Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com  


 
ข้อเท็จจริงที่ประชาชนควรต้องทราบ จากการให้สัมภาษณ์ของ นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ต่อกรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปี 2550 ติดต่อทีมงาน

ข้อเท็จจริงที่ประชาชนควรต้องทราบ จากการให้สัมภาษณ์ของ นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์
ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ต่อกรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปีพุทธศักราช 2550
____________________________________________________________________

จากข่าวนายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์หลายฉบับ เมื่อเช้าวันที่ 29 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 ตอบโต้นายวัฒนา เมืองสุข ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย ที่เสนอให้ยุบศาลรัฐธรรมนูญ และศาลปกครอง ให้เป็นเพียงแผนกหนึ่งในศาลฎีกา โดยนายวสันต์ฯ ได้ให้สัมภาษณ์เอาไว้ดังนี้ (จากหนังสือพิมพ์ มติชนรายวัน ฉบับวันพุธที่ 29 กุมภาพันธ์ 2555 หน้า 1 ต่อหน้า 14)

“การตั้งศาลปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญ ตั้งตามรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2540 ใช่หรือไม่..?

หากชื่นชมว่ารัฐธรรมนูญ ปี 2540 เป็นรัฐธรรมนูญที่ดีที่สุดในโลก และ เรียกร้องให้เอารัฐธรรมนูญ ปี 2540 คืนมา แต่ถ้าจะยุบศาลปกครอง และศาลรัฐธรรมนูญแสดงว่ารัฐธรรมนูญปี 2540 ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับศาลนั้นแย่มาก...ใช้ไม่ได้โดยสิ้นเชิง ใช่หรือไม่...?

หรือเป็นเพราะคนที่มีอำนาจในการตัดสินไม่ใช่พวกฉัน "จะให้ไปเป็นแผนกหนึ่งในศาลฎีกา ไม่มีปัญหาเลย แต่ไปถามศาลฎีกาก่อนว่าทำไหวหรือไม่..? เพราะขนาดแยกออกมาเป็นศาลปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลฎีกาก็ยังมีคดีค้างอยู่ประมาณ 40,000 คดี

ลองไปถามดูว่าคดีที่ค้างนานที่สุดเป็นคดีของปีไหน? แล้วยังจะรับไหวอีกหรือ..? อีกทั้งโครงสร้างมันก็คนละอย่าง ศาลยุติธรรม ศาลปกครอง ผู้พิพาษา ตุลาการ เป็นข้าราชการประจำ แต่ศาลรัฐธรรมนูญไม่ใช่เรื่องอย่างนี้ก็แล้วแต่จะคิด ยังไม่อยากจะออกความเห็นอะไรมาก"

นี่คือคำให้สัมภาษณ์ของนายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ที่หนังสือพิมพ์หลายฉบับลงข่าวเอาไว้ ซึ่งเป็นการให้สัมภาษณ์แบบ “ลักไก่” ที่น่าละอายอย่างยิ่ง  เพราะนายวสันต์ฯ อดีตก็เคยเป็นถึงข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรมชั้นผู้ใหญ่ ระดับผู้พิพากษาศาลฎีกามาแล้ว เหตุไฉน?? นายวสันต์ฯ จึงให้สัมภาษณ์ในประเด็นข้อเท็จจริง อันเป็นที่มาที่ไปของการร่างรัฐธรรมนูญปีพุทธศักราช 2540 ไม่ครบถ้วนตามข้อเท็จจริงที่สามารถตรวจสอบย้อนหลังได้ ดังนั้น เพื่อให้เกิดความกระจ่างชัดในประเด็นข้อเท็จจริงเหล่านี้ อีกทั้งป้องกันมิให้ประชาชน และ สื่อสารมวลชนทั่วไป หลงเชื่อตามที่นายวสันต์ฯ ได้ให้สัมภาษณ์แบบ “ลักไก่” เอาไว้ อันอาจทำให้ประชาชนเข้าใจผิดไปคนละทิศ คนละทางกับข้อเท็จจริง

การร่างรัฐธรรมนูญปีพุทธศักราช 2540 ต้องไม่ลืมกันว่า นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรีสมัยเผด็จการทหาร รสช. ทำหน้าที่เป็นประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับนั้น
และนายอานันท์ฯ คนนี้ใช่หรือไม่?? ที่มีอคติอย่างรุนแรงกับศาลยุติธรรม และเป็นผู้สร้างรอยด่างครั้งยิ่งใหญ่ให้กับศาลยุติธรรม ด้วยการเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง ของคณะกรรมการตุลาการ (ก.ต.) เปิดช่องให้ฝ่ายบริหาร เข้ามา “ยุ่มย่าม” และ “ย่ำยี” ความเป็นอิสระของข้าราชการฝ่ายตุลาการ จนเกิดการต่อต้านจากผู้พิพากษาทั่วประเทศ ทำให้เกิด “วิกฤตตุลาการ” ขึ้น อย่างที่ไม่เคยปรากฎมาก่อน และนายวสันต์ฯ ก็เป็นคนหนึ่งที่ร่วมขบวนการต่อต้านการกระทำของนายอานันท์ฯอยู่ด้วยในเวลานั้น นายวสันต์ฯ ก็ต้องรู้อยู่แก่ใจว่า นายอานันท์ฯ มีอคติอย่างรุนแรงต่อศาลยุติธรรม นายอานันท์ฯจึงฉวยโอกาส ยกร่างรัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2540 แยกแผนกคดีปกครองออกจากศาลยุติธรรม ไปจัดตั้งเป็นศาลปกครอง และฉวยโอกาส เปลี่ยนแปลงคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ไปจัดตั้งเป็นศาลรัฐธรรมนูญ ท่ามกลางการต่อต้านและคัดค้านจากหลายๆฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย แต่ด้วยการสร้างกระแส และ การสร้างภาพของนายอานันท์ฯกับพวกในเวลานั้น จึงทำให้ร่างรัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2540 ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาไปได้ด้วยวิธีการอันไม่ชอบมาพากลหลายๆอย่าง อาทิเช่น มีการสร้างกระแสให้ “ยกธงเขียว” เพื่อให้ผ่านร่างรัฐธรรมนูญในฉบับนั้น มีการสร้างกระแสผ่านสื่อสารมวลชนทุกแขนง ว่าใครก็ตามที่ไม่เห็นด้วย กับร่างรัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2540 ในตอนนั้น จะเป็นบุคคลที่จะต้องถูกจดจำกันเอาไว้ให้ดี แต่พอถึงวันลงมติให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2540 ก็มีนักการเมืองบางคน กล้าหาญที่จะออกมาแสดงความเห็นอย่างตรงไปตรงมา ว่าไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนั้น อาทิเช่น นายสมัคร สุนทรเวช และ นายเสนาะ เทียนทอง

นายวสันต์ฯ จึงควรเป็นผู้ที่น่าจะรู้ได้เป็นอย่างดีว่า ที่มาที่ไปของศาลปกครองและศาลรัฐธรรมนูญ มันมีความเป็นมาอย่างที่ได้กล่าวไว้ในที่นี้ คำถามของนายวสันต์ฯ ที่ถามย้อนกลับนายวัฒนา เมืองสุข จึงเป็นเพียงการ “เล่นลิ้น” ที่ปราศจากข้อเท็จจริงอย่างตรงไปตรงมา เพราะเรื่องอย่างนี้ เป็นข้อเท็จจริงที่สามารถสืบค้นได้ทุกเวลา หากแต่ว่า “สังคมไทย” ไม่ชอบที่จะสืบค้นอะไรย้อนหลัง จึงเปิดช่องให้คนอย่างนายวสันต์ฯ “ฉวยโอกาส สร้างภาพลวงตา” อย่างที่ได้ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ไปแล้วทั้่งหมด และนี่คือจุดอ่อนที่สุดของสังคมไทย และของสื่อสารมวลชนไทย ประเทศไทยจึงต้องถอยหลังเข้าคลองลึกเข้าไปทุกที อย่างน่าอับอาย จนไม่รู้ว่า “จะเอาหน้าคนไทย ไปซุกไว้​ ณ ที่ใด??”

ตลอดระยะเวลาที่ประเทศไทย ได้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2475 เป็นต้นมา รัฐธรรมนูญทุกฉบับ ได้มีการบัญญัติเอาไว้ในมาตราหนึ่ง ซึ่งได้กำหนดเอาไว้ว่า หากมีกรณีที่จะต้องวินิจฉัย ว่าบทบัญญัติของกฎหมายใด มีความขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ ก็ให้คณะกรรมการตุลาการรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีองค์ประกอบตามที่รัฐธรรมนูญฉบับนั้นๆกำหนดไว้ เป็นผู้วินิจฉัย

ในขณะเดียวกันกับที่ ศาลยุติธรรม ก็รับหน้าที่พิจารณาพิพากษาคดีปกครอง มาโดยตลอดอยู่แล้ว ตามที่มีกฎหมายกำหนดเอาไว้อย่างชัดเจนตลอดมา

ความจำเป็นในการที่จะจัดตั้งศาลรัฐธรรมนูญ และศาลปกครอง จึงได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ ต่อต้าน มาแล้วทุกยุค ทุกสมัย จวบจนกระทั่งนายอานันท์ ปันยารชุน ผู้มีอคติกับศาลยุติธรรม ฉวยโอกาสปลุกระดม สร้างภาพ เพื่อให้รัฐธรรมนูญปี พ.ศ.  2540 ผ่านความเห็นชอบ ตามความประสงค์ของพวกตน ศาลปกครอง และ ศาลรัฐธรรมนูญ จึงได้ถือกำเนิดขึ้นอย่างกระท่อนกระแท่นเต็มทน หรือจะเรียกว่า อย่างลุกลี้ลุกลนก็เป็นได้

ประชาชนทั่วไป ที่อยากจะรู้ว่า นายอานันท์ ปันยารชุน มีความจงเกลียดจงชัง​ศาลยุติธรรมเพียงใด ก็ให้ไปหาหนังสือสมุดปกดำ ที่เขียนโดย ท่านวิชา มหาคุณ กรรมการปปช.ในปัจจุบัน และอดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา ตีแผ่ความมีอคติของนายอานันท์ฯ ต่อศาลยุติธรรมเอาไว้อย่างแจ่มแจ้งแดงแจ๋ หนังสือปกดำเล่มนี้ชื่อ “วิกฤตตุลาการ” สามารถค้นหาได้ ตามห้องสมุดของคณะนิติศาสตร์ ในทุกมหาวิทยาลัยของประเทศไทย ที่มีการเรียนการสอนวิชานี้

จากคุณ : ห่างไกล
เขียนเมื่อ : 29 ก.พ. 55 17:06:36 A:61.90.15.169 X:



ข้อความหรือรูปภาพที่ปรากฏในกระทู้ที่ท่านเห็นอยู่นี้ เกิดจากการตั้งกระทู้และถูกส่งขึ้นกระดานข่าวโดยอัตโนมัติจากบุคคลทั่วไป ซึ่ง PANTIP.COM มิได้มีส่วนร่วมรู้เห็น ตรวจสอบ หรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งสิ้น หากท่านพบเห็นข้อความ หรือรูปภาพในกระทู้ที่ไม่เหมาะสม กรุณาแจ้งทีมงานทราบ เพื่อดำเนินการต่อไป



Pantip-Cafe | Pantip-TechExchange | PantipMarket.com | Chat | PanTown.com | BlogGang.com