ผมอยากทำกับข้าวให้วรเจตน์กับบรรเจิดกินอีกครั้ง
คอลัมน์ เบื้องหลังคน เบื้องหลังข่าว, เสถียร วิริยะพรรณพงศา, มติชนรายสัปดาห์ ปีที่ 20 ฉบับที่ 1027 วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2555
แต่ก่อนผมจะเป็นคนเข้าครัวทำอาหารให้บรรเจิด กับวรเจตน์กิน เพราะทั้งสองคนฝีมือทำกับข้าวแย่มาก
แววตาเป็นประกายของ เอก ปริญญา เทวานฤมิตรกุล บ่งบอกถึงความสุขเวลาได้หวนคิดถึงเรื่องราวความผูกพันที่มีกับเพื่อนรักทั้งสองคน ในวัยหนุ่มสาว วันที่สถานการณ์บ้านเมือง ยังไม่พัดพาให้พวกเขาต้องยืนคนละมุม แบบทุกวันนี้
ย้อนกลับไปกว่า 10 ปีที่แล้ว พวกเขาคือนักศึกษาวิชากฎหมายมหาชนจากเมืองไทย ที่ไปร่ำเรียนอยู่ที่ประเทศเยอรมัน วรเจตน์หรืออาร์ม กับปริญญา เรียนอยู่เมืองเดียวกันคือ Goettingen ส่วนเปี๊ยก บรรเจิดเรียนเมือง Bochum เมืองที่มีทีมฟุตบอลโด่งดังในบุนเดสลีกา
ในวันที่อยู่ที่เมืองเบียร์ นอกจากพระเจ้าแล้ว ใครจะรู้ว่า บรรเจิด และวรเจตน์ วันหนึ่งจะมายืนอยู่ในฝั่งตรงข้ามกัน กลายเป็นผู้นำกลุ่มนิติราษฎร์ และสยามประชาภิวัฒน์ สองปีกความคิดที่ปะทะกันอยู่ตอนนี้ เพราะในอดีต ทั้งสองคือเพื่อนร่วมก๊วน ร่วมทุกข์ร่วมสุขกัน กิน เที่ยว อยู่ด้วยกัน ตามประสาคนที่อยู่ไกลบ้านเกิดเมืองนอน ใช้เวลาเป็นวันๆ ขลุกกันอยู่ในบ้านของปริญญา เพื่อถกเถียงปัญหาข้อกฎหมาย และที่ขาดไม่ได้คือ การถกประเด็นปัญหาการบ้านการเมืองในประเทศไทย ทั้งสามคนมีความฝันร่วมกันว่า เมื่อคว้าดอกเตอร์ได้แล้ว จะเอาความรู้ความสามารถไปเปลี่ยนบ้านแปลงเมือง
ปริญญาเล่าว่า สมัยที่อยู่เยอรมัน เขามักจะเป็นคนกลาง นัดทั้งวรเจตน์และบรรเจิด มานั่งคุยกันที่บ้านอยู่บ่อยๆ โดยตัวเองเป็นคนทำอาหารให้กิน เพราะฝีมือทำอาหารของทั้งสองคนแย่มาก เราคุยกันจริงจังว่า ประเทศไทยไปไม่รอด ถ้ามีรัฐประหารฉีกรัฐธรรมนูญกันอยู่บ่อยๆ เป็นวงจรอุบาทว์ ต้องปฏิรูปการเมือง ทำอย่างไรให้ประเทศไทยปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยที่มั่นคง กลับไปเมืองไทยเราต้องทำเรื่องเหล่านี้กัน
และทันทีที่ทั้งสามสหาย กลับมาเป็นอาจารย์ที่เมืองไทย ก็ไม่รีรอที่จะเดินตามความฝัน พวกเขางัดวิชาความรู้ที่ได้เรียนมา แถมด้วยความทรงจำอันเจ็บปวดของคนเยอรมัน ที่ได้รับจากระบอบฮิตเลอร์ ตั้งป้อมฟาดฟันกับระบอบทักษิณ ที่วันนั้นเริ่มที่จะใช้อำนาจเกินขอบเขตของกฎหมาย และเอื้อประโยชน์ให้แก่ตัวเองและพวกพ้อง โดยใช้ฐานอ้างอิงเดียวดันดับฮิตเลอร์ คือ การเลือกตั้ง
ตำนานการต่อสู้ของสามทหารเสือแห่งนิติ มธ. ถูกเปิดขึ้น ทั้งสามคนแสดงความห้าวหาญ ลุกขึ้นมาตั้งคำถามกับนักกฎหมายอาวุโส ที่ผู้คนให้ความเคารพทั้งบ้านทั้งเมือง โดยไม่มียำเกรง และวรเจตน์ ผู้นำนิติราษฎร์ วันนี้คือมือร่างแถลงการณ์ของกลุ่มอาจารย์หนุ่ม ที่ได้ชื่อว่าร้อนแรงที่สุดในยุคนั้น
แต่โชคชะตาของบ้านเมืองที่ผันผวนปรวนแปร ความแตกแยกในบ้านเมืองได้แบ่งแยกเส้นทางของสหายร่วมอุดมการณ์ทั้งสามคน ให้ต้องกระเด็นกระดอนไปอยู่คนละปีกความคิด ตามแต่ทัศนะการมองโลกที่แตกต่างกัน
ในสายตาของปริญญา มองว่า ตัวการที่ทิ่มแทงให้บรรเจิดและวรเจตน์ ต้องกลายเป็นคู่ขัดแย้งกันเอง คือ การรัฐประหาร 19 กันยายน 2549
เหตุการณ์นั้นเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ตำนานการต่อสู้ของสามทหารเสือแห่งนิติ มธ. ปิดฉากลง โดยแต่ละคนก็ไปเปิดฉากใหม่ พร้อมกับพลพรรคของตัวเองบนเส้นทางที่เลือกเดิน
ปริญญา วิเคราะห์ว่า การรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ทำให้ทั้งสองคนไปด้วยกันไม่ได้ เป็นเรื่องของการให้น้ำหนัก และให้คุณค่าแตกต่างกันเล็กน้อย วรเจตน์คงจะเห็นว่า การใช้อำนาจของทักษิณ ถึงจะไม่ถูกต้อง แต่การรัฐประหารเลวร้ายกว่า ทักษิณจะเลวร้ายอย่างไร ก็ยังมาจากการเลือกตั้ง
ส่วนบรรเจิดนั้น เขาก็มั่นใจว่าเพื่อนรุ่นพี่คนนี้ ไม่ได้เชียร์รัฐประหาร แต่ในเมื่อทำแล้วก็ห้ามไม่ได้ และปัญหาของคุณทักษิณ ก็ร้ายแรงมาก บางทีถ้าจะรัฐประหารก็จำเป็น มันเป็นความต่างกันเล็กน้อย ถ้าเทียบกับจุดร่วมที่มีมากกว่า ประมาณ 80 ต่อ 20
จุดที่เหมือนกันของทั้งสองคนในมุมมองของปริญญา คือ วรเจตน์ ก็ไม่เห็นด้วยกับการใช้อำนาจโดยมิชอบของทักษิณ เพราะเขาก็เคยค้านทักษิณเอง ส่วนบรรเจิดก็ไม่เห็นด้วยกับรัฐประหารแน่นอน แต่จุดที่เหมือนกันไม่ได้นำมาต่อยอด พอไม่ได้คุยกันนานเข้า ช่องว่างมันก็ถ่างขึ้นเรื่อยๆ แล้วแต่ละคนก็ไปคุยแต่กับฝ่ายตัวเอง ก็เลยเหมือนยิ่งมีกำแพงสูงขึ้นเรื่อยๆ จุดต่างของอีกฝ่ายก็ถูกขยายไปเรื่อยๆ จุดเริ่มต้นของสงครามกลางเมืองในหลายประเทศ ก็เริ่มจากตรงนี้ คือ ไม่มีกระบวนการที่จะพูดคุยกัน ก็ต้องจบด้วยความรุนแรง
นอกจากแนวคิดที่ตรงกันเป็นส่วนใหญ่แล้ว จากที่คบค้าสมาคมกันนับสิบปี ทำให้ปริญญาพบว่า ที่ทั้งสามคนคบหากันได้นาน เพราะต่างมีความตั้งใจศึกษาธรรมะอย่างเอาจริงเอาจังทุกคน
ปริญญาเล่าว่า สองคนนี้สนใจธรรมะอย่างจริงจัง หลายคนไม่รู้ว่า วรเจตน์ศึกษาเข้มข้น จนมีความรู้ด้วยธรรมะชั้นสูงมาก อ่านหนังสือพุทธธรรม ของพระอาจารย์ปยุต ปยุตโต เล่มหนาๆ จนจบสบายๆ ส่วนบรรเจิด ก็ฝักใฝ่ในทางธรรม ไปปลีกวิเวกในวัดป่าอยู่บ่อยครั้ง และเคยพูดเสมอว่า ในบั้นปลายชีวิตจะบวชแบบไม่สึก
มาวันนี้ เพื่อนทั้งสองได้เคลื่อนไหวตามความเชื่อ ท่ามกลางหมู่มิตรร่วมอุดมการณ์ ทั้ง นิติราษฎร์ และ สยามประชาภิวัฒน์ ขณะที่ปริญญา ก็ทำหน้าที่ดูแลนักศึกษา ในบทบาทรองอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษา
แต่ก็มีความสุขทุกครั้ง ที่ได้นึกถึงคืนวันเก่าๆ เห็นภาพของเด็กหนุ่มสามคน ที่ถกเถียงปัญหาข้อกฎหมายการเมืองกันอย่างเอาเป็นเอาตาย โดยที่ไม่มีสังกัดกลุ่มไม่มีสีเป็นตัวกั้นกลาง
เขายังมีความเชื่อลึกๆ ว่า วันคืนเหล่านั้นจะกลับมา เพราะมั่นใจว่า ทั้งวรเจตน์และบรรเจิด มีสิ่งที่เหมือนกันที่ชัดเจน คือ ความหวังดีต่อประเทศชาติบ้านเมือง
ผมรอคอยที่วันนั้นมาถึง ถ้ามันเกิดขึ้นจริง ผมจะเข้าครัวทำกับข้าวให้เพื่อนกินกันอีกครั้ง และมันจะเป็นวันที่ผมมีความสุขมากที่สุด
แก้ไขเมื่อ 12 ก.พ. 55 09:24:11
แก้ไขเมื่อ 12 ก.พ. 55 09:23:30
แก้ไขเมื่อ 12 ก.พ. 55 09:22:54
แก้ไขเมื่อ 12 ก.พ. 55 09:14:29
แก้ไขเมื่อ 12 ก.พ. 55 09:13:54