Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
นิติราษฎร์ ตอบชัดแก้ ม.112 เพื่อ ปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ ให้ดำรงอยู่สืบไป ติดต่อทีมงาน

เปิดอก "วรเจตน์ ภาคีรัตน์" ผมออกมาเคลื่อน ไหวเพื่อตอบแทนทุน "อานันทมหิดล" .... มติชนออนไลน์ MsgStatus(Msv[0], 0);



ในประเทศ

หลังจากออกมาเคลื่อนไหวรณรงค์เสนอให้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ร่วมกับ "คณะรณรงค์แก้ไขมาตรา 112" (ครก.112) เมื่อวันที่ 15 มกราคม

และจัดงานอภิปาย "ลบล้างผลพวงรัฐประหาร-นิรโทษกรรม-ปรองดอง" เมื่อวันที่ 22 มกราคม

ณ หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

นักวิชาการคณะ "นิติราษฎร์" ซึ่งรับบทบาทเป็นทั้งผู้จัดทำร่างแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 และเขียนกรอบเนื้อหาของรัฐธรรมนูญฉบับนิติราษฎร์ ที่มีเนื้อหาแหลมคมหลายประการ หากพิจารณาจาก "ความคุ้นชิน" ของสังคมไทยในช่วง 55-65 ปีที่ผ่านมา

ก็ถูกถาโถมโหมกระหน่ำเข้าใส่โดย "ก้อนอิฐ" หลายระลอกหลากระดับ

เริ่มจากการพาดหัวข่าวโดย "สื่อมวลชน" บางสำนัก ที่ "แปลงสาร" ของ "นิติราษฎร์" ไปสู่ถ้อยคำสั้นกระชับเข้าใจง่าย ทว่า สะท้อนความหมายเชิงทำลายล้างอัน "รุนแรงยิ่ง" สำหรับมาตรฐาน "ปกติ" หรือ "ข้อห้าม" ของแวดวงการเมืองไทย

ในระนาบกองทัพ "พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์" ประธานมูลนิธิโรงเรียนเตรียมทหาร ก็ออกมาระบุกับสื่ออย่างร้อนแรงว่า หากยังมีการทำลายสถาบัน ต้องมี "ปฏิวัติ" แน่นอน

ในระนาบของนักการเมือง นายกรัฐมนตรี "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า จุดยืนของรัฐบาลจะไม่เข้าไปแก้ไข ม.112 คนไทยทุกคนมีหน้าที่ปกป้อง ไม่นำสถาบันไปใช้ในทางอื่น ต้องขอความร่วมมือกลุ่มนิติราษฎร์ให้ยุติการเคลื่อนไหวเรื่องดังกล่าว เพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ซึ่งสอดคล้องกับท่าทีของ "ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง" รองนายกรัฐมนตรี

ขณะที่ "พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์" ประธานที่ปรึกษาพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวว่า กลุ่ม "นิติราษฎร์" เป็น "เด็กๆ" อายุเพียง 30-40 ปี และขอฝากให้กลับไปศึกษา "ประวัติศาสตร์" ในอดีต

ในระนาบวิชาการ มีการร่วมกลุ่มของนักวิชาการในนาม "สยามประชาภิวัฒน์" เพื่อตอบโต้ "นิติราษฎร์" โดยเฉพาะ

แต่ที่เผ็ดร้อนสุด เห็นจะเป็นสถานะในเฟซบุ๊กของ "บวรศักดิ์ อุวรรณโณ" อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า

บวรศักดิ์ ซึ่งครั้งหนึ่งเคยกล่าวยกย่อง "วรเจตน์ ภาคีรัตน์" นักวิชาการคนสำคัญของ "นิติราษฎร์" ว่าเป็นนักกฎหมายรุ่นใหม่ที่น่าจับตามอง

แต่มาวันนี้ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้ากลับระเบิดอารมณ์ในเครือข่ายสังคมออนไลน์ ภายหลังกรอบเนื้อหาของรัฐธรรมนูญฉบับนิติราษฎร์ "บางประเด็น" ถูกนำเสนอโดยสื่อมวลชน ว่า

"ผมว่าก่อนจะแก้ไขรัฐธรรมนูญตามที่พวกคุณเสนอ ควรแก้ข้อบังคับทุนอานันทมหิดล ให้ผู้รับทุนสาบานว่าจะไม่เนรคุณและไม่ทรยศต่อพระมหากษัตริย์ผู้พระราชทานทุนจะง่ายกว่าไหม ข้อเสนอผมไม่ต้องแก้รัฐธรรมนูญเลย"

ก่อนหน้านั้น มติชนออนไลน์ มีโอกาสสัมภาษณ์วรเจตน์ บางคำตอบของนักกฎหมายมหาชนจากรั้วท่าพระจันทร์รายนี้มีเนื้อหาน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง

ในท่ามกลาง "ปฏิกิริยาสะท้อนกลับ" ที่กำลังรุมล้อม "นิติราษฎร์"

เหตุใดนิติราษฎร์จึงต้องพูดถึงสถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์ในสังคมมากขึ้น

วันนี้ยุคสมัยมันเปลี่ยนไปเยอะ แล้วการพูดเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ก็ค่อนข้างเสี่ยงในสังคมไทย แต่ว่าวันนี้ไม่ว่ามองไปทางไหนก็ไม่เห็นพอมีใครที่จะหยิบจับเรื่องนี้มาทำได้อย่างเป็นวิชาการ เป็นเหตุเป็นผล ผมจึงตัดสินใจทำ และทำทุกอย่างด้วยความปรารถนาดีต่อสังคมไทย ด้วยความหวังดีอย่างที่สุดต่อสถาบัน ไม่มีความมุ่งหมายต่อการที่จะล้มล้างสถาบันแต่อย่างใด

อีกอย่างหนึ่งคือคนที่กล่าวหาว่าล้มเจ้าหรือล้มล้างสถาบันนั้น ส่วนใหญ่ก็จะไม่ให้เหตุผลในการโต้แย้งสักเท่าไหร่ เรายืนยันตลอดมารวมถึงในร่างแก้ไข ม.112 ก็ชัดเจนว่าเราอยู่ในรัฐที่เป็นราชอาณาจักร เพียงแต่ต้องทำให้สถาบัน สอดคล้องกับหลักประชาธิปไตย

พอมีคนที่ไม่สามารถใช้เหตุผลถกเถียงได้ ก็เบี่ยงประเด็นไปถามว่า นิติราษฎร์ต้องการการปกครองแบบไหน ตอนไปรายการ "ตอบโจทย์" คุณภิญโญ (ไตรสุริยธรรมา) ก็ถาม ผมก็ตอบชัดว่า นิติราษฎร์ยึดถือการปกครองในระบอบประชาธิปไตยในรัฐที่เป็นราชอาณาจักร

: เมื่อต้องการจะให้สถาบันมีสถานะที่สอดคล้องกับการปกครองระบอบประชาธิปไตย เหตุใดจึงเริ่มที่การขอยื่นแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นเรื่องแรก

เป็นเพราะว่ากฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นกฎหมายที่กระทบสิทธิเสรีภาพของประชาชนมากกว่าเรื่องอื่นๆ ที่จะต้องพูดกันต่อไป เวลานำออกมาบังคับใช้มันมีคนถูกจับ ถูกลิดรอนเสรีภาพ ปัญหาสำคัญของมาตรานี้คือ ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง ปี 2475 กฎหมายหมิ่นฯ เขียนว่า "กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ" หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้วจึงเขียนว่า "หมิ่นประมาทองค์พระมหากษัตริย์"

แม้ถ้อยคำในตัวบทจะเขียนแบบเดียวกันเลย แต่เวลาจะมาบังคับใช้นั้นจะตีความแบบเดียวกันไม่ได้เพราะว่าอุดมการณ์ที่กำกับตัวบทกฎหมายนั้นอยู่คนละประเภทกัน แต่ปัจจุบันการตีความกฎหมายหมิ่นฯ ดูจะขัดแย้งกับการปกครองระบอบประชาธิปไตย ซึ่งแบบนี้มันจะเกิดผลเสียเพราะมันไม่รับกับตัวระบอบ

: กระแสสังคมส่วนหนึ่งบอกว่าการที่นิติราษฎร์แยกกฎหมายอาญามาตรา 112 ออกจากกฎหมายหมวดความมั่นคง เท่ากับกำลังทำให้สถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์ไม่มั่นคงหรือไม่

ตัวบทกฎหมายเขียนชัดเจนว่า คนที่กระทำความผิดก็ต้องได้รับโทษตามข้อกฎหมาย ยังมีการคุ้มครองพระเกียรติของพระมหากษัตริย์อยู่ แล้วก็คุ้มครองเป็นพิเศษมากกว่าประชาชนทั่วไป เพียงแต่เราทำให้สถานะของสถาบัน มีความเป็นสากลมากขึ้นตามนานาประเทศที่มีประมุขของรัฐคือพระมหากษัตริย์ เวลาเราพูดว่าต้องรักษาความมั่นคงของสถาบันไว้ เราต้องหมายถึงการรักษาให้สง่างามตามมาตรฐานสากล ไม่ใช่ว่าประเทศไทยพูดอย่าง แต่ต่างประเทศพูดอีกอย่าง

: นักวิชาการด้านกฎหมายอีกฝ่ายบอกว่าถ้าต้องแก้ให้กฎหมายอาญามาตรา 112 แยกออกจากกฎหมายความมั่นคง ก็จะต้องยกเลิกมาตรา 8 ของรัฐธรรมนูญด้วย

เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องมาถกเถียงกัน สังคมเข้าใจเรื่องรัฐธรรมนูญมาตรา 8 ต่างกัน เวลาเราทำความเข้าใจตัวบทกฎหมายไม่ใช่เพียงแค่ตีความไปตามลายลักษณ์อักษรที่เขียนขึ้นมาเพราะถ้าเป็นแบบนั้นใครๆ ก็ตีความตามความเข้าใจของตัวเองทั้งนั้น

ดังนั้น รัฐธรรมนูญเป็นส่วนหนึ่งของระบอบการปกครอง เราจึงต้องตีความระบอบการปกครองของเราด้วย ด้วยเหตุนี้การแก้ไขกฎหมายอาญา ม.112 จึงไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับรัฐธรรมนูญมาตรา 8 ในแง่ที่ว่า ความมุ่งหมายของมาตรานี้ก็เพื่อเทิดองค์พระมหากษัตริย์ให้ทรงพ้นไปจากการเมือง เพราะการเมืองเป็นเรื่องผลประโยชน์และความขัดแย้ง จะดึงพระมหากษัตริย์ลงมาไม่ได้

: สุดท้ายอาจารย์เป็นนักกฎหมายที่จบปริญญาเอกจากเยอรมนีด้วยทุนอานันทมหิดล หลายคนบอกว่าสิ่งที่อาจารย์ทำอยู่นั้นขัดแย้งกับทุนที่อาจารย์เคยได้รับเพื่อไปศึกษาต่อในต่างประเทศรึเปล่า

เพราะผมเป็นนักเรียนทุนอานันทมหิดลนี่แหละครับ ผมจึงต้องออกมาเคลื่อนไหว

สิ่งที่ผมทำอยู่คือการตอบแทน กตัญญูต่อผู้ที่ให้ทุนอานันทมหิดลแก่ผม

ที่ผมทำทุกอย่างก็เพื่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ผมไม่รู้ว่านักเรียนคนอื่นๆ ที่ได้ทุนนี้มีจินตนาการเรื่องนี้อย่างไร แต่สำหรับผมแล้ว สิ่งที่ผมทำก็เพื่อความดำรงอยู่ของสถาบันพระมหากษัตริย์สืบไป

ผมชัดเจนเสมอว่าผมต้องการรัฐธรรมนูญในประเทศที่เป็นราชอาณาจักร

http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1327738519&grpid=no&catid=&subcatid=

ชัดเจนสำหรับ จุดยืนของ "นิติราษฎร์" ใครที่ยังสงสัยอีกต้องเรียกว่า
หาเรื่อง "จับผิด" กัน ยังคงยืนยันค่ะ เป็นเรื่องละเอียดอ่อน เกินกว่า
จะทำให้ยอมรับว่าเป็นเรื่องสามัญ ที่จะนำมาถกเถียงกันได้ ดูจากกระแสต่อต้าน

แต่ก็เห็นใจและเป็นกำลังใจให้ "นิติราษฎร์" นอกจากในสื่อแบบ
"มติชน" กับใน รดน. แล้ว ยังไม่เห็นที่ไหน มีคคห. 2 มุมมอง
แม้แต่ในธรรมศาสตร์ ส่วน "จุฬา ..." นอกจากอ.จ.ที่ลงชื่อสนับ
สนุนแล้ว ก็น้อยมากที่จะมาเสวนาในประเด็นนี้

ไม่รู้จะทำให้ทุกคนเห็นได้ยังไง ว่าวันนี้ กับเมื่อ 30 ปีที่แล้วปชช.มี
การศึกษา การสื่อสารกับโลกภายนอก ความคิดที่ก้าวหน้ามากขึ้น
ทุกอย่างต้องปรับเปลี่ยนไป ตามกาลสมัย

จากคุณ : H-vichaiyut
เขียนเมื่อ : 29 ม.ค. 55 20:50:48 A:101.109.188.236 X:



ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com