และแล้ว "ประชาธิปไตย" ก็เข้าสู่ห้วง "รัตติกาล" จริงๆ
เสียงปืนและชีวิตของ "คนเสื้อแดง" และ "ทหาร" ในคืนวันที่ 10 เมษายน ทำให้ "ประชาธิปไตย" ของไทยก้าวเข้าสู่ความมืดมิดอีกครั้งหนึ่ง
บทเรียน 14 ตุลาคม 2516, 6 ตุลาคม 2519 และ 17-19 พฤษภาคม 2535 ไม่ได้ทำให้คนไทยก้าวข้าม "ความรุนแรง" ไปได้
การตัดสินใจสลาย "ม็อบเสื้อแดง" ที่สะพานผ่านฟ้าฯ ของ "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" ทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 24 ศพ และผู้บาดเจ็บอีก 800 กว่าคน
ในบรรดาผู้เสียชีวิตทั้งหมดมีช่างภาพรอยเตอร์ชาวญี่ปุ่นเสียชีวิต 1 ราย ทหาร 5 นาย และคนเสื้อแดง 18 ศพ
"อภิสิทธิ์" กลายเป็น "นายกฯ มือเปื้อนเลือด" ไปในพริบตา
การสลายการชุมนุมภายใต้วาทกรรมการเมืองที่สละสลวย "ขอคืนพื้นที่" เริ่มปฏิบัติการตั้งแต่ช่วงบ่ายของวันที่ 10 เมษายน
มีเป้าหมายว่าจะดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายในเวลา 18.00 น.
แต่สุดท้ายก็ไม่สำเร็จ
การปะทะกันของ "คนเสื้อแดง" กับ "ทหาร" ตั้งแต่ช่วงบ่ายเป็นต้นมา แม้จะมีคนบาดเจ็บบ้างแต่ก็เล็กน้อย
ที่สำคัญคือ ไม่มี "ผู้เสียชีวิต"
แต่การตัดสินใจนำพาสถานการณ์ไปสู่ความสุ่มเสี่ยงในยามค่ำคืน เพียงแค่ 2-3 ชั่วโมงได้ก่อให้เกิดการสูญเสียครั้งใหญ่
"อภิสิทธิ์" ตัดสินใจ "ไฟเขียว" ให้สลายการชุมนุมต่อไป ทั้งที่รู้กันว่าการสลายการชุมนุมหลังพระอาทิตย์ตกดินนั้นสุ่มเสี่ยงอย่างยิ่ง
ที่สำคัญเขารู้อยู่แล้วว่ามี "มือที่สาม" รอคอยอยู่
ถ้าไม่เคยมีการก่อเหตุสร้างสถานการณ์ด้วยอาวุธสงคราม ไม่ว่าจะเป็นการยิง ขว้างระเบิด หรือยิงเอ็ม 79 จาก "มือลึกลับ" ถล่มใส่สถานที่สำคัญต่างๆ หลายครั้งในช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา
"อภิสิทธิ์" สามารถอ้างได้ว่าไม่เคยคาดคิดมาก่อนว่าจะมี "มือที่สาม" ฉวยโอกาสสร้างสถานการณ์ในการสลายการชุมนุม
นอกจากนั้น ยังมีบทเรียนเรื่อง "มือที่สาม" จากประวัติศาสตร์การเมืองตั้งแต่ 14 ตุลาคม 2516 และพฤษภาคม 2535 มาแล้ว
แต่ "อภิสิทธิ์" ก็ยังเดินรอยตาม
เพียงเพราะความรู้สึกที่ต้องการ "ชัยชนะ"
และไม่ต้องการ "เสียหน้า" เท่านั้นเอง
ความรู้สึกนี้เห็นได้อย่างชัดเจนในการแถลงข่าวเมื่อคืนวันที่ 9 เมษายนหลังจาก "คนเสื้อแดง" ฝ่าด่านทหารเข้าไปบุกยึดสถานีดาวเทียมไทยคมที่ลาดหลุมแก้วและต่อเชื่อมสัญญาณสถานีโทรทัศน์พีทีวีได้สำเร็จ
"อภิสิทธิ์" ไม่พอใจอย่างมาก
ใบหน้าที่เคร่งเครียดและน้ำเสียงของเขาในการแถลงข่าวบ่งบอกความรู้สึกในใจ
"เป็นความเจ็บปวด เป็นความรู้สึกที่ต้องการเห็นความถูกต้องได้รับชัยชนะ ต้องการเห็นกฎหมายศักดิ์สิทธิ์"
"ต้องเดินหน้าทำให้บ้านเมืองปกครองด้วยกฎหมาย นี่คือ ภารกิจเดียวที่เราต้องทำ ส่วนปัญหาการเมืองหรืออื่นใดนั้นต้องแก้ไขกันทีหลัง"
"เช้านี้เราอาจผิดหวังแต่เหตุการณ์ยังไม่จบ เชื่อมั่นว่าเราดำรงในความถูกต้องปกป้องกฎหมาย ในที่สุดเราจะได้ชัยชนะ"
ทันทีที่แถลงข่าวจบรถบรรทุกทหาร รถหุ้มเกราะ รถดับเพลิง รถพยาบาล ร่วม 100 คันก็ออกจากราบ 11
ปฏิบัติการ "ขอพื้นที่คืน" เริ่มต้นขึ้น
"อภิสิทธิ์" นั้นถูกตั้งฉายาว่า "เด็กดื้อ" เพราะเป็นคนที่เชื่อมั่นในตนเอง และไม่ยอมเสียหน้า
กรณีการตั้งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ หรือ ผบ.ตร.คนใหม่ ที่ค้างคามานาน คือตัวอย่างที่ดียิ่งที่บ่งบอกถึงบุคลิกของ "อภิสิทธิ์"
ดังนั้น เมื่อแพ้มาแล้วครั้งหนึ่งจากที่ "เสื้อแดง" ยึดสถานีดาวเทียมไทยคมได้สำเร็จ
ครั้งนี้ต้องไม่แพ้อีก
ทั้งที่ "อภิสิทธิ์" เคยแถลงข่าวยืนยันว่ารัฐบาลไม่มีความคิดจะสลายการชุมนุม
และแถลงข่าวอีกครั้งว่าจะขอพื้นที่คืนที่สี่แยกราชประสงค์ ให้ผู้ชุมนุมไปอยู่ที่สะพานผ่านฟ้าฯ เพียงที่เดียว
แต่เมื่อถึงเวลาจะ "เอาชนะ" เขาก็ตัดสินใจสลายการชุมนุมที่สะพานผ่านฟ้าฯ ด้วยเหตุผลว่ามีจำนวนคนน้อยกว่า
เช่นเดียวกับเมื่อถึงเวลา 6 โมงเย็นภารกิจยังไม่เสร็จสิ้น
ระหว่างการตัดสินใจ "หยุด" กับ "เดินหน้าต่อ"
"อภิสิทธิ์" กลับเลือก "เดินหน้าต่อ"
อาจเป็นเพราะถ้าเขาตัดสินใจ "หยุด" สื่อก็จะประโคมข่าวในวันรุ่งขึ้นว่ารัฐบาลสลายม็อบไม่สำเร็จ
หรือ "รัฐบาลแพ้"
วินาทีที่ต้องตัดสินใจเช่นนั้นถือเป็นห้วงเวลาที่จะพิสูจน์ความเป็น "ผู้นำ" ของคน
เขาจะเลือกสิ่งใด
ระหว่าง "กฎหมาย" กับ "ชีวิตคน"
ระหว่าง "เหตุผล" กับ "อารมณ์"
และในที่สุด "อภิสิทธิ์" ก็ตัดสินใจ
จนถึงวันนี้ไม่แน่ชัดว่าวาทกรรมที่ว่า "ขอพื้นที่คืน" ของ "อภิสิทธิ์" นั้น
เขาหมายถึง "พื้นที่ถนน"
หรือ "พื้นที่ใบหน้า"
เพราะการสูญเสียชีวิตของ "คนเสื้อแดง" และ "ทหาร" จากการสลายม็อบครั้งนี้ ส่งผลสะเทือนอย่างแรงทางการเมือง และสังคมไทย
ภาพลักษณ์ของประเทศไทยเสียหายอย่างใหญ่หลวง
พร้อมกับสร้างรอยแผลลึกในใจของคนไทยมากมาย
"อภิสิทธิ์" คือ บุคคลสำคัญที่ต้องรับผิดชอบ
เพราะเขาเป็นคนกดปุ่ม "สลายม็อบ"
หลายคนนึกถึงวาทะประวัติศาสตร์ของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2551
วันนั้น "อภิสิทธิ์" พาคณะรัฐมนตรีอวยพรปีใหม่ "ป๋าเปรม"
เป็นครั้งแรกที่ "ประธานองคมนตรี" ที่ไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองแสดงท่าทีสนับสนุน "อภิสิทธิ์" อย่างเปิดเผย
"บ้านเมืองเราโชคดีที่ได้ท่านมาเป็นนายกฯ"
และ "ดีใจที่ได้นายกฯ ชื่ออภิสิทธิ์ และคิดว่าคนไทยก็ดีใจ"
จากวันนั้นถึงวันนี้
ในเดือนเมษาเลือดของปี 2553
ไม่รู้ว่า "คนไทย" จะคิดเหมือน พล.อ.เปรม หรือไม่
การที่ได้ "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" เป็นนายกรัฐมนตรี
เป็น "โชคดี" หรือ "โชคร้าย" ของคนไทยกันแน่
คนไทยโชคดี ที่ได้"อภิสิทธิ์"เป็นนายกฯ : มติชนสุดสัปดาห์ วันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2553 ปีที่ 30 ฉบับที่ 1548
"คนไทยโชคดี ที่ได้"อภิสิทธิ์"เป็นนายกฯ" ข้อเขียนสุดฮอต กลางม็อบราชประสงค์ : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ 18 เมษายน พ.ศ. 2553