ระเบิดเวลาแก้รัฐธรรมนูญ หมกเม็ด สับขาหลอก
ลีลาลากเลื้อย สับขาหลอก ไม่ได้มีแค่ในเกมฟุตบอล
ในทางการเมืองเรื่อง สับขาหลอก ก็เกิดขึ้นให้เห็นกันมาแล้วหลายครั้งหลายหน
โดยเฉพาะความเคลื่อนไหวของรัฐบาลภายใต้การนำของ
พรรคเพื่อไทย และ น.ส.ยิ่งลักษณ์
ชินวัตร นายกรัฐมนตรี
ที่มีความพยายามในการเดินยุทธศาสตร์พา พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
อดีตนายกฯ กลับบ้านโดยไม่ต้องรับโทษทางอาญา
มีการเคลื่อนไหวโยนหินถามทางมาตลอด ทั้งเรื่องการแก้ไข
รัฐธรรมนูญ ที่บางช่วงมีการชูธงจะโละรัฐธรรมนูญปี 2550 ทิ้ง
ทั้งฉบับ เพื่อนำรัฐธรรมนูญปี 2540 กลับมาใช้ใหม่
โดยอ้างว่ารัฐธรรมนูญปี 2550 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน เป็นผลพวงมาจาก
การรัฐประหาร ต้องการได้รัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง
ในบางห้วงก็ผุดประเด็นที่จะโละมาตรา 309 ที่มีเนื้อหารับรองการกระทำ
ของคณะรัฐประหาร และการดำเนินการที่เกี่ยวเนื่องเป็นเรื่องที่ชอบด้วย
กฎหมายและรัฐธรรมนูญ
โดยมีเป้าหมายลึกๆ เพื่อที่จะโยงไปสู่การดำเนินการปลดเปลื้อง
พันธนาการ โละความผิดทางคดีความให้แก่ พ.ต.ท.ทักษิณ ตาม
ยุทธศาสตร์หลักของ นายใหญ่
แต่เมื่อสถานการณ์ยังไม่เอื้ออำนวย มีแรงต้าน แรงเสียดทาน ก็พักยก
กันไปก่อน พอกระแสต้านซาลงไป ก็ออกมาเคลื่อนไหวโหมโรงกันใหม่
บางห้วงบางจังหวะก็เปลี่ยนมุมเล่น ฉีกแนวหาช่องทางอื่นมาสลับฉาก
เหมือนอย่างที่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกฯ เดินเครื่องเรียกประชุม
ครม.ลับ อนุมัติร่างพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ เนื่องใน
วโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวาคม
ท่ามกลางกระแสข่าวหนาหูว่ามีความพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงระเบียบ
กฎเกณฑ์บางข้อ เพื่อเอื้อประโยชน์แก่ พ.ต.ท.ทักษิณให้อยู่ในข่ายที่จะ
ได้รับการอภัยโทษ
แต่พอข่าวรั่วก็ต้องใส่เกียร์ถอย
ปล่อยให้ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รมว.ยุติธรรม ออกมารับหน้าเสื่อ แถลงยืนยัน
ทุกอย่างเป็นไปตามระเบียบกฎเกณฑ์เดิมที่เคยปฏิบัติกันมา ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง
ขณะที่ ร.ต.อ.เฉลิม ยังเล่นเชิงต่อ บอกว่าเรื่องนี้เป็นแค่การ สับขาหลอก
เย้ยหยันเป็นแค่ลีลาล่อฝ่ายต้านให้หลงทาง
พร้อมประกาศเปรี้ยง ของจริงจะดำเนินการอย่างเปิดเผย เสนอเป็นร่าง
พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ผ่านการพิจารณาของสภาฯตามกระบวนการฝ่ายนิติบัญญัติ
โดยทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งเสื้อเหลือง เสื้อแดง จะได้รับอานิสงส์จาก
พ.ร.บ.นิรโทษกรรมด้วย ไม่ได้เฉพาะเจาะจงที่จะช่วย ทักษิณ คนเดียวเท่านั้น
จุดพลุค้างไว้แล้วก็เงียบไป
ทำให้ฝ่ายต้านที่เริ่มมีการขยับตัวเตรียมเคลื่อนไหวคัดค้านการนิรโทษกรรมให้
ทักษิณ ต้องขยับเก้อ
งานนี้จึงไม่รู้ว่าเป็นลีลา สับขาหลอก ของ เฉลิม อีกหรือเปล่า
แต่ที่แน่ๆ สถานการณ์มาถึงวันนี้ พรรคเพื่อไทยแสดงความชัดเจน
ในหลักการออกมาแล้วที่จะให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291
เพื่อเปิดทางให้มีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ ส.ส.ร.
เข้ามาดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
แม้ยังไม่มีมติพรรคออกมาอย่างเป็นทางการ แต่ ส.ส.ในพรรคก็เห็นตรง
กันว่า จะต้องเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นนโยบายที่หาเสียงไว้
เพียงแต่ยังมีความเห็นต่างในเรื่องวิธีการ เพราะ ส.ส.บางส่วนโดยเฉพาะ
แกนนำกลุ่มเสื้อแดง ต้องการให้เร่งดำเนินการทันที โดยไม่ต้องมีการทำ
ประชาพิจารณ์และประชามติ เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นนโยบายเร่ง
ด่วนของพรรคเพื่อไทยอยู่แล้ว
ขณะที่ ส.ส.ในพรรคอีกส่วนหนึ่ง มองว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ช่วงเวลาที่เหมาะสมควรดำเนินการในช่วงต้นปี 2555 โดยรอ
ให้การฟื้นฟูปัญหาน้ำท่วมเรียบร้อยก่อน และควรดำเนินการตาม
ขั้นตอนที่ต้องมีการทำประชาพิจารณ์และประชามติตามกระบวน
การของ ส.ส.ร.
และที่ชัดขึ้นมาอีกขั้นก็คือ ทางวิปรัฐบาลได้วางแนวทางว่า
การแก้ไขรัฐธรรมนูญควรเป็นความเห็นของรัฐบาลว่าควรเสนอ
ญัตติเมื่อใด หรือให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการที่ได้รับการ
ยอมรับเป็นผู้ยกร่างและจะแก้ไขอย่างไรให้เป็นเรื่องของกรรมการ
ขณะที่คณะทำงานฝ่ายกฎหมายของพรรคเพื่อไทย ก็แพลมไต๋
ออกมาว่า แนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะมีร่างที่เสนอโดย ครม.
ร่างที่เสนอโดยพรรคเพื่อไทยที่ต้องฟังสัญญาณจากรัฐบาลก่อน
และร่างที่เสนอโดยภาคประชาชน
สรุปต้องแก้ไขแน่ แต่วิธีดำเนินการต้องไปว่ากันในรายละเอียดอีกครั้ง
เมื่อสถานการณ์มาถึงขณะนี้ จึงเป็นที่ชัดเจนว่า การเดินหน้าแก้ไข
รัฐธรรมนูญของรัฐบาล มีการขับเคลื่อนดำเนินการอย่างเปิดเผย
โดยจะใช้วิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 เพื่อเปิดช่องให้มี
สภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ ส.ส.ร.เข้ามายกร่างรัฐธรรมนูญใหม่
แน่นอน เมื่อดำเนินการกันอย่างเปิดเผย เป็นไปตามขั้นตอนกระบวน
การที่ต้องผ่านการพิจารณาของสภา ก็ถือได้ว่า
เป็นแนวทางที่ถูกต้อง ชอบธรรม ตามระบอบประชาธิปไตย
ที่สำคัญ ที่ผ่านมาก็เคยมีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ
เพื่อดำเนินการพิจารณายกร่างรัฐธรรมนูญมาแล้ว 2 ครั้ง 2 คราคือ
รัฐธรรมนูญปี 2540 และรัฐธรรมนูญปี 2550
โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ที่เรียกว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน
มีการยกร่างขึ้นมาในห้วงที่สังคมมีความตื่นตัวในเรื่องปฏิรูปการเมือง
ส.ส.ร.จำนวน 99 คนในขณะนั้น มาจากการเลือกตั้งทางอ้อมใน 76 จังหวัด
โดยให้ผู้สมัครคัดเลือกกันเองให้เหลือจังหวัดละ 10 คน
และให้รัฐสภาลงมติเลือกให้เหลือจังหวัดละ 1 คน รวม 76 คน
และให้มีตัวแทนนักวิชาการเป็นผู้เสนอชื่ออีก 23 คน
ส่วนสภาร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550
เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวหลังการรัฐประหาร
กำหนดให้มีสมัชชาแห่งชาติจำนวนไม่เกิน 2 พันคน โดยสรรหาบุคคล
จากภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคสังคม และภาควิชาการ จากภูมิภาคต่างๆ
จากนั้นสมัชชาจะคัดเลือกสมาชิกด้วยกันเอง เพื่อทำบัญชีรายชื่อผู้
สมควรเป็น ส.ส.ร. 200 คน ให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ
(คมช.) เลือกให้เหลือ 100 คน เพื่อแต่งตั้งเป็น ส.ส.ร.
จากนั้น ส.ส.ร.จะเลือกกันเอง 25 คน และ คมช.คัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิอีก
10 คน รวมเป็น 35 คน ทำหน้าที่เป็นคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ
สำหรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่พรรคเพื่อไทย กำลังขับเคลื่อนกันอยู่ใน
ขณะนี้ รูปแบบและวิธีการในการได้มาของ ส.ส.ร.และกระบวนการทำงาน
ก็คงเป็นไปในแนวทางเดียวกับ ส.ส.ร.ชุดแรก ที่เข้ามาดำเนินการยกร่าง
รัฐธรรมนูญปี 2540
โดยจะมีการเลือกตั้งจากประชาชนแต่ละจังหวัดทั่วประเทศ
ซึ่งอาจเป็นการเลือกตั้งทางตรงหรือทางอ้อมก็ได้
บวกกับผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมายและรัฐศาสตร์ เข้ามาทำ
หน้าที่พิจารณายกร่างรัฐธรรมนูญเพื่อเสนอให้รัฐสภาลงมติ
ให้ความเห็นชอบ และนำขึ้นสู่กระบวนการนำขึ้นทูลเกล้าฯ
ก่อนประกาศบังคับใช้เป็นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
เมื่อเป็นไปตามขั้นตอนกระบวนการที่เคยมีการดำเนินการ
กันมาแล้ว ก็ไม่ใช่เรื่องแปลก
แต่ที่มีความหวั่นเกรงกันก็คือ เรื่องของความโปร่งใส
ที่มีความระแวงว่าจะมีการหมกเม็ด
เพราะจากร่องรอยที่ผ่านมา การเคลื่อนไหวของรัฐบาลภายใต้การนำ
ของพรรคเพื่อไทย มักมีเรื่องหมกเม็ด สร้างความเคลือบแคลง มี
ประเด็นลับๆล่อๆให้เห็นมาตลอด
โดยเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวกับการช่วยเหลือเอื้อประโยชน์
ให้แก่ พ.ต.ท.ทักษิณ
ทั้งการสับขาหลอก ในเรื่องการออกพระราชกฤษฎีกาพระราชทาน
อภัยโทษ การจุดพลุร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรม ไม่เว้นแม้แต่การออก
หนังสือเดินทาง หรือพาสปอร์ตให้แก่ พ.ต.ท.ทักษิณ จนมาถึงเรื่อง
การแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ทำให้สังคมจับตาว่าการเคลื่อนไหวในการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้
มีเป้าหมายตามยุทธศาสตร์พา ทักษิณ กลับบ้าน โดยไม่ต้อง
ติดคุกหรือไม่
ในขณะที่ฝ่ายค้าน พรรคประชาธิปัตย์ ก็ออกมาตีปลาหน้าไซ
อยากเห็นความสะอาดโปร่งใสในการเลือกตั้ง ส.ส.ร.
เพราะรู้ๆกันอยู่ว่า ถ้าพูดถึงการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะทางตรง
หรือทางอ้อม ฐานพรรคการเมืองในแต่ละจังหวัดเป็นปัจจัยสำคัญ
ฝ่ายที่กุมอำนาจรัฐ ย่อมกุมความได้เปรียบ
แน่นอน เมื่อพรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้งได้เป็นรัฐบาล กุมเสียง
ข้างมากเด็ดขาด การขับเคลื่อนแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยอ้างว่า
เพื่อให้รัฐธรรมนูญที่เป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศเป็น
ประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ปราศจากคราบไคลของเผด็จการ
เป็นเรื่องที่มีความชอบธรรม
แต่ในทางปฏิบัติเมื่อเข้าสู่ห้วงของการยกร่างแต่ละมาตรา
จะเป็นไปเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ในการพัฒนาประชาธิปไตย
หรือจะมีหลืบมุมซ่อนเร้น เพื่อช่วย นายใหญ่
ตรงนี้จะเป็นมุมหักเหสำคัญทางการเมือง
หากการแก้ไขยกร่างรัฐธรรมนูญ ดำเนินการอย่างตรงไปตรงมา
มุ่งเน้นที่จะปฏิรูปการเมือง พัฒนาประชาธิปไตย เพื่อประโยชน์
ของประเทศชาติและประชาชน
การแก้ไขยกร่างรัฐธรรมนูญก็คงเดินหน้าไปได้ด้วยความเรียบร้อย
แต่ถ้ามีวาระแฝงเพื่อต้องการช่วย ทักษิณ ให้พ้นผิด ไม่ต้องติดคุก
และหลุดพ้นคดีความทั้งหมด เป็นหลัก
โดยถือว่ามีเสียงข้างมากจะต้องเอาให้ได้ ก็จะต้องเผชิญ
แรงต้านจากสังคม
ถึงเวลานั้น วิกฤติทักษิณ ก็จะกลับมาอีกครั้ง
เมื่อทั้งฝ่ายหนุน ฝ่ายต้าน ต่างก็มีมวลชนจำนวนมากที่พร้อมจะ
ลุกฮือขึ้นมาแสดงพลังใส่กันอย่างเต็มเหนี่ยว
การเผชิญหน้า ปะทะรุนแรง ก็จะต้องเกิดขึ้น
ทีมการเมือง
http://www.thairath.co.th/column/pol/wikroh/225666
ถ้าต้องการคคห.ที่เป็นปฏิปักษ์ กับรัฐบาลชุดนี้ หรือความไม่ดี
ของอดีตนายก ฯ ทักษิณ ต้องอ่านบทวิเคราะห์การเมือง ของ
"ไทยรัฐ" วันอาทิตย์ รับรองไม่พลาด
เลยต้องเก็บเอาฝาก คนเกลียดรัฐบาล เกลียดอดีตนายก ฯ
อ่านแล้วต้อง "ตบมือ" พร้อมกับบอกว่า "ถูกต้อง" "ใช่เลย"
นี่เป็นของขวัญวันคริสต์มาส สำหรับคนเกลียดรัฐบาล "ยิ่งลักษณ์"