Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
ปรับครม. มติชน vs ไทยรัฐ .....ท้าทาย กับ ถากถาง ติดต่อทีมงาน

คลอด "ครม. ปู2" "ยิ่งลักษณ์"เฟ้น"มือบริหาร" ฝ่ายต้านโฟกัส"นลินี-เต้น"

มีพระบรมราช โองการโปรดเกล้าฯให้บุคคลพ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรี และแต่งตั้ง
บุคคลเป็นรัฐมนตรีไปเมื่อวันที่ 18 มกราคมที่ผ่านมา

ถือเป็นการปรับคณะรัฐมนตรีครั้งแรกของรัฐบาลผสมพรรคเพื่อไทย ที่มี
น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี

เรียกเป็นภาษาชาวบ้านว่า รัฐบาลปู 2 !

มีรัฐมนตรีที่ต้องพ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรี ประกอบด้วย พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ
น.ส.กฤษณา สีหลักษณ์ นายพรศักดิ์ เจริญประเสริฐ นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล
นายกิตติศักดิ์ หัตถสงเคราะห์ นางบุญรื่น ศรีธเรศ นายสุรพงษ์ อึ้งอัมพรวิไล
นายต่อพงษ์ ไชยสาส์น นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล และนายพิชัย นริพทะพันธุ์

มีรัฐมนตรีที่เปลี่ยนแปลงตำแหน่ง ประกอบด้วย นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง จาก
ตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นรอง
นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา
จากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นรองนายกรัฐมนตรี นายบุญทรง
เตริยาภิรมย์ จากรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เป็นรัฐมนตรีว่าการ
กระทรวงพาณิชย์ พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต จากรัฐมนตรีว่าการกระทรวง
คมนาคม เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล
จากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
และ นายสุรวิทย์ คนสมบูรณ์ จากรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข

และมีรัฐมนตรีใหม่ ประกอบด้วย นางนลินี ทวีสิน รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายทนุศักดิ์
เล็กอุทัย เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เป็นรัฐมนตรี
ช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายชัชชาติ
สิทธิพันธุ์ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นายอารักษ์ ชลธาร์นนท์
เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายสุชาติ ธาดาธำรงเวช รัฐมนตรีว่า
การกระทรวงศึกษาธิการ นายศักดา คงเพชร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวง
ศึกษาธิการ และ ม.ร.ว.พงษ์สวัสดิ์ สวัสดิวัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

ภายหลังมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ เสียงวิพากษ์วิจารณ์ก็ตามมา

ฝ่ายรัฐบาล โดยเฉพาะ น.ส.ยิ่งลักษณ์แสดงความมั่นใจต่อทีมงานใหม่
ด้วยการอธิบายคุณสมบัติของรัฐมนตรีให้ฟังเป็นฉากๆ สอดรับกับกระแส
ข่าวการปรับคณะรัฐมนตรีครั้งนี้ว่า "ปูจัดเอง"

ดึงนายณัฐวุฒิ มาทำงานกับเกษตรกร ดึง พล.อ.อ.สุกำพล กลับมาทำงาน
กับทหาร ดึงนักบริหารมาช่วยงานเพียบ

ทั้ง นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล ทั้ง นายอารักษ์ ชลธาร์นนท์ ทั้ง
นางนลินี ทวีสิน ฯลฯ ที่เป็นนักบริหารและนักธุรกิจ

เปลี่ยนหน้าที่นายกิตติรัตน์จากกระทรวงพาณิชย์ไปกระทรวงการคลัง
เพื่อจัดหารายรับรายจ่ายเพื่อใช้ในงานเศรษฐกิจอย่างเต็มที่

นอกจากนั้นยังมีความพยายาม "ตัดไฟแต่ต้นลม" กรณีข่าวคราวการตั้งเค้า
ทำมาหากินหรือเปิดช่องให้เกิดการทำมาหากิน

ผลจากการปรับคณะรัฐมนตรีและการชี้แจงดังกล่าวทำให้มีเสียงตอบรับค่อนข้างดี

ยกเว้นเสียงตอบรับจากฝ่ายค้าน

ทั้งนี้ เพราะเมื่อปรากฏบัญชีรายชื่อผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีชุด
ครม.ปู 2 เสียงวิพากษ์วิจารณ์พุ่งตรงมา 3 ประเด็น

ประเด็นแรก เป็นการวิพากษ์วิจารณ์ถึงความสัมพันธ์ระหว่าง พ.ต.ท.ทักษิณ
ชินวัตร น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และรัฐมนตรีที่เคยทำงานบริหารให้กับ
พ.ต.ท.ทักษิณ และครอบครัวชินวัตร

ประเด็นที่สอง เป็นการวิพากษ์วิจารณ์ถึงการแต่งตั้งนายณัฐวุฒิ ว่าได้รับ
โควตาของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ
นปช. โดยบอกว่า นายณัฐวุฒิจะเป็น "สายล่อฟ้า"

และ ประเด็นที่สาม เป็นการวิพากษ์วิจารณ์กรณีประเทศสหรัฐอเมริกา
แบล๊กลิสต์นางนลินี โดยสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐ อเมริกาประจำ
ประเทศไทย ได้ออกแถลงการณ์ยืนยันว่า นางนลินีติดบัญชีดำของ
สำนักงานควบคุมทรัพย์สินต่างชาติ ของกระทรวงการคลังสหรัฐอเมริกาจริง

แถลงการณ์ยังระบุสาเหตุว่า นางนลินีเป็น 1 ใน 3 นักธุรกิจที่ให้การ
ช่วยเหลือการทุจริตของรัฐบาล นายโรเบิร์ต มูกาเบ อดีตประธานาธิบดี
ของประเทศซิมบับเว โดยนางนลินีทำธุรกิจร่วมกับ นางเกรซ ภรรยา
ของนายมูกาเบ ทั้งการค้าอัญมณี และอสังหาริมทรัพย์

กระทรวงการคลังของสหรัฐได้กำหนดให้ นางนลินี จอย ทวีสิน อยู่ใน
บัญชีรายชื่อของ "ผู้ที่ถูกอายัดทรัพย์สิน อันเนื่องมาจากการเป็นผู้มีส่วน
ร่วมในบ่อนทำลายกระบวนการหรือสถาบันตามระบอบประชาธิปไตยใน
ประเทศซิมบับเว"

ผู้อยู่ในบัญชีรายชื่อดังกล่าว ไม่สามารถทำธุรกรรมทางการเงินกับ
ชาวอเมริกัน อีกทั้งทรัพย์สินใดๆ ของผู้ถูกขึ้นบัญชีนี้ที่อยู่ในสหรัฐ
ก็ต้องถูกอายัดด้วย

แม้นางนลินีจะออกมาระบุว่าเป็นการเข้าใจผิด และโทษทัณฑ์ ก็เป็น
ข้อกำหนดของสหรัฐอเมริกา แต่ดูเหมือนความผิดที่สหรัฐ อเมริการะ
บุ อาจกระทบต่อท่าทีรัฐบาลไทยที่ปักหลักอยู่ในฝ่ายประชาธิปไตย

ดังนั้น การยอมรับบุคคลที่สหรัฐอเมริกากล่าวหาว่า "มีส่วนร่วมบ่อน
ทำลายกระบวนการหรือสถาบันตามระบอบประชาธิปไตยฯ" จึงเป็น
ข้อกล่าวหาที่รุนแรง

ดังนั้น แม้ ครม.ปู 2 แลดูหน้าตาดีสำหรับนักบริหาร แต่สำหรับการเมือง
ระบอบประชาธิปไตย การตั้งรัฐมนตรีที่มีข้อกล่าวหาเช่นนั้น อาจเป็น
อุปสรรคต่อการปฏิบัติงาน หากไม่มีการเคลียร์ให้ชัดแจ้ง

http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1327203339&grpid=01&catid=&subcatid=

กระชับอำนาจ เจ้าของพรรค ผ่า ครม. “ปู 2”

สายตรงตบเท้าไม่แตะพรรคร่วม

การปรับคณะรัฐมนตรี “ปู 2” ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี
ที่เพิ่งผ่านมาหมาดๆ

เป็นไปแบบปุ๊บปั๊บ รวดเร็ว ตามสไตล์ของพี่ชาย ไม่มีผิดเพี้ยน

แม้คนในแวดวงการเมืองรับรู้กันมาล่วงหน้าแล้วว่าจะต้องมีการปรับคณะรัฐมนตรี
แต่ก็ไม่มีใครคาดคิดว่าจะออกมาแบบเบ็ดเสร็จ ฉับไว และเป็นการปรับใหญ่ขนาดนี้

ถึงขั้นที่พูดกันว่าเป็นรายการปรับใหญ่ฉลองเทศกาลปีใหม่และเทศกาลตรุษจีน
ไปในคราวเดียวพร้อมกัน

รวมยอดเบ็ดเสร็จมีการปรับ ครม. 16 ตำแหน่ง เกือบครึ่งหนึ่ง
ของจำนวนรัฐมนตรีที่มี 35 คน

และจากการปรับคณะรัฐมนตรีครั้งนี้ มีผลให้รัฐมนตรีต้องหลุด
จากเก้าอี้ หลุดจากวงโคจร ครม.ไปทั้งสิ้น 10 คน

โดยเป็นรัฐมนตรีในโควตาของพรรคเพื่อไทย 9 คน ได้แก่

พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ อดีตรองนายกรัฐมนตรี นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล
อดีต รมว.คลัง น.ส.กฤษณา สีหลักษณ์ อดีต รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

นายพรศักดิ์ เจริญประเสริฐ อดีต รมช.เกษตรและสหกรณ์ นายกิตติศักดิ์
หัตถสงเคราะห์ อดีต รมช.คมนาคม

นายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีต รมว.พลังงาน นางบุญรื่น ศรีธเรศ อดีต รมช.ศึกษาธิการ
นายสุรพงษ์ อึ้งอัมพรวิไล อดีต รมช.ศึกษาธิการ และนายต่อพงษ์ ไชยสาส์น อดีต
รมช.สาธารณสุข

ส่วนอีก 1 คน คือ นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล อดีต รมว.อุตสาหกรรม
หัวหน้าพรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน ที่ขอพ่วงปรับออก เพราะมีปัญหาด้านสุขภาพ

ขณะเดียวกัน ก็มีการปรับโยกแบบสลับสับเปลี่ยนกระทรวง ทั้งขึ้นชั้น ลดเกรด
วนเวียนอยู่ใน ครม. จำนวน 6 คน ประกอบด้วย

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ขยับจากเก้าอี้รองนายกรัฐมนตรี ควบ รมว.พาณิชย์
มาเป็นรองนายกรัฐมนตรี นั่งควบเก้าอี้ รมว.คลัง

พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา โดนโยกจากตำแหน่ง รมว.กลาโหม
มานั่งในตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี

พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต ขยับจากตำแหน่ง รมว.คมนาคม ขึ้นแท่นเป็น รมว.กลาโหม

นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล หลุดจากตำแหน่ง รมว.ศึกษาธิการ ขยับมานั่งเก้าอี้
รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ ขยับพ้นจากเก้าอี้ รมช.คลัง ขึ้นชั้นเป็น รมว.พาณิชย์

นพ.สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ เปลี่ยนจากเก้าอี้ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
มานั่งเป็น รมช.สาธารณสุข

นอกจากนี้ ยังมีรัฐมนตรีใหม่ถอดด้าม ที่ได้รับแต่งตั้งให้เข้ามาเสียบ
แทนพวกที่ถูกปรับพ้นจากวงจรคณะรัฐมนตรี 10 คน

โดยเป็นรัฐมนตรีในโควตาพรรคเพื่อไทย จำนวน 9 คน ได้แก่

นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ เข้ามาดำรงตำแหน่ง รมว.คมนาคม นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เป็น
รมช.คมนาคม

นายอารักษ์ ชลธาร์นนท์ เป็น รมว.พลังงาน นายสุชาติ ธาดาธำรงเวช เป็น รมว.ศึกษาธิการ

นางนลินี ทวีสิน เป็น รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล เป็น
รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

นายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย เป็น รมช.คลัง นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เป็น รมช.เกษตรและสหกรณ์
และนายศักดา คงเพชร เป็น รมช.ศึกษาธิการ

ขณะที่ ม.ร.ว.พงษ์สวัสดิ์ สวัสดิวัตน์ เข้ามาดำรงตำแหน่ง รมว.อุตสาหกรรม
ในโควตาของพรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน

ทั้งหมด คือโฉมหน้ารัฐมนตรีใหม่ชุด “ปู 2”

ที่เป็นการปรับคณะรัฐมนตรีครั้งแรก หลังจาก ครม. “ปู 1”
เข้ามาบริหารประเทศอย่างเป็นทางการมาได้เพียง 4 เดือนกว่า

อย่างไรก็ตาม แม้การปรับคณะรัฐมนตรีครั้งนี้ เป็นการปรับใหญ่ถึง 16 ตำแหน่ง
แต่ก็ไม่มีอาการกระเพื่อมใดๆ ทั้งในพรรคและตัวบุคคลที่ถูกปรับออก

แสดงให้เห็นว่ามีการบริหารจัดการแบบเบ็ดเสร็จจากคนที่อยู่หลังฉากพรรคเพื่อไทย

ที่สำคัญ จากการปรับคณะรัฐมนตรีครั้งนี้ สะท้อนชัดเจนว่า
เป็นการปรับเพื่อต้องการบริหารจัดการภายในพรรคของตัวเองเป็นหลัก

โดยเฉพาะการขยับปรับเปลี่ยนตัว รมว.คมนาคม และ รมว.ศึกษาธิการ
ที่มีปัญหาความขัดแย้งกับรัฐมนตรีช่วยว่าการ

รวมไปถึงเป็นการตอบแทนแกนนำกลุ่มคนเสื้อแดง
ที่คุมมวลชนฐานเสียงสนับสนุนพรรคเพื่อไทยจนชนะเลือกตั้งได้เป็นรัฐบาล

ขณะเดียวกัน ก็ไม่มีการแตะต้องพรรคร่วมรัฐบาล อย่างพรรคชาติไทยพัฒนา
ของนายบรรหาร ศิลปอาชา โดยเฉพาะตำแหน่ง รมว.เกษตรและสหกรณ์

ถึงแม้ก่อนหน้านี้จะมีการกล่าวหาโจมตีว่าเป็นต้นเหตุสำคัญที่ทำให้
วิกฤติมหาอุทกภัยลุกลามบานปลาย
สร้างความเดือดร้อนให้แก่พี่น้องประชาชนกว่าครึ่งค่อนประเทศ

จนทำให้รัฐบาล “ยิ่งลักษณ์” เสียศูนย์ เสียรังวัด
ถูกด่าว่าป้องกันแก้ไขปัญหาน้ำท่วมล้มเหลว

ซึ่งตรงนี้ก็เป็นการสะท้อนในมุมกลับว่า การปรับ ครม.หนนี้
ไม่ได้มีการประเมินในเรื่องผลงานการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมแต่อย่างใดทั้งสิ้น

เหนืออื่นใด เมื่อหันไปสำรวจการปรับคณะรัฐมนตรีในส่วนของพรรคเพื่อไทย
ก็ทำให้เห็นเป้าหมายที่ชัดเจนมากขึ้น

เริ่มจากกระทรวงกลาโหม ที่มีการขยับ พล.อ.ยุทธศักดิ์ ไปนั่งเป็นรอง
นายกฯ และโยก พล.อ.อ.สุกำพล จาก รมว.คมนาคม มาเป็น รมว.กลาโหม

พล.อ.อ.สุกำพลเป็นเพื่อนร่วมรุ่นเตรียมทหารรุ่น 10

ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ และ เป็นสายตรงที่ “ทักษิณ” ไว้ใจ

ในห้วงที่ พล.อ.ยุทธศักดิ์นั่งคุมกระทรวงกลาโหม การทำงานในบางเรื่องไม่ได้ดั่งใจ
ถูกมองว่าอ่อนข้อให้กองทัพมากไป

ปรับ ครม.งวดนี้ จึงต้องส่งเพื่อนรักสายตรง “สุกำพล” มานั่งในตำแหน่ง รมว.กลาโหม
เพื่อกระชับอำนาจในกองทัพ

ทำให้การก้าวเข้ามานั่งคุมกระทรวงกลาโหมของ พล.อ.อ.สุกำพล
ถูกจับตาเป็นพิเศษว่าจะเข้ามาผลักดันเรื่องการแก้ไข พ.ร.บ.จัด
ระเบียบกระทรวงกลาโหม เพื่อเพิ่มอำนาจให้ฝ่ายการเมืองในการ
แต่งตั้งโยกย้ายนายทหารหรือไม่ซึ่งถือว่าเป็นงานใหญ่ และเป็นของร้อน

ที่อาจส่งผลให้สัมพันธภาพที่ดีระหว่างรัฐบาล “ยิ่งลักษณ์” กับ “กองทัพ”
เปลี่ยนแปลงไป

หันมาที่กระทรวงการคลัง ที่มีการปรับนายธีระชัยพ้นจากตำแหน่งขุนคลัง
และให้นายกิตติรัตน์ เป็นรองนายกฯควบ รมว.คลัง

เป็นผลมาจากความขัดแย้งเชิงนโยบายระหว่าง รมว.คลังคนเก่า
กับนายกิตติรัตน์ที่เป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล โดยเฉพาะเรื่องการออก
พ.ร.ก.โอนหนี้กองทุนฟื้นฟูไปให้ธนาคารแห่งประเทศไทย

มาถึงจุดนี้จึงต้องเอาคนที่เป็นสายตรงของ “นายใหญ่”
และเป็นคนที่นายกฯยิ่งลักษณ์ไว้เนื้อเชื่อใจอย่างนายกิตติรัตน์มานั่งเป็นขุนคลัง

สำหรับกระทรวงคมนาคม ที่มีการโยก พล.อ.อ.สุกำพลจาก รมว.คมนาคม ไปเป็น รมว.กลาโหม
ทางบ้านจันทร์-ส่องหล้าได้ส่งนายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ เข้ามาเป็น รมว.คมนาคม

ในขณะที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ได้ส่งคนสายตรง คือ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์
ผู้เชี่ยวชาญด้านคมนาคมจากจุฬาฯ และอดีตที่ปรึกษาด้านคมนาคมของตัวเอง เข้ามาเป็น
รมช.คมนาคม เพื่อผลักดันโครงการต่างๆ

เช่นเดียวกับกระทรวงพลังงานที่ “นายใหญ่” ส่งนายอารักษ์ ชลธาร์นนท์
อดีตประธานกรรมการบริหารบริษัทไทยคม และอดีตกรรมการบริหารบริษัทเครือชินคอร์ป

ซีอีโอคู่บารมีตระกูลชินวัตร เข้ามาเป็น รมว.พลังงาน

พร้อมที่จะป้อนข้อมูลต่างๆช่วยนายกฯยิ่งลักษณ์ในการบริหารประเทศ

ส่วนกระทรวงศึกษาธิการ ที่ส่งนายสุชาติ ธาดาธำรง-เวช เข้ามาเป็น รมว.ศึกษาธิการ
โดยบทบาทของนายสุชาติถือว่าเป็น “แดงเงียบ”
ที่มีบทบาทสำคัญในการจัดตั้งหมู่บ้านเสื้อแดง

การเข้ามาเป็น รมว.ศึกษาธิการ

ครั้งนี้ จึงมองได้ว่าเป็นการตอบ แทนความชอบและเพิ่ม
โอกาสในการขยายฐานมวลชนเสื้อแดง

รวมไปถึงการตั้งนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำคนเสื้อแดง
เข้ามาเป็น  รมช.เกษตรฯ ก็ถือเป็นการปูนบำเหน็จ
เพื่อเลี้ยงกระแสเอาใจมวล-ชนเสื้อแดงที่ให้การสนับสนุน
พรรคเพื่อไทย

ทั้งนี้ในการตั้ง ครม. “ปู 1” หลังการเลือกตั้ง
แกนนำคนเสื้อแดงไม่มีโอกาสเข้ามานั่งใน ครม.แม้แต่คนเดียว
อย่างดีก็เป็นแค่ที่ปรึกษารัฐมนตรี และเลขานุการรัฐมนตรี

เพราะไม่อยากเผชิญกระแสต่อต้านจากสังคม

แต่มาถึงวันนี้

“นายใหญ่” จำเป็นต้องตอบแทนเพื่อเลี้ยงกระแสเอาไว้ โดยให้นายณัฐวุฒิ
อยู่ในตำแหน่ง รมช.เกษตรฯ ซึ่งไม่ใช่ตำแหน่งที่จะเป็นสายล่อฟ้า

อย่างไรก็ตาม “นายใหญ่” ได้ประกาศกับบริวารที่ไปเยี่ยมที่ฮ่องกงว่า ปรับ
ครม.งวดหน้า นายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำใหญ่เสื้อแดง จะต้องมีตำแหน่งแน่

นั่นก็หมายความว่า ปรับ ครม.ครั้งต่อไป แกนนำเสื้อแดงจะผงาดยิ่งขึ้น

“ทีมข่าวการเมืองไทยรัฐ” ขอชี้ว่า  การปรับ  ครม.ที่เกิดขึ้นครั้งนี้
เป้าหมายหลักของ “ทักษิณ” คือการกระชับอำนาจความเป็นเจ้าของพรรค

จัดวางคนสายตรงเพื่อให้ง่ายต่อการบริหารจัดการ

จัดวางตำแหน่งให้แกนนำคนเสื้อแดง เพื่อเลี้ยงกระแส
และขยายฐานมวลชนคนเสื้อแดง

รวมทั้งเป็นการปรับโฉม ครม.เพื่อให้ดูกระฉับกระเฉง
ไม่ให้ความนิยมของนายกฯยิ่งลักษณ์ตกลงไป

ขณะเดียวกัน ก็เน้นรักษาเสถียรภาพในสภาฯ
โดยไม่แตะต้องโควตารัฐมนตรีของพรรคร่วมรัฐบาล

ทั้งหมดนี้ก็เพื่อไปสู่เป้าหมายยุทธศาสตร์เดิม คือ
ได้กลับเมืองไทยโดยไม่ต้องรับโทษทางอาญา

โดยมีงานใหญ่เพื่อการนี้รออยู่ข้างหน้า ทั้งการแก้ไข
รัฐธรรมนูญ และการออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม

เหนืออื่นใด การปรับ ครม.ครั้งนี้ นายกฯยิ่งลักษณ์ยืนยัน
หนักแน่นว่าเป็นผู้ดำเนินการเอง นั่นก็ถูก เพราะการปรับ
ครม.เป็นอำนาจของนายกฯ

แต่บังเอิญที่นายกฯเป็นน้องสาวของ “ทักษิณ” ฉะนั้นพี่ชายจะ
บริหารน้องสาวอย่างไรก็เป็นสิทธิเพราะไม่มีกฎหมายห้าม

ถึงตัวอยู่ต่างประเทศ แต่เมื่อบริหารน้องสาวได้ 
ก็เท่ากับบริหารประเทศไปโดยปริยาย.


“ทีมการเมือง”

http://www.thairath.co.th/column/pol/wikroh/232281

ข่าวร้อน  ช่วงนี้คงไม่มีอะไรเด่านไปกว่าเรื่องการปรับครม. เฉพาะ
"มติชน"เอง  มีถึง  2  ซ้อนกับบทวิเคราะห์ เรื่องการปรับครม.
ต่างคนเขียน  แต่มุมมองไม่ต่างกันนัก
และสำหรับบทวเคราะห์ในมุมมองของคนเกลียดรัฐบาล  อย่าง
"แนวหน้า"  ในกระทู้ที่แล้ว  กับ  บทวิเคราะห์ของทีมการเมือง
"ไทยรัฐ"  วันอาทิตย์  ที่เดูเหมือนเกลียด อดีตนายก ฯ ทักษิณ
แบบเข้าไส้  ก็คงออกมาไม่ต่างจาก  ที่ "แนวหน้า" เขียน
มี pro ก็ ต้องมี con  เป็นของธรรมดา   จะให้ไม่มีการวิจารณ์
กันเลย  ก็ไม่เป็นประชาธิปไตย  ถ้ามีแต่คนชื่นชอบกันไปหมด
ก็ต้องถูกหาว่าเป็นห้องของเสื้อแดง  ว่าแต่วันตรุษจีนนี่
เพื่อน ๆ  กองเชียร์ เทพบุตรประชาธิปไตย  หายไปไหนกันหมด
ดิฉันคิดถึงมากค่ะ

เอาบทความวิจารณ์รัฐบาลแบบถึงพริกถึงขิงมาฝากแล้วนะคะ

จากคุณ : sao..เหลือ..noi
เขียนเมื่อ : 22 ม.ค. 55 15:24:31 A:61.90.47.131 X:



ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com