หลักคิดที่อยู่เบื้องหลังการสนับสนุนระบอบเผด็จการและประชาธิปไตย มาจากการอธิบายความของนักปรัชญาการเมืองคนสำคัญคือ โธมัส ฮอปส์ ที่สนับสนุนระบอบเผด็จการคือ ราชาธิปไตยในสมัยนั้นหรือเผด็จการทหารหรือพลเรือนในสมัยนี้ กับ จอห์น ล๊อก ที่สนับสนุนระบอบประชาธิปไตยและเป็นที่มาของการประกาศอิสรภาพของสหรัฐอเมริกา การปฏิวัติฝรั่งเศสและอังกฤษ..
ลองศึกษาข้อแตกต่างของสองแนวคิดนี้และนำไปวิเคราะห์การแสดงความเห็นทางการเมืองของบุคคลสำคัญต่างๆ หรือฝ่ายเหลืองฝ่ายแดง และอย่าลืมว่าเรื่องเหล่านี้ ชาวตะวันตกได้ตกผลึกมาแล้วเมื่อสองร้อยปีก่อน ประเทศไทยอาจจะเป็นประเทศท้ายๆ ในโลกที่จะได้มี่ประชาธิปไตยที่แท้จริงในที่สุด...
หลักการของฮอปส์
ธรรมชาติของมนุษย์
มนุษย์ไม่ใช่สัตว์สังคม สังคมจะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยการมีรัฐเท่านั้น
สภาวะตามธรรมชาติ
ไม่มีสังคม มีแต่ความหวาดกลัว การฆ่ากันเพื่อให้ตัวเองอยู่รอด มนุษย์จึงมีชีวิตอย่างโหดร้าย ยากจน และสั้น
ความรู้ในกฎธรรมชาติ
ในสภาวะธรรมชาติ คนไม่รู้ว่าอะไรเป็นของเขาหรือของคนอื่น ทรัพย์สมบัติจะเกิดมีขึ้นได้ก็ด้วยความประสงค์ของรัฐ เพราะเหตุนั้นในสภาวะธรรมชาติมนุษย์จะมีแต่ความรุนแรงที่ไม่สิ้นสุด ในทางปฏิบัติแล้วศีลธรรมก็เป็นเพียงการสั่งการของบุคคล กลุ่มบุคคลหรือพระเจ้า และกฎหมายก็คือความประสงค์ชั่วคราวของผู้ปกครองเท่านั้น
แนวทาง : ความจริงแท้ก็คือความประสงค์ของผู้ปกครอง
ความขัดแย้ง :
มนุษย์ไม่สามารถรู้ถึงพระเจ้าหรือปีศาจได้ และด้วยเหตุนั้นจึงไม่สามารถอยู่ร่วมกันอย่างสันติได้ นอกจากจะอยู่ใต้การปกครองที่สมบูรณ์ของเจ้านายร่วมกันเท่านั้น และด้วยเหตุนั้นจึงไม่มีสันติระหว่างราชาด้วยกัน สันติระหว่างรัฐก็คือสงครามเท่านั้น
สรุป
เรื่องสัญญาประชาคม : ถ้ายอมสยบก็จะไม่ถูกสังหาร และไม่มีสิทธิแม้แต่จะขอชีวิต
เรื่องการละเมิดสัญญาประชาคม
ไม่มีสิทธิที่จะต่อต้านหรือกบฏ เนื่องจากได้มอบอำนาจอธิปไตยให้กับผู้ปกครองไปแล้ว ต้องอยู่ใต้การปกครองหรือเหยียบย่ำตลอดไป ราชาไม่มีวันผิด และจะเป็นผู้บอกแก่ข้าแผ่นดินเองว่าเรื่องใดถูก เรื่องใดผิดโดยไม่ต้องตั้งข้อสงสัย เพราะทุกสิ่งเป็นเพียงประสงค์ของผู้ปกครอง ไม่มีคำว่าถูกหรือผิด ไม่มีสิทธิวิจารณ์
เรื่องประชาสังคม
ประชาสังคมเป็นเรื่องสภาพบังคับต่อผู้ถูกปกครอง (ทำตามกฎหมายที่ฝ่ายปกครองออกตามใจนึก หรือชอบ) เข้าทำนอง มีกฎหมายแล้วต้องเชื่อฟัง ห้ามสงสัยกฎหมายที่ผู้ปกครองออกมาบังคับ ประชาสังคมถูกสร้างขึ้นมาโดยรัฐ
สิทธิ : ยอมทำตามรัฐเพื่อได้รับการไว้ชีวิตเป็นการตอบแทน
บทบาทของรัฐ : ไม่ว่ารัฐจะทำอะไรจะถูกต้องเสมอ สังคมทั้งหมดสร้างมาโดยรัฐ (หรือราชาในความหมายนี้ ) และเป็นการสะท้อนความต้องการของผู้ปกครองหรือผู้เป็นราชา
การใช้กำลังอย่างถูกต้อง
ความคิดเรื่องความถูกต้อง เป็นธรรมของการใช้กำลังเป็นเรื่องไร้ความหมาย หรือ ไม่อาจรู้ได้ แค่เพียงใช้กำลังเมื่อต้องการสั่งใช้เท่านั้น
*************
หลักการของล๊อค
มนุษย์โดยธรรมชาติเป็นสัตว์สังคม ( หมายถึงต้องอยู่ร่วมกัน ช่วยเหลือกันเป็นกลุ่มจึงจะอยู่รอด )
สภาวะตามธรรมชาติ
ตามธรรมชาติมนุษย์ส่วนมากจะรักษาสัญญา และทำตามหน้าที่ แม้ว่าจะมีความไม่ปลอดภัย แต่ก็ยังมีความสงบ สันติ เป็นคนดีและเอื้อเฟื้อ เมื่อสิทธิในทรัพย์สินและสันติมีอยู่ด้วยกัน ขอเพียงมีความยุติธรรมเท่านั้น
ความรู้ในกฎธรรมชาติ
มนุษย์รู้เองว่าอะไรผิด อะไรถูก สามารถรู้ได้ว่าอะไรถูกตามกฎหมายอะไรไม่ถูกตามกฎหมาย และมากพอที่จะแก้ปัญหาความขัดแย้งต่างๆได้ ที่สำคัญสามารถแยกแยะได้ว่า อะไรเป็นทรัพย์สินของตน อะไรเป็นของคนอื่น ( ไม่ใช่รัฐหรือราชาเป็นเจ้าของทรัพย์สินทั้งปวง ) อย่างไรก็ตามมนุษย์ไม่ได้ทำตัวให้สอดคล้องกับความรู้นี้เท่าไรนัก
แนวทาง
มนุษย์คนหนึ่งอาจมีความเห็นในเรื่องความดี ความชั่วต่างจากคนส่วนใหญ่ แต่ก็เป็นเพียงข้อแตกต่างของการสื่อสารเท่านั้น ไม่ใช่หลักการพื้นฐาน
ความขัดแย้ง
สันติภาพเป็นค่านิยมของสังคม มีการอยู่ร่วมกันโดยเคารพต่อทรัพย์สินและบุคคลอื่น
สรุป
เรื่องสัญญาประชาคม
เราสละสิทธิที่จะทำความผิดต่างๆของเราตามอำเภอใจเพื่อแลกกับการตัดสินความที่ยุติธรรมโดยอำนาจทั้งปวง ( หมายถึงอำนาจอธิปไตยของประชาชน ไม่ใช่คนอื่นเป็นคนใช้อำนาจนี้ ) สิ่งทีได้รับกลับคืนมาจากรัฐคือ สิทธิในชีวิต เสรีภาพ และมีหลักประกันเรื่องการตัดสินความโดยไม่ลำเอียงในเรื่องทรัพย์สินของเรา
เรื่องการละเมิดสัญญาประชาคม
เมื่อไหร่ผู้ปกครองแสวงหาการมีอำนาจสมบูรณ์ ( เผด็จการทหาร สมบูรณาญาสิทธิราช ) เมื่อผู้ปกครองทำตัวเป็นผู้พิพากษาและคนทำผิดเสียเอง ( คุ้นๆในบางสังคม ) เมื่อนั้นผู้ปกครองนั้นจะนำตัวเองเข้ามาสู่สภาวะสงครามกับพลเมืองของตน และ ประชาชนมีสิทธิอันชอบธรรมและหน้าที่ที่จะต้องสังหารผู้ปกครองนั้นและผู้รับใช้เสียให้สิ้น
เรื่องประชาสังคม
ประชาสังคมเกิดก่อนรัฐทั้งในแง่ของศีลธรรมและประวัติศาสตร์ สังคมสร้างกฎระเบียบและเป็นผู้อนุญาตให้รัฐ ( สมัยนั้นรัฐอาจมีการปกครองต่างกันไปแต่ส่วนมากยังเป็นราชาธิปไตย ) มีความชอบธรรม
สิทธิ : มนุษย์โดยธรรมชาติแล้วเป็นเจ้าของสิทธิ
บทบาทของรัฐ
บทบาทของรัฐมีเพียงประการเดียวคือ ต้องทำให้มั่นใจว่ามีความยุติธรรมเกิดขึ้น
การใช้กำลังอย่างถูกต้อง
อำนาจหน้าที่ไม่มีความหมายอะไร นอกเสียจากจะทำให้เชื่อได้ว่า อำนาจหน้าที่ ( ของรัฐ ) นั้นมีความยุติธรรม ถ้าหน่วยงานรัฐไม่ได้ทำให้เรามั่นใจได้ในเรื่องนี้ ก็หมายถึงว่ามีส่วนร่วมในการกดขี่ประชาชน หรือ ใช้กฎหมายไม่เป็นธรรมหรือกระทำการที่รังแกประชาชน หากเป็นเช่นนั้นก็ต้องกลับสู่ภาวะธรรมชาติ ( คือการไม่มีรัฐหรือคือการล้มล้างการปกครองนั้นลงโดยประชาชนนั่นเอง )
****************
แนวคิดดังกล่าวข้างต้นเป็นความคิดปกติธรรมดาของชาติตะวันตก ไม่ว่าจะเป็นชาวยุโรปหรืออเมริกัน รวมถึงหลายๆ ประเทศพัฒนาที่เกิดใหม่ เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ฯลฯ เมื่อสังเกตจะเห็นว่าประเทศไทยไม่ได้มีอะไรเป็นพิเศษหรือ ศิวิไลซ์กว่าประเทศอื่นๆในโลกอย่างที่ล้างสมองกัน ทว่าเป็นการพัฒนาที่ยังมาไม่ถึงระดับของประเทศอื่นๆนั่นเอง หรือที่เรียกกันโดยนักวิชาการว่า “ ทันสมัยแต่ไม่พัฒนา ” ซึ่งหมายถึง แต่งหน้า ทาปาก ทำเป็นว่าเป็นประชาธิปไตย แต่แท้จริงแล้ว ตั้งแต่รัฐธรรมนูญมาจนถึงอำนาจแฝงทั้งหลายในประเทศไทย ก็คือการส่งเสริมเผด็จการนั่นเอง จนกว่าคนไทยจะได้รัฐธรรมนูญที่ประชาชนเขียนกันเองจริงๆ โดยไม่ผ่านพวกนิติบริกรแล้วนั่นแหละ ประชาธิปไตยที่แท้จริงจึงจะเกิดขึ้น..
อ่านดูแล้วคุ้นๆ ว่าเป็นเรื่องที่กำลังต่อสู้กันในประเทศด้อยพัฒนาเช่นไทยใช่หรือไม่จ๊ะ ?
ล้างสมอง กันเข้าไปเถอะนะ พวกอำมาตย์ทั้งหลาย ห้ามคิด ห้ามถาม ให้ทำตามคำสั่ง รับแต่เฉพาะสิ่งที่รัฐมอบให้ .. ไพร่ฟ้ากำเริบเสิบสานเหรอ.. โดนยิง โดนจับ .. ยัดเยียดความอยุติธรรมกันเข้าไป ต้องล่มจมเข้าสักวันหนึ่งล่ะ..

