ตามข่าวมติชนวันนี้ และจากเวบข่าวนี้ ( ที่นี้ )พรรคการเมืองที่ได้รับเงินบริจาคจากภาษีของประชาชนมากที่สุดในปี2553 คือพรรคประชาธิปัตย์ มีผู้บริจาคจำนวน 81,819 คน คิดเป็นเงินบริจาคภาษีรวมทั้งสิ้น 8,181,900 บาท รองลงมาพรรคเพื่อไทย มีผู้บริจาค 22,440 คน คิดเป็น 2,244,000 บาท และพรรคการเมืองใหม่ มีผู้บริจาค 20,495 คน คิดเป็น 2,049,500 บาท ดังนั้น รวมผู้ที่บริจาคเงินภาษีให้พรรคการเมือง 124,754 คน
เคยมีการประมาณว่า ในเวลานี้มีผู้ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีอยู่ 9-10 ล้านคน และในจำนวนนี้มีผู้ที่ต้องจ่ายเงินภาษีจริงเพียง 2.3 ล้านคนเท่านั้น ในจำนวน 2.3 ล้านคน ไม่มีรายละเอียดว่าเสียมากน้อยเท่าไรในจำนวนเท่าใด แต่น่าเชื่อว่าแต่ละคนที่เสียภาษีนั้น เสียมากกว่า 100 บาท ซึ่งเป็นอัตราขั้นต่ำที่ผู้เสียภาษีจะต้องเสีย ก่อนจะบริจาคเงินให้พรรคการเมืองได้
แสดงว่าในจำนวนผู้ที่มีความสามารถในการเสียภาษีราว 2.3 ล้านคนและมีเงินได้เมื่อคำนวณภาษีตามแบบ ภ.ง.ด.90/91 แล้วมีเงินภาษีที่ต้องชำระตั้งแต่ 100 บาท ขึ้นไปซึ่งมีสิทธิบริจาคเงินให้พรรคการเมืองนั้น มีอยู่ราวร้อยละ 5.42 คือ 124,754 คน ที่บริจาคเงินให้พรรคการเมือง
คำถามว่า จำนวนคนร้อยละ 5.42 หรือ 124,754 นี้สามารถเป็นกลุ่มตัวอย่าง แทนคนที่เสียภาษี 2.3 ล้านคนที่ว่านั้นได้หรือไม่ คำตอบคือน่าจะได้ เพราะปกติขนาดกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 5 ของกลุ่มประชากรนี้ ถือว่าไม่น้อยและสามารถจะแทนพฤติกรรมของประชากรที่ศึกษาได้ ลองเทียบกับสวนดุสิตโพลล์ที่ขนาด หรือเอแบคโพลล์ ที่ขนาดกลุ่มตัวอย่างแค่ 1,000-2,000 คนแต่สามารถนำมาแทนประชากรเป็นล้านๆคน
หากเป็นเช่นนี้ ก็เท่ากับว่าในบรรดาคนที่มีความสามารถในการเสียภาษีบุคคลธรรมดาให้สังคมไทยได้นั้น ส่วนใหญ่พอใจจะเสียให้พรรคประชาธิปัตย์ หรืออาจจะสะท้อนอีกนัยยะหนึ่งว่า ฐานเสียงของพรรคประชาธิปัตย์นั้น มีคนที่มีรายได้สูงพอจะเสียภาษีได้ มีจำนวนมากกว่าเพื่อไทย หรือพรรคการเมืองอื่น ซึ่งตรงนี้จะสนับสนุนข้อสมมุติฐานเดิมที่มีมานานก่อนหน้านี้แล้วว่า ฐานเสียงของประชาธิปัตย์คือคนชั้นกลางที่มีมีรายได้และมีการศึกษาต่างกับฐานเสียงของพรรคเพื่อไทย
เว้นเสียแต่พรรคเพื่อไทยจะรณรงค์ให้คนที่เชียร์พรรคของตน ไม่ต้องเขียม ไม่ต้องเนียมอาย ให้ช่วยกันบริจาคเงิน ในขณะที่เสียภาษีให้พรรคมากขึ้น ยอดตัวเลขจึงอาจจะดูดีกว่านี้
