สังคมมนุษย์มีพัฒนาการเรื่อยเป็นลำดับมา มีความซับซ้อนมากขึ้น กฎหมายที่สังคมเคยใช้ในอดีต จึงอาจจะใช้ไม่ได้ดี เมื่อสังคมมีพัฒนาการผ่านไป เพราะรูปแบบวิธีการกระทำผิดอาจจะผิดไปจากตอนที่มีการบัญญัติกฎหมายเดิมไว้
กรณีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่เป็นความผิดจากการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อสถาบันสูงสุดก็เช่นกัน ในสมัยก่อนมีผู้ละเมิดกฎหมายมาตรานี้มีไม่มาก เพราะไม่มีใครยุยงส่งเสริม ในช่วงที่ลัทธิสังคมนิยมหรือคอมมิวนิสต์เรื่องอำนาจเท่านั้น ที่ความคิดฝักใฝ่ลัทธินี้ทำให้มีการกระทำผิดในมาตรานี้เพิ่มมากขึ้น แต่ก็เป็นอยู่ช่วงระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น ลักษณะการกระทำผิดจึงอาจจะไม่หลากหลายเพราะผู้กระทำผิดมีไม่มากตัว
ในเวลาปัจจุบัน สังคมมีความเจริญมากขึ้น มีการติดต่อสื่อสารมีในรูปแบบต่างๆที่ในอดีตไม่เคยมี และในเวลานี้ดูเหมือนจะมีขบวนการบางอย่าง ที่ยุยงส่งเสริมให้มีการกระทำผิดกฎหมายมาตรานี้เพิ่มมากขึ้นอีก มีการกระทำผิดในช่องทางใหม่ๆ เช่นในอินเตอร์เน็ต ดังนั้น หากจะมีการปรับปรุงกฎหมายมาตรานี้ อาจจะต้องพิจารณาถึงข้อเท็จจริงเหล่านี้ด้วย
การกระทำผิดในลักษณะที่มีการโฆษณาหรือกระทำให้แพร่หลายสู่คนหมู่มาก
เป็นหัวข้อหนึ่งที่มีคนสนใจ และมีสมาชิกในห้องพาดพิงเอ่ยถึง ในอดีตและปัจจุบัน ความผิดในมาตรา 112 นี้เป็นความผิดโดด มาตราเดียว ไม่มีมาตรราอื่นมาขยายความ หรือขยายลักษณะความผิด ต่างจากความผิดฐานหมิ่นประมาทบุคคลทั่วไป ที่มีการขยายความ (เพราะเป็นความผิดที่มีผู้กระทำผิดบ่อย ลักษณะความผิดจึงอาจจะหลากหลาย และกฎหมายจึงมีการขยายความไว้) ในมาตรา 328 ว่า
มาตรา ๓๒๘ ถ้าความผิดฐานหมิ่นประมาทได้กระทำโดยการโฆษณาด้วยเอกสาร ภาพวาด ภาพระบายสี ภาพยนตร์ ภาพหรือตัวอักษรที่ทำให้ปรากฏไม่ว่าด้วยวิธีใดๆ แผ่นเสียง หรือสิ่งบันทึกเสียง บันทึกภาพ หรือบันทึกอักษร กระทำโดยการกระจายเสียง หรือการกระจายภาพ หรือโดยกระทำการป่าวประกาศด้วยวิธีอื่น ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกหนักกว่าโทษในมาตรา ๓๒๖ อันเป็นความผิดหมิ่นประมาทแบบมูลฐานสองเท่า
ที่ผ่านมา การกระทำความผิดในมาตรา 112 แม้จะทำโดยการโฆษณา โดยการลงในอินเตอร์เน็ท หรือวิธีอื่นที่แพร่หลาย และมีผู้รับฟังข้อความหมิ่นมากกว่าการพูดบอกต่อหน้าคนคนเดียว ศาลก็ไม่อาจจะลงโทษให้หนักไปกว่าการพูดให้คนคนเดียวฟัง เพราะไม่มีกฎหมายอาญาที่บัญญัติตรงนี้ไว้ ไม่เหมือนกับกรณ๊หมิ่นบุคคลทั่วไป ที่กฎหมายอาญาได้บัญญัติลักษณะนั้นไว้ เว้นแต่จะเอากกหมายอื่นมาประกอบ เช่น กฏหมายเกี่ยวกับการกระทำผิดด้วยคอมพิวเตอร์ ซึ่งก็ไม่ตรง ไม่เหมือนกับการที่มีบัญญัติด้วยกฏหมายอาญาเอง
ดังจะเห็นได้จากคดีในอดีต ที่มีนักการเมืองปราศรัยต่อสาธารณชนมีข้อความหมิ่นสถาบันสูงสุด แต่ศาลก็ไม่สามารถลงโทษได้มากไปกว่ามาตรา 112 (ฎีกาที่ 2354/2531 ) การร้องตะโกนในที่สาธารณ เช่นโรงภาพยนตร์ (ฎีกาที่ 1294/2521) หรือการตีพิมพ์บทความในหนังสือพิมพ์ (ฎีกาที่ 861/2521 ) ศาลก็ไม่อาจจะลงโทษให้หนยักไปกว่ามาตรา 112 เดิมได้
ดังนั้น ในเวลานี้ที่มีกลุ่มคนได้รับการยุยงให้มีการกระทำผิดในมาตรานี้มาก รัฐบาลอาจจะต้องพิจารณา ร่างกฎหมายให้ครอบคลุมลักษณะของการกระทำผิด และแยกแยะตามความหนักเบาของการกระทำ ว่ามีการโฆษณาออกไปสู่คนในวงกว้าง โดยหนังสือพิมพ์ โดยเครื่องกระจายเสียง โดยอินเตอร์เน็ตหรือไม่ ซึ่งสมควรได้รับโทษในลักษณะที่แตกต่างไปจากการหมิ่นสถาบันในลักษณะการพูดบอกต่อในแบบเดิมหรือไม่
เป็นสิ่งที่รัฐบาล น่าจะพิจารณาเพื่อแสดงถึงว่ารัฐบาลจริงใจและมีความห่วงใยอย่างแท้จริงในเรื่องนี้ ให้ประชาชนได้เห็น