"ยุทธพงศ์ จรัสเสถียร" แฉ"แอลซี"ประวัติศาสตร์ กับเสียงเตือน"สักวันหนึ่งจะติดคุก"
สัมภาษณ์
หมายเหตุ - ยุทธพงศ์ จรัสเสถียร อดีต ส.ส.มหาสารคาม พรรรคประชาธิปัตย์ เป็นผู้ติดตามตรวจสอบคดีการทุจริตโครงการจัดซื้อรถและเรือดับเพลิงกรุงเทพมหานคร มูลค่า 6,700 ล้านบาท มาตั้งแต่ปี 2547 เปิดเผยเบื้องหลังกับ "มติชน" ในการติดตามคดีนี้จนกระทั่งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 ให้ยื่นฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง รวม 7 คน หนึ่งในนั้นคือนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
ตั้งแต่ผมเข้ามาจับคดีทุจริตรถและเรือดับเพลิง มีคนถามมาตลอดว่าพรรคประชาธิปัตย์ไม่เล่นงานผมหรือเพราะคดีนี้มีผลกระทบกับคุณอภิรักษ์ โกษะโยธิน
ขอชี้แจงว่า ผมกับคุณอภิรักษ์ เคยทำกิจกรรมร่วมกันมานานแล้ว เมื่อปี 2546 ช่วงที่คุณอภิรักษ์ยังเป็นผู้บริหารระดับสูงของบริษัท แกรมมี่ ส่วนผมเป็น ส.ส.มหาสารคาม พรรคประชาธิปัตย์ และเป็นกรรมาธิการตำรวจ เวลานั้นม็อบต่อต้านลิขสิทธิ์เพลงชุมนุมหน้าตึกแกรมมี่
คุณอภิรักษ์ติดต่อขอให้ทางคณะกรรมาธิการตำรวจช่วยเจรจากับม็อบ ผมเข้าไปไกล่เกลี่ยจนเหตุการณ์ยุติ คุณอภิรักษ์ขอบคุณและจัดเลี้ยงให้คณะกรรมาธิการ
ปีถัดมา คุณอภิรักษ์ลงเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. ผมมีส่วนในการระดมทุนหาเสียง เรื่องนี้คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ก็รู้เรื่องนี้ดี
ผมลำดับที่มาเพื่อให้เห็นว่าผมกับคุณอภิรักษ์มีความสัมพันธ์อันดีมาตลอด เราทำงานการเมืองร่วมกันไม่มีอะไรกันเลย ดังนั้น ใครที่มากล่าวหาว่าผมจ้องเล่นคุณอภิรักษ์นั้น ผมก็ขอความเป็นธรรมด้วย
และที่สำคัญคือผมติดตามตรวจสอบคดีทุจริตรถเรือดับเพลิง กทม. ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2547 ก่อนที่คุณอภิรักษ์เป็นผู้ว่าฯกทม.เสียด้วยซ้ำไป
พรรคประชาธิปัตย์เป็นฝ่ายค้าน หน้าที่ของเราคือตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล เมื่อผมเห็นว่าเรื่องการจัดซื้อรถเรือดับเพลิงของ กทม.มีความไม่ชอบมาพากล จึงแจ้งให้พรรคทราบเพื่อขอยื่นกระทู้ ทางคุณบัญญัติ บรรทัดฐาน เป็นหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคร่วมรับรู้
ผมยื่นกระทู้ถามเรื่องรถเรือดับเพลิงในสภาตั้งแต่คุณสมัคร สุนทรเวช เป็นผู้ว่าฯกทม.ในขณะนั้นยังไม่ได้เซ็นสัญญาจัดซื้อจัดจ้างกับบริษัท สไตเออร์ เดมเลอร์พุคฯ แห่งออสเตรีย
มีคนถามอีกเหมือนกันว่าทำไมไม่ให้ฝ่ายรัฐบาลเซ็นสัญญาส่งมอบเรียบร้อยเสียก่อนเพราะจะได้หลักฐานชัดเจนแน่นหนา นั่นเป็นวิธีคิดของนักการเมืองรุ่นเก่าๆ
ผมเห็นว่าหากรถเรือดับเพลิง กทม.มีความไม่ชอบพากลก็ควรจะหาทางยับยั้งป้องกันความเสียหายไว้ก่อน เป็นการทำงานการเมืองของผม
การยื่นกระทู้ถามมี 3 ครั้ง ทางพรรคประชาธิปัตย์เห็นชอบ ซึ่งการตรวจสอบของผมเป็นไปอย่างเข้มข้นจนทำให้โครงการรถเรือดับเพลิง กทม.สะดุด
วันสุดท้ายของการดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯกทม.คุณสมัครทำโครงการนี้อย่างเร่งด่วนโดยถอนหนังสือสัญญาการจัดซื้อโครงการรถเรือดับเพลิงจากสำนักงานอัยการสูงสุด เอากลับมาเซ็นกับบริษัท สไตเออร์ฯ ผลที่ตามมาคือการผูกมัดข้อสัญญา
ระหว่างที่คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ไปหาเสียงเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ช่วยคุณอภิรักษ์ ที่ลานคนเมืองศาลาว่าการ กทม.มีการประกาศว่า หากคุณอภิรักษ์เป็นผู้ว่าฯกทม. สิ่งแรกที่พรรคประชาธิปัตย์จะทำคือการตรวจสอบสัญญาการจัดซื้อรถเรือดับเพลิง และหาทางยกเลิกสัญญา
เมื่อคุณอภิรักษ์เป็นผู้ว่าฯกทม.ใหม่ๆ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยังไม่รับรองผล คุณอภิรักษ์เข้าไปทำงานที่ทำการพรรคประชาธิปัตย์พลางๆ ก่อน
เช้าวันหนึ่ง เจอหน้าผม คุณอภิรักษ์ถามเรื่องราวของรถเรือดับเพลิง ผมชี้ให้เห็นความไม่โปร่งใส คุณอภิรักษ์ให้สรุปเหตุการณ์ทั้งหมด
เมื่อทำเสร็จ ผมโทรศัพท์ไปหาคุณอภิรักษ์บอกว่า ให้ไปเจอกันที่โรงแรมเจดับบลิว แมริออท ถนนสุขุมวิท โดยให้เหตุผลว่า หากไปพบกันที่ศาลาว่าการ กทม.จะเจอสื่อตั้งคำถามและยังเพิ่งเป็นผู้ว่าฯใหม่ๆ ไม่มีข้อมูลเรื่องนี้
คุณอภิรักษ์ไปกับคุณสุกิจ ก้องธรนินท์ เลขานุการ เราทั้งสามเจอกัน คุณอภิรักษ์รับผลสรุปคดีรถเรือดับเพลิงแล้วรับปากกับผมว่าจะไม่เปิดแอลซี (หนังสือที่ธนาคารรับรองทางการเงินเพื่อนำเข้าหรือส่งออกสินค้า)
เรื่องเปิดไม่เปิดแอลซีนั้น ทางพรรคประชาธิปัตย์ได้หารือกันอย่างรอบคอบ คุณบัญญัติซึ่งเป็นหัวหน้าพรรคในขณะนั้น เชิญผู้เชี่ยวชาญด้านต่างประเทศและกฎหมายของพรรค อาทิ คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ คุณพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร และคุณถาวร เสนเนียม ไปประชุมกันที่หอประชุมมหาวิทยาลัยรังสิต
ที่ประชุมเห็นพ้องกันว่า ถ้าไม่เปิดแอลซี สัญญาจะไม่มีผลบังคับและบริษัท สไตเออร์ฯ ฟ้องร้องไม่ได้เนื่องจากการทำข้อตกลงระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลออสเตรียเป็นไปอย่างฉันมิตร หากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดไม่พอใจจะมีการตั้งอนุญาโตตุลาการชี้ขาด เมื่อได้ข้อสรุปอย่างนั้น ผมคิดว่า โครงการรถเรือดับเพลิง กทม.น่าจะจบลงแล้ว คุณอภิรักษ์ไม่เปิดแอลซี สัญญาก็ไม่เกิด
จากนั้นได้นำข้อมูลทั้งหมดไปยื่นต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อสอบสวนผู้ร่วมกระทำผิด ต่อมามีข่าวสะพัดว่า พ่อค้าขายรถและเรือดับเพลิงวิ่งเต้นกับผู้บริหาร กทม.บางคน คุณบัญญัติ หัวหน้าพรรคได้กลิ่นเรื่องนี้เหมือนกัน
เมื่อข่าวแรงขึ้นเรื่อยๆ คุณบัญญัติเรียกคุณอภิสิทธิ์ คุณอภิรักษ์ คุณสามารถ ราชพลสิทธิ์ รองผู้ว่าฯกทม.สมัยนั้น คุณสุกิจ ก้องธรนินท์ คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช และคุณพีระพันธุ์ สาลีรัฐภาค ไปคุยกันที่พรรค ได้ข้อสรุปยืนยันว่า คุณอภิรักษ์จะไม่เปิดแอลซี และจะแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนโครงการจัดซื้อรถเรือดับเพลิง ให้คุณสามารถ ราชพลสิทธิ์ เป็นประธาน
คณะกรรมการชุดของคุณสามารถประชุมกันนับสิบครั้ง พบสิ่งปกติในโครงการนี้มากมาย ซึ่งสรุปผลส่งให้คุณอภิรักษ์
ปรากฏว่าคุณอภิรักษ์กลับเซ็นอนุมัติเปิดแอลซี โดยไม่ได้ฟังความเห็นจากคณะกรรมการเลย คุณบัญญัติทราบเรื่องนี้ รู้สึกโกรธมาก
ในวันที่เกิดเหตุตึกถล่มใน กทม. คุณบัญญัติในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ร่วมเดินทางไปดูจุดเกิดเหตุร่วมกับคุณอภิรักษ์ ระหว่างนั้นทั้งสองคนได้คุยกันเรื่องรถเรือดับเพลิง คุณอภิรักษ์รับปากกับคุณบัญญัติจะไม่มีวันเปิดแอลซีอย่างเด็ดขาด
เมื่อคุณบัญญัติเดินทางกลับไปที่ทำการพรรคประชาธิปัตย์ เจ้าหน้าที่ธนาคารกรุงไทยซึ่งเป็นธนาคารที่ทำเอกสารแอลซีโครงการรถเรือดับเพลิง แจ้งกับคุณถาวร เสนเนียมซึ่งเป็นฝ่ายกฎหมายของพรรคว่า คุณอภิรักษ์เซ็นเปิดแอลซีเรียบร้อยแล้ว
ผมกับคุณถาวรไปหาคุณบัญญัติสอบถามข่าวนี้ คุณบัญญัติยืนยันว่าไม่จริง เพราะคุณอภิรักษ์รับปากกับหัวหน้าพรรค คงไม่เบี้ยวหรอก
ผมติดต่อขอให้ทางเจ้าหน้าที่ธนาคารกรุงไทยส่งแฟ็กซ์การเปิดแอลซี ทันทีที่คุณบัญญัติเห็นก็รู้ว่าถูกหลอก และรีบโทรศัพท์ไปหาคุณอภิรักษ์ทันที แต่คุณอภิรักษ์ไม่รับสายทั้งๆ ที่โทร.หลายครั้ง แม้กระทั่งคุณหญิงกัลยาโทร.คุณอภิรักษ์ก็ยังไม่รับสายเหมือนกัน
คุณบัญญัติโกรธมากพูดกับคุณหญิงกัลยาและคุณสุทัศน์ เงินหมื่น กรรมการบริหารพรรคว่า
"ผู้ว่าฯอภิรักษ์รู้ว่าของแพงยังเปิดแอลซีสั่งซื้อ สักวันหนึ่งจะติดคุก"
ผมยังจำคำพูดของหัวหน้าพรรค "บัญญัติ" ได้จนถึงทุกวันนี้
อีกเรื่องหนึ่งอยากจะขอชี้แจง กรณีที่มีคนกล่าวหาว่า ผมตรวจสอบเรื่องรถเรือดับเพลิงเพราะผมเป็นนายหน้าของบริษัทผลิตรถดับเพลิงจากประเทศสเปน
ผมยืนยันว่า ไม่เคยรู้จักบริษัทรถดับเพลิงของสเปนเลย ไม่รู้เสียด้วยซ้ำว่าเป็นใครมาจากไหน คุณถาวร เสนเนียม เอาเอกสารมาให้ผม บอกว่าถ้าตรวจสอบว่ารถของบริษัท สไตเออร์ฯแพง ก็ควรเปรียบเทียบกับบริษัทอื่นๆ จะพูดลอยๆ ไม่ได้
ผมเอาเอกสารมาเปรียบเทียบ ก็พบว่าของสเปนถูกกว่าสไตเออร์ฯราว 2 พันล้านบาท
ในเวลาต่อมา ป.ป.ช.สอบสวนโครงการรถเรือดับเพลิง ชี้ความผิดสรุปผลการจัดซื้อจากสไตเออร์ฯแพงทำให้รัฐเสียหายราว 1,900 ล้านบาท แสดงว่าการเปรียบเทียบข้อมูลของผมถูกต้อง
ถ้าถามผมว่า คดีรถเรือดับเพลิงฯทำมานาน 4 ปีกว่าจะได้ข้อสรุปเมื่อไม่กี่วันก่อน มีอะไรที่น่าชื่นชมและผิดหวังบ้าง
สิ่งที่น่าผิดหวังคือคุณนาม ยิ้มแย้ม อดีตประธานคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) และอดีตประธานคณะอนุ คตส.ไต่สวนคดีรถเรือดับเพลิง กทม.
หากคุณนามตรวจสอบคดีนี้อย่างเข้มข้นเหมือนกับ ป.ป.ช. ป่านนี้จะไม่เกิดความเสียหายกับรัฐมากมาย เพราะเมื่ออนุ คตส.ชุดคุณนามระบุว่า คุณอภิรักษ์เปิดแอลซีไม่มีความผิด มีผลทำให้คุณอภิรักษ์เดินหน้าจ่ายเงินค่างวดให้กับบริษัท สไตเออร์ฯถึง 4 ครั้ง รวมเป็นเงิน 2,900 ล้านบาท
ไม่เพียงแค่นั้น คุณนามยังทำให้ชาวกรุงเทพมหานครเดือดร้อน ต้องเลือกผู้ว่าฯกทม.กันใหม่ เสียเงินงบประมาณอีก 154 ล้านบาท เพราะถ้าย้อนกลับไปคุณนามในฐานะประธานอนุ คตส.ชี้ความผิด คุณอภิรักษ์จะไม่มีโอกาสได้ลงสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.
ผมถามว่า เมื่อ ป.ป.ช.สรุปผลคดีรถเรือดับเพลิง กทม.แล้ว คุณนามจะแสดงความรับผิดชอบต่อชาวกรุงเทพมหานครหรือเปล่า
ผมคิดว่า การตรวจสอบทุจริตในโครงการรถเรือดับเพลิงครั้งนี้ ผู้บริหารของพรรคประชาธิปัตย์คงจะมีความเข้าใจในตัวผม และสิ่งนี้ผมเห็นว่าเป็นเส้นทางการเมืองใหม่ ซึ่งกาลเวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์
http://www.matichon.co.th/matichon/view ... 2008-11-20