+++++ การพูดสองแง่สองง่ามกับการหมิ่นประมาท บุคคลทางการเมือง +++++
|
 |
ดังที่เคยวิจารณ์ไว้ในกระทู้ P11697720 แล้วว่านักการเมืองนั้นถือเป็นบุคคลสาธารณ ที่อาจจะถูกวิพากษ์วิจารณ์การทำงาน ความประพฤติได้ เพราะกฎหมายบัญญัติไว้ว่า ผู้ใดแสดงความคิดเห็นหรือข้อความใดโดยสุจริต ติชมด้วยความเป็นธรรม ซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อม ผู้นั้นย่อมไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท ซึ่งมีฏีกาที่ยึดตามแนวทางที่ประมวลกฎหมายอาญาบัญญัติหลายฏีกา เช่น ฎีกาที่ 7435/2541 บรรยายไว้ว่า “โจทก์ตกเป็นบุคคลสาธารณะซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้” หรือ ฎีกาที่ 4595/2543 “โจทก์เป็นนักการเมืองที่ถือว่าเป็นบุคคลสาธารณะที่ สมควรต้องถูกตรวจสอบได้”
แต่การวิพากษ์วิจารณ์นั้นควรทำโดยสุจริต ตามที่กฎหมายอนุญาตไว้ ดังนั้น การใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สามโดยไม่สุจริตเพื่อให้เขาเสียหาย แม้บุคคลที่ถูกใส่ความจะเป็นนักการเมืองหรือบุคคลสาธารณ ผู้ใส่ความก็ยังต้องรับผิดตามกฎหมายอาญา การใส่ความโดยไม่สุจริตที่พบเห็นกันบ่อยๆ ก็คือ เอาความเท็จมากล่าวหากัน เช่นนี้ย่อมถือว่าไม่สุจริต ตัวอย่างเช่น ไปกล่าวหายืนยันว่า นายก A ไปมีอะไรกับนาย B นักธุรกิจใหญ่ สองต่อสองในห้องพักโรงแรม C
ซึงจะต่างจากการที่วิพากษ์วิจารณ์ที่ยกข้อสงสัยเป็นการตั้งคำถามให้คิดกันว่า นายก A ไปมีอะไรกับนาย B นักธุรกิจใหญ่หรือไม่ เพราะอาจจะมีโอกาสอยู่กันสองต่อสองในห้องพักโรงแรม C เช่นนี้ ย่อมไม่ถือว่าเป็นการใส่ความ แต่เป็นการตั้งข้อสงสัยต่อสาธารณ ตามพฤติการณ์ที่ปรากฏและเป็นสิ่งที่นายก A จะต้องชี้แจงออกมา
กรณีพูดสองแง่สองง่าม กรณี สส.ปชป.สามท่าน จัดรายการ สายล่อฟ้า วิพากษ์วิจารณ์นายกฯยิ่งลักษณ์ มีเรื่องการพูดสองแง่สองง่ามในลักษณะลอยๆ เกี่ยวกับเรื่อง สวรรค์ชั้น 7 หรือขณะนี้โรงแรมโฟร์ซีซั่นส์ได้กลายเป็นพื้นที่รับน้ำหรือฟลัดเวย์ไปแล้ว แม้ดูแล้วอาจจะไม่เหมาะควร แต่จะถูกตีความว่าเป็นการหมิ่นประมาทหรือไม่อาจจะยังเป็นปัญหา
เพราะแม้การส่อเสียดจะถือว่าเป็นการแสดงความคิดเห็นหรือข้อความโดยไม่สุจริต ไม่ได้ติชมด้วยความเป็นธรรม แต่ก็ไม่ใช่ลักษณะการใส่ความกล่าวหากันตรงๆ ไม่ได้มีการระบุกล่าวหากันตรงๆ เพียงแต่พูดทิ้งไว้ให้คิดกันเอง ฟังกันเอง ตีความกันเอง ซึ่งกรณีนี้ แม้ดูเผินแล้วดูเหมือนกำลังพูดถึงนายกยิ่งลักษณ์ แต่ก็ไม่ได้ใส่ความระบุตรงๆในถ้อยคำหมิ่นนั้นว่า ตัวนายกได้กระทำผิดศีลธรรมไปแล้ว เพียงแต่พูดสองแง่ให้คิดเอาเองว่า อาจจะมีการกระทำผิดศีลธรรมเกิดขึ้นหรือไม่เท่านั้น ซึ่งต้องขึ้นกับวิจารณญาณของคนฟังเอง นั้นคือ กรณีนั้น การระบุตัวบุคคลก็ไม่ชัดเจน ไม่ระบุตรงๆ การระบุพฤติการณ์ก็ไม่ได้ใช้คำตรงๆแต่เลี่ยงไปใช้คำอื่น
ลองดูตัวอย่างฎีกาที่ 3901/2545 อาจจะเห็นเป็นแนวทาง
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ข้อความที่จำเลยทั้งหกลงพิมพ์ดังกล่าวหมายถึงโจทก์หรือไม่ โจทก์ฎีกาว่า ข้อความดังกล่าวหมายถึงโจทก์ เพราะข่าวเกี่ยวกับสำนักงานของจำเลยที่ 1 โดนระเบิดนั้น หนังสือพิมพ์ข่าวสดได้ลงข่าวหน้าหนึ่งหลายวันติดต่อกันมีข้อความว่าสาเหตุ น่าจะมาจากกรณีพิพาทอย่างรุนแรงกับโจทก์ คำว่าวีรบุรุษซาตานหมายถึงโจทก์ …… เมื่ออ่านถ้อยคำตามที่โจทก์กล่าวอ้างโดยตลอดแล้ว ไม่มีตอนใดระบุว่าเป็นโจทก์หรือทำให้เข้าใจว่าหมายถึงโจทก์ ประกอบกับปรากฏจากทางนำสืบของโจทก์ว่าทั้งก่อนและหลังเกิดเหตุ หนังสือพิมพ์ข่าวสดลงข่าวเกี่ยวกับโจทก์ติดต่อกันเป็นเวลานานกล่าวถึงตัวโจทก์ โดยระบุตรง ๆไม่ต้องให้ผู้อ่านต้องแปลหรือทำความเข้าใจเองว่าหมายถึงใคร
ดังนั้น หากจำเลยทั้งหกประสงค์จะให้ถ้อยคำดังกล่าวชี้ชัดเฉพาะเจาะจง เป็นการยืนยันว่าเป็นโจทก์ ก็น่าจะกล่าวถึงตัวโจทก์โดยระบุตรง ๆ เหมือนหลาย ๆครั้ง ดังกล่าว ข้อความตามที่จำเลยทั้งหกลงพิมพ์ตามคำฟ้องจึงฟังไม่ได้ว่าหมายถึงโจทก์ที่ ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
|
ความเหมาะควรและใครเป็นผู้ตัดสิน ปกติการพูดจาสองแง่สองง่าม มักจะถือว่าไม่เหมาะควร แต่ความไม่เหมาะไม่ควรนี้ ก็เหมือนกับการใช้คำด่าว่า ส่อเสียด หยาบคายต่างๆ ที่ผู้คนต่างก็ใช้คำเหล่านี้กับนักการเมืองที่ตนไม่ชอบอยู่แล้ว ตัวอย่างเช่น กรณีอภิสิทธิ์ ก็ได้รับคำส่อเสียด ด่าว่า ทั้งในสิ่งที่จริง หรือไม่จริง หรือยังพิสูจน์ไม่ได้ว่าจริงหรือไม่จริงมากมายเป็นประจำ อีกทั้งการพูดจาลักษณะนี้ จะขึ้นกับคนฟังว่าอยู่ฝ่ายใดจะรู้สึกไปอย่างไร อันเป็นธรรมดาโลก
เรื่องของ สส.ปชป.นี้ สุดท้ายแล้ว ก็คงไปตัดสินกันในการเลือกตั้ง หากเขาผ่านการเลือกตั้งเข้ามาได้อีก ก็ย่อมแสดงว่าที่เขาพูดไป ไม่ได้เกินเลยกว่าที่ประชาชนจะรับไม่ได้นั้นเอง แต่ในทางกฎหมาย อาจจะไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะเอาผิดกัน
ก็เป็นการมองจากแง่มุมหนึ่งของกฏหมาย

จากคุณ |
:
thyrocyte
|
เขียนเมื่อ |
:
24 ก.พ. 55 12:05:08
A:58.137.0.146 X:
|
|
|
|