่ายแพ้การเลือกตั้งครั้งนี้ อย่างไม่คาดคิด
เมื่อรัฐบาล ยอมยุบสภา ฯ ก่อนครบวาระ แน่นอน ย่อมมั่นใจในชัยชนะ
เหมือนเมื่ครั้งพรรคทรท.ยุบสภา และปชป.ไม่ยอมลงสมัครรับเลือกตั้ง
แต่การเลือกตั้งครั้งสุดท้าย ปชป. ยุบสภา ด้วยความมั่นใจ
เพื่อไทย มีแค่หัวหน้าพรรค ที่ถูกปรามาสว่า หัวหน้าพรรคขัดตาทัพ
มีผู้สมัครชิงตำแหน่งนายก ฯ ที่ใช้เวลาหาเสียงแค่ 49 วัน
ทำไม ปชป. จึงพ่ายแพ้ ... มันไม่ได้มาจากการที่ไม่ได้ใช้หลักรัฐศาสตร์
ในการบริหารมวลชน ในเดือน เมษา - พฤษภา 53 ?
ไม่อ้างอิงในข้อกฎหมายใด ๆ มองในแง่ประชาชนชาวบ้าน ที่ติดตาม
แบบเกาะติด มองภาพรวมของสถานะการณ์ตั้งแต่ปฏิวัติ 19 ก.ย. 49
ทำไมปปชป. พ่ายแพ้การเลือกตั้ง พธม.ตกต่ำลง คนยังต่อต้านปชป.
แม้รัฐบาลจะผิดพลาดในหลาย ๆ เรื่อง แต่ปชช....ของคุณ abbeaw..
ก็ยังสนับสนุน ....เห็นเถียงกันในเรื่องกฎหมาย ...มามองแบบชาวบ้าน
กันบ้างไหม ? มองอย่างที่กระทู้...คุณทวดเอง...เอามาให้อ่านกันบ่อย ๆ


ดิฉันว่านี่แหละค่ะ จุดอ่อน ปชป.


แก้ไขเมื่อ 14 ธ.ค. 54 16:37:43