ประเด็นแห่งการวินิจฉัยสมาชิกภาพของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 106 (4) ประกอบมาตรา 101 (3) หรือไม่
พิจารณาคำร้องคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหารวมทั้งเอกสารประกอบแล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าผู้ถูกร้องเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย หมายเลขสมาชิก BK 103121117340 ตั้งแต่วันที่ 13 ธันวาคม 2551 ผู้ถูกร้องได้รับเลือกตั้ง ส.ส.แบบสัดส่วนในเลือกตั้งทั่วไป วันที่ 23 ธันวาคม 2550
ต่อมาถูกฟ้องร้องดำเนินคดีอาญาฐานความผิด ร่วมกันก่อการร้าย ร่วมทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจามั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปใช้กำลังประทุษร้ายให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง ผู้กระทำคนใดคนหนึ่งมีอาวุธร่วมกันชุมนุมมั่วสุมหรือฝ่าฝืนข้อกำหนดที่ออกตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ตามคดีหมายเลขดำที่ อ.2542/2553 ของศาลอาญา แต่ได้รับเอกสิทธิ์คุ้มครองตามรัฐธรรมนูญที่จะไม่ต้องถูกจับกุม คุมขัง ในระหว่างสมัยประชุม โดยได้รับการปล่อยตัวระหว่างการพิจารณา
แต่ภายหลังมี พ.ร.ฎ.ยุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2554 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2554 กำหนดให้ยุบสภาและเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 ศาลได้มีคำสั่งเพิกถอนสัญญาประกันและคุมตัวผู้ถูกร้องไว้ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครตั้งแต่วันที่ 12 พฤษภาคม 2554 เป็นต้นมา
ต่อมาเมื่อ กกต.ประกาศกำหนดวันสมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อระหว่างวันที่ 19-23 พฤษภาคม 2554 พรรคเพื่อไทย (พท.) ได้ยื่นบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อต่อ กกต. เมื่อ 19 พฤษภาคม 2554 จำนวน 125 คน โดยมีผู้ถูกร้องสมัครอยู่ลำดับที่ 8 กกต.ประกาศรายชื่อพรรคการเมืองที่ยื่นรายชื่อสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พท. เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2554 โดยมีผู้ถูกร้องเป็นผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อด้วย
ก่อนมีการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 ผู้ถูกร้องได้ยื่นร้องขอให้ปล่อยตัวชั่วคราวเพื่อออกไปใช้สิทธิเลือกตั้ง แต่ศาลไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว ผู้ถูกร้องจึงไม่ได้ไปใช้สิทธิเลือกต้ังในวันเลือกตั้ง และผู้ถูกร้องได้ทำหนังสือแจ้งเหตุไม่สามารถไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้ต่อผู้อำนวยการเขตวังทองหลาง โดยให้เหตุผลว่าผู้ถูกร้องถูกคุมขังระหว่างการพิจารณาคดีของศาลอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร และได้ยื่นคำร้องขอให้ปล่อยตัวชั่วคราวต่อศาลเพื่อมาใช้สิทธิเลือกตั้งและได้ยื่นคำร้องหลายครั้งแต่ศาลไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวพร้อมกับแนบหลักฐานประกอบการแจ้งคือหนังสือรับรองการคุมขังของเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ สำเนาคำร้องขอให้ปล่อยตัวชั่วคราว จำนวน 2 ฉบับ คือฉบับลงวันที่ 28 มิถุนายน 2554 และฉบับลงวันที่ 30 มิถุนายน 2554 ซึ่งผู้อำนวยการเขตวังทองหลางพิจารณาแล้วเห็นว่ามีเหตุผลอันจำเป็นเพียงพอตามหนังสือการแจ้งผลการพิจารณาการแจ้งเหตุลงวันที่ 7 กรกฎาคม 2554
และภายหลังเมื่อปรากฏผลการเลือกตั้งแล้ว ได้มีผู้ร้องคัดค้านการรับรองผู้ถูกร้องเป็น ส.ส. กกต.ดำเนินการสืบสวนสอบสวนมีคะแนนเสียงข้างมากให้ประกาศผลการเลือกตั้งของผู้ถูกร้องเป็น ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พท. เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2554 และมีมติเพิ่มเติมให้สำนักงาน กกต.พิจารณาว่ากรณีผู้ถูกร้องต้องดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 หรือไม่ และ กกต.ได้มีประกาศ กกต.ลงวันที่ 1 สิงหาคม 2554 เรื่องผลการเลือกตั้ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อครั้งที่ 5 ให้ผู้ถูกร้องได้รับเลือกตั้ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อของ พท.
อย่างไรก็ตาม ผู้ถูกร้องได้ถูกคุมตัวในเรือนจำตั้งแต่วันที่ 12 พฤษภาคม 2554 ตลอดมา โดยไม่ได้รับอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว จนผู้ถูกร้องได้รับการปล่อยตัวเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2554 กกต.ได้พิจารณาผลดำเนินการของสำนักงาน กกต.มติในคราวประชุมเมื่อ 29 พฤศจิกายน 2554 แล้วมีมติด้วยคะแนนเสียงข้างมากให้ส่งเรื่องไปยังประธานสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 กรณีสมาชิกภาพของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 106 (4) ประกอบมาตรา 101 (3) หรือไม่
ประเด็นพิจารณาเบื้องต้นมีอยู่ว่า ผู้ถูกร้องเป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 100 หรือไม่
พิจารณามาตรา 100 ที่บัญญัติว่า บุคคลผู้มีลักษณะดังต่อไปนี้ในวันเลือกตั้งเป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้ง (1) เป็นภิกษุ สามเณร นักพรต หรือนักบวช (2) อยู่ระหว่างเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง (3) ต้องคุมขังโดยหมายของศาลหรือโดยคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย (4) วิกลจริต หรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ แล้วเห็นว่า ผู้ถูกร้องถูกดำเนินคดีอาญาฐานความผิดก่อการร้ายมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้ายให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ร่วมกันชุมนุมฝ่าฝืนตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ทั้งนี้ วันที่ 3 กรกฎาคม 2554 ผู้ถูกร้องยังถูกคุมตัวอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ตามหมายของศาลในคดีอาญากรณีผู้ถูกร้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์รัฐธรรมนูญมาตรา 100 (3)
ผู้ถูกร้องจึงเป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้ง เนื่องจากผู้ถูกร้องถูกคุมขังโดยหมายของศาลในคดีอาญา หมายเลขดำที่ อ.2542/2553 ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 100 (3)
ปัญหาวินิจฉัยมีว่า การเป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 100 (3) เป็นลักษณะต้องห้ามของบุคคลซึ่งเป็นสมาชิกพรรคการเมืองส่งผลให้สมาชิกภาพพรรคการเมืองสิ้นสุดลงตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรค
การเมือง พ.ศ.2550 มาตรา 20 วรรรคหนึ่ง (3) ประกอบ
มาตรา 19 วรรคหนึ่ง และมาตรา 8 วรรคหนึ่งหรือไม่
พิจารณา พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2550 มาตรา 19 วรรคหนึ่งที่บัญญัติว่าผู้ที่เป็นสมาชิกพรรคการเมืองต้องเป็นบุคคลธรรมดามีสัญชาติไทย มีคุณสมบัติต้องห้ามตามมาตรา 8 วรรคหนึ่ง ผู้เป็นสมาชิกพรรคการเมืองต้องมีสัญชาติไทย มีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์และไม่มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ
สำหรับลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญนั้น เมื่อพิจารณารัฐธรรมนูญมาตรา 100 กำหนดลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้งไว้ 4 ลักษณะแล้ว
สำหรับกรณีผู้ถูกต้องคุมขังโดยหมายของศาลหรือโดยคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งรัฐธรรมนูญกำหนดให้บุคคลผู้มีลักษณะเช่นนี้เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้งนั้น เห็นว่าบทบัญญัติลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้งบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2492
ส่วนกฎหมายที่เกี่ยวกับพรรคการเมืองนั้น เริ่มบัญญัติใน พ.ศ.2498 เป็นฉบับแรก ซึ่งใช้เรื่อยมาและมีอีกหลายฉบับ อาทิ 2511 2517 2524 เป็นต้น โดย พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2541 และ พ.ศ.2550 ได้บัญญัติลักษณะต้องห้ามไว้ทางเดียวกัน
พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2550 มาตรา 8 เป็นการเขียนข้อความให้ล้อตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 100 คือบุคคลที่ต้องห้ามมิให้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งแตกต่างกับ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองในอดีตที่ผ่านมา โดยเป็นการบัญญัติให้ครอบคลุมถึงลักษณะต้องห้ามทั้ง 4 ลักษณะ รวมถึงต้องถูกคุมขังโดยหมายของศาล ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อควบคุมให้บุคคลที่เป็นสมาชิกพรรคการเมืองปฏิบัติตนอยู่ในกรอบของกฎหมายและระเบียบวินัยของพรรคการเมือง
การถูกคุมขังในระหว่างการพิจารณาของศาล โดยศาลไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว ย่อมแสดงให้เห็นว่าการกระทำความผิดมีความรุนแรงและมีเหตุที่ศาลจะไม่ปล่อยตัวชั่วคราวอันเป็นวัตถุประสงค์ของการกำหนดลักษณะต้องห้ามดังกล่าว
นอกจากนี้ ผู้เป็นสมาชิกพรรคการเมืองและเป็นผู้มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญย่อมเป็นปฏิปักษ์ต่อการปฏิบัติหน้าที่สมาชิกพรรคการเมืองในการมีส่วนร่วมการเมืองโดยเฉพาะการใช้สิทธิเลือกตั้ง ซึ่งเป็นหน้าที่สำคัญกว่าบุคคลทั่วไปที่ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคการเมือง
ดังนั้น เมื่อผู้เป็นสมาชิกพรรคการเมืองไม่ได้ปฏิบัติตนอยู่ภายในกรอบกฎหมายจนถูกดำเนินคดีและต้องถูกคุมขังโดยหมายของศาล หรือโดยคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายโดยไม่นับการปล่อยตัวชั่วคราวในวันเลือกตั้ง ทำให้เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 100 (3) ย่อมถือเป็นลักษณะต้องห้ามของบุคคลผู้จะเป็นสมาชิกพรรคการเมือง
เห็นว่าการเป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งตามมาตรา 100 (3) เป็นลักษณะต้องห้ามของบุคคลซึ่งจะเป็นสมาชิกพรรคการเมืองตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2550 มาตรา 19 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 8 วรรคหนึ่ง
เมื่อพิจารณา พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2550 มาตรา 20 วรรคหนึ่ง (3) ที่บัญญัติว่าสมาชิกภาพของสมาชิกสิ้นสุดลงเมื่อขาดคุณสมบัติตามมาตรา 19 เห็นว่าบุคคลที่จะสมัครเป็นสมาชิกพรรคการเมือง นอกจากไม่มีลักษณะต้องห้ามในขณะสมัครสมาชิกพรรคการเมืองแล้ว จะต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามตลอดเวลาการเป็นสมาชิกพรรคการเมือง หากสมาชิกพรรคการเมืองผู้ใดมีลักษณะต้องห้ามเกิดขึ้นในภายหลัง ย่อมมีผลให้สมาชิกภาพของสมาชิกพรรคการเมืองของผู้นั้นสิ้นสุดลง
ดังนั้น เมื่อผู้ถูกร้องเป็นบุคคลต้องคุมขังสิ้นสุดลง เมื่อผู้ถูกร้องต้องคุมขังโดยหมายของศาลตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 100 (3) ผู้ถูกร้องจึงเป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ อันเป็นลักษณะต้องห้ามของบุคคลซึ่งจะเป็นสมาชิกพรรคการเมือง ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2550 มาตรา 19 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 8 วรรคหนึ่ง และเป็นผลให้สมาชิกภาพการเป็นสมาชิกพรรคการเมืองของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงตามมาตรา 20 วรรคหนึ่ง (3)
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปว่า การสิ้นสุดสมาชิกภาพพรรคการเมืองของผู้ถูกร้องเป็นกรณีทำให้ขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 101 (3) และเป็นเหตุให้สมาชิกภาพ ส.ส.ของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงตามมาตรา 106 (4) หรือไม่
พิจารณาว่า คุณสมบัติการเป็นสมาชิกพรรคการเมืองจะต้องมีอยู่ในขณะสมัครรับเลือกตั้งเท่านั้น แต่ต้องคงมีอยู่ตลอดการเป็น ส.ส.ด้วย ส่วนกรณีบุคคลต้องคุมขังโดยหมายของศาลหรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 100 (3) นั้น แม้ว่ารัฐธรรมนูญมาตรา 102 (3) จะไม่กำหนดให้เป็นลักษณะบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ก็ตาม แต่การสมัครรับเลือกตั้งกับการใช้สิทธิเลือกตั้งเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นก่อนและหลังต่างเวลากัน แม้บุคคลต้องถูกคุมขังโดยหมายของศาลมีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งไม่เป็นลักษณะต้องห้าม แต่การพิจารณาสิ้นสุดสมาชิกภาพเป็นคนละกรณีกัน หากในวันเลือกตั้งบุคคลดังกล่าวยังถูกคุมขังอยู่ย่อมเป็นบุคคลที่มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ
ดังนั้น เมื่อสมาชิกภาพความเป็นสมาชิกพรรค พท.ของผู้ร้องสิ้นสุดลง กรณีนี้จึงทำให้ขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (3) และเป็นผลให้สมาชิกภาพ ส.ส.ของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 106 (4) อาศัยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น ศาลรัฐธรรมนูญจึงวินิจฉัยโดยเสียงข้างมาก 7 ต่อ 1 ว่าสมาชิกภาพ ส.ส.ของนายจตุพรสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 106 (4) ประกอบมาตรา 101 (3) นับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย
เอา.. ว่ามาก่อนผมเข้านอน สงสัยตรงไหน..
จากคุณ |
:
คนของแผ่นดิน
|
เขียนเมื่อ |
:
29 พ.ค. 55 01:16:05
A:124.120.210.216 X:
|
|
|
|