 |
"ครูบาศรีวิชัย" จาก ร.ศ.121 ถึง ม.112 ตอนที่ 1
|
 |
โดย เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์
ครูบาศรีวิชัย" จาก ร.ศ.121 ถึง ม.112 โดย ดร.เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์ คอลัมน์ ปริศนาโบราณคดี ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 09 ธันวาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1634 หน้า 76
ครบรอบหนึ่งศตวรรษ จาก 2453 ถึงปัจจุบัน เป็นร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยวของชาวบ้าน ที่ถูกสยามกดขี่ข่มเหง เหยื่อผู้บริสุทธิ์เดินแถวเข้าคุกตะราง ถูกทำร้ายทารุณ และโดนสังหารไปถึง 11,135 ราย ภายใต้เงื้อมมือของอำมาตย์สยาม เพียงเพื่อจะข่มขู่ บังคับขับไสให้ชาวบ้านเกรงกลัว
ดังเช่นกรณีคลาสสิคของ "ครูบาศรีวิชัย "
ที่ร้อยปีแห่งความเสื่อมของสถาบันหลัก จนความยุติธรรมไม่หลงเหลืออีกต่อไป นอกเหนือจากความหมายใหม่ที่ว่า "ความเป็นธรรมได้ยุติลงสิ้นแล้ว"
ย้อนหลังกลับไปมองห้วงเวลาแห่งยุคมืดเมื่อร้อยปีก่อน มันคือจุดเริ่มต้นของ "ยุทธการล่าแม่มด ปราบขบถผีบุญ" ในขณะเดียวกันก็คือฉากอวสานแห่งเสรีภาพของความเป็นมนุษย์ ในยุคหัวเลี้ยวหัวต่อจากยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์สู่ยุครัฐราชาชาตินิยม
เหยื่อรายสำคัญที่ถูกสั่งให้จับผิดทุกเม็ดทุกฝีก้าว ชนิดอย่าให้มีโอกาสได้เชิดหน้าชูคอ หวนกลับมาทำหน้าที่ "แกนนำ" ปลุกผู้คนในสังคมให้ตาสว่างได้ ก็คือ "ครูบาเจ้าศรีวิชัย"
ไม่มีเส้นแบ่งระหว่างกบฏกับต๋นบุญ
แม้ภาพลักษณ์ของครูบาเจ้าศรีวิชัยในสายตาของชาวล้านนานั้นท่านเปรียบเสมือน "นักบุญผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดในเมืองเหนือ"
แต่ทว่าในมุมมองของชนชั้นนำชาวสยาม กลับเห็นว่าท่านเป็น "กบฏผีบุญ " หรือหัวโจกอันตราย ที่บังอาจเหิมเกริมสร้างอำนาจต่อรอง ปลุกระดม เรียกร้อง ให้พระสงฆ์ทั่วล้านนาเกิดอาการกระด้างกระเดื่องต่อคณะสงฆ์ที่สังกัดมหาเถรสมาคม
ความขัดแย้งระหว่างล้านนาและสยามเริ่มก่อตัวขึ้นตอนปลายสมัยรัชกาลที่ 5 สภาพของล้านนาถูกปรับเปลี่ยนใหม่ จาก "รัฐประเทศราช" ที่เคยมีอิสระในการปกครอง แต่ละเมืองมีเจ้านายเป็นของตนเอง ต้องกลายมา "มณฑลพายัพ" หัวเมืองหนึ่งของระบบเทศาภิบาล
รัฐบาลกลางประกาศให้ยกเลิกการเรียกชื่อราษฎรว่า "ลาว" ให้เป็น "ไทย" ยกสถานะของข้าหลวงใหญ่ประจำมณฑลที่ส่งตรงมาจากกรุงเทพฯ ให้มีอำนาจเหนือกว่าเจ้าผู้ครองนครเดิม เจ้าผู้ครองนครล้านนาต้องแสดงความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์สยาม กระทั่งได้ยกเลิกการสืบทอดตำแหน่งของเจ้าล้านนาในที่สุด
จุดเริ่มต้นของความไม่พอใจและรู้สึกต่อต้านรัฐบาลกรุงเทพฯ ได้คุกรุ่นขึ้นในกลุ่มชนชั้นเจ้านายฝ่ายเหนือ จากนั้นจึงค่อยๆ แพร่กระจายไปสู่การรับรู้ของประชาชน
กระทั่งอำนาจของสยามได้แผ่ครอบคลุมไปถึงเรื่องการปฏิรูปการศึกษาแผนใหม่ มีการสั่งให้เผาทำลายคัมภีร์อักษรธรรมล้านนาตามวัดต่างๆ
ยกเลิกการเขียนตั๋วเมือง บังคับให้ครูและเด็กนักเรียนพูดภาษาไทยกลาง
เหตุที่ "วัด" คือศูนย์กลางในการถ่ายทอดความรู้ รัฐบาลจึงขอพ่วงเข้ามาจัดระเบียบวงการสงฆ์ด้วย เพราะเห็นว่าเป็นสถาบันที่เข้าถึงราษฎรง่ายที่สุด
เกิดการตราพระราชบัญญัติการปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ.121 ขึ้นให้เป็นแบบแผนเดียวกันทั่วประเทศ ส่งผลต่อจารีตสงฆ์ดั้งเดิมของท้องถิ่นที่เคยปกครองกันเองโดยอิสระ ต้องถูกบังคับให้มารวมศูนย์อำนาจขึ้นตรงต่อมหาเถรสมาคม ทั้งคำสั่งของกรรมการเถรสมาคมนั้นถือเป็นสิทธิ์ขาดผู้ใดจะอุทธรณ์หรือโต้แย้งไม่ได้
มหาเถรสมาคมใช้วิธี "แบ่งแยกแล้วปกครอง" นับแต่หนึ่งร้อยปีที่ผ่านมา พระสงฆ์ล้านนาบางกลุ่มถูกดึงเข้าไปรับการศึกษาพระปริยัติธรรมที่กรุงเทพฯ ปูนบำเหน็จสมณศักดิ์สูงให้มีหน้ามีตา แล้วส่งกลับมาในฐานะผู้ปกครองสงฆ์ท้องถิ่นที่ต่อสายตรงถึงอำมาตย์ พระสงฆ์กลุ่มนี้มีหน้าที่คอยควบคุมรายงานความเคลื่อนไหวของ "พระบ้านนอก" ให้ซ้ายหันขวาหันเคารพเชื่อฟังองค์กรสงฆ์ส่วนกลาง
มีต่อ ตอนที่ 2 ครับ
จากคุณ |
:
โฟโต้แมน007
|
เขียนเมื่อ |
:
4 ก.พ. 55 18:32:42
A:223.205.88.4 X:
|
|
|
|  |