ยุทธบทความ สุรชาติ บำรุงสุข มติชนสุดสัปดาห์ 11 พ.ค.2555
"ผู้ที่ยอมฝ่ายที่ตนมองว่าเป็นศัตรูนั้น เชื่อว่าถ้าพวกเขาโยนสเต็กให้
:-)ินไปเรื่อยๆ แล้ว เสือจะเปลี่ยนเป็นพวกมังสวิรัติ"
Heywood Broun
(ค.ศ. 1888-1939)
นักสื่อสารมวลชนอเมริกัน
<
<
<
ดังได้กล่าวแล้วว่า พลังอำนาจทางทหารในการยึดอำนาจรัฐนั้นยังเป็น
"อำนาจชี้ขาด" ในการเปลี่ยนการเมืองเป็นไปตามความต้องการของ
ชนชั้นนำและผู้นำทหารได้ตราบที่เรายังไม่สามารถทำให้สถาบันตุลาการ
ปฏิเสธสถานะความเป็นรัฏฐาธิปัตย์จากการยึดอำนาจได้
และไม่ว่าเราจะตรากฎหมายออกมากี่ฉบับเพื่อป้องกันการรัฐประหาร
แต่หากผู้ยึดอำนาจมีสถานะเป็นรัฏฐาธิปัตย์ได้แล้ว กระบวนการ
ล้มล้างกฎหมายดังกล่าวก็ไม่ใช่เรื่องยากแต่ประการใด
หากเป็นเช่นนี้ปัญหาสำคัญจึงเป็นประเด็นว่า ทำอย่างไรที่สถาบันตุลาการ
จะไม่ทำให้เกิดสถานะของความเป็นรัฏฐาธิปัตย์แก่ผู้ยึดอำนาจ
ซึ่งว่าที่จริงแล้วปรากฏการณ์เช่นนี้จะเกิดได้จริงก็ต่อเมื่อสังคมการเมือง
พัฒนาไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง หรือที่ในทางทฤษฎีเรียกว่า
"Democratic Consolidation"
ซึ่งความเข้มแข็งเช่นนี้อธิบายได้ง่ายๆ ว่า เกิดขึ้นเมื่อกลุ่มการเมืองต่างๆ
ล้วนแต่ยอมรับว่า การแข่งขันทางการเมืองที่เกิดขึ้นจะต้องอยู่ภายใต้
"กรอบประชาธิปไตย" เท่านั้น หรือที่อธิบายว่าประชาธิปไตยเป็นเกมสำหรับ
การแข่งขันเกมเดียวเท่านั้น
(อธิบายในทางทฤษฎีก็คือ "Democracy is the only game in town.")
ถ้าการยอมรับเช่นนี้เกิดขึ้นได้จริง ก็จะนำไปสู่สภาพที่ระบอบประชาธิปไตย
มีเสถียรภาพ และมิได้หมายความว่าจะไม่มีความขัดแย้งเกิดขึ้น ในทางตรง
ข้ามระบอบการเมืองเช่นนี้เปิดรับความขัดแย้ง หากแต่ทำให้การแก้ไขความ
ขัดแย้งต่างๆ นั้นถูกจัดให้อยู่ในกระบวนการเมืองแบบรัฐสภา
แม้จะมีการขับเคลื่อนการเมืองจากนอกรัฐสภา แต่ก็มิใช่สิ่งที่จะนำไปสู่ความ
พยายามในการลากเอากองทัพเข้ามาเป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหาการเมือง
กล่าวคือการเมืองนอกสภาดำเนินการเป็น "กลุ่มพลัง" เพื่อสะท้อนถึงความ
ต้องการของกลุ่มเหล่านั้นในทางการเมือง และหวังว่าพรรคการเมืองจะนำ
เอาปัญหาที่เกิดขึ้นเข้าสู่กระบวนการรัฐสภา
ในอีกด้านหนึ่งพัฒนาการดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อบรรดาชนชั้นนำเลิกคิด
ที่จะใช้กองทัพเป็นฐานทางการเมืองของตน และยุติความคิดที่จะผลักดันให้
กองทัพเป็นเครื่องมือในการจัดการกับกลุ่มการเมืองที่ฝ่ายตนไม่ต้องการ
ฉะนั้น ตราบเท่าที่พวกเขายังเชื่อเสมอว่า พวกเขาเป็นผู้ควบคุมกองทัพ
และกองทัพไม่ใช่กลไกรัฐ หากเป็นกลไกของชนชั้นนำแล้ว ตราบนั้น
รัฐประหารก็จะยังคงเกิดขึ้นได้เสมอ เมื่อใดก็ตามที่ผลประโยชน์ของชนชั้น
นำขัดแย้งกับรัฐบาลแล้ว เมื่อนั้น พวกเขาก็จะผลักเอากองทัพมาขับเคลื่อน
บนกระดานการเมือง
ถ้าเช่นนั้นในอีกมุมหนึ่งก็จะต้องทำให้กองทัพเป็น "ทหารอาชีพ"
(professional soldier) ที่บรรดานายทหารทั้งหลายจะต้องตระหนักว่า
กองทัพไม่ใช่เครื่องมือของการยึดอำนาจ หรือเป็นพลังของชนชั้นนำ
และบรรดาชนชั้นสูงที่จะใช้เพื่อการควบคุมทางการเมือง
หากแต่กองทัพเป็นกลไกรัฐ และเป็นเครื่องมือของรัฐในการดำเนิน
นโยบายต่างประเทศและความมั่นคง
และที่สำคัญก็คือ ต้องทำความเข้าใจว่ารัฐบาลเป็น "ผู้ควบคุมกองทัพ"
งบประมาณของกองทัพจึงมาจากภาษีของประชาชน ที่ถูกจัดสรรโดย
ข้อเสนอของรัฐบาลและผ่านกระบวนการด้วยความเห็นชอบจากรัฐสภา
งบประมาณทหารไม่เคยได้มาจากทรัพย์สมบัติของบรรดาชนชั้นนำ
หรือชนชั้นสูงแต่อย่างใด
ในอีกส่วนหนึ่งก็จะต้องพัฒนาจิตสำนึกของประชาชนในการต่อต้าน
รัฐประหาร การต่อต้านเช่นนี้อาจจะมีตั้งแต่ระดับของการ "ดื้อแพ่ง"
ไปจนถึงระดับของการต่อต้านด้วยความรุนแรง ซึ่งก็อาจขึ้นอยู่กับ
เงื่อนไขและสถานการณ์การเมืองของแต่ละประเทศ
สำหรับในกรณีของไทย แรงต้านรัฐประหารปรากฏชัดอย่างเป็นรูปธรรม
หลังจากการยึดอำนาจในปี 2549 เป็นต้นมา
และอย่างน้อยการตัดสินใจของ "ลุงนวมทอง ไพรวัลย์" เป็นปรากฏการณ์
ใหม่ของการเมือง ที่คนขับรถแท็กซี่กล้าปฏิเสธรัฐประหารด้วยการขับรถชนรถถัง
นอกจากตัวแบบเช่นนี้แล้ว การปรากฏตัวของขบวนการ "คนเสื้อแดง"
ก็คือภาพสะท้อนของแรงต่อต้านรัฐประหารอย่างไม่เคยปรากฏมา
ก่อนในการเมืองไทย
และแม้พวกเขาจะผ่านการล้อมปราบถึง 3 ครั้งไม่ว่าจะเป็นการล้อมปราบ
ในสงกรานต์ 2552 สงกรานต์ 2553 และราชประสงค์ 2553 แต่การล้อม
ปราบที่เกิดขึ้นก็ไม่สามารถบดขยี้และสลายพลังของบรรดาผู้เรียกร้อง
ประชาธิปไตยเช่นนี้ได้
ถ้าเป็นเช่นนี้กองทัพจึงไม่ใช่เครื่องมือของการปราบปรามทางการเมือง
ที่ทรงพลังอีกแต่อย่างใด การล้อมปราบที่เกิดขึ้นทำให้ภาพลักษณ์ของ
กองทัพไทย "ติดลบ" อย่างมาก เช่นเดียวกับภาพของบรรดาชนชั้นนำ
ที่เกี่ยวข้องก็ติดลบอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนเช่นกัน
บทพิสูจน์ซึ่งแลกด้วย "เลือดและชีวิต" ของชาวเสื้อแดงจากการถูกล้อมปราบ
ถึง 3 ครั้งเช่นนี้ให้คำตอบอย่างชัดเจนว่า ขบวนประชาธิปไตยไทยกำลังก้าวหน้า
และเติบใหญ่
แต่ขณะเดียวกันรัฐประหารก็ไม่ทรงพลังเช่นวันวานในการเมืองไทย!
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1336815564&grpid=03&catid=&subcatid=
ชอบอ.จ.สุรชาติ ...วิเคราะห์ได้มันดี มีสาระ
และเสียงนี้ก็มาจาก "คณะรัฐศาสตร์ จุฬา.....
อ้อ.....เสียงอ.จ.คนเดียวนะคะ คนอื่นไม่เกี่ยว
แต่ก็ไม่ค่อยแน่ใจในบทสรุปของอ.จ เท่าไหร่.
อ้อ ...อย่าลืมตาม link ด้วยนะคะ
งดคำหยาบ และ สมญานนามทุกประเภท ทุกฝ่ายด้วยค่ะ
แก้ไขเมื่อ 14 พ.ค. 55 17:44:52